ดีแค่ไหนแล้วที่เป็นเกมเมอร์ (และมีเงินจ่าย) ในยุคนี้ ด้วยทางเลือกที่หลากหลายที่จะทำให้ได้เกมที่ต้องการมาอย่างถูกต้อง แต่กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ เกมเมอร์รุ่นก่อนหน้า รุ่นบุกเบิก ต้องผ่านความยากลำบากมาก่อน ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ความล่าช้าของคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตในยุคนั้น และช่องทางที่จะทำให้ได้เกมมาเล่นยังไม่เปิดกว้าง แถมผู้หลัดผู้ใหญ่ในยุคก่อนมองว่า “เกม” เป็นเหตุที่บั่นทอนผู้คน และก่อให้เกิดความรุนแรงกันจนเป็นเรื่องปกติ
บทความนี้เลยจะมาเล่าถึง “ความวุ่นวาย” ในการซื้อเกมของคนเมื่อก่อน ว่ามันแตกต่างจากตอนนี้เพียงใด
ยุคที่การเล่นเกมเถื่อน ดูคุ้มค่า กว่าการเล่นเกมแท้
ถ้าเป็นยุคนี้ที่ร้านเกมเข้าถึงเราได้ง่าย คนส่วนใหญ่ก็คิดว่า “ซื้อเกมแท้ไปเลย ตัดปัญหา โหลดง่าย ลงง่าย” แต่ถ้าเป็นยุคที่เกม PS1/PS2 กำลังโด่งดัง อันนี้เคยไปดูเด็กข้างบ้าน หรือญาติพี่น้อง ซื้อเกมมาเล่นบน PS2 ก็เห็นได้ชัดเลยว่า “ของเถื่อน” ชัดเจน
ครั้งหนึ่ง EA เคยมีเกมแผ่นแท้ แปลไทยวางขาย
การที่เขาเล่นเกมเถื่อน ก็เพราะมันหาง่ายกว่าเกมของแท้มาก ยุคนั้นเกมแผ่นเถื่อน PS2 หรือเกม PC แผ่นละร้อยบาท มีวางขายตามตลาดนัด หรือรอบรั้วโรงเรียนกันเลยทีเดียว และการแปลงเครื่องเกม PS1/PS2 หรือแม้กระทั่ง Xbox 360 ไม่ใช่เรื่องที่ยากเหมือนทุกวันนี้ และช่างคิดค่าบริการไม่แพงมากนัก แถมเกม PC ก็ไม่ได้ Crack กันยากเย็นเหมือนตอนนี้ คนกลุ่มหนึ่งเลยคิดว่า เล่นเกมเถื่อนก็ไม่เป็นไร เอาเข้าจริงนี่คือจุดที่ผู้พัฒนาเสียผลประโยชน์อย่างแรง หากใครจำได้ EA เคยเปิดบริษัทในไทย แต่ไม่คุ้มค่าเลยเลิกไป เป็นไม่ได้ว่าอาจมาจากสาเหตุนี้
แต่พอเวลาเปลี่ยน ยุคสมัยเปลี่ยน บรรดาผู้พัฒนาเกม ผู้สร้างเครื่องเกมคอนโซลต่างมีวิธีกันเหนียว ที่จะทำให้คนเล่นเถื่อนรู้สึกเสียประโยชน์ เช่น ทำให้เกมมีปัญหาบางอย่างเมื่อเล่นของเถื่อน ผ่านบอสไม่ได้ ตัวละครเมาหัวราน้ำ หรือไม้เด็ดที่สุดคือฟีเจอร์ Online ที่ถูกผลักดันให้เด่นขึ้น และน่าเล่นกว่าเมื่อก่อน พร้อมกับมีการสนับสนุนเนื้อหาให้ผู้เล่นเกมอย่างต่อเนื่องอย่างที่เรียกกันว่า Game as a Service ณ จุดๆ นี้คนเล่นเถื่อนจะเข้าได้ยากหรือไม่ได้เลย นั่นทำให้คนเริ่มเห็นข้อเสียของการเล่นเกมเถื่อน และหันไปซบของแท้ในที่สุด แต่ก็ใช่ว่าเกมเถื่อนจะลดลงไปเพียงอย่างเดียว เพราะผู้พัฒนาเกมก็ได้ช่องทางหาเงินเพิ่มเติมไปอีกจากการทำเนื้อหาเพิ่มเติม ที่เลือกได้ว่าจะเปิดขาย หรือให้ผู้เล่นไปฟรีๆ
ยุคแห่งการเก็บเงินเพื่อซื้อบัตรเติมเงิน เพื่อมาซื้อเกมอีกที
เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมื่อช่วงไม่เกินสิบปีที่ผ่านมา แม้ว่าเกมจะมีวางขายใน Steam, Origin, Uplay แล้ว แต่ช่องทางการจ่ายเงินที่เว็บเหล่านั้นต้องการคือ “บัตรเครดิต/เดบิต” แล้วเกมเมอร์ที่ยังเป็นเยาวชน ก็ยังไม่มีช่องทางในการหามันมาได้ เพราะระบบบัตรเดบิตของธนาคารไทยยังไม่ได้แพร่หลายมากเหมือนทุกวันนี้
ครั้นจะไปเปิดบัญชีธนาคารเพื่อจะเอาบัตรเดบิต แต่ละธนาคารก็มีค่าธรรมเนียมรายปีเป็นหลักร้อย ก็ต้องใช้เวลาเก็บกันสักหน่อย ดูแล้วก็ต่างจะรอเปิดบัญชีธนาคารไม่ไหว แถมก็กลัวจะยุ่งยาก ทางที่ดีที่สุดในยุคนั้น คือการซื้อบัตรเงินสด ที่ปกติจะใช้เติมเงินเกมออนไลน์อยู่แล้ว มาใช้เติมเงินเพื่อซื้อเกม
ซึ่งการเติมเงินลงไปในเว็บขายเกมตรงๆ นั้นทำไม่ได้ ช่องว่างตรงนี้เองจึงทำให้เกิดบรรดาพ่อค้าออนไลน์ขึ้นมา กลุ่มพ่อค้าเหล่านี้สามารถซื้อเกมโดยส่งเป็นของขวัญ แลกกับบัตรเงินสดเหล่านั้น โดยมีระบบเติมเงินรองรับ แต่ข้อเสียอย่างหนึ่งของช่องทางเติมเงินดังกล่าวคือ มีค่าธรรมเนียมในการถอนออก เพื่อนำเข้าไปในบัตรเดบิตนั้นสูง (มากกว่า 10%) ทำให้เกมที่ได้จากการซื้อเกมด้วยวิธีนี้ยังคงดูแพง แต่ถ้าเจ้าของร้านหาจังหวะดีๆ เช่น กดเกมในช่วงราคาถูกมาขายต่อ หรือหาร้านเกมต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าหน้า Steam มาขายต่อ ก็สร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ
ฟังดูเหมือนจะสะดวก แต่กลับเป็นการซื้อเกมที่อันตราย เสี่ยงต่อการสูญเงินไปเปล่าๆ ถ้าเจ้าของร้านขายเกมเหล่านั้นดันคิดไม่ซื่อ มีบ้างเหมือนกันที่เจ้าของร้านรับเงินแล้ว ปิดช่องทางการติดต่อทั้งหมด หรือการที่เจ้าของร้านไปรับเกมที่ไม่ใช่โซนไทยมา Activate ให้ลูกค้า แล้วถูกทาง Steam จับได้ ถอนเกมคืนไป และที่สำคัญ วิธีการขายเกมแบบนี้ ไม่ได้รับการยอมรับจาก Steam
ถ้าเทียบกับยุคนี้แล้ว ที่ไม่จำเป็นต้องมีบัตรเดบิตก็สามารถซื้อเกมได้ง่าย เช่น เดินเข้าร้านสะดวกซื้อ ซื้อ Steam Wallet ที่ตู้เติมเงิน หรือใช้แอพกระเป๋าเงินจำลองที่สามารถเป็นบัตรเดบิตให้เราได้ทันที แถมเดี๋ยวนี้เรากดซื้อเกมมาดอง Gift ไม่ได้อีกต่อไป พร้อมราคาเกมโซนไทยที่เข้ากับค่าครองชีพบ้านเรามากขึ้น ไม่ได้มีพื้นมาจากราคาเหรียญดอลลาร์อีกต่อไป จึงทำให้เกมเมอร์ยุคนี้ซื้อเกมกันอย่างง่ายดาย (และหลังหักอย่างง่ายดายเช่นกัน)
เรียกได้ว่าเป็นโอกาสอันดีสำหรับเกมเมอร์ในยุคนี้ ที่มีการพัฒนาในเรื่องเทคโนโลยีในการจ่ายเงินให้สะดวก มีความเป็นสากลยิ่งกว่าเดิม พร้อมกับมีการปลูกฝังถึงค่านิยม “การใช้ของแท้” มากขึ้น ซึ่งล้วนเป็นผลดีต่อวงการเกม และการขายเกมในปัจจุบัน ที่ทำให้มีเกมที่หลากหลายหลั่งไหลเข้าสู่ตลาด เป็นทางเลือกให้ผู้เล่นอีกมาก ข้อเสียของการซื้อเกมในยุคนี้ก็มีเพียงอย่างเดียวคือ “คุณอาจจะเสียเงินให้มันมากไป” จึงแนะนำให้เข้าหาเกมที่จะ “ไม่เอารัดเอาเปรียบ” คุณจนเกินไป และอย่าลืมควบคุมค่าใช้จ่ายเรื่องเกมให้สมดุลกับเรื่องอื่น เพียงเท่านี้เราก็จะเป็นเกมเมอร์ที่สนุกไปกับเกม อย่างที่ไม่เดือดร้อนตัวเอง