BY BabeElena
20 Oct 18 5:58 pm

เปิดตำนานเกม Super Smash Bros. สมรภูมิแห่งการครอสโอเวอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการเกมของโลกใบนี้

114 Views

หากคุณนึกถึงเกมต่อสู้ คุณจะนึกถึงเกมอะไรกันบ้าง ?? จะเป็นถนนนักสู้อย่าง Street Fighter หรือจะเป็นศึกกำปั้นเหล็กอย่าง Tekken แน่นอนว่าสำหรับเกมต่อสู้แล้วเราคงจะได้รู้จักกันกับซีรี่ส์เกมต่อสู้แปลก ๆ และสนุก ๆ ไม่มากก็น้อยจากบทความของทางเว็บไซต์ GamingDose ของเรา

แต่อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้เราจะไม่ได้มาพูดถึงเกมต่อสู้ที่ยอดนิยมในฝั่งของบ้านเรา แต่เราจะมาพูดถึงซีรี่ส์เกมต่อสู้ขวัญใจชาวตะวันตก ที่มีการออกภาคใหม่มาเรื่อย ๆ แถมยังขายดิบขายดีทุกภาค พร้อมกับระบบการต่อสู้และเกมเพลย์ที่ฉีกทุกเกมต่อสู้ในท้องตลาดจนตัวเกมถูกนำไปจัดแข่ง Esports กันเป็นล่ำเป็นสัน และแถมยังมีจุดเด่นอะไรหลาย ๆ อย่างที่น่าพูดถึงโดยเฉพาะเรื่องของการ “รวมดาราจากค่ายเกมญี่ปุ่น” ที่เรียกได้ว่าขนซีรี่ส์เกมและจับตัวละครจากเกมต่าง ๆ มาปะทะกันในสมรภูมิเดียวกันแบบจัดหนักจัดเต็ม

ทาง GamingDose จึงขอหยิบซีรี่ส์เกม “Super Smash Bros.” จาก Nintendo มานำเสนอ ซึ่งในบทความนี้เราจะมาพูดถึงเกมการเล่นและเบื้องหลังการพัฒนาของเกม ๆ นี้ว่ามีที่มาและมีอะไรที่น่าสนใจกันบ้าง โดยจะถือว่าเป็นการติวและทบทวนความจำ ก่อนที่เราจะได้เล่นภาคใหม่อย่าง “Super Smash Bros. Ultimate” ที่กำลังจะวางจำหน่ายในสิ้นปีนี้อีกด้วยครับ

Super Smash Bros. คือเกมอะไร ??

ก่อนที่เราจะมาเจาะตำนานถึงที่มาของเกม ๆ นี้ เราจะมาทำความรู้จักกันก่อนว่าเกม Super Smash Bros. นั้นเป็นยังไง

Super Smash Bros. เป็นเกมแนว Fighting ที่ถูกพัฒนาโดยทีมพัฒนา First Party ของ Nintendo อย่าง HAL Laboratory และบางภาคจะถูกพัฒนาโดยทีมพัฒนา Third Party อย่าง Bandai Namco โดยซีรี่ส์เกมนี้ถือว่าเป็น 1 ใน IP ของ Nintendo เพราะฉะนั้นซีรี่ส์เกมนี้ถือเป็น Exclusive เฉพาะ Nintendo Consoles อย่างแน่นอน โดยจุดเด่นของ Super Smash Bros. ก็คือ “เกมการเล่น” ที่แหวกแนวและไม่เหมือนเกมต่อสู้เกมอื่น ๆ ในท้องตลาดเลย เอาง่าย ๆ คือแค่เห็นมุมกล้องและเกมการเล่นแล้วจะดูออกทันทีว่านี่เป็นเกม Super Smash Bros. ทำให้นี่คือเกมต่อสู้ที่มีความเป็น Original ที่สูงมาก จนมีหลาย ๆ ค่ายพยายามจะหยิบแรงบันดาลใจจากเกม ๆ นี้มาใช้ ไม่ว่าจะเป็น Brawlhala หรือแม้กระทั่ง Sony ก็เคยพยายามทำเกมลอกเลียนแบบอย่าง Playstation All Stars : Battle Royale มาแล้วเช่นกัน

แน่นอนเราแอบรู้ว่า ผู้อ่านไม่ได้อยากรู้ว่า “เกมนี้แปลกขนาดไหน” แต่ผู้อ่านอยากรู้ว่า “เกมนี้มันแปลกยังไง” เพราะฉะนั้นเราจะมาพูดถึงในส่วนของเกมการเล่นกันก่อนเลย โดย Super Smash Bros. ได้มีจุดเด่นที่ต่างจากเกมต่อสู้อื่น ๆ เป็นอย่างมากนั่นก็คือ “เกมนี้ไม่มีระบบพลังชีวิต” (ถึงบางภาคจะให้ปรับเป็นแบบพลังชีวิตได้ก็ตาม) แต่การโจมตีของเราจะทำให้เกิด “อัตราการบาดเจ็บ” ให้กับศัตรู ยิ่งศัตรูเรามีค่านี้สูงเท่าไหร่ ศัตรูก็จะอ่อนแอลงเรื่อย ๆ จนอาจจะแค่หมัดหนักหมัดเดียวก็ทำให้ศัตรูปลิวออกจากสนามได้ ใช่แล้ว เกมนี้ไม่ได้ให้คุณต้องต่อสู้ให้ศัตรูพลังชีวิตหมด แต่เกม ๆ นี้เราจะต้องทำให้ศัตรูได้รับความเสียหายมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทำการพยายามโจมตีเพื่อให้ศัตรูปลิวออกจากขอบสนาม (ที่ไม่ใช่เพจฟุตบอล) ซึ่งหากศัตรูของเราปลิวออกขอบสนามเท่าไหร่ก็จะถือว่าเราสามารถทำแต้มได้หรือทำให้ศัตรูเสียค่าชีวิตไปหนึ่งตัว ส่วนระบบท่าไม้ตายของเกมนี้จะค่อนข้างต่างจากเกมอื่น ๆ พอสมควร โดยระหว่างการเล่นระบบจะทำการแจกไอเทมช่วยเหลือลงฉากเรื่อย ๆ  และหนึ่งในนั้นก็คือไอเทมที่ทำให้เราใช้ท่าไม้ตายได้อย่าง “Final Smash Ball” ซึ่งเจ้าบอลบ้านี่มันจะบินไปมาไม่อยู่นิ่งโดยเราจะต้องชกเจ้าไอเทมนี้ให้มันมีความเสียหายระดับนึง เพื่อนำท่าไม้ตายที่เกมนี้เรียกว่า “Final Smash” มาใช้งานได้ ซึ่งระบบท่าไม้ตายของซีรี่ส์เกมนี้มันไม่ได้มีมาตั้งแต่ภาคแรก แต่มันมีให้ใช้ตั้งแต่ Super Smash Bros. Brawl เป็นต้นไป นอกจากนี้แล้ว Super Smash Bros. ในหนึ่งตา เราสามารถต่อสู้กันได้สูงสุดถึง 4 คน โดยเราสามารถจัดทีมหรือจะนัวกระหน่ำมั่วซั่วก็ได้ และยิ่งหากเป็นภาคหลัง ๆ เราจะสามารถต่อสู้กันได้สูงสุดถึง 8 คน !! เรียกได้ว่าไม่มั่วไม่งงก็ให้มันรู้ไปล่ะทีนี้

นอกจากด้านของเกมเพลย์ที่เรียกได้ว่าฉีกทุกกฏการเล่นแล้ว อีกจุดเด่นนึงที่เรียกได้ว่าขึ้นชื่อไม่แพ้กัน แถมน่าจะเป็นจุดเด่นที่หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยอย่าง “การรวมดาราจากหลาย ๆ ซีรี่ส์ของค่าย Nintendo” มาสู้ในสมรภูมิเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น Super Mario, Metroid, F-Zero, Kirby, Pokémon, EarthBound, The Legend of Zelda, Duck Hunt, Game & Watch, Kid Icarus, Fire Emblem, Yoshi, Animal Crossing, Donkey Kong, Splatoon เรียกได้ว่าขนมาแทบเกินครึ่งของซีรี่ส์เกม Nintendo มาให้เล่นและสู้กันในเกม ๆ นี้เกมนี้เดียว ซึ่งหากคุณคิดว่าแค่นี้เยอะแล้ว ขอบอกเลยว่า Nintendo จัดให้ได้มากกว่านี้อีก เพราะในภาคหลัง ๆ ตั้งแต่ภาค Super Smash Bros. Brawl เป็นต้นมานั้นจะเรื่มมีแขกรับเชิญจากค่ายเกมภายนอกมาแจมในเกมนี้เพื่อเพื่มสีสันเข้าไปอีก ไม่ว่าจะเป็น Sonic The Hedgehog, Metal Gear, Final Fantasy, Bayonetta, Street Fighter, Rockman, Pac-Man, Castlevania และซีรี่ส์เกมอื่น ๆ เรียกได้ว่าเป็นการ “ครอสโอเวอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” ในวงการเกมเลยก็ว่าได้

เปิดตำนาน Super Smash Bros.

เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในปี 1998 ในยุคนั้นได้มีคุณ “Masahiro Sakurai” มือพัฒนาเกมแห่ง HAL Laboratory ซี่งถือว่าเป็นค่าย Second Party ของทาง Nintendo สนใจที่จะทำเกมต่อสู้ขึ้นมา โดยเขาอยากให้เกมต่อสู้ของเขาสามารถเล่นได้สี่คนพร้อม ๆ กัน (เนื่องจากว่า Nintendo 64 ในยุคนั้นจะชูโรงเรื่องการต่อจอยเล่นกัน 4 คนเป็นอย่างมาก) ซึ่งเขาได้เริ่มต้นจากการที่เขาแทบไม่มีไอเดียอะไรเลยที่เป็นของตนเอง โดยเขาได้ลองออกแบบตัวละครง่าย ๆ ขึ้นมาอย่าง “มังกร” และนำมาทำเป็นคอนเซปต์เกมต่อสู้ของเขาเองอย่าง “Kakuto-Geemu Ryuoh”  หลังจากที่เขาได้คิดคอนเซปต์ดังกล่าวได้แล้ว เขาจึงนำคอนเซปต์นี้ไปนำเสนอผู้ช่วยของเขาอย่างคุณ “Satoru Iwata” ซึ่งเขาก็ได้คำแนะนำดี ๆ จากคุณ Iwata และทำให้เขาคิดขึ้นมาได้ว่า “มันไม่ใช่เกมต่อสู้ทุกเกมที่จะทำยอดขายได้ดี และเขาควรทำอะไรที่ไม่เหมือนใคร”

ไอเดียแรก ๆ ที่เขาคิดขึ้นมาได้หลังจากนั้นก็คือ “การนำตัวละครยอดนิยมของ Njntendo และจับเอามาสู้กัน” โดยหลังจากที่เขาได้คิดขึ้นมาได้ เขาก็ได้เริ่มทำการพัฒนาเกมนี้ทันที ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากทาง Nintendo ด้วยซ้ำ แต่เขาก็รู้ถึงจุด ๆ นี้ดี ซึ่งถึงจะเป็นอย่างนั้นเขาก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเกมนี้ต่อไปจนเกมสมดุลและนำตัวเกม Prototype ไปนำเสนอให้กับทาง Nintendo

ผลปรากฏว่าเหมือนทาง Nintendo จะไม่ได้คิดมากและไม่ได้มีปัญหาอะไร แถมดูเหมือนปู่นินจะชอบไอเดียนี้ด้วยซ้ำ ทำให้ Nintendo ได้ทำการไฟเขียวให้มีการพัฒนาเกมนี้ต่อไปได้ โดยให้มีการพัฒนาเกมนี้จนเสร็จและพร้อมวางจำหน่าย ซึ่งหลังจากทางปู่นินได้ไฟเขียวแต่ประมาณเกือบปีเดียว ตัวเกมดังกล่าวก็ได้ถูกพัฒนาจนเสร็จสิ้น โดยพวกเขาได้ใช้ชื่อว่า “Super Smash Bros.” และภาคแรกก็ได้ถูกวางจำหน่ายทั่วโลกในปี 1999 โดยตัวเกมถูกลงให้กับเครื่อง Nintendo 64

แม้ตัวเกมจะใช้เวลาพัฒนาที่สั้นมาก แต่ Super Smash Bros. ก็กลับเปิดตัวได้อย่างสวยงามทั้งในแง่คำวิจารณ์และยอดขาย โดยสามารถทำคะแนนเฉลี่ยจากสำนักรีวิวไปได้มากถึง 79/100 (Metacritic) โดยสิ่งที่เหล่าสำนักรีวิวได้ชมก็คือเรื่องของเกมการเล่นที่เหมาะมากกับการเล่นหลาย ๆ คน และเรื่องของความเป็นต้นตำรับที่ไม่ซ้ำกับเกมต่อสู้เจ้าไหน ๆ แต่ข้อเสียก็มีตรงในส่วนของ Singleplayer ที่อาจจะไม่ค่อยท้าทายมากนัก ส่วนในด้านของยอดขายก็สามารถทำยอดขายไปได้มากถึง 5 ล้านกว่าชุด และยกระดับกลายเป็นซีรี่ส์ไตเติลหลักของ Nintendo ที่มีภาคต่อหลังจากนั้นออกมาอีกถึง 4 ภาคด้วยกัน

โดยสรุปแล้ว ตำนาน Super Smash Bros. ได้เริ่มจากความอยากทำเกมต่อสู้ของ Masahiro Sakurai และคำแนะนำของคุณ Satoru Iwata จนนำไปสู่ความกล้าและบ้าบิ่นของป๋า Sakurai ที่เดินหน้าพัฒนาเกมนี้ทั้ง ๆ ที่แทบไม่มีใครรับรู้และไม่ได้รับอนุญาตจากทาง Nintendo ซี่งกว่าจะรู้ตัวอีกทีตัวเกม Prototype ก็ได้ถูกหยิบไปนำเสนอแล้ว ซึ่งตำนานบทนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดส่วนใดส่วนนึงไป โดยเฉพาะกับ Nintendo ที่หากปู่นินแกไม่ไฟเขียวให้ ตำนานนี้บทนี้ก็คงจะไม่มีให้หยิบนำมาเล่ากัน

วิวัฒนาการของ Super Smash Bros.

จากที่เราได้บอกไปในส่วนของหัวข้อที่แล้ว Super Smash Bros. ได้เดินทางมาแล้วถึง 5 ภาค ซึ่งแต่ละภาคก็ล้วนมีเรื่องราวการเดินทางและการวิวัฒนาการที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเกมการเล่น จำนวนซีรี่ส์เกมที่ถูกหยิบมาใช้ และระบบอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงจุดเด่นและสิ่งที่ถูกเพื่มเข้ามาในแต่ละภาคได้ดีมากขึ้น เราจะขอเขียนเป็นส่วน ๆ ของแต่ละภาคไปนะครับ

Super Smash Bros. (1999 – Nintendo 64)

ในภาคแรกนั้นถือว่าเป็นการเปิดตัวและเปิดตำนานของซีรี่ส์เกมนี้เลยก็ว่าได้ โดยเรื่องราวของการพัฒนาเราได้อธิบายในหัวข้อย่อยที่แล้วอย่าง “เปิดตำนาน Super Smash Bros.” เป็นที่เรียบร้อย เพราะฉะนั้ยคุณสามารถลองย้อนไปอ่านทบทวนได้ครับ

โดยในภาคแรกนั้นได้มีตัวละครให้ได้เล่นกันจำนวน 12 ตัว ได้แก่ Mario (Super Mario), Yoshi (Yoshi), Captain Falcon (F-Zero), Kirby (Kirby), Link (The Legend of Zelda), Donkey Kong (Donkey Kong), Pikachu (Pokémon), Samus (Metroid), Fox (Star Fox), Jigglypuff (Pokémon), Ness (EarthBound) และ Luigi (Super Mario)

Super Smash Bros. Melee (2002 – Nintendo GameCube)

ในเมื่อ Super Smash Bros. ภาคแรกสามารถทำยอดขายได้ดีขนาดนั้นทำให้ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะมาขัดขวางในการทำภาคต่อของซีรี่ส์เกมนี้ และเพื่อต้อนรับการมาของเจนเนอเรชั่นใหม่ในวงการเกมคอนโซลของพวกเขาอย่าง Nintendo GameCube ทำให้คุณ Masahiro Sakurai พร้อมกับเหล่าทีมงานของ HAL Laboratory ได้เรื่มการพัฒนา Super Smash Bros. ภาคต่อไป โดยใช้ชื่อว่า “Super Smash Bros. Melee” และได้ถูกนำไปเปิดตัวในงาน E3 2001

Super Smash Bros. Melee ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของภาคแรกไว้ได้อย่างครบถ้วนและมีการปรับปรุงให้สมดุลและลื่นไหลมากขึ้น โดยมาพร้อมกับคุณภาพกราฟิกที่สวยงามมากกว่า Super Smash Bros. ภาคแรกเป็นอย่างมาก และมีการเปิดตัวตัวละครใหม่มากถึง 14 ตัว โดยประกอบไปด้วย Dr.Mario (Dr.Mario), Bowser (Super Mario), Peach (Super Mario), Ganondorf (The Legend of Zelda), Zelda (The Legend of Zelda), Sheik (The Legend of Zelda), Young Link (The Legend of Zelda : Ocarina of Time), Pichu (Pokémon), Ice Climbers (Ice Climbers), Mr.Game & Watch (Game & Watch), Falco (Star Fox), Mewtwo (Pokémon), Marth (Fire Emblem) และ Roy (Fire Emblem)รวมตัวละครภาคเก่าที่กลับมาครบ เป็น 25 ตัวด้วยกันที่มีให้เล่นในภาคนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วเราเกือบจะได้เล่นตัวละครลุงงูอย่าง “Snake” จาก Metal Gear ในภาคนี้ด้วย แต่เนื่องจากป๋า Hideo Kojima ดันมาติดต่อพูดคุยเรื่องนี้ตอนที่เกมพัฒนาใกล้จะเสร็จแล้ว เราจึงอดเห็น Snake ใน Super Smash Bros. Melee ครับ

Super Smash Bros. Melee ได้ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของยอดขายและคำวิจารณ์จนถูกยกให้เป็น 1 ในภาคตำนานของซีรี่ส์เกมนี้ โดยตัวเกมสามารถทำคะแนนรีวิวเฉลี่ยไปได้มากถึง 92/100 (Metacritic) ซึ่งถือว่าเป็นคะแนนที่โหดมากสำหรับเกมต่อสู้ ส่วนด้านของยอดขายแม้ตัวเครื่อง Nintendo GameCube จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ตัวเกมกลับสามารถทำยอดขายได้มากถึง 7.01 ล้านชุด และกลายเป็นเกมที่มียอดขายอันดับ 1 ตลอดกาลของเครื่อง Nintendo GameCube ในที่สุด

Super Smash Bros. Brawl (2008 – Nintendo Wii)

จากความสำเร็จของสองภาคที่แล้ว ทำให้ซีรี่ส์เกมดังกล่าวเป็นซีรี่ส์ไตเติ้ลหลักทำเงินของ Nintendo แบบไม่ต้องสงสัย พร้อมกับภาคต่อที่ออกมาวางจำหน่ายเรื่อย ๆ จนมาถึงภาคที่สามของซีรี่ส์อย่าง “Super Smash Bros. Brawl” ที่ได้เปิดตัวในปี 2005 โดยลงให้กับเครื่อง Nintendo Wii และวางจำหน่ายทั่วโลกในปี 2008

ในภาคนี้ยังคงรักษาเกมเพลย์เดิม ๆ เอาไว้อยู่เช่นเดียวกับสองภาคแรก แต่ก็ได้เพิ่มระบบใหม่ ๆ และของเล่นใหม่ ๆ ที่ทำให้ภาคนี้มีความแตกต่างและโดดเด่นจากสองภาคที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก เพราะภาคนี้ถูกปรับให้ตัวเกมมีความ Casual มากขึ้น โดยภาคนี้ถือว่าเป็นภาคแรกที่มีการเปิดตัวระบบท่าไม้ตายอย่าง “Final Smash” และนั้นทำให้ตัวเกมเริ่มมีความสมดุลที่เพี้ยน ๆ แต่อยู่ในระดับที่ให้อภัยได้ ซึ่งอย่างไรก็ดีนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมตัวเกมภาคนี้ถึงไม่ค่อยหยิบนำมาใช้แข่งใน Esport และไปจัดแข่งกันในภาคที่แล้วอย่าง Melee มากกว่า แต่สำหรับในฝั่งของผู้เล่นทั่วไปแล้ว การมาของระบบ “Final Smash” ทำให้เกมนี้น่าสนใจและสนุกขึ้นเป็นอย่างมาก แถมภาคนี้เป็นภาคแรกที่สามารถทำการเล่นออนไลน์ได้อีกด้วย (แต่ปัจจุบันเซิร์ฟเวอร์ได้ปิดให้บริการแล้ว)

นอกจากภาคนี้จะเป็นการเปิดตัวระบบใหม่อย่าง “Final Smash” แล้ว Super Smash Bros. Brawl ยังมาพร้อมกับโหมด Singleplayer โฉมใหม่นามว่า “Subspace Emissary” ซึ่งถือว่าเป็นโหมดเนื้อเรื่องของเกมนี้เลยก็ว่าได้ หลังจากที่สองภาคก่อนหน้านี้จะมีแค่โหมดที่ให้สู้หรือทำเป้าหมายเท่านั้น แถมทีมงานก็ได้ทำเนื้อเรื่องออกมาได้โอเคเลยทีเดียว คือเนื้อเรื่องอาจจะไม่ได้ยอดเยี่ยม แต่ในเรื่องของ “ความฟิน” ที่คุณจะได้เห็นตัวละครที่คุณชอบมีบทบาทในเนื้อเรื่องที่เป็นการรวมตัวละครมากกว่า 20-30 ตัวละครมาเจอกันในเนื้อเรื่องเดียวแล้วมันคือประสบการณ์ที่ยากที่จะลืมลงอย่างแน่นอน

ซึ่งในภาคนี้ถือว่าเป็นภาคแรกที่ Nintendo ได้ไฟเขียวและต้อนรับเหล่าตัวละครจากค่ายเกม Third Party ให้มาร่วมศึก Super Smash Bros. ได้ และนั้นทำให้เราได้เห็นตัวละครจากซีรี่ส์เกมดัง ๆ ที่ไม่ใช่ของ Nintendo ออกมาโลดแล่นในภาคนี้ไม่ว่าจะเป็น Snake (Metal Gear) ที่สุดท้ายในภาคนี้ก็ได้ปรากฏตัวจนได้ และเจ้าเม่นสายฟ้าอย่าง Sonic the Hedgehog ก็ได้มาแจมด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจฟังดูน้อยกับตัวละครจาก Third Party เพียงแค่ 2 ตัว แต่นี่จะเป็นรากฐานให้กับแนวทางการหยิบตัวละครมาลงซีรี่ส์เกม Super Smash Bros. ในอนาคตอย่างแน่นอน

ส่วนตัวละครใหม่ในภาคนี้นอกจากตัวละครจากค่าย Third Party แล้ว ในฝั่งของ Nintendo ก็ได้มีการป้อนตัวละครใหม่ ๆ เพื่มเติมถึง 16 ตัว ได้แก่ Pikmin & Olimar (Pikmin), Wolf (Star Fox), King Dedede (Kirby), Meta Knight (Kirby), Diddy Kong (Donkey Kong Country), Pit (Kid Icarus), Pokémon Trainer – Charizard, Squirtle, Ivysaur (Pokémon), Lucario (Pokémon), Lucas (EarthBound), R.O.B. (Robot), Wario (WarioWare), Ike (Fire Emblem), Zero Suit Samus (Metroid) และ Toon Link (The Legend of Zelda : The Wind Waker) แต่ตัวละครจากภาคเก่า ๆ บางส่วนก็ถูกตัดออกไปในภาคนี้เช่น Pichu, Mewtwo, Roy, Dr.Mario และ Young Link

และเป็นอีกครั้งที่ Super Smash Bros. ได้ใจทั้งฝั่งผู้เล่นและฝั่งนักวิจารณ์ โดยในฝั่งของนักวิจารณ์ก็สามารถทำคะแนนเฉลี่ยไปได้สูงถึง 93/100 (Metacritic) ส่วนฝั่งของผู้เล่นแล้วก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก ถึงอาจจะมีเสียงจากนักกีฬา Esports ของ Super Smash Bros. บอกว่ามันไม่สมดุล แต่ตัวเกมกลับสามารถยอดขายได้มากถึง 13.27 ล้านชุด !! ซึ่งถือว่าเป็นยอดขายที่สูงมากสำหรับเกมต่อสู้ แต่ถึงอย่างนั้นคุณ Masahiro Sakurai ก็ได้บอกว่า “Super Smash Bros. Brawl จะเป็นภาคสุดท้ายของซีรี่ส์เกมนี้” ซึ้งนั้นทำให้แฟนเกมที่ติดตามเกมนี้มาโดยตลอดถึงกับใจหายใจคว่ำกันเลย แต่แน่นอนว่าในเมื่อเกมทำยอดขายได้ดีขนาดนี้ จะมีเหรอที่ Nintendo จะปล่อยโอกาสทำเงินเข้าบริษัทให้หลุดมือไป ??

Super Smash Bros. for Nintendo 3DS & Wii U (2014 – Nintendo 3DS, Wii U)

Super Smash Bros. ได้กลับมาอีกครั้ง โดยในภาคนี้คุณ Masahiro Sakurai จำเป็นต้องกลืนน้ำลายตัวเองเฮือกใหญ่จากที่เคยบอกว่าจะไม่มีตัวเกมภาคต่อของซีรี่ส์เกม Super Smash Bros. อีกแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ในตัวเกมภาคใหม่นั้นไม่ได้พัฒนาโดยทางทีมงาน HAL Laboratory แบบสามภาคที่ผ่านมาอีกต่อไป และทาง Nintendo ก็ได้จ้างทีมพัฒนาภายนอกอย่าง Bandai Namco ทีมงานคุณภาพที่ขึ้นชื่อเรื่องเกมต่อสู้มาอย่างยาวนาน และ Sora Ltd. ผู้ที่เคยร่วมพัฒนาผลงานก่อนหน้าของคุณ Sakurai อย่าง Kid Icarus : Uprising โดยคุณ Masahiro Sakurai ก็ยังคงทำหน้าที่ Director อยู่เช่นเดิม ซึ่งในภาคนี้ได้ใช้ชื่อภาคที่เรียกได้ว่าแค่อ่านก็รู้ได้ทันทีว่าจะลงให้กับเครื่องอะไรอย่าง “Super Smash Bros. for Nintendo 3DS and Wii U” โดยตัวเกมถูกเปิดตัวในในงาน E3 2013 และวางจำหน่ายทั่วโลกในปี 2014 (for Nintendo 3DS จะขายก่อน for Wii U ประมาณ 1-2 เดือน)

Super Smash Bros. for Nintendo 3DS and Wii U ของทั้งสองเครื่องนั้นถือว่าเป็นภาคเดียวกัน แต่ในแง่ตัวเกมนั้นถือว่าเป็นคนละเกมกัน เพราะคอนเทนต์หลาย ๆ อย่างระหว่างสองเวอร์ชั่นนี้ จะแตกต่างกันพอสมควร เช่นเรื่องของด่าน โหมดการเล่น และรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย และไม่สามารถเล่นออนไลน์ Cross-Platform มาเจอกันได้ โดยในภาคนี้ได้มีการปรับปรุงจังหวะของเกมให้มีความเป็นกึ่งกลางระหว่างความฮาร์ดคอร์ในแบบของภาค Melee และความแคชชวลในรูปแบบของภาค Brawl และนั้นทำให้ Super Smash Bros. for Nintendo 3DS & Wii U มีเกมการเล่นที่ผู้เล่นทั่วไปสามารถเข้าใจได้ง่ายแบบภาค Brawl แต่หากจะเล่นให้จริงจังและมืออาชีพแบบภาค Melee นั้นก็ยากใช่เล่นเหมือนกัน ดั่งคอนเซปต์ของเกม Nintendo ยุคหลัง ๆ อย่าง “Easy to Learn, Hard to Pro” หรือก้คือ “มันง่ายที่จะเรียนรู้ แต่ยากที่จะทำได้แบบมืออาชีพ” นั้นเอง

ในภาคนี้ระบบออนไลน์จะถูกปรับปรุงให้เอื้อต่อผู้เล่นหลาย ๆ กลุ่มมากยิ่งขึ้น คุณจะสามารถปรับแต่งกฏการเล่นหรือเลือกสายการเล่นได้ เช่นหากคุณจะเล่นเอาสนุกหรือเฮฮา คุณอาจจะไปเล่นในสายของ “For Fun” แต่หากคุณจะเล่นแบบจริงจังแบบไม่มีของจุกจิก เน้นต่อสู้กันเองแบบที่แข่งกันในงาน Esports ต่าง ๆ คุณก็อาจจะไปเล่นในสายของ “For Glory” ซึ่งทั้งสองสายนั้นให้ประสบการณ์การเล่นที่แตกต่างเป็นอย่างมาก

ส่วนในฝั่งของโหมดเล่นคนเดียวหรือ Singleplayer นั้น น่าเสียดายที่ในภาคไม่มีโหมดเนื้อเรื่องอย่าง Subspace Emissary ให้เล่นกัน แต่อย่างไรก็ดี Classic Mode ก็ยังคงอยู่ แถมยังถูกปรับปรุงให้มีความท้าทายและความยากที่มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งนอกจากนี้แล้วแต่ละแพลตฟอร์มจะมี “โหมดพิเศษ” ที่ไม่เหมือนกันอีกด้วย อย่าง Super Smash Bros. for Nintendo 3DS จะมีโหมด “Smash Run” ให้เล่น โดยคุณจะถูกโยนในเขาวงกตแห่งนึงที่มีมอนสเตอร์และไอเทมเสริมพลังให้เก็บโดยมีการจำกัดเวลาเอาไว้ ซึ่งเป้าหมายก็คือการเก็บพลังให้ได้มากที่สุดก่อนเวลาจะหมด และเมื่อเวลาหมดเราถูกโยนให้ไปต่อสู้กับศัตรู โดยเราจะนำพลังที่เราเก็บได้มาเป็นค่าสเตตัสช่วยในการต่อสู้ตอนจบนั้นเอง ส่วนฝั่งของ Super Smash Bros. for Wii U จะมีโหมด “Smash Tour” ให้เล่น รูปแบบจะเป็นแนวเกมกระดาน ให้นึกถึง Mario Party ที่เปลี่ยนมินิเกมกลายเป็นการต่อสู้ ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนแล้วคิดว่า Smash Run เล่นสนุกกว่า Smash Tour เพราะ Smash Run มันใช้เวลาเล่นที่สั้นกว่าและค่อนข้างจะสนุกกว่า

ซึ่งในภาคนี้ได้มีการเพิ่มตัวละครใหม่มามากถึง 21 ตัวเลยทีเดียว โดยประกอบไปด้วย Villager (Animal Crossing), Rosalina & Luma (Super Mario Galaxy), Shulk (Xenoblade Chronicles), Corrin (Fire Emblem), Lucina (Fire Emblem), Robin (Fire Emblem), Pac-Man (Pac-Man), Rockman (Rockman), Cloud (Final Fantasy), Ryu (Street Fighter), Bayonetta (Bayonetta), Palutena (Kid Icarus), Dark Pit (Kid Icarus), Bowser Jr. (Super Mario), Duck Hunt (Duck Hunt), Greninja (Pokémon), Little Mac (Punch-Out), Wii Fit Trainer (Wii Fit), Mii Brawler (Mii), Mii Swordfighter (Mii) และ Mii Gunner (Mii) โดยในภาคนี้ได้นำตัวละคร Mewtwo, Dr.Mario กลับมาอีกครั้ง แต่ก็ได้มีตัวละครที่ถูกเอาออกเช่น Snake, Ice Climbers, Wolf, Pokémon Trainer (Squirtle, Ivysaur) ซึ่งจริง ๆ แล้วในภาคนี้จะมี Tharja (Fire Emblem) และ Takamaru (Mysterious of Murasame Castle) ให้เล่นด้วย แต่ก็ถูกนำออกไปตั้งแต่ตอนพัฒนาแล้ว

Super Smash Bros. for Nintendo 3DS & Wii U ยังควเป็นเกมที่ประสบความสำเร็จในแง่ของยอดขายและคำวิจารณ์ โดยในฝั่งของคำวิจารณ์ก็สามารถทำคะแนนเฉลี่ย (อ้างอิงจาก Metacritic) ไปได้มากถึง 85/100 สำหรับ Nintendo 3DS และ 92/100 สำหรับ Wii U ส่วนทางฝั่งยอดขายนั้นสามารถทำยอดขายรวมสองเวอร์ชั่นได้เกือบถึง 15 ล้านชุด โดยประกอบไปด้วย Nintendo 3DS ที่ขายได้มากถึง 9.3 ล้านชุด และ Wii U ที่ขายได้มากถึง 5.34 ล้านชุด เรียกได้ว่าการกลืนน้ำลายของป๋า Sakurai ในครั้งนี้ถือว่ากำไรเห็น ๆ แต่เจ้าตัวก็ยังคงย้ำประโยคเดิมกับเกมภาคใหม่นี้ว่า “Super Smash Bros. for Nintendo 3DS and Wii U จะเป็นภาคสุดท้าย” ซึ่งถึงป๋า Sakurai จะพูดแบบนั้นอีกกี่ภาค แต่สุดท้ายพี่แกก็….

Super Smash Bros. Ultimate (2018 – Nintendo Switch)

นั่นแหละครับ สุดท้ายภาคใหม่ของ Super Smash Bros. ก็ได้ถูกเปิดตัวจนได้ โดยเพิ่งเปิดตัวไปตอนเมื่อต้นปีในงานถ่ายทอดสดขายตรงอย่าง Nintendo Direct นี่เอง ซึ่งภาคนี้ก็ได้ทีมพัฒนาจากภาคที่แล้วอย่าง Bandai Namco และ Sora Ltd. มารับผิดชอบในการพัฒนาอีกครั้ง โดยในภาคนี้จะวางจำหน่ายในวันที่ 7 ธันวาคม 2018 หรืออีกประมาณเดือนกว่า ๆ เท่านั้น และลงให้กับเครื่อง Nintendo Switch

ข้อมูลของภาคนี้ได้ถูกเปิดเผยออกมาพอสมควร หรือเรียกได้ว่าอาจจะเยอะจนเลี่ยนกันไปเลย หลัก ๆ ที่น่าสนใจก็คือตัวเกมได้เพิ่มระบบใหม่ ๆ และฟีเจอร์ใหม่ ๆ สำหรับเหล่า Competitive Players เข้ามาเพียบ พร้อมกับการกลับมาของตัวละครทุกตัวและด่านทุกด่านที่เคยมีหรือมีในประวัติศาสตร์ Super Smash Bros. เรียกได้ว่าจัดหนักจัดเต็มแบบไม่เคยทำในภาคไหนมาก่อน นอกจากนี้แล้วยังมีตัวละครใหม่ได้ถูกเปิดตัวมาถึง 9 ตัว (ณ ตอนนี้) โดยประกอบไปด้วย Ridley (Metroid), Isabelle (Animal Crossing), Dark Samus (Metroid), Chrom (Fire Emblem), King K. Rool (Donkey Kong), Daisy (Super Mario), Simon (Castlevania), Richler (Castlevania) และ Inkling (Splatoon) ซึ่งรายละเอียดของภาคนี้ที่ยังไม่เปิดเผยก็น่าจะยังมีอีกเยอะ ซึ่งเราต้องคงรอดูและรอเล่นในตัวเกมเต็มของ Super Smash Bros. Ultimate ที่จะขายในสิ้นปีนี้

และนี่คือเรื่องราวของการเดินทางตลอดเกือบ 20 ปีของซีรี่ส์เกมต่อสู้ระดับตำนานอย่าง Super Smash Bros. ที่ได้สร้างทั้งความสนุก ความบันเทิง และโมเมนต์ดี ๆ ให้กับวงการเกมต่อสู้มาอย่างยาวนาน ซึ่งไม่ว่าวงการเกมต่อสู้จะซบเซาหรือเฟื่องฟูขนาดไหน Super Smash Bros. ก็ยังคงประสบความสำเร็จในแง่ของคำวิจารณ์สุดเทพและยอดขายสุดโหดมาโดยตลอด ซึ่งสำหรับใครที่ต้องการที่จะเข้าสู่สังเวียนเกมต่อสู้ที่มีการครอสโอเวอร์ที่ทะเยอทะยานที่สุดในวงการเกม หรือจะต้องการทบทวนความสนุกและความมันส์อีกครััง เรามีนัดกันในวันที่ 7 ธันวาคมนี้นะครับ

BabeElena

Back to top