หลังจากที่เราได้พูดถึงเกมยิงปืนบนอาร์เคดยอดนิยมอย่าง The House of The Dead และ Time Crisis ไปแล้ว เราจะลืมอีกเกมหนึ่งไปไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นเกมแรกที่ใช้กราฟฟิกแบบสามมิติในเกมแนวยิงปืน และก็เป็นต้นตำรับให้กับเกมอื่น ๆ ดำเนินสืบมา ซึ่งเกมนั้นก็คือ Virtua Cop นั้นเองครับ
ในยุคปี 1994 -1995 ถือเป็นยุคตื่นกราฟฟิกแบบสามมิติอย่างมาก หลายค่ายเกมพยายามผลักดันให้มีเกมสามมิติแบบโพลิก้อนออกมามากขึ้นเพราะถือว่าเป็นการโชว์ศักยภาพการพัฒนาเกมว่าค่ายเกมเปิดรับเทคโนโลยีใหม่และนำมาพัฒนาได้ดีแค่ไหน และสำหรับเกมยิงปืนที่เมื่อก่อนนั้นจะมีกราฟฟิกแบบสองมิติหรือจับภาพ Motion Capture มาจากการถ่ายตัวคนจริงมาใส่ในเกม เช่นเกม Lethal Enforcer ของ Konami เป็นต้น และก็มาในมุมมองแบบเดิม ๆ ไม่มีลูกเล่นมากเท่าใดนัก โดยส่วนใหญ่เกมยิงปืนในยุคนั้นจะเป็นการเลื่อนฉากและตัดฉากใหม่ แล้วใส่ศัตรูไปเยอะ ๆ ให้ยิงพร้อม ๆ กันในคราวเดียวแทน การสร้างความแตกต่างเดียวของเกมก็คือธีมในแบบต่าง ๆ เช่นคาวบอย ตำรวจยิงผู้ร้าย หรือลุยยิงเอเลี่ยน ความชัดลึกและการตัดมุมกล้องจะยังไม่ชัดเจนหรือสวยงามนัก
แต่ Virtua Cop ได้มาเปลี่ยนแปลงตรงจุดนี้ โดยการเป็นเกมยิงปืนแบบสามมิติเกมแรกของโลก และสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ให้กับวงการเกมอีกหนึ่งครั้ง
Virtua Cop พัฒนาโดยทีม AM2 ที่นำโดยคุณ Yu Suzuki นักพัฒนาเกมมือฉมังของ Sega ที่ก่อนหน้านี้มีผลงานอย่าง Virtua Fighter เกมต่อสู้สามมิติเกมแรกของโลกที่เรียกเสียงฮือฮามาแก่เหล่าเกมเมอร์มาแล้ว หรือ Outrun เกมซิ่งรถ Ferrari แสนสนุกที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และนี่ก็เป็นการพัฒนาเกมยิงปืนแบบสามมิติเกมแรกของพวกเขา โจทย์ที่หัวหน้าทีมพัฒนาอย่างคุณ Takashi Osono วางไว้ก็คือการสร้างเกมยิงปืนที่มีคุณภาพสำหรับอาร์เคด และกราฟฟิกคือคีย์หลักที่ทีมงานวางไว้ว่าจะต้องพัฒนาให้ให้เห็นชัดแบบก้าวกระโดดให้ได้
สิ่งที่ทำให้ Virtua Cop แตกต่างจากเกมยิงปืนทั่วไปในยุคนั้นนอกจากกราฟฟิกแบบสามมิติก็คือการวางจังหวะของศัตรูที่แตกต่างจากเกมยิงปืนแบบสองมิติในยุคนั้น จากที่ปกติเกมจะใส่ศัตรูลงไปในจุด ๆ หนึ่งของฉาก กลายเป็นการตัดมุมกล้องให้เราเห็นศัตรูและมีเป้าขึ้นมาบอกว่าศัตรูกำลังจะยิงเรา ทำให้ยิงได้ง่ายขึ้น และด้วยการที่ตัวเกมเป็นสามมิติเต็มรูปแบบ ทีมพัฒนาจึงสามารถใส่ลูกเล่นการหมุนฉากให้เห็นได้รอบทิศ และใส่ศัตรูเข้ามาในจังหวะที่ไม่เคยทำได้ในแบบสองมิติเข้ามาได้ด้วย ซึ่งทีมงานสามารถจัดรูปแบบการยิงให้มีความหลากหลายมากกว่าเกมยิงปืนแบบสองมิติปกติได้มากขึ้น เช่นการจัดท่ายิงแบบเป็นขบวนและจะใส่ตัวประกันแทรกเข้ามาได้แบบเป็นธรรมชาติมากขึ้น (แม้บางครั้งตัวประกันจะโผล่มาในจังหวะที่ไม่น่าจะโผล่มาให้เรายิงในชีวิตจริง ๆ ก็ตาม)
และด้วยความแปลกใหม่นี้ทำให้ตัวเกมได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วแบบไม่ต้องสืบ ซึ่งก่อนหน้านี้ในงาน Tokyo Toy Show เมื่อเดือนมิถุนายนปี 1994 ทาง Sega ก็นำเกมเวอร์ชั่นแรกสุดที่ใช้เครื่อง Sega Saturn เป็นพื้นฐานมาโชว์ให้ทุกคนได้ดู และได้รับเสียงตอบรับที่ดีเยี่ยมเนื่องจากมันเป็นอะไรที่แปลกใหม่มากในสมัยนั้น กับเกมยิงปืนที่มีกราฟฟิกที่ก้าวกระโดดกว่าเดิมมากแถมมีระบบการเล่นที่เข้าใจง่ายแต่ท้าทายอย่างสมเหตุสมผลมากขึ้น และบอสประจำฉากที่แม้จะดูคล้ายกับเกมอื่น ๆ แต่ก็มีชีวิตชีวามากขึ้นเมื่อเทียบกับเกมอื่น ๆ ในตอนนั้นอย่างยิ่ง
แน่นอนว่าหลังจากการเปิดให้บริการในเดือนกันยายนปี 1994 บนระบบเกมตู้มันก็ได้รับความนิยมทันที ด้วยกราฟฟิกที่สวยงามล้ำหน้ากว่าเกมอื่น ๆ เฟรมเรทที่ลื่นไหล กับความท้าทายแบบใหม่ที่แตกต่างจากเกมยิงปืนของค่ายอื่น ๆ ในเวลานั้น Sega แหวกตัวเองออกมาอยู่ในแถวหน้าสุดทันที และแน่นอนว่า Virtua Cop ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในบ้านเรา ทุกห้างสรรพสินค้าที่มีร้านตู้เกมตั้งอยู่ต้องมีเกมนี้เป็นเกมบังคับ เพราะการันตีว่าจะมีคนเล่นเพียบแน่นอนทั้งตู้เล็กตู้ใหญ่(ตู้ใหญ่ที่ผู้เขียนเคยเห็นในประเทศไทยนั้นจะอยู่ที่ห้าง World Trade Center หรือ CTW ในปัจจุบัน ส่วนห้างอื่น ๆ ก็จะเป็นตู้ขนาดเล็กลดหลั่นกันไปเป็นส่วนมาก)
ด้วยความนิยมนี่เองทำให้ไม่แปลกที่ตัวเกมจะมีภาคต่อตามมา ในปี 1995 ภาคต่อของเกมก็ตามมาพร้อมกับภาพที่สวยงามยิ่งกว่าเดิม การวางจุดยิงของศัตรูทำได้หลากหลายและท้าทายขึ้น ซึ่งในภาคนี้ได้เพิ่มระบบทางเลือกของแต่ละฉากให้ผู้เล่นได้ท้าทายฝีมือและเพื่อความแปลกใหม่ เพราะในด่านนึงจะสามารถเล่นได้สองทาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกปรับใช้ในเกมอย่าง The House of The Dead ในภายหลังให้มีความลื่นไหลและเป็นธรรมชาติมากขึ้นจากการกระทำของผู้เล่นเอง และภาคนี้ก็ยังได้รับความนิยมจากผู้เล่นอยู่เช่นเดิม
และสำหรับภาคสุดท้ายคือภาคสามที่เปิดให้เล่นเฉพาะบนระบบอาร์เคดนั้นออกมาในปี 2003 ซึ่งในภาคนี้มีความก้าวกระโดดอย่างมากในทุก ๆ ด้านทั้งกราฟฟิก ระบบการเล่น และความยาก เพราะในภาคนี้ได้ใส่ระบบ Bullet Time หน่วงเวลาให้ช้าลงเข้ามาด้วย ทำให้ศัตรูที่เราต้องต่อกรด้วยในแต่ละฉากนั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเพื่อที่จะให้เราต้องใช้ระบบ Bullet Time ช่วยเคลียร์ในหลายจุด และบอสก็มีหลายตัวทั้งบอสหลักและบอสลับที่จะโผล่มาเมื่อเคลียร์ Quick Time Event ในเกมได้ ซึ่งภาคนี้ก็ถือว่าทำออกมาได้ดีแต่น่าเสียดายที่ไม่มีการพอร์ตลงเครื่องคอนโซลหรือ PC เหมือนภาคอื่น ๆ
ปัจจุบันนี้ซีรีส์ Virtua Cop ก็หายไปตามกาลเวลาและไม่ได้รับการสานต่อมานานมากตั้งแต่ปี 2003 แต่ตัวเกมก็ทึ้งมรดกไว้ให้กับเกมแนวยิงปืน Rail Shooting ไว้อย่างมากมาย สื่อต่าง ๆ ในสมัยนั้นยกให้ Virtua Cop เป็นเกมยิงปืนระดับตำนานที่สุดเกมหนึ่งเทียบเท่า The House of The Dead และ Time Crisis ถือเป็นเกมแห่งความทรงจำอีกหนึ่งเกมที่สร้างสีสันและที่ทางให้กับร้านเกมตู้ในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดีที่สุดและมอบความทรงจำดี ๆ ให้กับผู้เล่นเกมตู้ในยุคนั้นอีกหนึ่งเกมครับ
Fun Fact: อย่างที่ทราบกันดีว่าเกม Virtua Cop ภาคแรกและภาคสองนั้นได้รับการพอร์ทลงเครื่องคอนโซลและ PC หลากหลายระบบ ซึ่งตัวเกมภาคแรกมีแผนที่จะถูกพอร์ทลงเครื่องเกมมือถืออย่าง Nokia N Gage ด้วย แต่ก็ถูกยกเลิกไปเนื่องจากทาง Sega เห็นว่าตัวเครื่องมีข้อจำกัดหลายอย่างทำให้ควบคุมได้ลำบากจนเกินไปครับ