Epic Games Store เป็นแพลตฟอร์มร้านขายเกมดิจิทัลที่เพิ่งเข้ามาตีตลาดอย่างจริงจัง และประกาศว่าจะช่วยเหลืออุตสาหกรรมเกมให้ไปไกลยิ่งขึ้น ด้วยนโยบายการแชร์กำไรจากการค้าเกมที่ Epic Games จะได้เงินเพียง 18% ซึ่งฟังดูเหมือนแล้วเป็นเรื่องราวอบอุ่นหัวใจ ที่ทำให้วงเกมเกมสามารถเติบโตขึ้นจริง ๆ
แต่ทว่าตอนนี้ เกมเมอร์หลายคนได้ต่อต้าน Epic Games Store เพราะทีมงานพยายาม “จ่ายสินบน” ให้ตัวแทนจำหน่ายวางขายเกมแบบ Timed Exclusive รวมถึงปัญหาการใช้งานของแพลตฟอร์มที่ไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ Steam อีกด้วย แต่เหตุใด ทำไมเกมเมอร์ถึงต่อต้าน Epic ? และทำไมผู้พัฒนาเกมกลับซบไหล่ Epic ? บทความนี้มีคำตอบครับ
Epic พยายามดึงเกม Third-Party ขายเฉพาะร้านตัวเอง
ประเด็นดราม่าระหว่างเกมเมอร์กับ Epic Games Store เริ่มต้นขึ้น หลังจากเกม Metro Exodus ประกาศย้ายแพลตฟอร์มร้านค้ากะทันหันจาก Steam กลายเป็นเกม Timed Exclusive สำหรับ Epic Games Store ในระยะเวลาหนึ่งปี
เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกมเมอร์หลายคนรู้สึกสับสน และไม่เห็นด้วยที่เกม PC จะต้องเป็นเกม Exclusive เนื่องจากทีมพัฒนาเกมไม่ได้ขึ้นตรงต่อใคร เหมือนทีม Turn 10 Studios ที่เป็นของ Microsoft, DICE เป็นของ EA หรือ Naughty Dogs เป็นของ Sony
แต่ 4A Games เป็นค่ายเกมอิสระ ที่พวกเขาสามารถจัดจำหน่ายเกมด้วยตัวเอง หรือติดต่อกับการฝ่ายตัวแทนจำหน่ายเกม เพื่อของบทุน หรือทำเรื่องวางจำหน่ายเกมทั่วโลก
แต่ต่อมา 4A Games ออกมากล่าวว่า พวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางจำหน่ายเกมผ่าน Epic Games Store แต่การตัดสินใจทั้งหมด ขึ้นอยู่กับทีมจัดจำหน่ายเกมและผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ มีการแฉว่า Epic Games พยายาม “สินบน” ทีมตัวแทนจำหน่าย เพื่อให้เกมวางขายบน Epic Games Store แบบ Timed Exclusive เพื่อเชิญชวนให้เกมเมอร์หันมาใช้บริการแพลตฟอร์ม Epic Games มากขึ้น
ไม่ใช่แค่กรณีของ Metro Exodus อย่างเดียว ที่ทีมพัฒนาเกมไม่เคยรับแจ้งว่ามีการเปลี่ยนแพลตฟอร์มวางขายเกม แต่รวมถึงการวางขายเกม The Outer Worlds โดยทีมงาน Obsidian Entertainment ก็รู้สึกตกใจมาก ที่เกมเขา วางจำหน่ายผ่าน Epic Games Store เป็น Timed Exclusive แล้วเลื่อนการวางขายบน Steam ซึ่งทำให้เกมเมอร์หลายคน รู้สึกเดือดกับ Epic Games จนถึงทุกวันนี้ เพราะการกระทำดังกล่าว ถือว่าเป็นการพยายามผลักดันแบรนด์ของตัวเองโดยไม่สนวิธีการ
ประสิทธิภาพของ Epic Games Store ยังไม่ถึงครึ่งของ Steam
เกมเมอร์ที่ใช้บริการ Epic Games Store ต่างวิจารณ์ว่าฟีเจอร์การใช้งานของแพลตฟอร์มดังกล่าว ยังไม่มีลูกเล่นเยอะ หรือมีประสิทธิภาพดีเท่ากับ Steam เพราะขณะที่แพลตฟอร์ม Steam มีการแบ่งราคาขายเกมตามโซน, ระบบตลาด, Trading Cards, โปรไฟล์ Steam ที่สามารถตกแต่งอย่างอิสระ และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ระบบของ Epic Games Store ไม่มีฟีเจอร์เหล่านั้น
นอกจากนี้ หลังจากเกมเมอร์เริ่มหันมาใช้ Epic Games Store มากขึ้น ก็มีเริ่มมีการรายงานข่าวเสียหายที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ อย่างเช่น เหตุการณ์ที่ข้อมูลผู้ใช้ส่วนตัวบางคนได้หลุดไปถึงมือของบุคคลที่สาม โดยฝ่าย Supporters ของ Epic ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ นอกเหนือจากพยายามติดต่อกับบุคคลที่สาม เพื่อขอร้องให้ลบข้อมูลทิ้งทั้งหมด
หรือยกตัวอย่าง เหตุการณ์เทศกาลลดราคาเกมครั้งแรกของ Epic Games Store อย่าง Mega Hit Sale ที่มีเรื่องกล่าวหาว่า ฝ่าย Supporters ของ Epic ไม่ได้ติดต่อกับตัวแทนจำหน่ายโดยตรง และปล่อยโปรโมชันลดราคาเกมโดยพลการ ทำให้เกมใหม่ซึ่งยังเปิดให้เฉพาะ Pre-Order อย่าง Vampire Masquerade: Bloodlines 2 กับ Borderlands 3 ถูกลดราคาสินค้า ทั้งที่เกมยังไม่ปล่อยวางจำหน่าย ทีมตัวแทนจำหน่ายอย่าง Paradox Interactives กับ 2K Games จึงโกรธทีมงาน Epic ที่การบริการของทีมงาน ขาดความเป็นมืออาชีพจนไม่น่าให้อภัย
รวมถึงปัญหาจุกจิกที่ไม่ควรเกิดขึ้นบนร้านค้าเกม คือการจำกัดจำนวนการซื้อผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีผู้เล่นหลายคนรายงานว่า หากจ่ายเงินซื้อเกม 5 ครั้งขึ้นไป ทางแพลตฟอร์มจะทำการบล็อกไม่ให้ซื้อเกมต่อ เพราะระบบมองว่าเป็นการสแปม ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมร้านค้าออนไลน์หลายแห่ง มีรถเข็นให้ผู้เล่นสามารถเลือกสินค้าลงตะกร้าแล้วจ่ายเงินจบครั้งเดียว เพราะหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาการสแปม และแน่นอนว่า Epic Games Store ก็ไม่มีระบบรถเข็น ซึ่งเป็นฟีเจอร์มาตรฐานที่ร้านค้าออนไลน์ทุกที่ต้องมี
แม้ล่าสุด Epic Games Store จะเพิ่งเพิ่มระบบ Cloud Save เป็นบางเกมแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหาก Epic Games ต้องการทำการตลาดให้แซงหน้า หรือเทียบเท่ากับ Steam ก็ดูเหมือนว่าเส้นทางของ Epic นั้น ยังคงอีกยาวไกล เพราะว่านอกจากทีมงานต้องพัฒนาแพลตฟอร์มให้ดียิ่งขึ้นแล้ว พวกเขาต้องรื้อฟื้นภาพลักษณ์ของแบรนด์ ซึ่งยากกว่าการพัฒนาแพลตฟอร์มหลายเท่า
เพราะเงินมันหอม
เกมเมอร์อาจสงสัยว่าทำไมเหล่าทีมพัฒนาเกม และตัวแทนจำหน่าย ถึงสนใจทำการค้ากับ Epic Games Store ทั้ง ๆ ที่ตอนนี้ มีกระแสต่อต้านอย่างหนักจากเหล่าผู้เล่นมากมาย ซึ่งคำตอบทั้งหมดคือ เรื่องของ “ธุรกิจเงินทอง” ทั้งหมด
Jason Kingsley ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารทีมงาน Rebellion ได้ออกมายอมรับ (แบบอาย ๆ) ว่า สาเหตุที่วางจำหน่ายเกม Zombie Army 4 บน Epic Games Store เป็นเกม Exclusive เพราะพวกเขาได้รับเงินกำไรอย่างมหาศาลจากการรับข้อเสนอของฝ่าย Epic Games ที่ต้องการให้เกมของเขา วางจำหน่ายเฉพาะ Epic Games Store เท่านั้น
นอกจากนี้ Jason กล่าวว่า Epic Games มักเล็งเกมระดับ AAA หรือมีชื่อเสียงเป็นพิเศษ มาดึงขายเป็นเกม Exclusive ด้วยการมอบข้อเสนอเป็น “เงิน” จำนวนมาก ให้เหล่าทีมผู้พัฒนาและตัวแทนจำหน่าย แต่ถึงอย่างนั้น Jason บอกว่า แม้ Zombie Army 4 จะเป็นเกมอินดี้ขนาดเล็ก แต่สำหรับมุมมองของเหล่า Epic Games แล้ว เชื่อว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด ที่ดึงเกมของเขามาทำเป็นเกม Exclusive ของ Epic Games Store
แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือนโยบายการแชร์ผลกำไรแบบ 88/12 ซึ่งมีคุณสมบัติว่า ทีมผู้พัฒนาเกมกับตัวแทนจำหน่ายจะได้รับเงินกำไรจากการค้าเกมถึง 88% ซึ่ง Epic Games Store ได้รับเพียง 12% ซึ่งส่วนแบ่งดังกล่าว แตกต่างจากนโยบายการแชร์กำไรของ Steam ที่ทีมพัฒนาเกมกับตัวแทนจำหน่ายได้รับกำไรเพียง 70% และโดย Steam ได้รับเงินมากถึง 30% จากการขายเกม
จึงไม่แปลกใจเท่าไหร่นัก ที่ทีมพัฒนาเกมอินดี้หลายเจ้าหรือตัวแทนจำหน่ายเกมรายใหญ่บางเจ้า จึงรับข้อเสนอของ Epic Games ให้วางจำหน่าย Exclusive ผ่านแพลตฟอร์ม Epic Games Store อย่างง่ายดาย เพราะมีเหตุผลเดียว นั่นคือ “เงินมันหอม” นั่นเอง
Tim Sweeney จากฮีโร่สู่ผู้ร้ายเสียเอง
เมื่อนานมาแล้ว ผู้บริหารของ Epic Games คุณ Tim Sweeney เคยบอกว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการวางจำหน่ายเกมแบบ Exclusive และเคยวิจารณ์ทีมงาน Microsoft ที่จำหน่ายเกม Rise of the Tomb Raider แบบ Timed Exclusive ให้เฉพาะ Xbox One
แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป คนก็เปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะกลายเป็นว่าตอนนี้ ฝ่ายหัวหน้าของ Xbox คุณ Phil Spencer พยายามผลักดันให้เกมของ Microsoft มีระบบ Cross-Platform ที่สามารถเล่นได้บนเครื่อง Xbox One กับ Windows PC และเริ่มวางขายเกมนอก Microsoft Store แต่ตรงกันข้ามกับ Tim Sweeney ที่เคยบอกว่าไม่ชอบการค้าขายแบบผูกขาด จึงได้ก่อตั้งวิธีการค้าเกมแบบ Exclusive เป็นทางเลือกเดียวที่จะต่อกรกับ Steam ได้อย่างสูสี อีกด้วย
รวมถึงเขาก็ออกมายอมรับว่า
ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมเกมเมอร์จึงไม่ชื่นชอบ Epic Games Store ยิ่งกว่าเดิม เพราะ Tim Sweeney ที่เคยเป็นฮีโร่สนับสนุนฝ่ายเกมเมอร์กับลูกค้า แต่กลายเป็นผู้ร้ายแห่งวงการเกม (ในสายตาของเกมเมอร์) ซะเอง