Warframe เป็นเกมแอคชันมุมมองบุคคลที่สามแบบมัลติเพลเยอร์ในยุคอนาคตอันไกลโพ้นจาก Digital Extremes ซึ่งเป็นทีมพัฒนาสัญชาติแคนาดา เกมนี้เปิดตัวครั้งแรกในปี 2013 หรือเมื่อ 6 ปีที่แล้วและได้รับการพัฒนาต่อยอดเพิ่มเนื้อหาและปรับปรุงระบบมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน ด้วยเกมเพลย์และเนื้อหาที่หลากหลายทำให้ Warframe ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันยังมีผู้เล่นหน้าใหม่ที่กระโดดลงมาเล่นเกมนี้ไม่ขาดสาย
สำหรับในประเทศไทย Warframe เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “นินจาอวกาศ” โดยได้รับความนิยมจากเกมเมอร์จำนวนหนึ่งแต่ก็ไม่ได้แพร่หลายหรือเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
สำหรับเกมเมอร์ที่สนใจหรือตัดสินใจว่าจะลองสัมผัสประสบการณ์ Warframe รวมถึงคนที่เพิ่งเริมเล่นได้ไม่นานก็คงมีข้อสงสัยหรือเรื่องที่อยากรู้ก่อนเริ่มเล่น ในวาระครบรอบ 1 ปีที่ผู้เขียนเริ่มเล่น Warframe แบบจริงจังก็เลยเขียนบทความนี้ขึ้นมา บทความนี้จะเกี่ยวกับแง่มุมและแนวคิดในการเล่น ไม่ได้เกี่ยวกับเกมเพลย์โดยตรง
นินจาเล่นฟรี 100%
Warframe เป็นเกมที่มาพร้อมกับสโลแกน “Ninjas Play Free” ทุกครั้งที่มีการโฆษณาหรือปล่อยเทรลเลอร์ แต่ก็ยังมีเกมเมอร์จำนวนมากที่กังขาในเรื่องนี้ว่ามันฟรีจริงหรือ?
ข้อสงสัยนี้มีที่มาจากหลายสาเหตุ อย่างแรกคือเกมเมอร์ส่วนใหญ่มักจะเข็ดกับเกมที่อวดตัวว่าฟรีแต่แอบแฝงไว้ด้วยระบบที่จะมาเพื่อรีดเงินออกไปจากกระเป๋า โดยเฉพาะเกมที่ล็อคทุกอย่างไว้ด้วยการจ่ายเงินหรือแบบที่เรียกกันว่าเทพทรู Pay to Win และอีกสาเหตุก็คือเมื่อเห็นว่าเนื้อหาและคุณภาพของ Warframe ไม่ใช่ไก่กาก็เลยเกิดความเคลือบแคลงใจว่าเกมดี ๆ แบบนี้มันจะไปฟรีได้ยังไง? ยิ่งไม่มีโฆษณาคั่นหรือแฝงมาในหน้าจอโหลดด้วย แล้วเกมนี้จะทำเงินจากไหน?
สำหรับคนที่เล่นมามากกว่า 1,500 ชั่วโมง คำตอบนั้นแสนง่ายและตรงไปตรงมา ขอยืนยันตรงนี้ว่า Warframe เป็นเกมที่เล่นฟรี 100% และไม่ใช่แนว Pay to Win ที่เติมเงินเข้าไปแล้วจะกลายเป็นเทพ เพราะไอเท็มอย่างเฟรม (ตัว Warframe ที่ใช้เล่นในเกม) อาวุธ ม็อด (สำหรับอัพเกรด) และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับเกมเพลย์ล้วนแล้วแต่สามารถเก็บจากในเกมได้ทั้งสิ้น
ไอเท็มที่ไม่สามารถหาได้ฟรีจากในเกมแล้วต้องใช้สกุลเงินพรีเมี่ยม (จากเงินจริง) ซื้อมีแต่ไอเท็มประเภทเพิ่มความสวยงามหรือสีสันที่ไม่เกี่ยวข้องกับเกมเพลย์โดยตรงเท่านั้น
Warframe ทั้งหมดและอาวุธโดยส่วนใหญ่ (ยกเว้นเวอร์ชัน Prime) สามารถซื้อได้ด้วยสกุลเงินพรีเมี่ยมได้จากใน Market ของเกม แต่ก็สามารถซื้อเฉพาะแบบแปลน (Blueprint) ด้วยเครดิตที่เป็นเงินในเกมแล้วออกไปหาทรัพยากรมาสร้างเองแบบไม่ต้องใช้เงินจริงได้
สำหรับ Warframe และอาวุธบางส่วนที่ไม่มีแบบแปลนขายก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการบังคับให้ซื้อด้วยสกุลเงินพรีเมี่ยม เพราะ Warframe และอาวุธพวกนี้ยังสามารถหาฟรีจากในเกมได้เหมือนเดิม เพียงแต่การตามหาอาจจะแตกต่างออกไปจากชิ้นอื่น ๆ เช่น ดรอปจากศัตรูเท่านั้น หรือต้องไปซื้อแบบแปลนจากห้องวิจัยของแคลน (เหมือนระบบ Guild ของเกมอื่น) เท่ากับว่าไอเท็มสำคัญที่ซื้อด้วยเงินจริงได้มีน้อยกว่าจำนวนไอเท็มจริง ๆ ในเกม
แม้แต่ Warframe และอาวุธเวอร์ชัน Prime ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวสร้างรายได้ของทีมพัฒนา (ซื้อด้วยเงินจริงเท่านั้น ไม่ใช่สกุลเงินพรีเมี่ยม) ก็ไม่ได้บังคับให้ต้องซื้อเพราะสามารถหาเก็บจากในเกมได้เช่นกัน ยกเว้น Prime ที่หมดฤดูกาลและเข้ากรุไปแล้ว (แต่ก็มีการนำกลับออกมาให้เก็บหรือซื้อด้วยเงินจริงได้เป็นระยะ) แต่ในภาพรวมเวอร์ชัน Prime ก็ไม่ใช่ของจำเป็นเพราะพลังความสามารถทุกอย่างก็แทบไม่ต่างจากเวอร์ชันปกติ อาจจะดีกว่าเพียงเล็กน้อย สิ่งที่ล่อใจที่สุดสำหรับ Warframe เวอร์ชัน Prime คือความสวยงามเชิงแฟชั่น
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ก็มีของจำเป็นอยู่ประเภทหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้สกุลเงินพรีเมี่ยมในการซื้อซึ่งนั่นก็คือ “สล็อต (Slot)” หรือช่องเก็บของ ในเกมนี้มีสล็อตอยู่หลายประเภท เช่น สล็อตสำหรับ Warframe สล็อตสำหรับอาวุธ เป็นต้น โดยผู้เล่นแต่ละคนจะมีสล็อตเริ่มต้นมาให้จำกัดและจะต้องซื้อเพิ่มถ้าอยากเก็บของได้มากขึ้น
ผู้เล่นหน้าใหม่จะเริ่มต้นมาโดยมี สล็อตสำหรับ Warframe เพียงแค่ 2 ช่องเท่านั้น หมายความว่าผู้เล่นจะมี Warframe ไว้ใช้งานได้แค่ 2 ตัว ถ้าอยากได้ตัวใหม่ก็มีแค่สองทางเลือกคือ 1. ใช้สกุลเงินพรีเมี่ยมซื้อสล็อตเพิ่ม และ 2. ขาย Warframe ทิ้งไปหนึ่งตัวเพื่อให้มีที่ว่าง
แม้จะดูหมือนบีบบังคับกลาย ๆ ให้ผู้เล่นต้องยอมจ่ายเงิน แต่ก็มีเหตุผลเบื้องหลังสำหรับเรื่องนี้ นั่นคือแต่ละสล็อตจำเป็นต้องใช้พื้นที่เก็บข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์ เท่ากับเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย
แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่เรื่องโหดร้ายที่จะรีดเงินจนกระเป๋าแบนเพราะสล็อตมีราคาค่อนข้างถูก การซื้อสล็อตก็เป็นการจ่ายแบบครั้งเดียวแล้วได้สล็อตนั้นถาวรไม่มีทางหายไปไหน อีกอย่างคือยังสามารถหาฟรีจากในเกมได้ด้วย แต่นาน ๆ จะมีมาแจกที (ประมาณปีละ 1-2 ครั้งสำหรับสล็อตแต่ละประเภท) จึงไม่ค่อยแนะนำให้รอ
แพลตตินัมไม่ใช่ชื่อห้างแต่เป็นสกุลเงินพรีเมี่ยม
แพลตตินัม (Platinum) คือสกุลเงินพรีเมี่ยมของ Warframe ที่ต้องแลกมาด้วยเงินจริงเช่นเดียวกับเกมออนไลน์มัลติเพลเยอร์จำนวนมาก
สำหรับผู้เล่นใหม่ทุกคนจะได้รับ 50 แพลตตินัมฟรีสำหรับการเริ่มต้น
แล้วแพลตตินัมใช้ทำอะไรได้บ้าง?
- ซื้อไอเท็มจาก Market
ไอเท็มที่ซื้อได้ก็มีตั้งแต่ Warframe อาวุธ ของตกแต่งเพิ่มความสวยงาม ชุดสี (สำหรับเปลี่ยนสีให้ไอเท็ม) สล็อตเก็บของ ไปจนถึงทรัพยากรหลายอย่างที่เก็บได้จากในเกมเผื่อสำหรับคนขี้เกียจ แล้วก็ไอเท็มพิเศษที่เรียกว่า Booster เพื่อความสะดวกและย่นเวลาในการฟาร์ม (ขอไม่ลงรายละเอียด)
- เร่งการสร้างไอเท็ม
ในยานซึ่งเป็นเหมือนฐานส่วนตัวของผู้เล่นจะมีส่วนที่เรียกว่า Foundry (ชื่อเล่นคือ “เตาอบ”) ซึ่งเอาไว้ใช้สร้างไอเท็ม นอกเหนือจากแบบแปลนและทรัพยากรที่จำเป็นแล้ว อีกอย่างที่ต้องใช้คือ “เวลา” ไอเท็มแต่ละชิ้นมีเวลาในการสร้างต่างกันไปตามความสำคัญซึ่งระยะเวลามีตั้งแต่ 1 นาที ไปจนถึง 72 ชั่วโมง (3 วัน) สำหรับคนที่ไม่อยากรอก็สามารถจ่ายแพลตตินัมเพื่อให้ไอเท็มสร้างเสร็จทันทีได้ (เวลาในการสร้างนับตามเวลาจริงนอกเกม ไม่ใช่เวลาในเกม)
- แลกเปลี่ยนระหว่างผู้เล่น
นอกจากจะเป็นสกุลเงินพรีเมี่ยมเอาไว้ใช้จ่ายตามที่พูดไปแล้ว แพลตตินัมยังเป็นเงินตราระหว่างผู้เล่นเอาไว้ซื้อไอเท็มจากกันได้ด้วย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะแลกไอเท็มกันได้ทุกอย่าง ไอเท็มที่แลกกันได้จะมีเฉพาะไอเท็มที่ซื้อจากใน Market ไม่ได้ เช่น ชิ้นส่วนของ Warframe และอาวุธเวอร์ชัน Prime และม็อด (*50 แพลตตินัมที่ได้มาตอนเริ่มเล่นไม่สามารถใช้แลกกับคนอื่นได้)
ทีมผู้พัฒนา Warframe นับว่ามีความใจป้ำมากเมื่อดูจากระบบของสกุลเงินพรีเมี่ยมเพราะแพลตตินัมมีราคาค่อนข้างถูก คิดเป็นเงินไทยแล้วตก 1 แพลตตินัม = 1.3 บาท (เหลือ 0.55 บาทเมื่อซื้อแพ็คใหญ่สุด)
เมื่อดูความจำเป็นในการใช้อย่างการซื้อสล็อตก็นับว่าไม่แพง สล็อตสำหรับ Warframe หนึ่งสล็อตมีราคา 20 แพลตตินัม (26 บาทได้ 1 สล็อต) สล็อตสัตว์เลี้ยงราคา 10 แพลตตินัม (13 บาทได้ 1 สล็อต) และสล็อตพื้นฐานประเภทอื่น ๆ จะขายเป็นคู่ในราคา 12 แพลตตินัม (16 บาทได้ 2 สล็อต)
นอกจากนี้อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าไม่มีการล็อคให้ซื้อแพลตตินัมด้วยเงินจริงเท่านั้น เพราะสามารถฟาร์มไอเท็มมาแลกแพลตตินัมจากผู้เล่นคนอื่นได้
และที่พิเศษที่สุดก็คือเมื่อลอกอินเข้าเกมเป็นครั้งแรกในแต่ละวัน ผู้เล่นจะได้รับโบนัสแบบสุ่ม และบางครั้งอาจจะได้คูปองลดราคาสำหรับแพลตตินัม (ใช้ได้ครั้งเดียว และต้องใช้ภายใน 48 ชั่วโมง) ซึ่งมีตั้งแต่ลด 20% ไปจนถึงสูงสุด 75% แต่ทั้งนี้ขึ้นกับโชคล้วน ๆ ว่าจะได้หรือไม่ แล้วได้ลดเท่าไร
ใช้เวลาเล่นเหมือนกำลังจีบสาว
เมื่อตกลงปลงใจแล้ว่าจะเล่น Warframe อย่างจริงจัง (และพยายามไม่ใช้เงินจริงหรือใช้เท่าที่จำเป็น) สิ่งหนึ่งที่ต้องพึงระลึกไว้เสมอคือ “อย่าใจร้อน”
อย่าเล่น Warframe เหมือนควงสาวหนึ่งคืนแบบ One Night Stand หรือพยายามแบบเอาเป็นเอาตายเก็บทุกอย่างและผ่านเนื้อหาทั้งหมดของเกมในระยะเวลาอันสั้น แต่ให้ทำเหมือนกำลังจีบสาว ค่อย ๆ ใช้เวลาเรียนรู้พื้นฐานต่าง ๆ ของเกมแล้วจึงค่อย ๆ ทำความเข้าใจกับระบบส่วนอื่นที่ซับซ้อนมากขึ้น
Warframe เป็นเกมที่มีระบบมากมาย และมีคอนเทนท์ทั้งในส่วนเนื้อเรื่องและเกมเพลย์เยอะมาก (ผู้เล่นหลายคนชอบพูดว่า “เยอะเกินไปด้วยซ้ำ”) จึงเป็นการดีที่ผู้เล่นจะใช้เวลาเรียนรู้ไปอย่างช้า ๆ วันละเล็กละน้อย
เควสบางอย่างในเกมบังคับให้ต้องรอเวลาในการสร้างไอเท็ม (12 ชั่วโมง) ให้เสร็จก่อนแล้วถึงจะดำเนินเรื่องต่อได้ นอกจากนี้ ไอเท็มชิ้นใหญ่ (ส่วนมากคือ Warframe) ต้องใช้เวลาสร้างถึง 72 ชั่วโมง ผู้เล่นส่วนใหญ่อาจจะร้อนใจที่ต้องรอนานขนาดนีเพราะเมื่อต้องออกไปวิ่งฟาร์มแบบแปลน ชิ้นส่วน และทรัพยากรมาอย่างยากลำบากคงต้องการผลลัพธ์ในทันที ผู้เล่นอาจเกิดอาการหงุดหงิดที่ไม่ได้ดั่งใจหรือไม่ก็ต้องยอมจ่ายแพลตตินัม (ส่วนตัวแล้วไม่แนะนำ การจ่ายแพลตตินัมเพื่อสร้างไอเท็มให้เสร็จทันทีเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่าที่สุดในเกมนี้)
คำแนะนำสำหรับกรณีที่พูดไปข้างบนคือสงบสติอารมณ์แล้วทำใจเย็นไว้ Warframe เป็นเกมที่มีคอนเทนท์ให้ทำได้มากมาย ในระหว่างที่กำลังรอไอเท็มในเตาอบ ก็ลองออกไปวิ่งหาอะไรทำในเกมหรือจะออกจากเกมไปหาอย่างอื่นทำเพื่อฆ่าเวลาก็เป็นความคิดที่ไม่เลว (อย่างที่บอกไปแล้ว การสร้างไอเท็มนับตามเวลาจริง แม้ไม่ได้อยู่ในเกม)
ฝีมือเป็นต่อ รูปหล่อเป็นพระเอก
ระบบการเล่นของ Warframe ได้รับการออกแบบมาค่อนข้างดีเพื่อให้ผู้เล่นต้องมีส่วนร่วมกับเกมอยู่เสมอ ดังนั้นส่วนสำคัญของ “ความเก่ง” จึงไม่ได้มาจากเพียงไอเท็มที่ใช้ แต่มาจากฝีมือและประสบการณ์ของผู้เล่นเป็นหลัก
Warframe มีความแตกต่างจากเกมประเภท Loot Shooter (เกมแอคชั่นเดินยิงล่าไอเท็ม) ยอดนิยมอย่างซีรีส์ Borderlands และ Destiny ตรงที่เฟรม อาวุธ และม็อดในเกมไม่มีการสุ่มค่าใด ๆ ทั้งสิ้น เฟรม อาวุธ และม็อดทุกชิ้นมีค่า Stats ตายตัว ไม่วาจะดรอปหรือสร้างมากี่ชิ้นก็จะเหมือนกันหมด ทำให้ผู้เล่นไม่ต้องพยายามฟาร์มไอเท็มเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อให้ได้ค่า Stats ที่ต้องการ และการสร้างบิวด์ (Builds) ก็สามารถทำตามคนอื่นได้แบบเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว ขอแค่มีอาวุธและม็อดที่ต้องการครบถ้วน
แต่การยอมจ่ายด้วยแพลตตินัมเพื่อซื้อเฟรม อาวุธ และม็อดก็ไม่ได้หมายความว่าจะออกมาเหมือนในทันที เพราะมีสิ่งที่ใช้เงินซื้อไม่ได้นั่นก็คือการเก็บประสบการณ์ (Affinity) เพื่ออัพระดับ (Rank) ของเฟรมหรืออาวุธเพื่อให้ใส่ม็อดทั้งหมดได้ครบตามบิวด์เป็นสิ่งที่ต้องทำด้วยตัวเอง
และเมื่อมีบิวด์ของ Warframe และอาวุธที่ต้องการแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะเก่งเทพในทันที เพราะผู้เล่นจะต้องเข้าใจพื้นฐานและเทคนิคการใช้ไอเท็มแต่ละอย่างด้วย ทำให้ฝีมือของผู้เล่นมีความสำคัญกว่าไอเท็มที่ใช้
บิวด์สำหรับ Warframe บางอย่างอาจเน้นที่พลังโจมตีสูงจนไม่มีม็อดสำหรับการเอาตัวรอด เมื่อผู้เล่นมือใหม่ (หรือมือเก่าแต่ไม่ถนัดแนวนี้) ลองทำบ้างก็อาจจะต้องลงไปนอนกองกับพื้นชนิดกรรมการไม่ต้องนับเมื่อไปเล่นคอนเทน์ระดับสูง แล้วก็พาลคิดไปว่า “Warframe ตัวนี้ห่วย” หรือ “บิวด์นี้ห่วย” ในขณะที่มีผู้เล่นบางส่วนสามารถเล่นได้ไม่มีปัญหาเพราะใช้ฝีมือเอาตัวรอดแทนม็อดได้ ไม่มี Warframe หรือาวุธชิ้นไหนที่ห่วยจนใช้การไม่ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับการม็อดและความสามารถของผู้เล่น
Warframe และอาวุธแต่ละอย่างสามารถใส่ม็อดสร้างบิวด์ได้หลากหลายขึ้นกับความชอบและสไตล์การเล่นของแต่ละคน การลอกตามคนอื่นเพราะเห็นว่าเจ๋งดีอาจไม่ให้ผลลัพธ์อย่างที่หวัง ดังนั้นผู้เล่นควรทดลองใช้ไอเท็มแต่ละอย่างด้วยตัวเองในระดับหนึ่งแล้วค่อยหาบิวด์ที่ต้องการตามความชอบความถนัดของตัวเอง (ไม่ต้องไปแคร์ถ้าใครจะหาว่า Noob สำคัญคือเราสนุกกับการเล่น 5555)
เรื่องพึงระวังที่อยากทิ้งท้ายไว้คือผู้เล่นหน้าใหม่ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจระบบของเกม อย่าด่วนตัดสินใจขายไอเท็มทิ้งแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ให้ลองหาข้อมูลให้ดีก่อน โดยเฉพาะม็อดหายาก (สีทอง) เพราะบางครั้งไอเท็มที่เราไม่เข้าใจดันกลับเป็นไอเท็มที่มีโอกาสดรอปต่ำระดับ 0.02% และเป็นไอเท็มที่เอาไว้ใช้สร้างบิวด์ขั้นเทพได้ เผลอขายทิ้งแล้วต้องมานั่งฟาร์มใหม่อาจพาลให้น้ำตาไหลเป็นสายเลือด
ไม่ใช่เก็บยังไง แต่เก็บจากที่ไหน
ไอเท็มใน Warframe ได้ถูกกำหนดไว้ตายตัวแล้วว่าจะดรอปจากที่ไหนด้วยโอกาส (%) เท่าไร ดังนั้นเมื่อต้องการหาไอท็มสักชิ้น คำถามสำคัญจึงเป็น “เก็บจากที่ไหน” แล้วในบางกรณีถึงค่อยตามด้วย “เก็บยังไง”
ยกตัวอย่างเช่นถ้าต้องการสร้างเฟรมที่ชื่อ Rhino ขึ้นมา (การสร้าง Warframe ต้องใช้แบบแปลนหลักและชิ้นส่วนย่อย 3 ชิ้น) แบบแปลนของทั้ง 3 ชิ้นส่วนสามารถเก็บได้จากบอสที่ดาวศุกร์ (Venus) โดยที่โอกาสดรอปคือ 100% ขึ้นกับว่าจะดรอปชิ้นไหน สิ่งที่ผู้เล่นต้องทำคือเข้าไปฆ่าบอสเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ครบทั้ง 3 ชิ้น
ตัวอย่างที่สองคือม็อดหายากที่ชื่อ Continuity (ใส่เพื่อระยะเวลาของความสามารถของ Warframe) เป็นรางวัลที่ดรอปเมื่อภารกิจคุ้มกัน (Defense) แต่ก็ไม่ใช่ว่าทำแล้วจะดรอปให้ทันทีเพราะต้องทำถึง 4 รอบ (อยู่ต่อโดยไม่ออกจากภารกิจ) ถึงจะมีโอกาสได้ และมีโอกาสดรอปเพียง 8.33% เท่านั้น หมายความว่าผู้เล่นอาจจะต้องทำภารกิจนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้ได้ม็อดที่ต้องการ
นี่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุว่าทำไมผู้เขียนถึงบอกว่าการเล่น Warframe ต้องใจเย็นและค่อย ๆ ใช้เวลาไปเหมือนการจีบสาว
โอกาสการได้ไอเท็มของเกมมีความเกี่ยวข้องการกับซื้อด้วยเงินจริงในแง่ของความยากที่ทำให้ผู้เล่นต้องหงุดหงิด ทางผู้พัฒนาจึงดำเนินการอย่างโปร่งใส มีเว็บสาธารณะที่ทีมพัฒนาคอยอัพข้อมูลนี้ให้ตลอดสำหรับผู้เล่นที่ต้องการรู้ข้อมูลว่าไอเท็มอะไรดรอปจากที่ไหนและโอกาสเท่าไร
และนี่ คือตารางการดรอปและโอกาสของไอเท็มทั้งหมดที่หาได้จากในเกม
ข้อมูลส่วนใหญ่อยู่นอกเกม
ข้อเสียใหญ่หลวงที่สุดของ Warframe ไม่ใช่ระบบที่เยอะและวุ่นวาย แต่เป็นการนำเสนอข้อมูลแก่ผู้เล่นหน้าใหม่ที่ไม่ค่อยจะเพียงพอและไม่เป็นมิตรสักเท่าไร
แหล่งข้อมูลพื้นฐานและเชิงลึกโดยมากถูกใส่ไว้ใน Wiki Fandom ของ Warframe
วิกีนี้ได้รับการดูและอัพเดตข้อมูลตลอดเวลาโดยคอมมิวนิตี้ของผู้เล่น Warframe (ผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้น) ซึ่งใช้งานได้ง่ายและมีข้อมูลสารพัดครบถ้วนเท่าที่จะครบได้ คนที่ดูตารางการดรอปสาธารณะด้านบนไม่รู้เรื่องหรือรู้สึกว่าใช้ยากก็สามารถหาข้อมูลการดรอปของไอเท็มแต่ละชิ้นได้จากในวิกีนี้ (วิกีเอาข้อมูลการดรอปมาจากในตารางนั่นแหละ)
ข้อมูลในวิกีมีตั้งแต่เรื่องพื้น ๆ อย่างค่า Stats ของไอเท็มรวมถึงรายละเอียดทั่วไป ข้อมูลฝ่ายศัตรู เนื้อเรื่องและภูมิหลังของเกม ไปจนถึงข้อมูลเชิงลึกอย่างสูตรคำนวณค่าพลังโจมตีหรือกลไกการทำงานของความสามารถของ Warframe แต่ละตัวซึ่งไม่ได้มีอธิบายไว้ในเกม วิกีจึงเป็นแหล่งข้อมูลชั้นยอดสำหรับผู้เล่นที่ชื่นชอบการอ่านอะไรสนุก ๆ รวมถึงผู้เล่นที่จริงจังและต้องการใช้ Warframe หรืออาวุธให้เต็มประสิทธิภาพ
ข้อเสียของวิกีนี้คือทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้คนที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษอาจพบปัญหาได้
อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือ
ถ้าหากลองพยายามหาข้อมูลหรือลองเล่นด้วยตัวเองแล้วพบปัญหาติดขัด ไม่เข้าใจว่าภารกิจนี้คืออะไรหรือมันยากเกินไปเล่นไม่ไหว อย่ารีรอที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้เล่นอื่นอย่างสุภาพ
Warframe มีห้องแชทในเกมอยู่ด้วยกันหลายห้อง หนึ่งในนั้นคือห้อง Recruiting หรือห้องสำหรับหาทีมและขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นช่วยผ่านภารกิจยาก ๆ หรือต้องการดูว่าเขาผ่านกันยังไงก็ลองไปถามหาดูได้ นอกจากนี้บางทีก็เป็นห้องที่ใช้หาทีมเพื่อออกภารกิจแบบเจาะจง เช่น ฟาร์มไอเท็ม ฆ่าบอส เป็นต้น
โดยห้องแชทในเกมนี้จะแบ่งตามโซนของเซิฟร์เวอร์ สำหรับประเทศไทยจะใช้เซิฟร์เวอร์ของภูมิภาค Oceania ดังนั้นผู้เล่นในชุมชนก็จะมีทั้งมาเลเซีย สิงค์โปร์ อินเดีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ดังนั้นการสื่อสารก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก (ไม่สามารถพิมพ์ภาษาไทยในเกมนี้ได้อยู่แล้ว)
หรือสำหรับคนที่ไม่อยากวุ่นวายกับการออกหาคน ลองตั้งให้ภารกิจเป็นแบบสาธารณะ (Public) เพื่อสุ่มเข้าไปเล่นกับคนอื่นก็เป็นความคิดที่ไม่เลว แต่จะเจอคนที่ช่วยเหลือเราได้หรือพาไปกันล่มทั้งทีมก็ขึ้นกับดวง
จุดสำคัญที่สุดคือมีความสุขภาพและเกรงใจผู้เล่นอื่น และอย่าไปใส่ใจกับผู้เล่นเป็นพิษ (Toxic) ที่ชอบดูถูกคนอื่นเวลาไม่ได้ดังใจตัวเอง เพราะพวกที่ชอบด่าคนอื่น Noob แต่ไม่รู้ว่าตัวเองนั่นแหละที่ Noob ก็มีอยู่ทั่วไป 5555
ที่กล่าวมาคือเรื่องพื้นฐานของการเข้าสู่โลกของ Warframe ที่ผู้เขียนกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ 1 ปี ซึ่งคิดว่าเกมเมอร์ที่สนใจรวมถึงผู้เล่นหน้าใหม่ควรรู้เอาไว้ จะได้ไม่ต้องสับสนหรือหัวเสียกับสิ่งที่เจอ ส่วนพื้นฐานเกมเพลย์และรายละเอียดอื่น ๆ ก็ขอให้ทุกท่านสนุกกับการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะเกมนี้มีรายละเอียดและระบบมากมายจนไม่สามารถสาธยายได้หมดในเวลาอันสั้น
หากมีโอกาสหน้า ผู้เขียนอาจจะเขียนรายละเอียดในเรื่องอื่นที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกครั้ง