หากพูดถึงเกมมหากาพย์ Crossover ที่ได้นำตัวละครจากมังงะญี่ปุ่นหลายเรื่อง มารวมอยู่ในเกมเดียวกัน หลายคนอาจจะนึกถึง Jump Force เกม Arena Fighting ของปี 2019 ซึ่งเคยเป็นที่ฮือฮาอย่างมากทั้งในวงการเกมกับคอการ์ตูน รวมถึงเกมเมอร์บ้านเรา
แต่ล่าสุด Bandai Namco ได้ประกาศปิดเซิร์ฟเวอร์โหมดออนไลน์ และยุติวางจำหน่ายเกม Jump Force ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหมดไปแล้วเรียบร้อย ซึ่งข่าวดังกล่าวได้สร้างความประหลาดใจให้กับเกมเมอร์หลายคน แล้วเกิดข้อสงสัยมากมายว่าเกิดอะไรขึ้นกับ Jump Force กันแน่
Jump Force คือเกมอะไร ?
Jump Force เป็นเกม Arena Fighting ที่นำตัวละครจากนิตยสารมังงะชื่อดัง Weekly Shōnen Jump เช่น Naruto, Dragon Ball, One Piece, City Hunter, Death Note, JoJo’s Bizarre Adventure, Bleach และมังงะคลาสสิกอีกหลายเรื่อง ได้มารวมตัวอยู่ในเกมเดียวแล้วต่อสู้ด้วยกันเอง
เกมพัฒนาโดยทีมงาน Spike Chunsoft หรือผู้สร้างเกมตระกูล Danganronpa อันเลื่องชื่อ รวมถึงตัวละครใหม่ในเกมทั้งหมด ถูกออกแบบโดยอาจารย์ อากิระ โทริยามะ หรือผู้ให้กำเนิด Dragon Ball และสุดท้าย เกมดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี นิตยสาร Weekly Shōnen Jump อย่างเป็นทางการอีกด้วย
การเปิดตัว Jump Force ได้สร้างกระแสไฮป์แก่เกมเมอร์หลายคน เพราะมันคือเกมที่แฟน ๆ มังงะต่างใฝ่ฝันอยากให้เป็นจริงมาโดยตลอด นอกจากนี้ เกมดังกล่าวเป็นที่สนใจสำหรับผู้เล่นชาวไทย เพราะเป็นเกมที่รองรับเมนูภาษาไทยอย่างเต็มรูปแบบ จึงไม่แปลกใจเท่าไหร่ที่ Jump Force ได้เป็นหนึ่งในเกมปี 2019 ที่หลายคนต่างรอคอยอย่างไม่ต้องสงสัย
กระแสตอบรับ Jump Force ที่ไม่สวยหรูเหมือนที่หลายคนรอคอย
Jump Force ออกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปี 2019 แต่อย่างไรก็ตาม เกมดังกล่าวมีกระแสตอบรับที่ไม่ดีเท่าที่ควร
อ้างอิงจากเว็บไซต์ Metacritic เกม Jump Force ทั้งเวอร์ชัน PC, Xbox One, PlayStation 4 และ Nintendo Switch มีคะแนนรีวิวเฉลี่ยอยู่ที่ 50-60 คะแนน หรือเป็นเกมคุณภาพระดับพอใช้ (Mediocre) จนถึงระดับปานกลาง (Average) ที่ตัวเกมพอเล่นฆ่าเวลาได้ แต่เล่นจบแล้วไม่ได้มีอะไรน่าจดจำเป็นพิเศษ
สื่อเกมหลายแห่งได้รีวิววิจารณ์ Jump Force ว่าเป็นเกมต่อสู้ที่มีข้อเสียเยอะกว่าข้อดี ตั้งแต่คุณภาพเนื้อเรื่องขาดความน่าสนใจ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น, ระบบการต่อสู้เล่นง่ายมาก จนทำให้เกม Repetitive (ซ้ำซาก) ที่เล่นประมาณ 1-2 ชั่วโมง ก็รู้สึกเบื่อหน่ายแล้ว รวมถึงมีปัญหาด้านระบบออนไลน์ที่ขาดความเสถียร และ Performance ต่าง ๆ นานา ซึ่งทำให้ประสบการณ์การเล่นเกม Jump Force ไม่สนุกสนานเท่าที่ควร กับที่สำคัญ เกมเมอร์วิจารณ์ว่าโมเดลตัวละครในเกมมีลักษณะ “สมจริง” เกินไปจนดูน่ากลัว และไม่เหมาะกับคาแรคเตอร์ลายเส้นญี่ปุ่น
โมเดลตัวละครดูสมจริง เป็นหนึ่งในข้อเสียที่เกมเมอร์หลายคนต่างรู้สึกผิดหวังกับเกมนี้
แม้ Jump Force มาพร้อมกราฟิก Particle Effect ที่งดงามตามสไตล์ Unreal Engine 4 และมีเนื้อหาแฟนเซอร์วิสมากมาย แต่น่าเสียดายที่คอนเทนต์ดังกล่าว ไม่สามารถกลบเกลื่อนข้อเสียของคุณภาพเกมโดยรวมได้ ทำให้ Jump Force เป็นหนึ่งในเกมประจำปี 2019 ที่สร้างความน่าผิดหวังที่สุด แม้ไม่ใช่เกมที่แย่ก็ตาม
ถึงอย่างนั้น Bandai Namco ยังคงทำการอัปเดตเนื้อหาเกมต่อไป ด้วยการเพิ่มนักสู้ใหม่ในรูปแบบ DLC รวมถึงมีรายงานว่า Jump Force ทำยอดขายช่วงเวลาสัปดาห์แรกในญี่ปุ่นได้ถึง 76,894 ชุด โดยแซงหน้ายอดขายเกม Catherine: Full Body ที่ทำได้ 51,824 ชุด จึงเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเกม Jump Force ยังสามารถพัฒนาต่อยอดไปได้อีกไกล
อวสาน Jump Force
อย่างไรก็ตาม เกม Jump Force ได้มาถึงกาลอวสานอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด เพราะ ทาง Bandai Namco ได้ประกาศปิดเซิร์ฟเวอร์สำหรับการเล่นโหมดออนไลน์ รวมถึงยุติการวางจำหน่ายเกม และ DLC บนแพลตฟอร์มขายเกมดิจิทัลทั้งหมดภายในเดือนกรกฎาคม ปี 2022 โดยคนที่มีเกมอยู่แล้วจะสามารถเข้าเล่นได้แค่เนื้อเรื่อง Singleplayer เท่านั้น
การปิดเซิร์ฟเวอร์ กับยุติการวางขาย Jump Force ภายในปี 2022 ได้สร้างความตกใจแก่เกมเมอร์หลายคน เนื่องจากเป็นประกาศที่กะทันหันมาก ๆ และไม่คิดมาก่อนว่าทีมงานจะถอดเกมออกจากร้านค้าด้วย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้คนเล่นหลายคน สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับ Jump Force กันแน่ ?
แล้วเกิดอะไรขึ้นกับ Jump Force ?
แม้ทีมพัฒนาเกม Bandai Namco ไม่ได้เปิดเผยสาเหตุที่แน่ชัด แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้น เราเชื่อว่าสาเหตุที่เกม Jump Force ต้องปิดเซิร์ฟเวอร์ออนไลน์ และยุติการวางจำหน่าย อาจเป็นเพราะตัวเกมไม่ได้รับความนิยมจากผู้เล่นเท่าที่ควร
Bandai Namco ไม่เคยเผยตัวเลขยอดขายเกม Jump Force จากทุกแพลตฟอร์มอย่างเป็นทางการ แต่หากอ้างอิงจากเว็บไซต์ Steam Spy ได้เผยข้อมูลดิบว่ามีผู้ใช้ Steam ที่ครอบครอง Jump Force เวอร์ชัน PC อยู่ที่ประมาณ 5 แสน ถึง 1 ล้านคน และเมื่อสิงหาคม ปี 2020 นิตยสาร Famitsu เผยว่า Jump Force Deluxe Edition เวอร์ชัน Nintendo Switch ทำยอดขายได้ที่ 15,588 ชุด จึงคาดเดาว่า Jump Force อาจทำยอดขายได้ทั้งหมดประมาณราว 1 ถึง 2 ล้านชุด
แม้ Jump Force อาจทำยอดขายได้เกิน 1 ล้านชุด ซึ่งจัดว่าเป็นตัวเลขสถิติที่ไม่แย่มากนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าเกมดังกล่าวจะทำรายได้ดีตามมา เพราะอย่าลืมว่า Jump Force มีกระแสรีวิวเป็นเกมระดับกลาง ๆ จนถึงระดับพอใช้เท่านั้น แน่นอนว่าเกมเมอร์ที่สนใจอยากเล่น Jump Force เพียงแค่ได้เห็นคะแนนรีวิวเป็นสีเหลืองใน Metacritic ก็ไม่มีความคิดอยากจะซื้อเกมในราคาเต็มแล้ว และพวกเขาจะซื้อเกมในช่วงเทศกาลลดราคา Sale แทน ซึ่งทำให้ Bandai Namco ไม่สามารถกอบโกยรายได้จากการขาย Jump Force อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ Jump Force มีตัวเลขยอดผู้เล่นเกมที่ไม่ค่อยน่าประทับใจมานานมากแล้ว หากอ้างอิงจากเว็บไซต์ SteamDB มีการบันทึกสถิติไว้ว่าตั้งแต่ช่วงปี 2020 จนถึงปัจจุบัน Jump Force มีคนเล่นเกมผ่านระบบ Steam โดยเฉลี่ยเพียงแค่ 500 ถึง 1,000 คน และบางวัน มียอดผู้เล่นเพียงแค่ 400-200 คน
SteamDB เผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า Jump Force มีคนเล่นเกมผ่านแพลตฟอร์ม Steam พร้อมกันสูงสุดที่ 9,855 คน ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ปี 2019 แต่อย่างไรก็ตาม ยอดผู้เล่นเกมดังกล่าวเริ่มตกหล่นอย่างต่อเนื่อง จนวันที่ 7 มีนาคม ปี 2019 เกมดังกล่าวมียอดคนเล่นเกมผ่าน Steam เพียง 1,259 คนเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่พิสูจน์ให้เห็นว่า Jump Force มีกระแสโด่งดังในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น
ภาพจาก SteamDB
นอกจากนี้ เนื่องจาก Jump Force เป็นเกมที่นำตัวละครชื่อดังจากนิตยสารมังงะ Weekly Shōnen Jump หลายเรื่อง มารวมอยู่ในเกมเดียวกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่า Jump Force เป็นเกมที่ใช้ต้นทุนการสร้างสูงกว่าเกมอนิเมะอื่น ๆ ทั่วไป เพราะทีมงานต้องจ่ายเงินซื้อลิขสิทธิ์ให้กับหลายเรื่อง และพวกเขายังต้องจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ตามสัญญาต่อไป ตราบใดที่ตัวเกมยังวางจำหน่ายตามปกติ
ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา จึงคาดเดาว่าสาเหตุหลักที่ Bandai Namco ตัดสินใจปิดเซิร์ฟเวอร์ และยุติการวางจำหน่ายเกม Jump Force บนแพลตฟอร์มขายเกมดิจิทัล อาจเพราะทีมงานวิเคราะห์แล้วว่าเกมดังกล่าวไม่สามารถทำให้กลับมาได้รับความนิยม หรือกระตุ้นยอดขายได้อีกครั้ง ทีมงานจึงทำการเตรียมปิดเซิร์ฟเวอร์พร้อมงดวางจำหน่ายเกม เพื่อบริษัทไม่ต้องเสียเงินไปกับการจ่ายค่าลิขสิทธิ์และค่าเซิร์ฟเวอร์อีกต่อไป แล้วนำเงินไปพัฒนาส่วนอื่น ๆ ที่มีประโยชน์กว่า เช่น เทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ และเกมใหม่ที่ดูมีอนาคตที่สดใสกว่า Jump Force เช่น Tekken, Tales of, Dragon Ball, Ace Combat กับ The Idolm@ster เป็นต้น
หรือมีความเป็นไปได้ว่า Bandai Namco อาจมีการต่อรองเจรจาลิขสิทธิ์กับ Weekly Shōnen Jump ที่ไม่ลงรอยกัน จึงส่งผลกระทบทำให้ Jump Force ไม่สามารถวางจำหน่ายได้อีกต่อไปด้วยสาเหตุบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับสัญญาระหว่างสองฝ่าย
อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำอีกครั้งว่าสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น แม้ข้อมูลอาจไม่ถูกต้อง 100% แต่ก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้เล่นเข้าใจสถานการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับ Jump Force เกม Arena Fighting สุดทะเยอทะยานที่หลายคนใฝ่ฝัน กลับกลายเป็นเกมธรรมดาที่หลายคนลืมไปแล้ว
Jump Force ยังคงวางจำหน่ายตามปกติ ถ้าหากผู้เล่นสนใจเกมดังกล่าว ก็สามารถสอดส่องรายละเอียดเพิ่มเติมได้ผ่านหน้าร้านค้า Steam