หลังผ่านด่านการฟ้องร้องและยื่นเรื่องกันมายาวนานในที่สุด Epic ก็ลาก Apple ยักษ์ใหญ่วงการ IT ไปจนถึงศาลรัฐบาลกลางได้สำเร็จ ซึ่งหัวใจสำคัญในคดีความครั้งนี้ก็คือเรื่องของ “สิทธิอำนาจที่ Apple ถือครองอยู่ในมือบนตลาดมือถือ”
แม้ต้นกำเนิดคดีความจะเริ่มต้นจากปัญหาเรื่องส่วนแบ่งรายได้ของเกม Fortnite บน iOS แต่ผลของการตัดสินในคดีนี้ถือว่าน่าติดตามและจะส่งผลกระทบต่อวงการ IT โดยรวมอย่างแน่นอน
เพราะหาก Epic ชนะในคดีนี้ Apple จะต้องเปลี่ยนนโยบายการดำเนินงานของร้านค้าตนเองใหม่ซึ่งที่ผ่านมาทาง Apple เองก็กำลังถูกจับตามองเป็นพิเศษจากทั้งรัฐบาลสหรัฐอเมริการวมไปถึงสหภาพยุโรปในปัญหาการผูกขาดตลาด
คดีความครั้งนี้มันเกี่ยวกับอะไร มีข้อมูลอะไรที่ต้องรู้และน่าสนใจ เราไปชมกันเลย
เรื่องราวเริ่มจากตรงไหน ?
เมื่อกลางปี 2020 ทาง Epic ตัดสินใจเพิ่มช่องทางจ่ายเงินของตัวเองเข้าไปภายในเกม Fortnite เพื่อให้ผู้เล่นสามารถจ่ายเงินให้กับ Epic ได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านคนกลางอย่าง Apple พร้อมลดราคา V-Buck ด้วยการจ่ายเงินรูปแบบนี้ถึง 20%
หลังจากนั้น Apple ก็ตอบโต้อย่างรวดเร็วด้วยการถอดเกม Fortnite ออกจาก App Store อย่างรวดเร็ว
Epic ตอบโต้ด้วยการปล่อยโครงการโฆษณาโจมตี Apple แบบต่อเนื่องผ่านแคมเปญ #FreeFortnite นำไปสู่การยื่นฟ้อง Apple ในที่สุด
คดีนี้เกี่ยวกับอะไร ? ทำไม Epic ฟ้อง Apple ?
Epic ยื่นฟ้อง Apple ในข้อกล่าวหาว่าทาง Apple นั้นมีนโยบายผูกขาดรายได้บน App Store เพราะ Apple นั้นอนุญาตให้การซื้อขายภายในเกมหรือ App ต่าง ๆ นั้นต้องทำผ่านระบบจ่ายเงินของ Apple เท่านั้น พร้อมกับหักค่าส่วนแบ่ง 30%
Epic ร้องว่าส่วนแบ่งดังกล่าวนั้นไม่เป็นธรรมและสร้างภาระหนักหน่วงให้ผู้พัฒนาขนาดเล็กที่จำเป็นจะต้องแข่งขันกับ App ของทาง Apple เองซึ่งไม่จำเป็นต้องมีภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว
ส่วนแบ่งรายได้ของร้านค้า App Store ถือเป็นรายได้สำคัญของ Apple ในปีที่แล้ว Apple ทำเงินจากร้านค้าและระบบ subscription ไปถึง 54 ล้านเหรียญ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนเห็นตรงกันว่าความสำคัญของรายได้ส่วนนี้ของ Apple มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นเพราะรายได้จากการขาย iPhone ไม่ได้ยืนหนึ่งครองตลาดเท่ากับสมัยก่อน
ทาง Apple โต้ตอบว่าส่วนแบ่ง 30% ของร้านค้าถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเงินดังกล่าวถูกนำไปใช้ในการรักษาความปลอดภัยของ App และ iDevice ภายในระบบ
ขณะที่ Epic โจมตีว่า Apple ได้ผลกำไรจากส่วนแบ่งตรงนี้สูงถึง 80% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ Apple ปฎิเสธ
ความคิดเห็นของนักพัฒนาเป็นยังไง ?
ปลายปี 2020 ทาง Apple ตัดสินใจออกกฎใหม่ในการเก็บเงินส่วนแบ่ง โดยจะลดค่าส่วนแบ่งเหลือเพียงแค่ 15% จากนักพัฒนาระดับเล็กที่ทำรายได้จาก App Store ไม่ถึง 1 ล้านเหรียญ
จะเห็นได้ว่าแม้แต่ทาง Apple เองก็เล็งเห็นว่าตัวเลข 30% นั้นดูสูงเกินไปในบางกรณี
Phillip Shoemaker อดีตผู้บริหารอาวุโสของ App Store ผู้ลาออกจาก Apple ในปี 2016 แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ตัวเลข 30% นั้นสูงเกินไป แม้แต่บริษัทบัตรเครดิดยังเรียกเก็บค่าบริการเพียงแค่ 3%
ฝั่งนักพัฒนาหลายคนก็เห็นตรงกันว่าตัวเลขส่วนแบ่ง 30% นั้นสูงเกินไปไม่ใช่เฉพาะกับบนระบบ App Store แต่เป็นร้านค้าอื่น ๆ ทุกร้าน
Andy Yen หัวหน้าฝ่ายบริหารของ ProtonMail ผู้ให้บริการ email ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “มีเพียงไม่กี่บริษัทที่สามารถทำกำไรรวมได้ถึง 30% วิธีเดียวที่เราจะอยู่ได้ด้วยค่าส่วนแบ่งที่แพงขนาดนี้คือการผลักภาระไปให้ลูกค้าของเรา” ProtonMail ลดค่าบริการ 30% ให้ลูกค้าที่สมัครตรงผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท แต่เมื่อพวกเขาโฆษณาการลดราคานี้ผ่าน App ใน App Store ตัว App ของพวกเขาก็ถูก Apple จำกัดการเข้าถึง
นอกจากนั้นนักพัฒนารายอื่น ๆ หลายรายก็มีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับส่วนแบ่ง 30% รวมไปถึงนโยบายการจ่ายเงินใน App Store ซึ่งหลายคนมองว่ากลายเป็นกฎที่ Apple ใช้เอามา “รังแก” นักพัฒนาหลายเจ้า เช่นการบีบบังคับให้ใส่ระบบสมัครสมาชิกเข้าไปเพื่อให้ Apple เข้ามาขอส่วนแบ่งรายได้
มีที่ไหนอีกที่ Apple กำลังโดนฟ้อง ?
สมาชิกสภานิติบัญญัติในวอชิงตันได้เปิดประชุมพูดคุยกับผู้พัฒนา App นัดเดท Match ในหัวข้อว่า Apple ทำตัวเป็นยักษ์ใหญ่ที่ไล่รังแกนักพัฒนารายอื่นโดยใช้การข่มขู่เรื่องรายได้ โดยที่มีของปัญหานี้มีคือขึ้นหลัง Match พยายามส่งอัพเดทใหม่ให้ทาง Apple และไม่ได้รับการตอบรับโดยทนายความของ Apple มีท่าทีข่มขู่และตอบกลับว่ารายได้ทั้งหมดของ Match นั้นเป็นของ Apple ทั้งหมด
นอกจากนั้นกระทรวงยุติธรรมสหรัฐก็กำลังเข้ามาสอบสวนเรื่องของกฎภายในร้านค้า App Store ด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกันสัปดาห์ก่อนสหภาพยุโรปก็ยื่นฟ้อง Apple ในกฎหมายด้านการแข่งขัน โดยข้อกล่าวหาว่ากีดกันคู่แข่งในระบบ Streaming เพลงอย่าง Spotify ซึ่งหลังการสอบสวนหากพบว่า Apple ละเมิดกฎหมายด้านการแข่งขันของ EU Apple ก็จะถูกปรับเป็นเงินสูงถึง 10% ของรายได้รายปี และจะถูกบังคับให้ปรับแนวทางการปฏิบัติธุรกิจ
Epic มีโอกาสชนะคดีมากขนาดไหน ? และใครเป็นคนตัดสิน ?
ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ทั้งหมดเห็นตรงกันว่า Epic มีโอกาสน้อยมากในการชนะคดีความครั้งนี้ เพราะภายใต้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกานั้นบริษัทยักษ์ใหญ่ถือว่ามีความได้เปรียบ เพราะการตีความที่ผ่านมามักยกผลประโยชน์ให้บริษัทเจ้าของพื้นที่เป็นส่วนใหญ่
ขณะเดียวกันแม้แต่ผู้พิพากษาของคดีอย่าง Gonzalez Rogers ก็แย้มเอาไว้ว่า ในแง่ของกฎหมายเธอเองก็ไม่เชื่อมั่นแบบเต็มที่ว่า Apple ทำผิดพระราชบัญญัติต่อต้านการผูกขาดปี 1890
อย่างไรก็ตามการที่ Epic สามารถลากยาวคดีนี้มาได้นานถึงขนาดนี้ก็ถือว่าน่าสนใจและการต่อสู้คงไม่จบลงง่าย ๆ ทั้งในแง่ของการที่ฝั่ง Epic ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่านอกจาก Apple ผูกขาดตลาดเอาไว้ ยังมีการใช้อำนาจดังกล่าวขัดขวางคู่แข่งและควบคุมกลไกตลาดให้ตัวเองได้เปรียบ
สำหรับคนที่จะเป็นผู้ตัดสินคดีความนี้ก็จะเป็นตัวศาลเองหลังจากที่ทั้งสองบริษัทขอข้ามการตัดสินโดยขณะลูกขุนไป เท่ากับว่าผู้พิพากษา Gonzalez Rogers จะเป็นคนตัดสินคดีนี้ด้วยตัวเอง และแน่นอนว่าไม่ว่าผลจะออกมาในรูปแบบไหนการต่อสู้ในการยื่นอุทธรณ์จะดำเนินต่อไปอีกนานเช่นกัน
กฎหมายต่อต้านการผูกขาดมันคืออะไร ?
กฎหมายต่อต้านการผูกขาดหรือกฎหมายการแข่งขันทางการค้าหรือ Antitrust Law เป็นกฎหมายที่มีขึ้นในประเทศต่าง ๆ เป้าหมายสูงสุดเพื่อให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาด
คำว่าการผูกขาดหรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า A monopoly นั้นหมายถึงบุคคลหรือกลุ่มผู้ลงทุนแต่ผู้เดียวขายสินค้าหรือบริการต่างๆโดยไม่มีคู่แข่ง สรุปว่าในทางกฎหมาย การผูกขาดหมายถึงธุรกิจที่มีอิทธิพลต่อตลาดและเป็นผู้กำหนดราคาสินค้าให้สูงขึ้นได้
ซึ่งการตีความและข้อกำหนดปลีกย่อยอื่น ๆ ก็แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเสรีทางการค้า ดังนั้นรัฐบาลกลางสหรัฐจึงมีกฎหมายต่อต้านการผูกขาดหลายฉบับทั้งในรัฐบาลกลางและระดับรัฐ โดยแต่ละรัฐก็เป็นอิสระในการออกกฎหมายของรัฐตัวเองแยกย่อยไปอีก
ค่ายเกมและบริษัทอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องยังไง ?
ถ้าใครติดตามข่าวสารในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นว่าเอกสารข้อมูลภายในบริษัทหลายแห่งถูกนำมาเปิดเผย ซึ่งที่มาก็มาจากการฟ้องร้องในคดีความระหว่าง Epic และ Apple ซึ่งบริษัทในวงการเกมอย่าง Valve หรือแม้แต่ Microsoft และ Sony ก็ล้วนแล้วแต่ถูกคำสั่งศาลให้เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาใช้ในการพิจารณาคดีครั้งนี้นั่นเอง
เกิดอะไรขึ้นในการไต่สวนที่ผ่านมา ?
ทนายฝั่ง Epic พยายามชี้ให้เห็นว่า Apple ออกแบบ App Store เพื่อขัดขวางผู้พัฒนารายอื่น ๆ เพราะไม่มีการเลือกให้จ่ายเงินในรูปแบบอื่นนอกจากผ่านทาง Apple
ฝั่ง Apple โต้ตอบว่าส่วนแบ่ง 30% ดังกล่าวมีขึ้นเพื่อใช้ในการดูแลตัว App และ Device ต่าง ๆ ในระบบของ Apple ดังนั้นนี่ไม่ใช่การใช้อำนาจรังแกผู้พัฒนาแต่เป็นการตรวจสอบว่า iOS จะมีคุณภาพที่ดีจริง ๆ ไปตลอด
CEO ของ Epic คุณ Tim Sweeney ขึ้นให้การและบอกว่าในตอนแรกที่ Apple เริ่มใช้งาน App Store เขาชื่นชอบระบบของมันมากก่อนที่มันจะถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ และมีกฎบังคับมากมายถูกเพิ่มเข้ามาโดยตลอด และกลายเป็นว่ามันต้องใช้เงินมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการพัฒนาและดูแล App ที่ลงให้กับ App Store
Tim Sweeney ระบุว่าการที่ Apple เก็บส่วนแบ่ง 30% นั้นเท่ากับว่าในบางกรณี Apple ได้กำไรเยอะกว่าผู้พัฒนาโดยตรงของ App เสียด้วยซ้ำ และเป้าหมายในคดีนี้ก็ไม่ใช่เรื่องของเงินที่ทางเขาสูญเสียไปแต่ Epic ต้องการให้ Apple เปลี่ยนแปลงกฎจากที่เป็นอยู่
หลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นอีก ?
การไต่สวนจะดำเนินต่อไปเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ซึ่งส่วนที่น่าจับตามองมากที่สุดคือการขึ้นให้การของ Tim Cook ผู้เป็น CEO ของบริษัท Apple อย่างไรก็ตามยังไม่มีกำหนดการถูกเปิดเผยออกมาว่า Tim Cook จะขึ้นให้การต่อศาลในวันไหน
ในช่วงเวลาหลังจากนี้ก็จะเป็นการต่อสู้ระหว่างทนายของทั้งสองบริษัทรวมไปถึงเหล่าผู้เชี่ยวชาญในวงการและนักเศรษฐศาสตร์จากทั้งสองมุม