คุณเคยรู้สึกไหมว่า ชีวิตของคุณใช้เวลากับวีดีโอเกมที่เดือดดาลหรือมีความยากมากขนาดไหน คุณรู้สึกหัวร้อนและอารมณ์เสียกับเกมเหล่านั่นมาแล้วกี่ครั้ง แล้วคุณจะจัดการกับปัญหาเหล่านั้นได้ยังไงล่ะ ??
บางทีวิธีแก้ปัญหามันอาจจะไม่ใช่แค่การพักผ่อนหรือการหาอะไรมาดื่มแก้อาการหัวร้อน แต่อาจจะเป็นการหาเกมที่ “เล่นสบาย ๆ และไม่เครียด” ที่ถึงเกมเหล่านั้นมันอาจจะเป็นเกม Casual แต่เกมเหล่านั้นจะมีข้อดีอย่างหนึ่งก็คือ “อย่างน้อยมันก็ทำให้คุณมีความสุขและรู้สึกสงบสุขได้” ซึ่งหากคุณเล่นเกมเหล่านั้นจนสงบแล้ว คุณจะกลับไปเล่นเกมประจำของคุณก็ไม่มีปัญหาอะไร วันนี้ทาง GamingDose จึงขอเปิดตำนานวีดีโอเกมซีรี่ส์นึงจากทางค่าย Nintendo ที่นำเสนอบรรยากาศการเล่นแบบชิลล์ๆและสบายๆ เล่นแล้วไม่เครียดและรู้สึกสงบสุขตลอดที่ได้เล่น ขอแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกับ “Animal Crossing”
Animal Crossing คือเกมอะไร ??
นี่คือคำถามที่ทางผู้เขียนคิดว่าผู้อ่านคงมีแน่นอน เพราะ Animal Crossing ถือว่าเป็นซีรี่ส์เกมที่ไม่ดังในประเทศไทยมากนัก แต่กับทั่วโลกแล้ว Animal Crossing คือซีรี่ส์เกมที่สามารถทำยอดขายได้ระดับหลักล้านชุด และโดยเฉพาะกับประเทศญี่ปุ่นที่แค่ประเทศเดียวก็ทำยอดขายได้ล้าน-สามล้านชุดเข้าไปแล้ว
Animal Crossing (ในที่นี่จะพูดถึงแค่ภาคหลัก) จะเป็นเกมแนว Life Simulation และมีความเป็น RPG ที่คุณจะได้รับบทที่แตกต่างกันในแต่ละภาค บางภาคเราจะได้รับบทเป็นชาวบ้าน บางภาคเราจะได้รับบทเป็นนายกเทศมนตรี โดยประชากรในเกมจะเป็นพวกคนบ้างสัตว์บ้าง เรียกได้ว่าทำมาเพื่อสายร่มเย็นอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ว่าจะภาคไหนก็จะมีสิ่งที่ถูกนำเสนอจะคล้าย ๆ กันก็คือ “โลกที่สงบสุขและร่มเย็น” เพราะเกมนี้คือเกมแห่งความโลกร่มรื่นที่แท้จริง ไม่มีการตีมอนสเตอร์ ล่าบอส กว่าทั้งเกมคุณจะใช้ชีวิตอยู่กับเพียงแค่หมู่บ้านและรอบ ๆ หมู่บ้านของภาคนั้น ๆ โดยมีกิจกรรมให้ทำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นออกกำลังกาย จับแมลง ตกปลา แต่งบ้าน พูดคุย ขายของ ทำภารกิจ เขียนจดหมาย ซื้อยาให้ชาวบ้านที่ป่วย บริหารบ้านเมือง เก็บผลไม้ ปลูกดอกไม้ ปลูกต้นไม้ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า “นี่มัน Harvest Moon” นี่หว่า แต่เชื่อเหอะมันไม่คล้ายกันเลยล่ะ
จุดเด่นอีกอย่างของเกมนี้คือระยะเวลาของเกมจะอิงตามเวลาในโลกความเป็นจริง โดยระบบนี้จะส่งผลให้เกมนี้จะมีคอนเทนต์พวกวันสำคัญต่าง ๆ ให้เล่นด้วย ซี่งถึงแม้คุณจะปิดเครื่องเกมไปแล้วแต่ตัวเกมก็ยังคงเวลาเดินอยู่ จากระบบ “ไฟเลี้ยงนาฬิกา” (เรียกอย่างนี้จะได้เข้าใจกันได้ง่าย) ที่มีในคอนโซลและเครื่องเกมพกพาต่าง ๆ ของ Nintendo เพราะฉะนั้นหากคุณไม่ไปปรับเวลาของตัวเครื่อง เวลาของเกมนี้ก็จะเดินไปข้างหน้าแบบ Real-Time ปกติ ซึ้งถึงจะลบไฟล์เซฟไปแล้วแต่ทุก ๆ อย่างก็ยังคงดำเนินต่อไปอยู่ และมีข่าวลือว่าหลาย ๆ คนประสบพบเจอกับเหตุการณ์แปลก ๆ เกี่ยวกับระบบเซฟและลบเซฟของเกมนี้ด้วย
เปิดตำนาน Animal Crossing
Animal Crossing (ชื่อญี่ปุ่น : Animal Forest) ภาคแรกนั้นถูกพัฒนาให้กับเครื่อง Nintendo 64 โดยวางจำหน่ายในปี 2001 แต่แค่เพียงในประเทศญี่ปุ่นเท่านััน หลังจากนัันจึงมีการพอร์ตเพื่อวางจำหน่ายทั่วโลกให้กับเครื่อง Nintendo GameCube ในชื่อของ “Animal Crossing” โดยวางจำหน่ายทั่วโลกในปี 2004 ซึ่งหัวหอกผู้ให้กำเนิดซีรี่ส์นี่ก็คือ คุณ Katsuya Eguchi รองผู้จัดการทั่วไปแห่งแผนก “วางแผนและพัฒนาสิ่งบันเทิง” ของ Nintendo หรือเรียกว่า “Nintendo EPD”
ตัวเกม Animal Crossing ในภาคแรกได้ประสบความสำเร็จทั้งด้านคำวิจารณ์และยอดขาย โดยสามารถทำคะแนนเฉลี่ยจากสำนักรีวิวทั่วโลกไปถึง 87/100 (Metacritic) และสามารถทำยอดขายได้มากกว่า 2,000,000 ชุด และนั่นทำให้ Animal Crossing กลายเป็นไตเติลหลักของเงินของ Nintendo นับตั้งแต่ตั้นเป็นต้นมา ทำให้เรื่องของภาคต่อที่ตามมาก็เป็นเรื่องที่น่าจะคาดเดากันได้ไม่ยากเลย
ครั้งแรกบนเครื่องเกมพกพากับ Animal Crossing : Wild World
และด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวมาทำให้ Animal Crossing ได้ถูกสร้างภาคต่อออกมาวางจำหน่ายในปี 2005 ในชื่อของ “Animal Crossing : Wild World” โดยลงให้กับเครื่องเกมพกพาอย่าง Nintendo DS ภาคนี้ได้เพิ่มความลึกของระบบ Real-Time เข้าไปอีก โดยมีการเพิ่มเรื่องของฤดูกาลเพื่มเข้ามา เช่นหากเดือนไหนที่เป็นฤดูหนาวก็จะมีหิมะตกเป็นต้น และมีการพัฒนาระบบการแต่งตัวตัวของเรา ตัวเกมยังคงให้อิสระในการตกแต่งบ้านเมืองแถมยังมากขึ้นกว่าเดิมด้วย เพราะแม้กระทั่งกลุ่มดาวบนฟ้าก็สามารถวาดขึ้นมาเองได้ โดยแน่นอนว่าตัวเกมรองรับการใช้งานฟีเจอร์สองจอของ Nintendo DS
Animal Crossing : Wild World ยังคงรักษามาตรฐานเดิมได้อย่างดีเยี่ยม โดยสามารถทำคะแนนรีวิวเฉลี่ยได้ถึง 86/100 (Metacritic) ส่วนในฝั่งยอดขายก็คงไม่ต้องพูดอะไรเยอะ เพราะสามารถทำยอดขายไปได้มากกว่า 11,750,000 ชุด ซึ่งถือว่าเป็นยอดขายที่มหาโหดมากสำหรับวงการเกม เพราะแม้แต่เกมเทพ ๆ ทุนสูงในยุคนี้ก็ทำยอดขายไม่ได้ระดับนี้ด้วยซ้ำ แต่ในภาคนี้ก็ได้มีเรื่องราวแปลก ๆ เรื่องนึง และน่าจะเป็นที่จดจำของคนเล่นเกมนีัในยุคนั้นพอสมควร นั่นก็คือตำนาน “ทิวลิปแดงต้องคำสาป” ซึ่งจะเป็นไอเทมที่หลาย ๆ คนจะได้รับเป็นของขวัญจากการเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบ Wifi Connection ของทาง Nintendo
โอเค หากเป็นดอกไม้ธรรมดา ๆ มันก็คงไม่น่าพูดถึง แต่ปัญหาคือเจ้าดอกไม้ทิวลิปสีแดงนี้กลับสร้างความเสียหายให้กับไฟล์เซฟของเราได้ ซึ่งหากคุณนำเจ้าดอกไม้นี้ไปวางที่พื้น ตัวเกมจะมีการสร้างกำแพงล่องหนและกำแพงแปลก ๆ และนั้นทำให้บ้านของเราเละเทะไปหมด ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้เล่นหลาย ๆ คนถึงกับกลัวพอสมควร บางคนถึงขั้นคิดว่า “เป็นเพราะฝีมือแฮกเกอร์” ด้วยซ้ำ จนสุดท้ายแล้ว Nintendo ก็ต้องออกมาอธิบายว่านี่คือ Glitch เท่านั้น และมันเป็นความผิดพลาดในการทดสอบระบบส่งของขวัญออนไลน์ โดย Nintendo แนะนำว่าหากใครได้รับจดหมายที่แนบเจ้าดอกไม้ทิวลิปสีแดงมาก็ให้ลบจดหมายให้ไวที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเราต้องเข้าใจก่อนว่าเกมในยุคนั้นระบบการแพทซ์เกมมันไม่ค่อยนิยมเท่าเกมในยุคนี้ เวลาจะทำคอนเทนต์อะไรก็ตามก็ต้องทำดองไว้ในตลับหรือแผ่นและเปิดใช้งานเมื่อถึงเวลาที่กำหนดเอาไว้ บวกกับข้อจำกัดของเทคโนโลยีและการออกแบบตัวเกมด้วยครับ
เมื่อมาตรฐานเดิมทำให้เสียงแตกกับ Animal Crossing : City Folk
ต่อมาในปี 2008 ตัวเกมภาคต่ออย่าง Animal Crossing : City Folk (หรือ Animal Crossing : Let’s Go to the City) ก็ได้ถูกวางจำหน่าย โดยลงให้กับเครื่อง Nintendo Wii และสามารถนำข้อมูลบางอย่างจากไฟล์เซฟของภาค Wild World มาเล่นในภาคนี้ได้ และเกมนี้ก็ได้เป็นเกมชูโรงระบบออนไลน์ของ Nintendo Wii อย่าง WiiConnect24 ซึ่งไหน ๆ Nintendo Wii ก็มีระบบชูโรงอย่าง Motion Control แล้ว ทำไม Animal Crossing : City Folk ถึงจะพลาดที่จะใส่ระบบนี่เข้ามาล่ะ แน่นอนว่าตัวเกมรองรับ Motion Control เพื่อใช้ในการออกท่าทางสำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายในเกม นอกจากนี้แล้วในภาคนี้ก็ได้มีการปรับปรุงตัวเกมพอสมควร โดยเฉพาะกับระบบการแต่งตัวที่ในภาคนีัที่เราสามารถวาดลายเสื้อได้ด้วยตัวเองแทบจะทุกส่วน โดยตัวเกมเรียกระบบนี้ว่า “Pro Design”
ตัวเกมภาคนี้รองรับระบบออนไลน์ด้วย แถมมีระบบ Voice Chat อย่าง Wii Speak ไว้คุยกันผ่านเสียงได้ (ไหน Nintendo Switch มันทำแบบนี้ไม่ได้อะปู่ ??) และรองรับการใช้งานคีย์บอร์ดเพื่อพิมพ์ข้อความคุยกันได้ นอกจากนี้ยังสามารถไปเยี่ยมชมหมู่บ้านของผูัเล่นอื่นได้อีกด้วย จากที่ได้กล่าวไปว่าภาคนีัสามารถนำข้อมูลบางอย่างจากภาค Wild World มาเล่นได้ แต่ดูเหมือนว่าระบบนี้จะมีปัญหากับตัวเกมที่วางขายในโซนออสเตรเลีย เมื่อตัวเกมกลับฟ้องตอนที่พยายามจะนำข้อมูลว่า “ไม่ใช่ตัวเกมที่ถูกต้อง” ซึ่งทาง Nintendo of Australia หลังจากได้ทราบปัญหาที่เกิดขี้น จึงได้ประกาศว่าผู้เล่นสามารถนำแผ่นเกมส่งไปทาง Nintendo of Australia เพื่อทำการแก้ไขปัญหานี้ได้
Animal Crossing : City Folk ถึงแม้จะยังคงรักษามาตรฐานเดิมไว้ได้อยู่ แต่ตัวเกมกลับไม่นำเสนออะไรใหม่ ๆ สำหรับผู้เล่นเก่ามากนัก และนั้นทำให้เกมนี้ได้รับคำวิจารณ์ที่เสียงแตกเป็นสองฝั่ง ฝั่งนึงบอกว่าเกมนี้เป็นเกมออนไลน์และมีเสน่ห์มาก แต่อีกฝั่งกลับบอกว่าเกมนี้ไม่มีอะไรใหม่และไม่ต่างอะไรจากสองภาคที่ผ่านมา ทำให้ได้รับคะแนนรีวิวเฉลี่ยไปได้ 73/100 (Metacritic) ซึ่งถือว่าคะแนนตกลงมาจากสองภาคก่อนพอสมควร ส่วนทางฝั่งยอดขายก็ยังถือว่าติดอันดับเกมที่ขายดีที่สุดของเครื่อง Nintendo Wii โดยสามารถทำยอดขายได้มากกว่า 3,380,000 ชุด ซึ่งถึงอาจจะฟังดูยอดขายตกจากภาค Wild World เป็นอย่างมาก แต่สำหรับเกมบนคอนโซลใหญ่ ยอดขายระดับนี้ถือว่าเยอะพอสมควรเลยล่ะ
จุดสูงสุดของซีรี่ส์กับ Animal Crossing : New Leaf
ต่อมาในปี 2013 ซีรี่ส์เกม Animal Crossing ก็ได้มีภาคใหม่ออกมาวางจำหน่ายอีกครั้ง ในชื่อของ “Animal Crossing : New Leaf” โดยลงให้กับเครื่องเกมพกพาอย่าง Nintendo 3DS ในภาคนี้เป็นการนำข้อดีของทุก ๆ ภาคที่ผ่านมารวมกัน โดยในภาคนีัเราจะไม่ได้รับบทเป็นชาวบ้านหรือชาวเมืองธรรมดา ๆ แบบภาคก่อน ๆ แล้ว แต่คราวนี้เราจะกลายเป็นนายกเทศมนตรีที่จะต้องปรับปรุงและปรับแต่งหมู่บ้านของเราให้สวยงามตามที่ตัวของเราต้องการ
ทุก ๆ อย่างที่ดี ๆ จากภาคเก่าแทบจะกลับมาหมดในภาคนี้ โดยภาคนี้เราจะเรื่มต้นโดยการอยู่ในเต้นท์ก่อนที่เราจะสร้างบ้านและขยายบ้านในลำดับต่อไป มีระบบการแขวนเฟอร์นิเจอร์เพื่มเข้ามา ซึ่งเดิมทีระบบนี้จะมีเพียงแค่กับ Animal Crossing ภาคแรกในโซนญี่ปุ่นเท่านัััน และเราสามารถปรับแต่งเสื้อผ้าท่อนล่างของเราแบบที่เคยทำกับท่อนในภาค City Folk ได้แล้ว และทีเด็ดของภาคนี้ก็คือการที่เราสามารถว่ายน้ำเพื่อข้ามไปยังหมู่บ้านหรือเมืองของเพื่อนได้อย่างแทบไร้รอยต่อ โดยจะอิงจากข้อมูลเพื่อนของเรา เนื่องจากภาคนี้เราได้เป็นนายกเทศมนตรี เพราะฉะนั้นภาคนี้จึงจะเปิดอิสระให้คุณได้ปรับแต่งหมู่บ้านหรือเมืองของเราได้มากกว่าภาคก่อน ๆ ที่ผ่านมา โดยเราสามารถเปิดระดมทุนเพื่อให้ชาวเมืองมาลงขันเพื่อนำงบไปใช้พัฒนาบ้านเมืองได้ หรือจะแก้กฏหมายของบ้านเมืองของเราก็สามารถทำได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ให้คนเดินไปทางไหน หรือให้ร้านค้าเปิดกี่โมงถึงกี่โมง เรียกได้ว่าตัวเกมภาคนี้เหมาะมากที่จะซื้อให้ลุงที่เป็นเพื่อนบ้านของคุณได้เล่น
Animal Crossing : New Leaf ถือว่าเป็นการกลับมาผงาดอีกครัังของซีรี่ส์นีัทั้งในด้านยอดขายและคำวิจารณ์ โดยสามารถทำคะแนนรีวิวเฉลี่ยได้มากถึง 88/100 (Metacritic) ซึ่งถือว่าเป็นคะแนนเยอะที่สุดของซีรี่ส์เกมนี้ ส่วนทางฝั่งยอดขายก็โหดเหี้ยมไม่แพ้กัน โดยสามารถทำยอดขายไปได้มากกว่า 11,780,000 ชุด โดยถือว่าเป็นยอดขายที่อยู่ในระดับเดียวกับภาค Wild World เลยกว่าได้
ตำนานบทใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นกับ Animal Crossing
และในปี 2019 ที่กำลังจะมาถึงนี้ เราจะได้เล่น Animal Crossing ภาคใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัวไปในงาน Nintendo Direct ที่ผ่านมา โดยจะลงให้กับเครื่อง Nintendo Switch และมีข่าวลือว่าจะจำหน่ายในช่วงต้นปี 2019 เพราะฉะนั้นสำหรับแฟนเกมนี้ก็รอเล่นกันได้เลยครับ
เกร็ดความรู้ทิ้งท้ายกับ Animal Crossing
สำหรับซีรี่ส์ Animal Crossing นั้น หากมานับเป็นจำนวนปีเท่ากับว่าซีรี่ส์เกมนีัมีอายุปาไปจะ 17 ปีเข้าไปแล้ว แต่ตัวเกมยังคงรักษามาตรฐานได้อย่างดีเยี่ยมทั้งในฝั่งของคำวิจารณ์และยอดขาย และกลายเป็นซีรี่ส์ทำเงินอีกซีรี่ส์นึงของ Nintendo ไปแล้ว โดยคุณ Satoru Iwata อดีตประธานของ Nintendo ผู้ล่วงลับ ก็ได้บอกสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกมซีรี่ส์นี้ว่า “ผู้เล่นที่เล่นเกมนี้คิดเป็นผู้หญิงถึง 51 เปอร์เซนต์” หรือเรียกได้ว่าครึ่งต่อครึ่งของผู้เล่นชาย ซึ่งส่วนตัวคิดว่าที่ซีรี่ส์เกมนี้สามารถทำยอดขายได้โหดขนาดนี้ ก็ด้วยเหตุผลที่คุณ Iwata บอกมานั้นแหละ เพราะซีรี่ส์เกมนี้นั้นสามารถเจาะตลาด Casual Gamers ขนาดใหญ่อย่างเกมเมอร์ผู้หญิงได้ โดยเรารู้ ๆ กันว่าผู้หญิงน้อยคนนักที่จะเล่นเกมแนวตลาด ๆ หรือเกมฟอร์มใหญ่ ๆ และมักจะเล่นเกมสบาย ๆ ซะมากกว่า
ฉะนั้นแล้วหากคุณต้องการที่จะหาเกมที่เล่นแล้วรู้สึกสบายและร่มรื่น โดยไม่ต้องไปหัวร้อนกับเกมยาก ๆ หรือต้องการที่จะพักผ่อนจากเกมเหล่านั้น Animal Crossing ถือว่าเป็นคำตอบที่ทางผู้เขียนขอแนะนำให้ลองหามาเล่นเป็นอย่างยิ่ง เพราะเกมนี้ได้นำเสนอบรรยากาศของเกมที่ไม่มีพิษภัยและมีความสงบเป็นอย่างมากเกมนึงเลยล่ะครับ