ระบบปฏิบัติการ Windows หรือ Windows OS เป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นหน้าคุ้นตากันดีว่าเจ้าระบบปฏิบัติการนี้จะอยู่ในโน้ตบุ๊กหรือคอมพิวเตอร์ของทุกคนแน่นอน ซึ่งระบบปฏิบัติการนี้มีความเป็นมาและพัฒนาการที่ยาวนานมาก เพื่อเป็นการต้อนรับ Windows 11 ที่กำลังจะมาถึงนี้ เรามาดูกันดีกว่าว่า กว่าจะเป็น Windows ที่เราใช้งานกันทุกวันนี้ ได้ผ่านการพัฒนาอะไรมาบ้าง
Windows OS คืออะไร
Windows OS เป็นระบบปฏิบัติการที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท Microsoft เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1985 และได้รับความนิยมในตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมากกว่า 90% ของการใช้งานทั่วโลก ถ้านับกันจริงๆ Windows OS ก็มีอายุมากกว่า 35 ปี โดยมีจุดเริ่มต้นจาก MS-DOS จนปัจจุบันที่เราใช้งาน Windows 10 แต่วิวัฒนาการของ Windows จะเป็นอย่างไร ไปดูกันเลย
Windows 1.0
Windows 1.0 เปิดตัวเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ.1985 โดยทาง Microsoft ได้เปิดตัว Windows ที่รันบน MS-DOS ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการ 16 บิต ที่สามารถเรียกใช้งานโปรแกรมและฟังก์ชันต่าง ๆ บน DOS ได้
และนี่ยังเป็นครั้งแรกที่ Microsoft ทำ graphical user interface (GUI) เพื่อเชื่อมต่อกับผู้ใช้งาน โดยสามารถบังคับการทำงานผ่านเมาส์และคีย์บอร์ด และที่สำคัญ ทาง Microsoft ได้ใส่เกม Reversi ซึ่งเป็นเกมหมากกระดานคล้ายๆเกมโอเทลโลมาให้ผู้ใช้ได้เล่นกันอีกด้วย
Windows 2.0
Windows 2.0 เปิดตัวเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ.1987 เป็นระบบปฏิบัติการที่ได้รับการพัฒนามาจาก Windows 1.0 โดยเพิ่มฟีเจอร์หลักๆคือ Keyboard shotcut , ปุ่มย่อหน้าจอ , ปุ่มขยายหน้าจอ และเป็นระบบปฏิบัติการแรกที่รองรับกราฟิกแบบ VGA อีกด้วย
ช่วงที่ Microsoft เปิดตัว Windows 2.0 ก็ถูก Apple ฟ้องร้องในประเด็นการพัฒนา GUI ด้วย แต่ทาง Microsoft ก็ชนะคดีมา ไม่งั้นก็อดเห็น Windows หลังจากนี้กันแล้ว
Windows 2.1x
เปิดตัวเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ.1988 โดยเปิดตัวหลังจาก Windows 2.0 ได้ 6 เดือน ในเวอร์ชันนี้มีการปรับปรุงให้ใช้ประโยชน์จาก CPU Intel 80286 และ Intel 80386 และเป็นระบบปฏิบัติการแรกที่จำเป็นจะต้องใช้ HDD ในการลง Windows อีกด้วย
Windows 3.0
เปิดตัวเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ.1990 Windows 3.0 สามารถแสดงสีสันออกมาได้ 16 สีด้วยกัน File Manager , Program Manager และ Print Manager ถูกสร้างขึ้นบน Windows เวอร์ชันนี้ และเป็น Windows ที่มีการใส่เกมในตำนานอย่าง Hearts , Minesweeper และ Solitaire มาให้เป็นครั้งแรก โดยจุดเด่นของเวอร์ชันนี้คือการที่เราสามารถเลือกการทำงานบน Memory Mode ได้ 3 Mode ด้วยกัน
- Real Mode : สำหรับคอมพิวเตอร์รุ่นเก่ากว่า Intel 80286 และมีหน่วยความจะ 384 KB
- Standard Mode : สำหรับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ซีพียูรุ่น Intel 80286 และมีหน่วยความจำ 1 MB
- 386 Enhanced Mode : สำหรับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ซีพียูรุ่น Intel 80386 และมีหน่วยความจำ 2 MB. (ว่างอย่างน้อย 1 MB)
Windows 3.1
เปิดตัวเมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1990 Windows 3.1 ได้ตัดการทำงานของ Real mode ออกไป และแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ ที่มีในเวอร์ชันเก่า นอกจากนี้ยังได้เพิ่มความสามารถให้รองรับฟอนต์แบบ Truetype, การใช้งานแบบ Drag-and-drop และที่สำคัญ คือ ระบบ Windows Registry ได้ถูกเพิ่มเข้ามาเป็นครั้งแรกใน Windows เวอร์ชันนี้ด้วย
Windows NT 3.1
เปิดตัวในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1993 ตัวย่อ NT ย่อมาจาก New Technology ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนา Windows OS เพราะเป็นครั้งแรกที่ Windows OS รันบนระบบปฏิบัติการของตัวเองแบบ 32 บิต มี Windows API ที่รู้จักกันในชื่อ Win32 ซึ่งเป็นรากฐานของระบบปฏิบัติการทั้งหมดหลังจากนี้ ในตอนเริ่มแรกนั้น Window NT จะนิยมใช้งานกันแค่ในเซิร์ฟเวอร์ และวงการธุรกิจเท่านั้น
Windows 3.51
เปิดตัวเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1995 เป็นเวอร์ชันที่ปล่อยก่อน Windows 95 เพียง 3 เดือน โดยมีการปรับปรุงให้รองรับ PowerPC สถาปัตยกรรมไมโครโพรเซสเซอร์แบบ RISC ของกลุ่ม Apple , IBM และ Motorola
Windows 95
Windows 95 เปิดตัวเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1995 ถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Windows เลย เพราะมีการปรับปรุง User Interface หรือ UI ให้ดูสวยงามกว่าเดิมและแตกต่างจากเวอร์ชันก่อนหน้านี้อย่างมาก พร้อมกับคุณสมบัติที่สำคัญคือ “Plug-and-Play” ที่อนุญาตให้เราเชื่อมต่ออุปกรณ์และใช้งานได้ทันที
Windows NT 4.0
ก่อนหน้านี้ WIndows NT 3.1 ถือว่าเป็น Windows ที่เน้นใช้งานบน Server และแวดวงธุรกิจเป็นหลัก ตัวนี้ก็เช่นกัน และยังคงรองรับ PowerPC อีกด้วย ส่วนเรื่องของ UI ก็ได้แรงบันดาลใจมาจาก Windows 95 อย่างไม่ต้องสงสัย แต่มีความแตกต่างที่มันไม่รองรับ DirectX หมายความว่าเกมบางเกมจะไม่สามารถเล่นบน Windows NT 4.0 ได้ แถมยังไม่รองรับ Plug-and-play กับไม่มี Device Manager ด้วย
Windows 98
เปิดตัวเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 1996 Windows 98 เป็นการอัปเดตครั้งใหญ่ มีจุดเด่นตรงที่ได้ผนวกการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเอาไว้ในตัวระบบปฏิบัติการเลย มี Internet Explorer 4.0 ใส่เข้าด้วย ซึ่งก็เป็นเหตุให้ถูกฟ้องร้องในประเด็นผูกขาดด้านซอฟต์แวร์ด้วย
ใน Windows 98 ยังได้เป็นจุดเริ่มต้นของระบบ Windows Driver อีกด้วย แต่ว่ากว่าจะเป็นที่ยอมรับก็ต้องรอจนถึงเวอร์ชัน Windows 2000 และ Windows XP เลยทีเดียว ลูกเล่นอื่นๆ ที่ถูกเพิ่มเข้ามาก็อย่างเช่น รองรับ DVD, USB และ FAT32 ด้านการออกแบบ Microsoft ได้เพิ่มเอฟเฟกต์ 3D, Quick launch toolbars และมีการไล่เฉดสีที่บริเวณ Title bar ด้วย
ต่อมาในวันที่ 23 เมษายน ปี ค.ศ. 1999 ทาง Microsoft ได้ปล่อย Windows 98 Second Edition ออกมา โดยเน้นไปที่การปรับปรุงแก้ไขการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ
Windows 2000 Server
เปิดตัวเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000 สำหรับ Windows 2000 ถือว่าเป็น Windows NT เวอร์ชันสุดท้าย โดยระบบปฏิบัติการนี้มาพร้อมกับ 4 เวอร์ชันคือ Professional, Server, Advanced Server และ Datacenter Server ซึ่งในเวอร์ชันนี้ ทาง Microsoft ได้ยุติการสนับสนุน RISC อย่าง MIPS และ PowerPC ด้วย ฟีเจอร์ที่น่าสนใจก็คือความสามารถในการแสดงรูปภาพใน Thumbnails และ Hyperlink ที่อยู่ใน Internet Explorer 5.0
Windows ME
เปิดตัวเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2000 Windows ME ย่อมาจาก Windows Millennium Edition ถึงแม้ว่าจะเหมือนกับการเปิดซีรีส์ใหม่ แต่จริงๆแล้วนี่เป็น Windows ตระกูล Windows 9x เวอร์ชันสุดท้าย ในเวอร์ชันนี้ตัว DOS จะไม่รองรับการทำงานแบบ Real mode และเป็น Windows เวอร์ชันสุดท้ายที่รองรับการทำงานแบบ 16 บิต ผ่าน MS-DOS และด้วยสีสันของ UI ทำให้เป็นอีก 1 เวอร์ชันที่ใครหลายคนจดจำได้ โดยบริษัทฯคาดหวังเอาไว้ว่า มันน่าจะประสบความสำเร็จเหมือนกับ Windows 98 แต่มันไม่เป็นอย่างนั้นเลย เนื่องจากระบบปฏิบัติการตัวนี้นั้น อืด , ไม่เสถียร และ ปัญหา Bug เต็มไปหมด
Windows XP
เปิดตัวเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 2001 Windows เวอร์ชันนี้เป็นเหมือนการรวมกันระหว่าง Windows 9x และ Windows NT และยุติการสนับสนุนการทำงานแบบ 16 บิต บน MS-DOS โดยสิ้นเชิงนอกจากนี้มันยังยกเลิกโมเดลไดรเวอร์ VxD ด้วย เพื่อบังคับให้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์เปลี่ยนมาใช้ Windows Driver อย่างเดียว ซึ่งจะช่วยลดปัญหาจอฟ้าแห่งความตาย Blue Screen of Death อันเนื่องมาจากไดรเวอร์มีปัญหา แม้ Windows XP จะน่าจดจำ แต่ว่ากันตามตรงตอนที่มันเปิดตัว กระแสตอบรับค่อนข้างแย่มากทีเดียว โดยเฉพาะจากเหล่าผู้ผลิตที่ต้องปวดหัวกับปัญหาการทำไดรเวอร์ใหม่ และสิ่งที่เพิ่มเข้ามาใหม่คือ Windows media Player, Internet Explorer 6.0, Help and Support, Microsoft Assistant และ MSN messenger ที่เป็นเหมือนความทรงจำของใครหลายๆคน
Windows Server 2003
เปิดตัวเมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 2007 Windows Server ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานกับเครื่องเซิร์ฟเวอร์เป็นหลัก มีความสามารถในการจัดการบริหารเครือข่าย ทำ Internet/Intranet hosting, Databases ฯลฯ
Windows Vista
เปิดตัวเมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 2007 Windows Vista เป็นระบบปฏิบัติการ Windows ที่กล่าวได้ว่าล้มเหลวแบบสุดๆ มีกระแสตอบรับที่ค่อนข้างแย่จากผู้ใช้จำนวนมาก โดยเหตุผลส่วนใหญ่ก็มาจากกราฟิกแบบใหม่อันสวยงามของสิ่งที่เรียกว่า Windows Aero
จริงๆแล้ว Windows Vista มาพร้อมกับความสามารถใหม่อย่าง User Account Control ที่ช่วยควบคุมความปลอดภัยให้กับระบบ, มี Windows Driver Frameworks ที่เป็นเครื่องมือ และ Libraries ใหม่ให้นักพัฒนาใช้ และยังมีระบบไฟล์แบบใหม่ที่เรียกว่า WinFS
Windows 7
เปิดตัวเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 2009 Windows เวอร์ชันนี้ได้รับการปรับปรุงอย่างมาก โดยปรับปรุงการทำงานของ Taskbar ใหม่ และลดความน่ารำคาญของ User Account Control (UAC) ให้น้อยลง ในด้านความสวยงาม Windows 7 ก็ทำได้ดี มันสามารถแสดงผลได้เหมือนกับ Aero แต่ว่าใช้ทรัพยากรน้อยกว่า ทำให้ความเร็วดีขึ้นกว่าเดิมมาก คุณสมบัติหลายอย่างที่มีอยู่เดิมใน Vista ถูกถอดออกไปเพื่อลดพื้นที่ โดยเปิดให้ผู้ใช้เลือกติดตั้งเพิ่มเองได้ อย่างเช่น Windows Movie Maker, Photo Gallery, และ Windows Mail.
Windows 8 / Windows 8.1
เปิดตัวเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 2012 ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งของ Windows เพราะตัว Windows 8 และ Windows ถูกออกแบบมาด้วยแนวคิดที่จะทำ Windows เพื่อให้รองรับ Windows Phone ที่ล้มเหลวเหมือนกัน โดย Microsoft ได้เปิดตัว Start Screen เพื่อใช้แทน Start Menu มันเป็น Live Tiles ที่เรียงกันเป็น Grid โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้มันใช้งานบนอุปกรณ์ประเภทแท็บเล็ตได้ง่ายขึ้น เพราะช่วงเวลานั้นความนิยมใช้งานของ iPad และแท็บเล็ต Android ต่างๆ มาแรงมาก แต่กลับได้รับกระแสตอบรับจากผู้ใช้ค่อนข้างแย่
Windows 10
เปิดตัวเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 2015 ซึ่งผู้ใช้ที่ใช้งาน Windows 7 และ 8 ก็สามารถอัปเกรดมายัง Windows 10 ได้ฟรีทันที Microsoft ได้มีการทำการบ้านมาเพื่อพัฒนาตัว Windows 10 มาอย่างดี เพราะข้อเสียหรือข้อด้อยที่เกิดขึ้นในแต่ละเวอร์ชัน ได้รับการแก้ไขใน Windows เวอร์ชันนี้เกือบทั้งหมด และมี start menu ที่นำข้อดีจากหน้าเมนูของ Windows 8 มาใส่ทำให้การใช้งานเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความสามารถใหม่ๆ ถูกเพิ่มเข้ามาเพียบ อย่างเช่นหน้าจอเสมือนจริง (Virtual Desktops) การอัดวิดีโอหน้าจอ (Screen Recorder) หรือแม้แต่ Windows Hello ระบบตรวจสอบความปลอดแบบ Biometric และ Cortana ผู้ช่วยแบบ Voice-assisted, Microsoft Edge เว็บเบราว์เซอร์ตัวใหม่ที่มาแทน Internet Explorer, Windows Continuum ที่เปลี่ยนสมาร์ตโฟนให้ทำงานเหมือน PC ได้
และนี่คือประวัติและวิวัฒนาการของ Windows ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ามีการพัฒนาหลายๆส่วนพร้อมทั้งแก้ไขจุดด้อยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ณ ตอนนี้มีผู้ใช้ Windows 10 มากถึง 48.02% จากส่วนแบ่งการตลาดทั้งหมด แต่เราก็ต้องมารอดูกันว่า Windows 11 จะมีพัฒนาการด้านไหนบ้าง