BY StolenHeart
10 Dec 18 11:38 am

จุดต่ำสุดของชีวิต กับวิกฤตวัยกลางคนของชายที่ชื่อว่า Max Payne

11 Views

สมัยยังเป็นวัยรุ่นผู้เขียนไม่เคยคิดหรือวิตกกังวลใด ๆ ทั้งสิ้นเกี่ยวกับคำว่า “วิกฤตวัยกลางคน” เลยแม้แต่น้อย ช่วงชีวิตในวัยยี่สิบต้น ๆ ค่อนข้างเหลวไหล และไม่ได้ลำบากลำบนอะไรนัก แต่พอเริ่มสำเหนียกตอนที่เลขสามย่างกรายเข้ามาในชีวิต คำ ๆ นี้ก็เริ่มชัดและทวีความน่ากลัวขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งความรับผิดชอบ หนี้สิน และอื่น ๆ สารพัดสิ่ง ซึ่งก็ไม่น่าต่างจากบุรุษในเสื้อหนังที่ควงปืนออกไล่ยิงเหล่าร้ายจนดาวดิ้นที่ชื่อว่า Max Payne

Max Payne จัดเป็นงานชิ้นเอกที่เกมเมอร์ต้นยุค 2000 ชื่นชอบกันมาก เพราะมันผลักดันให้เกมเดินหน้ายิงทั้งหลายเห่อกระแสการใช้ Bullet Time กันอย่างบ้าคลั่ง แต่สิ่งที่ทำให้มันน่าสนใจคือเนื้อเรื่องของชายคนนี้ที่หนักอึ้งราวกับถูกพระเจ้าเกลียดชัง จนกลายเป็นการสังหารหมู่อาชญากรที่สะใจคนเล่นอีกหนึ่งเกม

เชื่อว่าเพื่อน ๆ ผู้อ่านน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าเนื้อเรื่องของ Max Payne เกี่ยวกับอะไร โดยทั้งสามภาคก็ยังคงนำเสนอความซวยระดับจักรวาลของชายคนนี้อย่างต่อเนื่อง (แม้ในภาคที่สามจะหลุดจากกรอบที่สองภาคแรกวางไว้ไปไกลโขก็ตาม) ซึ่งโดยส่วนตัวผู้เขียน ภาคที่ชื่นชอบที่สุดก็คือภาคสอง เพราะด้วยการปรับลุคของเกมให้กลายภาพยนตร์แนว Film Noir มากขึ้น คนที่คิดว่าเมืองนิวยอร์กที่มีหิมะตกตลอดทั้งคืนนั้นเลวร้ายแล้ว ค่ำคืนฝนกระหน่ำในภาคที่สองนั้นก็เลวร้ายไม่แพ้กัน แม้มันจะเป็นหนังฉายซ้ำม้วนเดิมที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา (เรื่องงาน, เพื่อนทรยศ, ความซวยติด ๆ กันในเวลาสั้น ๆ) แต่ประเด็นหนึ่งที่ทาง Remedy และ Rockstar นำเสนอเพิ่มเติมในภาคนี้คือเรื่องของ”วิกฤตวัยกลางคน”

Max ในภาคแรกที่เราได้เห็นจะมีบุคลิกแบบคนเลือดร้อน ไม่มีอะไรจะเสีย เขาดาหน้าซัดทุกคนที่ขวางทางเพื่อเป้าประสงค์เดียวคือไขคดีและหาเบาะแสแก้แค้นให้กับเมียและลูก แต่เขาก็ต้องพบกับอุปสรรคและการหักหลังจากเพื่อนสนิท ซึ่งในภาคสองเขาก็มีชะตากรรมที่ไม่ต่างจากภาคแรก แต่คราวนี้ด้วยวัยที่มากขึ้น และผลของอาการวิกฤตวัยกลางคนนี้ก็มักจะทำให้พวกเขากระทำสิ่งที่ไม่คาดคิดให้เห็นกันได้ ทำให้เขาทำอะไรที่เสี่ยงมากกว่าเดิม ทั้งด้วยการไขคดีหรือการใช้ชีวิตก็ดี หรือการหักห้ามไม่ให้มีใจกับ Mona Sax สาวสวยมือสังหาร และทีเด็ดก็คือในช่วงก่อนจบ Episode 2 ที่ Max ต้องเผชิญหน้ากับ Winterson ที่เขาต้องส่งมอบตัว Mona Sax ให้กับเธอที่ทำคดีนี้ แต่โดยไม่คาดคิด เขากลับยิง Winterson นักสืบคู่หูแทน สร้างความตกตะลึงให้กับผู้เล่นตอนนั้นถึงกับช็อคไปไม่เป็นเลยทีเดียว

ซึ่งแน่นอนว่าอาการของวิกฤตวัยกลางคนนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นได้กับแค่คนในวัยสามสิบหรือสี่สิบที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเท่านั้น ผู้ใหญ่วัยทำงานหรือวัยรุ่นที่เจอสิ่งกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง เช่นการสูญเสียคนใกล้ชิดไป ก็มีโอกาสที่จะประสบกับช่วงวิกฤติวัยกลางคนได้เช่นกัน (หรืออาจจะพัฒนากลายเป็นโรค PTSD ได้ถ้าหากเหตุการณ์นั้นรุนแรงมาก ๆ ) และนอกจากที่ Max จะต้องมาเจอกับความเครียดอันหนักอึ้งจากทั้งงาน รวมไปถึงปมในภาคแรกที่เขาสูญเสียครอบครัวไป ก็ไม่น่าแปลกใจที่จะทำให้เขากลายเป็นคนอารมณ์รุนแรงและตัดสินใจทำอะไรที่คาดไม่ถึงอย่างที่เราได้เห็นในเกม Max Payne ภาคสอง

ส่วนตัวผู้เขียนเองก็เคยพบกับวิกฤตที่ว่ามานี้ในปีที่ผ่านมา ช่วงที่ต้องย้ายบ้านไปมาและเสียค่าใช้จ่ายมากมาย สิ่งที่เคยวาดฝันวางแผนเอาไว้พังไปหลายอย่าง งานที่เคยมีหดหาย จนท้อแท้ในการใช้ชีวิตไปพักใหญ่เพราะการเปลี่ยนแปลงที่มาโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ช่วงเวลานั้นต้องยอมรับมีความเครียดเกิดขึ้นจนแทบครองสติไม่อยู่ในหลายช่วง แต่โชคดีที่มีครอบครัวอยู่เคียงข้าง ทำให้พอจะพยุงตัวขึ้นมาได้ แต่สำหรับ Max เขาสูญเสียทุกอย่างไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไรก็ล้วนดูจะผิดพลาดไปเสียหมด ซึ่งเมื่อเทียบกันกับตัวผู้เขียนแล้วจะไม่หนักหนาเท่า แต่ก็ได้รับรู้ว่าปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ โดยการปรึกษาคนใกล้ตัวและทำใจยอมรับมันและสู้ต่อไป ก็พอจะทำให้ผ่านมันไปได้บ้าง และก็ต้องมองโลกในแง่ดีที่ว่าเราไม่ได้ซวยหรือเป็นหนักขนาด Max ในวิดีโอเกมที่เราเล่นแต่อย่างใด

ท้ายนี้แม้ตัวผู้เขียนจะไม่ทราบว่าชะตากรรมของชายที่มีความปวดร้าวต่อท้ายชื่อคนนี้จะเป็นไปในทิศทางไหน แต่มันก็ทำให้เราตระหนักได้ว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นมาถึงเราได้ทุกเมื่อ และสิ่งแรกที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากวิกฤติไปได้ก็คือการทำใจยอมรับมัน แม้บางครั้งผลที่ออกมามันจะไม่ได้สวยงามอย่างที่คาดหวัง แต่ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนที่ผ่านมันมาได้จะกลายเป็นคนที่เข้มแข็งและรู้จักการใช้ชีวิตมากขึ้น เพราะมีบทเรียนคอยเตือนใจเราไว้แล้วนั่นเองครับ

Putinart Wongprajan

เค้ก - Content Writer

Back to top