BY StolenHeart
19 Dec 18 11:57 am

รวมนิตยสารเกมที่เคยวางจำหน่ายในประเทศไทย

234 Views

ก่อนที่อินเตอร์เน็ตจะแพร่หลายเหมือนในทุกวันนี้ สมัยก่อนเหล่าเกมเมอร์มักพึ่งใบบุญหาข้อมูลเกม บทสรุป สูตรโกง และอีกมากมายที่เกี่ยวกับเกมจากนิตยสารหรือหนังสือบทสรุปแทบทั้งสิ้น แต่ทุกวันนี้หนังสือนิตยสารเกมต่างล้มหายตายจากไปจากแผงหนังสือในบ้านเราไปจนเกือบหมดแล้ว ทั้งที่ในสมัยก่อนนั้นมีหลายเล่มที่ได้รับความนิยมอย่างมาก วันนี้เราจะมาย้อนดูกันว่า นิตยสารเกมในไทยที่เคยโลดแล่นอยู่ในแผงหนังสือในสมัยก่อนนั้นมีอะไรกันบ้าง

Future Gamer

เริ่มกันที่อดีตนิตยสารเกม PC อันดับหนึ่งของประเทศไทยที่หลายคนน่าจะรู้จักกันดี (เพราะใน GamingDose เราก็มีนักเขียนจาก FG อยู่ถึงสามคนด้วยกัน) โดยในสมัยก่อนนั้นได้รับลิขสิทธิ์การแปลมาจากนิตยสาร PC Gamer โดยตรง ทำให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเกม PC นั้นแน่นปึ๊ก ทั้งหน้าแนะนำเกมเก่าเกมดัง รีวิว บทสรุป สารพัดความเห็นจากนักเขียน ฮาร์ดแวร์ และอื่น ๆ อีกมากมาย แถมยังมีบทสรุปแปลไทยระดับละเอียดขึ้นหิ้งอีกหลายเล่มด้วยกันจาก Prima (ที่จำได้แม่นก็คือ The Sims 2 และ Half Life 2 ที่ละเอียดสุดยอดมาก)

ปัจจุบันนี้ Future Gamer ปิดตัวลงไปแล้วในเดือนตุลาคมปี 2016 สร้างความเสียดายให้กับเหล่าเกมเมอร์ PC ที่ติดตามกันมาอย่างยาวนานเป็นอย่างยิ่ง และแปรสภาพมารวมเป็นสื่อออนไลน์เต็มตัวในชื่อ Online Station ส่วนนักเขียนประจำหลายท่านต่างก็แยกย้ายไปตามเส้นทางของตนเอง ถือเป็นนิตยสารเกมที่สร้างความทรงจำดี ๆ ให้กับเหล่าเกมเมอร์อย่างมากเล่มหนึ่ง

EGM / PLAY

อีกหนึ่งนิตยสารในเครือเดียวกันกับ Future gamer แต่คราวนี้เน้นไปที่เกมคอนโซลอย่างเข้มข้นไม่แพ้กัน มีรายละเอียดเชิงลึกมากมายเกี่ยวกับเกมทั้งบทสัมภาษณ์ บทสรุปเล่มเล็กที่โคตรละเอียด ซึ่งก็มีนักเขียนจากทาง Future Gamer ไปร่วมลงผลงานอย่างคึกคักอยู่เช่นกัน ก่อนที่ภายหลังจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น PLAY และเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการนำเสนอเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้นแบบที่หาอ่านที่ไหนไม่ได้ ซึ่ง PLAY จะได้ฐานลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงานเนื่องจากเนื้อหาที่มีความเข้มข้นมากกว่าทั้งในเรื่องของสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับเกมในตอนนั้น

PLAY ปิดตัวลงในเดือนธันวาคมปี 2015 ท่ามกลางความตกใจของแฟน ๆ ที่ติดตามกันมายาวนาน แต่ก็ถือได้ว่าเป็นนิตยสารเกมคอนโซลที่กล้านำเสนอสิ่งใหม่ที่นิตยสารเกมเล่มอื่น ๆ ไม่มี และได้การตอบรับที่ดีกลับมาจากแฟน ๆ หนังสืออย่างยิ่ง

Mega / Mega X Game

สำหรับคอเกมคอนโซลรุ่นเก่า ชื่อ Mega เป็นชื่อที่หลายคนต้องจดจำกันได้อย่างแน่นอน Mega ถือเป็นนิตยสารเกมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับข่าวเกมจากญี่ปุ่นแน่นมากที่สุด เพราะได้รับลิขสิทธิ์มาจากนิตยสาร Famicom Tsushin หรือ Famitsu ที่หลายคนรู้จักกันดี ทั้งงานภาพและข้อมูลของข่าว เรียกว่าส่งตรงมาให้กับบ้านเราแบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์เลยทีเดียว แถมในตอนหลังก็เริ่มมีการขยายสาขา ออกเป็น Mega Month ที่เป็นเล่มรวมบทสรุปเกมและเทคนิคเกมต่างๆ เอาไว้หลากหลายแนว แถมด้วยเนื้อเรื่องที่ละเอียดแบบอ่านจบเล่มเดียวแล้วรู้เรื่องไปทั้งเกมเลยทีเดียว

น่าเสียดายที่ในยุคหลังที่กลายเป็น Mega X Game มีเนื้อหาที่ละเอียดและน่าสนใจน้อยลง ความ Exclusive ต่าง ๆ ก็จางหายไป ทำให้ตัวนิตยสารต้องปิดตัวลงในเดือนธันวาคมปี 2016 แต่ Mega ก็ถือเป็นนิตยสารที่อยู่ยงคงกระพันมานานกว่า 26 ปี เป็นหนังสือเกมที่หลายคนรักใคร่ชื่นชอบ และเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัยเด็กที่หลายคนเติบโตมาด้วยกันอย่างแน่นอน

GameMag / GameMag Online

อีกหนึ่งนิตยสารเกมที่มีสโลแกนเก๋ไก๋และมีวันวางจำหน่ายที่ไม่เหมือนชาวบ้านชาวช่องเขา เพราะเป็นหนังสือเล่มเดียวที่ออกรายสิบวัน ในขณะที่เล่มอื่นออกเป็นรายสัปดาห์ไม่ก็รายเดือนกันหมด การนำเสนอเนื้อหาของ GameMag ไม่ได้อิงหรือซื้อลิขสิทธิ์มา แต่จะเอาส่วนที่น่าสนใจทั้งจากนหนังสือในญี่ปุ่นและประเทศฝั่งตะวันตกมารวมกันอยู่ในเล่มเดียว และที่เป็นเสน่ห์ที่หลายคนจำได้คือช่วงตอบจดหมายท้ายเล่ม ที่คนตอบค่อนข้างกวนโอ้ยเอามาก ๆ บางทีคำถามที่ตอบไปก็ไม่ได้รับคำตอบที่อยากได้เท่าไหร่ แต่จะเป็นการกวนคนถามกลับแทนเหมือนคุยกับเพื่อนยังไงอย่างงั้น ซึ่งเมื่อเทียบกันหนังสือเล่มอื่น ๆ แล้วจะมีความสุภาพมากกว่า และนอกจากนั้นก็ยังมีเล่มพิเศษยิบย่อยออกมามากมาย เช่นเล่ม Special ที่เป็นเล่มรวมเทคนิคเกมและเรื่องเล่าต่าง ๆ และฉบับสูตรเกมที่เล็กลงมาแต่ก็อัดแน่นไปด้วยข้อมูล

แต่ในยุคหลัง GameMag มีคุณภาพลดลงอย่างน่าใจหาย ความแน่นของข้อมูลและข่าวต่าง ๆ กลวงจนแทบไม่มีอะไรเลย ซึ่งตอนแรกนั้นผู้เขียนก็คิดว่า GameMag ยังวางจำหน่ายอยู่จนถึงตอนนี้ แต่กลายเป็นว่าหนังสือไม่ได้วางจำหน่ายมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมแล้ว กลายเป็นว่าอยู่ ๆ ก็หายไลน์ไม่ตอบซะอย่างงั้น ทำให้ความรู้สึกที่ GameMag หายไปนั้นไม่เหมือนกับหนังสือเล่มอื่นที่ตอนจากไปก็รู้สึกเศร้าอยู่นิด ๆ

Weekly Online

ถ้าพูดถึงเกมออนไลน์ นิตยสารเกมที่เกี่ยวข้องเป็นอันดับต้น ๆ ของไทยก็คงหนีไม่พ้น Weekly Online แน่นอน ซึ่งก็เป็นค่ายเดียวกันกับ Future Gamer นี่เอง ด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับเกมออนไลน์ทั้งในไทยและต่างประเทศที่ครบครัน มาถี่ทุกสัปดาห์ เปิดมาอยากรู้ว่าเทคนิคเกมออนไลน์เกมที่เราเล่นเป็นอย่างไรในสัปดาห์นั้นก็รู้ได้ทันที เรียกว่าครบมาก ๆ สำหรับกลุ่มคนที่เล่นเกมออนไลน์และยังมีคอลัมน์สัพเพเหระมากมายให้ได้อ่านแก้เครียดกันด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ Weekly Online ก็ผันตัวเองไปเป็นสื่อออนไลน์เต็มตัวในชื่อ Online Station อย่างที่เรารู้จักกันดี

IT Games / Gamecom

สำหรับคนเล่นเกม PC ยุคบุกเบิก IT Games จัดเป็นนิตยสารเกมที่เรียกว่ามาก่อนกาลสุด ๆ เพราะในช่วงต้นยุค 90 นั้น เกม PC ถือเป็นของที่ค่อนข้างไกลตัวมากเนื่องจากราคาแพง และยังขายในราคาที่ค่อนข้างสูงมาก แต่เนื้อหาในเล่มนั้นถือว่าจัดเต็มอย่างสุด ๆ ซึ่งหลังจากที่ IT Games ปิดตัวไป ทีมงานบางส่วนก็มาร่วมกันทำ Gamecom กันต่อ ซึ่งเอกลักษณ์ของการนำเสนอเนื้อหาในเล่มนั้นจะเป็นการเขียนแบบกึ่งรีวิวกึ่งไกด์ ผู้อ่านจะได้สัมผัสกับอารมณ์ร่วมในการเขียนไกด์อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งบางทีอ่าน ๆ ไปเพื่อหาข้อมูลกลายเป็นขำจนตกเก้าอี้ไปแทนก็มี แต่ข้อมูลในเกมนั้นก็มีการเก็บรายละเอียดอย่างเข้มข้นไม่น้อยหน้านิตยสารเล่มอื่น ๆ เลย ซึ่งตัวหนังสือไปปิดตัวลงไปอย่างเงียบ ๆ ชนิดช็อคคนอ่านกันทั้งประเทศเลยทีเดียว

Tonbo Magazine

อันนี้ก็เริ่มเก่าขึ้นมาอีกระดับ Tonbo เป็นนิตยสารที่คนรักเกมเก่าจะผูกพันมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นนิตยสารเล่มแรก ๆ ที่แปลบทสรุปเกมภาษาญี่ปุ่นแบบจริง ๆ จัง ๆ ถูกบ้างมั่วบ้างแต่ก็ทำให้ใครหลายคนเล่นเกมจนไปพบกับฉากจบที่สวยงามได้เยอะเอาเรื่องอยู่ แถมราคาหนังสือมือสองไม่ว่าจะเล่มไหนก็ค่อนข้างสูงมีเดียว เรียกว่าหลุดมาขายในกรุ๊ปนี่แทบจะแย่งกันซื้อไม่ทันทีเดียว ซึ่งถือเป็นหนังสือเกมที่ลงข้อมูลของเกมภาษาเยอะมากแบบจัดเต็ม อ่านกันให้ตาแฉะแบบลืมเวลากันได้เลย

ยังมีหนังสือและนิตยสารเกมอีกหลายเล่มที่ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึง โดยเฉพาะค่ายทำบทสรุปเกมในไทยนั้นมีจำนวนมากมายมหาศาล เอามาเล่ากันไม่หมดแน่นอน ซึ่งแน่นอนว่าการที่มันหายไปจากแผงหนังสือนั้นก็เป็นไปตามกลไกของโลกเรา ที่ของใหม่จะมาแทนที่ของเก่าเสมอ เทรนด์การรับชมสื่อของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปจากหน้ากระดาษมาเป็นบนหน้าจอมือถือที่สะดวกและรวดเร็วกว่าแทน เมื่อปรับตัวไม่ได้ก็ต้องจากไป แต่สำหรับคนรุ่นเก่าอย่างผู้เขียนนั้น การได้กลับไปสัมผัสหน้ากระดาษแล้วบรรจงอ่านแบบเก่าก็เป็นอะไรที่ขวนให้คิดถึงเหมือนกัน ส่วนในอนาคตนั้นการรับข่าวสารของคนเราจะเป็นไปในทิศทางไหน และเราจะอ่านและรับรู้ข่าวสารในวงการกันได้อย่างไรก็ต้องมาติดตามดูกันต่อไปตราบใดที่ยังหายใจกันอยู่ครับ

Putinart Wongprajan

เค้ก - Content Writer

Back to top