เกมเมอร์หลายคนทราบดีว่าฟีเจอร์สำคัญในการสร้างเกมประเภท Singleplayer คือระบบเกมเพลย์และคุณภาพเนื้อเรื่อง แต่รู้หาไม่ว่าการเขียนบทของวิดีโอเกมไม่เหมือนกับการเขียนภาพยนตร์ เพราะวิดีโอเกมเป็นสื่อบรรเทิงประเภท Interactive ชนิดหนึ่งที่ต้องสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครในเกมกับผู้เล่น ทำให้การเขียนบทวิดีโอเกมต้องมีความลึกซึ้งและยากท้าทายกว่าการทำบทให้กับสื่อทั่วไปเป็นเท่าตัว
นี่คือ แนะนำวิธีการสร้างเนื้อเรื่องในวิดีโอเกมให้น่าจดจำและทรงพลัง โดยบทความนี้ได้อ้างอิงจาก E.M. Welsh นักเขียนหนังสือนิยาย, บทภาพยนตร์, บทละคร และบทวิดีโอเกม
กำหนดรูปแบบเกมให้ตายตัว
การกำหนดประเภทของเกมต่าง ๆ จำเป็นต้องตายตัว อย่างเช่น เกมนี้เป็นแนวแอคชั่น-ผจญภัย, แนวยิง FPS, แนวปริศนา Puzzle หรือแนวอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้การสร้างเกมมีกรอบอย่างชัดเจน และลดความซับซ้อนวุ่นวายในกระบวนการคิดเนื้อเรื่องในวิดีโอเกม เพราะเข้าใจและมีเป้าหมายว่าจะสร้างเกมอย่างไรให้ตรงตามธีมหรือผู้เล่นที่คาดหวังไว้
สร้างโลกของวิดีโอเกม
ผู้สร้างเกมสามารถเริ่มต้นเขียนบทตัวละครก่อนหรือบทของโลกของวิดีโอเกมก่อนก็ได้ แต่สำหรับมุมมองของ E.M. Welsh เธอแนะนำให้สร้างบทสำหรับโลกของวิดีโอเกมก่อน เพราะในช่วงเริ่มต้นของเกม ผู้เล่นจะให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมกับโลกภายในเกมมากกว่าตัวละครอยู่เสมอ แล้วพอผู้เล่นดื่มด่ำกับบรรยากาศในเกมอย่างเต็มที่ ตัวละครหลักจะเป็นลำดับต่อมาที่ผู้เล่นจะให้ความสำคัญ
เพราะฉะนั้น ผู้สร้างเกมบางรายจะเริ่มพัฒนาในส่วนของโลกภายในวิดีโอเกมซะก่อน แล้วตามด้วยการเขียนบทเนื้อหาต่าง ๆ อย่างเช่น Lore, วัฒนธรรม หรือเนื้อหา เพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวของโลกในเกมไปถึงบทของตัวละครหลัก ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมที่ช่วยให้บทบาทของตัวละครเอกมีพัฒนาการกว้างไกลมากยิ่งขึ้น
ให้เวลากับขัดเกลาตัวละคร
ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญของการผลิตเกมที่ต้องการสร้างโดยมีจุดขายเป็นเนื้อเรื่องในเกมเลยก็ว่าได้ เพราะตัวละครในเกมเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนการเล่าและแสดงอารมณ์ของเนื้อเรื่อง ฉะนั้นการใช้เวลาขัดเกลาเพื่อสร้างตัวละครให้มีความลุ่มลึก มีเป้าหมาย และมีพัฒนาการ ไม่ว่าจะเป็นตัวละครเอก, ตัวละครฝ่ายร้าย, ตัวละครสนับสนุน หรือแม้กระทั่งตัวละครสำรอง
การสร้างตัวละครที่ผ่านการเขียนบทมาอย่างดีจะนำพามาสู่คุณภาพของเนื้อเรื่องเกมที่ความน่าสนใจและรู้สึกทรงพลังตามมา รวมไปถึงช่วยให้ตัวละครในเกมน่าจดจำและรู้สึกผูกพันธ์กับผู้เล่นอีกด้วย
สร้าง Flowchart ให้เนื้อเรื่องมีความละเอียดยิ่งขึ้น
การสร้างเนื้อเรื่องในวิดีโอเกมบางส่วนยังคงใช้ทฤษฎี Dramatic structure ซึ่งเป็นเทคนิคพื้นฐานที่ยืมใช้มาจากวิธีการสร้างบทภาพยนตร์ คือ เผยเซตติ้ง (Exposition) > เริ่มใส่แอคชั่น (Rising Action) > จุดไคลแม็กซ์ (Climax) > จุดผ่อนคลาย (Falling Action) > บทสรุป (Dénouement)
แต่การสร้าง Flowchart จะช่วยให้ผู้สร้างเกมสามารถขยายไอเดียเนื้อเรื่องให้เปิดกว้างและมีรายละเอียดเนื้อเรื่องเยอะมากขึ้น ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากสำหรับเกมที่มีสเกลใหญ่ อย่างเช่นเกมประเภท RPG โดยเฉพาะในส่วนของการสร้าง Side-Quest ซึ่งสามารถช่วยว่าเควสควรเริ่มต้นตอนไหน มีจุดประสงค์เพื่ออะไร มีผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร แล้วจะส่งผลกระทบต่อเนื้อเรื่องแบบไหน
เล่นเกมให้เยอะ ๆ อ่านให้เยอะ ๆ
อาวุธในการสร้างเนื้อเรื่องวิดีโอเกมให้ดีคือการเขียนบทที่ดี แต่วิธีการเขียนบทที่ดีไม่ใช่แค่ต้องเขียนเยอะและเน้นปริมาณ แต่ผู้สร้างเกมจะอ่านต้องหนังสือเป็นจำนวนมากเพื่อสะสมเรียนรู้วิธีการเขียนที่ดีหนึ่งบท แต่หากอยากเขียนบทเนื้อเรื่องสำหรับวิดีโอเกมที่ดี ผู้สร้างเกมต้องเข้าใจและเล่นวิดีโอเกมเยอะด้วยเช่นกัน
ก็เป็นเรื่องจริงที่การสร้างบทวิดีโอเกม ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือส่งผลกระทบต่อระบบเกมเพลย์โดยรวม แต่หากผู้เขียนบทไม่เข้าใจวิดีโอเกมซึ่งเปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง ก็สามารถส่งผลทำให้วิดีโอเกมไม่รู้สึกเชื่อมต่อสื่อสารกับผู้เล่นเช่นกัน
แม้ว่าผู้เขียนบทวิดีโอเกมไม่จำเป็นต้องคิดออกแบบกระสุนปืนหรือระบบการอัพเกรดอาวุธชนิดต่าง ๆ ในเกม แต่ผู้เขียนบทเกมต้องสามารถจินตนาการได้ว่าเนื้อเรื่องในเกมจะมีการดำเนินอย่างไรในโลกสามมิติที่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้ ไม่ใช่แค่เพียงแค่การบรรยายเป็นเส้นตรงอย่างเดียว (ถ้าหากไม่มีจุดประสงค์แบบนั้นตั้งแต่แรก)
นักเขียนบทกับผู้พัฒนาเกมควรจับมือกัน
อ้างอิงจากเว็บไซต์ Gamedesigning – Darby McDevitt หัวหน้าผู้เขียนบทวิดีโอเกมอาวุโสประจำทีม Ubisoft Montreal ที่มีผลงานอย่าง Assassin Creed ได้เคยพูดคุยผ่านเว็บไซต์ Gamasutra เกี่ยวกับวิธีการฝึกฝนด้านการเขียนบทวิดีโอเกม เขาได้บอกว่า ถ้าหากผู้เล่นต้องการสร้างเกมพร้อมกับพล็อตเนื้อเรื่องที่รู้สึกคุ้มค่ากับเวลาในการอ่าน มีวิธีการ 3 ขั้นตอนคือ ก่อนที่จะเริ่มต้นเขียน > เมื่อการเขียนเริ่มต้นขึ้น > เข้าสู่ช่วงขั้นตอนโปรดักชั่น
เขากล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่เหล่านักออกแบบเกมกับนักเขียนควรจับมือร่วมกัน เพราะการสร้างเกมมักมีการเปลี่ยนแปลงหรือโละทิ้งไอเดียอยู่เสมอ แม้การเปลี่ยนแปลงเลเวลจะเป็นเรื่องเล็กสำหรับเหล่าดีไซน์เนอร์ แต่เป็นเรื่องใหญ่ของเหล่านักเขียนบท เพราะเนื้อเรื่องหรือบทสนทนาอาจไม่สมเหตุสมผลในทันที เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเลเวลในเกมเกิดขึ้น
ดังนั้น นักเขียนบทไม่ว่าจะทำงานเดี่ยวหรือทำงานเป็นกลุ่มก็ตาม นักเขียนจะต้องมั่นใจว่าบทกับพร็อตจะสอดคล้องกับบรรยากาศของวิดีโอเกมอยู่ตลอดเวลา