หากพูดถึงเกมออนไลน์แนวแอ็กชันยุค 2000 ในดวงใจ หลายคนอาจนึกถึง GunZ เกมแนวยิงที่มีธีมการนำเสนอเท่ ๆ คูลล์ ๆ และระบบเกมเพลย์ดุเดือดเร้าใจ จนคีย์บอร์ดและเมาส์ต้องพังหลายตัว เพราะกดปุ่มหนักเกินไป
บทความนี้จะเป็นการย้อนรอยให้รู้จักกับ GunZ ตำนานเกมออนไลน์ TPS ของเกาหลีใต้ที่มีระบบการต่อสู้ไม่เหมือนใคร และเคยได้รับความนิยมในบ้านเรา จนคนไทยต้องยอมเล่นเซิร์ฟเวอร์ต่างชาติ
GunZ เกมยิงเท่ไม่ซ้ำใคร
GunZ หรือ GunZ: The Dual เป็นเกมออนไลน์แนว TPS เล่นฟรีของประเทศเกาหลีใต้ พัฒนาโดย MAIET Entertainment ซึ่งเกมเปิดบริการให้เล่นครั้งแรกในปี 2003 แล้วเปิดให้เล่นผ่านโซนสหรัฐฯ, บราซิล, อินเดีย และทวีปยุโรปในปี 2006 โดยเกมดังกล่าวไม่เคยเปิดให้บริการในประเทศไทยมาก่อน
แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง เกม GunZ เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในหมู่คนเล่นเกมชาวไทย จากการสนทนาผ่านเว็บบอร์ดต่าง ๆ ทำให้เกมเมอร์ไทยหลายคนตัดสินใจลองเล่น GunZ ผ่านเซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศ แล้วค้นพบว่า GunZ คือเกมออนไลน์แอ็กชันน้ำดี มีความสนุกสนานเร้าใจ GunZ จึงกลายเป็นเกมออนไลน์ในความทรงจำของผู้เล่นหลายคนจนถึงทุกวันนี้ แม้ตัวเกมไม่เคยมีเซิร์ฟเวอร์ไทยอย่างเป็นทางการก็ตาม
GunZ คล้ายกับเกมออนไลน์แนว Shooting หลายเกม คือเริ่มต้นมาผู้เล่นจะมีแต่อาวุธกับเสื้อผ้าธรรมดา ๆ จากนั้นก็เข้าร่วมห้องเกมที่ถูกสร้างโดยเหล่าเพลเยอร์ แล้วแข่งขันโหมดเกมต่าง ๆ กับผู้เล่นอื่น เช่น Deathmatch, Team Deathmatch, Attack/Defend (รวมถึงมีโหมด Quest สำหรับ CO-OP ด้วย) เมื่อจบการแข่งขัน ผู้เล่นจะได้รับเงินเพื่อไปใช้ซื้อเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ หรืออาวุธใหม่ ๆ ให้ตัวละครถึกทน กับแข็งแกร่งมากขึ้น และค่าประสบการณ์ที่บ่งบอกว่าคุณได้เล่นเกมมานานแค่ไหนแล้ว
บางไอเทมพิเศษ เช่น เพิ่มค่าประสบการณ์ 2 เท่า, เสื้อผ้าแฟชั่น หรือของตกแต่งเพื่อเน้นความเท่/น่ารักของตัวละคร สามารถปลดล็อกได้จากการซื้อผ่านร้านค้า Microtransactions ด้วยเงินจริง ก็ต้องบอกเลยว่าโมเดลการหารายได้ของเกมนี้ เหมือนกับเกมออนไลน์ในยุค 2000 หลายเกม
เกมเพลย์เดือดคือหัวใจสำคัญของ GunZ
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ GunZ มีความแตกต่างจากแนว Shooting เกมอื่น ๆ คือระบบการเคลื่อนไหวของตัวละครที่มีคำสั่งหลากหลาย เช่น คุณสามารถกดเพื่อพุ่งตัวไปข้างหน้า, เดินบนกำแพงเพื่อข้ามแพลตฟอร์ม, Roll หลบกระสุนได้ทุกทิศทางคล้าย Max Payne หรือใช้มีดกับดาบในการปีนกำแพงขึ้นที่สูง นอกจากนี้ อาวุธในเกมมีให้เลือกใช้หลากหลาย เช่น ปืนพก, ปืนกลเบา, ปืนไรเฟิลจู่โจม, ปืนกลหนัก, ปืนลูกซอง, ปืนยิงลูกระเบิด และอาวุธระยะประชิดอย่าง มีด, ดาบ, Kodachi (ดาบญี่ปุ่นประเภทหนึ่ง) โดยทุกอาวุธมีเทคนิคการใช้งานแตกต่างกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ GunZ เป็นเกมที่มีการนำเสนอที่ดูเท่ ๆ คูลล์ ๆ โดนใจเกมเมอร์ชาย
นอกจากนี้ เกมเพลย์ของ GunZ ก็มีดีไม่แพ้กัน เนื่องจากเกมมีระบบ Combat เน้น Fast-Paced รวดเร็วเร้าใจ, การเคลื่อนไหวตัวละครมีความยืดหยุ่นสูง รวมถึงบางแผนที่สนามรบ มีเอกลักษณ์เป็นที่ชื่นชอบสำหรับหลายคน เช่น ด่าน Masion ที่เปรียบเสมือนเป็น Operation Locker ใน BF4 หรือ 2Fort ของ Team Fortress 2 ที่ผู้เล่นทั้งสองฝั่งสามารถปะทะกันซึ่ง ๆ หน้าอย่างรวดเร็ว รวมถึงการใช้อาวุธ Melee ก็มีเทคนิคท่าต่าง ๆ เช่น โจมตีธรรมดา โจมตีแบบคลิกขวา และชาร์จโจมตีอย่างรุนแรง ทำให้ระบบเกมการเล่นของ GunZ สนุกสนาน เล่นง่ายแต่ต้องฝึกฝนนานจึงจะกลายเป็น “เทพซ่า” ได้
เมื่อบั๊กกลายเป็นฟีเจอร์ที่ทำให้เกมเมอร์หลายคนชื่นชอบ
Mansion หนึ่งในแผนที่ยอดนิยมตลอดกาลของเกม GunZ
จนกระทั่งวันหนึ่ง สังคมเกม GunZ ในประเทศเกาหลีใต้ ได้ค้นพบบั๊กในระบบการต่อสู้ ที่ทำให้ตัวละครสามารถยกเลิกแอนิเมชัน (Cancel Animation) ช่วยให้การโจมตี หรือการเคลื่อนไหวตัวละครรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม ทำให้บั๊กดังกล่าวถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย จนมีชื่อเรียกเทคนิค (อย่างไม่เป็นทางการ) ว่า “K-Style” หรือ Korean Style
K-Style เป็นท่า Moveset ของเกม (ไม่เป็นทางการ) ที่ช่วยให้ผู้เล่นสามารถโจมตีกับเคลื่อนไหวเร็วขึ้นด้วยการใช้บั๊ก Cancel Animation ต่าง ๆ ซึ่งเทคนิคดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมาก จนเกมเมอร์มีการตั้งชื่อท่าต่าง ๆ โดยเฉพาะ เช่น Wall Cancel คือการใช้ดาบฟันกำแพง เพื่อตัวละครสามารถขึ้นที่สูงได้เร็วกว่าการปีนกำแพงปกติ, Swap Shot คือเทคนิคการยิงปืนลูกซองให้ได้ 2 นัดติดต่อกัน จากการสลับอาวุธช่องที่หนึ่งและสอง หรือ Slash Shot เป็นการยิงอาวุธปืนระหว่าง Dash พุ่งตัวข้างหน้า และเทคนิคอื่น เช่น Butterfly, Half Step ฯลฯ ที่ช่วยให้เกมเพลย์ดุเดือดกว่าเดิม และกลายเป็นสุดยอดเกมทำลายคีย์บอร์ดกับเมาส์ เนื่องจากต้องกดปุ่มตลอดเวลา
ในเกมมีชื่ออีกเทคนิคหนึ่งที่เรียกว่า “D-Style” หรือ Dagger Style โดยท่าคำสั่งหรือ Moveset จะคล้ายกับ K-Style แต่เปลี่ยนจากการใช้อาวุธดาบกลายเป็นมีดแทน แล้วเนื่องจากเทคนิคดังกล่าวได้ความนิยมอย่างมาก ชาวไทยจึงอาจไม่รู้มาก่อนว่าท่าเทคนิคที่กล่าวมา แท้จริงแล้วมันคือบั๊กของเกม ไม่ใช่ระบบหนึ่งของเกมแต่อย่างใด
สามารถรับชมเทคนิคการต่อสู้ต่าง ๆ ของเกม GunZ ได้ผ่านช่อง YouTube โดย Overlord Gaming
อ้างอิงจากคนเล่นเกม GunZ หลายคน แม้ท่า K-Style ได้รับการยอมรับจากสังคมคนเล่นเกม แต่เพลเยอร์อีกหลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้ K-Style เนื่องจาก Moveset ทั้งหมดถูกคิดค้นจากการใช้บั๊ก Cancel Animation ทำให้เกมเพลย์ขาดความบาลานซ์ และไม่ใช่ระบบเกมที่สมควรถูกนำมาใช้ตั้งแต่แรก แต่หลังจาก MAIET Entertainment ได้โปรโมตเกมดังกล่าว ด้วยการใช้ Footage ที่เพลเยอร์ใช้เทคนิค K-Style ก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าบั๊กดังกล่าวได้กลายเป็นฟีเจอร์อย่างเป็นทางการ และทีมงานไม่มีแผนจะแก้บั๊กดังกล่าวอย่างแน่นอน
หนึ่งในเกมที่ได้รับความนิยมลดลง เพราะ Hacker
อย่างไรก็ตาม แม้ GunZ มีกระแสตอบรับที่ดีจากเหล่าเกมเมอร์หลายคน แต่น่าเสียดายที่ทีมพัฒนาเกม MAIET Entertainment ไม่ค่อยดูแลเกมอย่างทั่วถึงเท่าไหร่นัก หากอ้างอิงจากประสบการณ์ส่วนตัว มีช่วงระยะหนึ่งที่เกมดังกล่าวเต็มไปด้วยเหล่า Hacker ระบาดทั่วห้องเซิร์ฟเวอร์ มีการใช้โปรแกรมโกงหลากหลายชนิด อย่างเช่น ใช้อาวุธ Melee ฟันอย่างรวดเร็ว, ใช้ Aimbot หรือตัวละครเป็นอมตะ ซึ่งทำให้การเล่นเกมไม่สนุกสนาน และเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผมเลิกเล่น GunZ ในที่สุด
นอกจากนี้ ตัวเกมยังพบกับปัญหาอื่น ๆ อีกด้วย อ้างอิงกระทู้ชาว Reddit อีกสาเหตุหลักที่ GunZ มียอดผู้เล่นลดลงและไม่เติบโต เพราะตัวเกมอัปเดตคอนเทนต์ช้า, ขาดมาตรการการจัดการเหล่า Hacker อย่างจริงจัง, ตัวเกมขาดการโปรโมตโฆษณา ทั้งที่เกมดังกล่าวกำลังเป็นที่น่าสนใจสำหรับผู้เล่นเกมออนไลน์ และเนื่องจากเทคนิค K-Style ที่ใช้การอย่างแพร่หลาย ได้ส่งผลกระทบทำให้เกมเข้าถึงยากสำหรับมือใหม่
จนท้ายที่สุด GunZ จำเป็นต้องปิดให้บริการทุกเซิร์ฟเวอร์อย่างเป็นทางการในปี 2013 ตามเกมออนไลน์คลาสสิกหลายเกม เนื่องจากยอดผู้เล่นน้อย และไม่มีการอัปเดตคอนเทนต์ใหม่อีกต่อไป แม้ในปี 2016 Masangsoft GunZ ได้กลับมาฟื้นคืนชีพเกม GunZ อีกครั้ง แต่ก็เปิดให้เล่นเฉพาะโซนเกาหลีใต้เท่านั้น
ปัจจุบัน แม้ GunZ มีเกมภาคสองโดยใช้ชื่อว่า GunZ 2: The Second Duel (ซึ่งก็ปิดบริการเซิร์ฟเวอร์ทั่วโลกไปแล้ว ยกเว้นโซนสหรัฐฯ ในปี 2017) แต่เกมภาคแรกก็ยังคงสามารถครองใจและเป็นที่น่าจดจำสำหรับเกมเมอร์หลายคน และเพลเยอร์บางส่วน ก็ยังคงเล่นเกมดังกล่าวผ่านเซิร์ฟเวอร์ไม่เป็นทางการ