BY KKMTC
10 May 22 5:54 pm

เข้าใจโมเดลเกมคอนโซล การอัปเกรดยิบย่อย ที่ไม่ได้ทำให้เครื่องแรงขึ้นอย่างเดียว

24 Views

เครื่องเกมคอนโซลไม่ได้ผลิตขึ้นมาแล้ววางจำหน่ายจบภายในรุ่นเดียว หลังจากเครื่องเกมวางจำหน่ายไปแล้ว บริษัทยังคงต้องหาวิธีทางในการอัปเกรด วิจัย และหาส่วนประกอบอื่น ๆ เพื่อพัฒนาเครื่องโมเดลถัดไปให้มีคุณภาพโดยรวมดีขึ้น หรือลดต้นทุนการผลิตเครื่องในระยะยาว

บทความนี้จะเป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโมเดลเกมคอนโซล การอัปเกรดยิบย่อย การทดแทนของเก่ากลายเป็นของใหม่ ที่ไม่ได้ทำให้เครื่องเกมแรงขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังปรับปรุงส่วนอื่นที่เป็นผลดีทั้งกลุ่มเกมเมอร์ และตัวบริษัทผู้ผลิตเครื่องเกมเอง

การอัปเกรดแทนของเก่า ที่มีมากกว่าแค่ “ความแรง” อย่างเดียว

Playstation 2

ภาพจาก r/jm-9

หากเกมมอร์เข้าใจว่าสาเหตุที่บริษัทต้องผลิตเกมคอนโซลหลายโมเดล เพื่อปรับปรุงให้เกมคอนโซลดีขึ้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจถูกต้องแล้ว แต่การอัปเกรดที่ว่านั้น ไม่ได้จำกัดว่าเครื่องเกมต้องมีประสิทธิภาพแรงขึ้น โดยใช้ฮาร์ดแวร์ที่ทรงพลังกว่าเดิมเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นการมอบประสบการณ์การใช้งานโดยรวมที่ดีขึ้น หรือถอดฟีเจอร์ที่ไม่มีความจำเป็นบางอย่างออกไป เพื่อวางจำหน่ายเครื่องในราคาที่สมเหตุสมผล หรือลดความสับสนจากการใช้งานครั้งแรก

ตัดฟีเจอร์ที่ไม่จำเป็นทิ้งออกไป เพื่อรักษางบประมาณในการสร้างเครื่อง

Playstation

PlayStation 1 หรือเกมคอนโซลตัวแรกของ Sony ที่เดิมทีเคยมีพอร์ต RCA jacks และ parallel I/O ตรงด้านหลังของเครื่อง แต่ทว่าโมเดล SCPH-550x ซึ่งเป็นรุ่นอัปเกรดจากของเดิม มีการตัดฟีเจอร์พอร์ต RCA jacks ออกไป และโมเดลถัดไปอย่างรุ่น SCPH-9001 ได้ตัดช่องพอร์ต parallel I/O ออกไปเช่นกัน ทำให้เครื่องเหลือแต่ช่องพอร์ต Serial I/O กับ AV Multi Out เท่านั้น

แม้ Sony ไม่เคยออกแถลงการณ์ถึงสาเหตุที่ตัดช่องพอร์ต RCA jacks กับ parallel I/O ออกจาก PlayStation 1 โมเดลใหม่ รวมถึงเข้ามาวางจำหน่ายแทนที่รุ่นเก่า โดยไม่มีการประกาศล่วงหน้า แต่นักสะสมเกมคอนโซล และผู้เชี่ยวชาญด้าน Retro Tech คาดเดาว่าสาเหตุที่ PlayStation ตัดพอร์ตดังกล่าวออกไป ก็เพื่อประหยัดงบในการผลิต ด้วยการถอดชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป

Ps1

 

PS โมเดล SCPH-9001 (เครื่องบน) SCPH-5501 (เครื่องกลาง) และ SCPH-1001 (เครื่องล่าง)

อ้างอิงจากชาว Reddit และ StackExchange พอร์ต RCA jacks ของ PlayStation มีคุณสมบัติเด่นให้ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์เล่นเกม Light Gun ได้ ส่วน parallel I/O เป็นช่องไว้สำหรับเสียบตลับเกมแบบพิเศษ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอุปกรณ์ Light Gun ได้รับความนิยมลดลงตามกาลเวลา และไม่ค่อยมีนักพัฒนาเกมเจ้าไหน ผลิตตลับเกมไว้เสียบช่อง parallel I/O จึงเป็นเหตุทำให้ Sony ตัดสินใจถอดพอร์ตทั้งสองช่องออกจากเครื่องโมเดลใหม่อย่างเงียบ ๆ

ปรับปรุง Quality of Life ให้ใช้งานสะดวก

สำหรับกรณีของเกมคอนโซลประเภท Portable แม้มันจะพกพาสะดวก เก็บเข้ากระเป๋าได้ง่าย แต่ด้วยตัวเครื่องที่มีน้ำหนักค่อนข้างเยอะหากเทียบกับอุปกรณ์พกพาอื่น ๆ ทำให้เกมคอนโซลพกพาบางเครื่อง อาจกินเนื้อที่กระเป๋าเกินความจำเป็น ซึ่งขัดกับแนวคิดของเกมคอนโซล Portable ที่เน้นการพกพาสะดวก นำเครื่องไปเล่นที่ไหนก็ได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทางบริษัทจึงมีการคิดค้นโมเดลใหม่ ที่มาพร้อมคุณสมบัติน้ำหนักเบากว่ารุ่นมาตรฐาน และเพิ่ม Quality of Life ให้การใช้งานสะดวกสบาย หรือพกพาง่ายขึ้น

ยกตัวอย่างชัดเจนที่สุดก็คือ PSP-2000 เป็น PSP รุ่นรีดีไซน์ใหม่จาก 1000 ซึ่งมีน้ำหนักเบาขึ้นจาก 280 กรัมในรุ่นดั้งเดิม เหลือเพียง 189 กรัมเท่านั้น

Psp

PSP-1000 (เครื่องบน) PSP-2000 (เครื่องล่าง) ความแตกต่างจะไม่เห็นชัด จนกว่าจะเทียบเครื่องแบบวางใกล้กัน

นอกจากนี้ PSP-2000 ได้ปรับปรุงปุ่ม D-Pad ให้มีความคงทน ใช้ได้นานมากขึ้น และเพิ่มระบบการชาร์จด้วย USB ซึ่งแน่นอน มันเป็นฟีเจอร์ที่ช่วยให้การใช้งานสะดวกสบาย และเป็นการแก้ไขข้อเสียจากรุ่น 1000 ที่มีผู้ใช้ร้องเรียนเป็นจำนวนมาก

และสุดท้าย PSP-2000 ได้อัปเกรด RAM จากรุ่น 1000 เป็น 64 MB ช่วยให้การโหลดเกมผ่านแผ่น UMD เร็วขึ้น พร้อมใช้หน้าจอ LCD ที่สว่างกว่ารุ่นมาตรฐาน ซึ่งมอบประสบการณ์การเล่นเกมที่ดีกว่าเดิม แม้โซน PAL จะวางขาย PSP-2000 ในตลาดโดยใช้ชื่อรุ่นว่า “Slim” แต่ตามเทคนิคแล้ว เครื่องเกมดังกล่าวยังคงมีชื่อทางการว่า PSP-2000

อัปเกรดหรือดาวน์เกรดแบบยกระดับ จะใช้ชื่อรุ่นใหม่และขายแยกไปเลย

nintendo switch lite

แน่นอนว่าเกมคอนโซลรุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงแบบยกระดับ บริษัทจะไม่ใช้วิธีรีดีไซน์เครื่อง แล้ววางจำหน่ายทดแทนโมเดลรุ่นเก่าอีกต่อไป แต่จะเป็นการนำเกมคอนโซลดั้งเดิมมาพัฒนาต่อยอด กลายเป็นเกมคอนโซลโมเดลใหม่ที่มีชื่อรุ่นเรียกเฉพาะตัว

ยกตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือ Nintendo Switch Lite เกมคอนโซลรุ่นราคาถูก ที่มีคุณสมบัติสเปกยังเกือบเท่าเดิม แล้วเปลี่ยนจาก “เครื่องเกมไฮบริด” สามารถเล่นที่บ้านหรือพกพาเล่นที่ไหนก็ได้ กลายเป็นเกมพกพาอย่างเต็มรูปแบบ

Nintendo Switch และ Nintendo Switch Lite

เนื่องจากรุ่น Lite ขายในราคาถูกกว่ารุ่นมาตรฐาน ทำให้ตัวเครื่องมีการตัดฟีเจอร์หลายอย่าง ตั้งแต่ขาดฟีเจอร์การถอด Joy-Con, ไม่สามารถใช้ Dock เพื่อเล่นเกมผ่านทีวีได้ และวัสดุเครื่องมีความพรีเมียมลดลง ซึ่งโดยรวมแล้ว มันเป็นเครื่องเกมฉบับดาวน์เกรดที่เหมาะสำหรับคนเน้นเล่นเกมคนเดียวมากกว่าเล่นแบบปาร์ตี้ และชื่นชอบเล่นเกมแบบพกพา (Handheld) เป็นหลัก

ส่วน PlayStation 4 Pro คือเกมคอนโซลฉบับอัปเกรดจากรุ่นปกติ ที่นอกจากเพิ่มพอร์ต USB, พอร์ต Optical Audio และเปลี่ยนช่อง HDMI เป็น 2.0a แล้ว ตัวเครื่องได้เปลี่ยนชนิด GPU จาก 1.84 TFLOP กลายเป็น 4.2 TFLO กับเปลี่ยน RAM เป็น 1GB of DDR3 ส่งผลลัพธ์ทำให้เครื่อง PS4 Pro มีประสิทธิภาพดีขึ้น เฟรมเรตลื่นขึ้น และกราฟิกโดยเฉพาะตรงส่วนของ Draw Distance สามารถเรนเดอร์พื้นที่ได้ไกลขึ้น

นอกจากนี้ PlayStation 4 Pro สามารถรันบางเกมด้วยภาพความละเอียดคมชัดระดับ 2160p จนถึง 4K แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความจำกัดของฮาร์ดแวร์ ภาพ 4K ที่รันผ่าน PS4 Pro นั้นจะไม่ใช่แบบ Native แต่เป็นการเรนเดอร์ภาพแบบ Checkerboard หรือ Upscale ซึ่งไม่ได้ให้ภาพที่คมชัดเทียบเท่ากับแบบ Native

Playstation 4

PlayStation 4 และ PlayStation 4 Pro

แม้ไม่สามารถยกตัวอย่างโมเดลเกมคอนโซลได้ทั้งหมด เพราะมันมีหลายรุ่นมาก ๆ แต่อย่างน้อย บทความนี้อาจช่วยทำให้เหล่าเกมเมอร์รับทราบมากขึ้นว่า ทำไมบริษัทเกมจึงต้องรีดีไซน์เครื่องเกมหลายครั้ง และให้ความเข้าใจใหม่การออกโมเดลเครื่องใหม่ ไม่ได้หมายความว่าประสิทธิภาพจะต้องแรงขึ้นเพียงอย่างเดียวเสมอไป

SHARE

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top