BY StolenHeart
3 Dec 18 11:50 am

เรื่องของรูปแบบการแข่งขันในเกมต่อสู้

33 Views

ในขณะที่ผู้เขียนกำลังสาละวนอยู่กับบทความอยู่นั้น ตอนนี้ทุกคนก็น่าจะกำลังสนุกสนานกับ Tekken World Tour รอบสุดท้ายที่กำลังจะเริ่มขึ้น (และคาดว่าหลังจากบทความนี้ลงเว็บ เราก็น่าจะรู้ผลกันแล้ว) ซึ่งคนที่ติดตามการแข่งขันเกมต่อสู้มาตลอดน่าจะคุ้นเคยกับ Format การแข่งขันในเกมประเภทนี้กันเป็นอย่างดี แต่สำหรับคนที่ไม่ทราบ วันนี้ผู้เขียนจะมาแนะนำให้ทุกคนรู้จักกันว่ารูปแบบการแข่งขันในเกมต่อสู้นั้นเป็นอย่างไรครับ

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 – 20 ปีก่อน การแข่งขันกีฬาส่วนใหญ่มักจะใช้ระบบลีคหรือทัวร์นาเมนต์ ระบบลีคที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างเช่นฟุตบอล Premier League ที่ทุกทีมจะพบกันหมดแบบเหย้า-เยือน หรือระบบทัวร์นาเมนต์จะเป็นแบบ Knockout หรือ Single Eliminate แพ้คัดออกทันที ซึ่งการแข่งขันวิดีโอเกมในยุคก่อนก็ยึดแบบอย่างมาจากการแข่งขันกีฬาที่มีกฎลักษณะเดียวกันนี้ด้วย แต่เนื่องจากเวลาที่จำกัด จึงยึดการแข่งขันแบบทัวร์นาเมนต์เป็นส่วนมากแทน

แล้วทีนี้ปัญหาก็ตามมา เพราะหลายครั้งในการแข่งขันมักจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดหลาย ๆ อย่างขึ้นจนกลายเป็นว่าผลการแข่งขันหลายงานนั้นค่อนข้างค้านสายตา เป็นผลให้ผู้แพ้และคนดูเกิดความกังขาขึ้น ว่าผู้ชนะในงานนั้นชนะมาได้ด้วยฝีมือจริง ๆ หรือเปล่า โดยเฉพาะการเจอกับตัวละครหรือรูปแบบการเล่นที่ไม่คุ้นเคยด้วย ทำให้เกิดการพ่ายแพ้ไปแบบงง ๆ กันหลายครั้ง และด้วยปัญญาของมนุษย์เรา จึงมีผู้คิดคิดค้นรูปแบบการแข่งขันแบบใหม่ขึ้นมา นั่นก็คือการแข่งขันแบบ Double Eliminate นั่นเอง

แล้วการดำเนินการแข่งขันแบบ Double Eliminate นี้เป็นอย่างไร? โดยหลักแล้วการดำเนินการแข่งขันแบบ Double นี้จะเหมือนกับการแข่งขันแบบ Single แต่จะมีการแบ่งสายออกมาเป็น Winner Bracket และ Loser Bracket ซึ่งผู้ที่แพ้เป็นครั้งแรกนั้นจะยังมีโอกาสแก้ตัวอีกครั้งหนึ่ง โดยต้องไต่ขึ้นมาจากสาย Loser Bracket ซึ่งถ้าแพ้ในสายนี้ก็จะถือว่าตกรอบไปเลย และผู้เล่นที่หล่นมาในสาย Loser นี้จะต้องแข่งมากกว่าผู้เล่นที่อยู่บนสาย Winner อยู่พอสมควร แม้จะยังมีโอกาสอยู่แต่ก็จะเหนื่อยแรงในการผลักตัวเองขึ้นมาจากสายล่างขึ้นไปมากขึ้นตามไปด้วย

ซึ่งวิธีการแข่งขันแบบ Double Eliminate นี้ช่วยลดเรื่องของผลการแข่งขันที่ค้านสายตาได้ เพราะผู้เล่นมีโอกาสที่จะแก้ตัวขึ้นมาจากสายล่างได้อีกครั้ง ไม่ใช่แพ้แล้วแพ้เลย แต่ก็ต้องเหนื่อยแรงมากขึ้นในการไต่ขึ้นมาตามที่บอกไป และในรอบชิงชนะเลิศหรือ Grand Final ก็จำเป็นต้องชนะคู่ต่อสู้ที่มาจากฝั่ง Winner Bracket ให้ได้ถึงสองรอบ กล่าวง่าย ๆ คือ ถ้าการแข่งขันในรอบ Final นั้นต้องเล่นแบบ Best of 5 หรือชนะ 3 ใน 5 เกม ผู้เล่นจากฝั่ง Loser นั้นก็ต้องเอาชนะคู่แข่งให้ได้ถึง 6 เกมเลยทีเดียว

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการแข่งแบบ Double Eliminate นี้จะไม่มีข้อเสียเลย สิ่งที่เห็นได้ชัดอย่างแรกคือเวลาที่ใช้จัดการแข่งขันนั้นจะมากกว่าแบบ Single Eliminate พอสมควร ยิ่งผู้แข่งขันเยอะจะยิ่งใช้เวลามากขึ้นตามไปด้วย แต่ก็สามารถแก้ปัญหาด้วยการแบ่ง Pool กลุ่มผู้เล่นแล้วแข่งพร้อมกันทีละหลาย ๆ คู่จะประหยัดเวลาลงไปมาก แต่ถ้าเป็นงานระยะสั้นจบในวันเดียว และไม่ได้แข่งขันแบบเป็นทางการมากนัก ก็จะนิยมใช้การแข่งแบบ Single Eliminate แทน

นอกเหนือจากการใช้ Format Double Eliminate แล้ว ยังมีอีกหนึ่งแบบก็คือการแข่งแบบ Round Robin โดยจะแบ่งผู้เล่นออกเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะแข่งกันแบบพบกันหมด ผู้เล่นคนไหนมีคะแนนได้เสียดีกว่าก็จะผ่านเข้ารอบไปตัดสินกันในรูปแบบอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งการแข่งแบบ Round Robin นี้เริ่มถูกนำมาใช้งานในการแข่งรอบตัดสินอย่าง Tekken World Tour, Eleague หรืองานอื่น ๆ ที่ต้องหาเฟ้นหาคนที่เก่งที่สุดจริง ๆ แต่การแข่งแบบนี้จะใช้เวลาในการแข่งนานกว่า Double Eliminate แบบปกติพอสมควรเช่นกัน จึงนิยมใช้ในการแข่งขันใหญ่รอบสุดท้ายหรือกรณีพิเศษจริง ๆ

จะเห็นได้ว่ารูปแบบการแข่งขันในเกมแนวต่อสู้นั้นจะค่อนข้างแตกต่างจากเกมอื่น ๆ เพราะใช้เวลาในแต่ละรอบไม่นาน แต่ก็ต้องเผื่อโอกาสให้ผู้แพ้ได้แก้ตัวด้วย ซึ่งนั่นทำให้ความเข้มข้นในรอบ Grand Final ทวีคูณขึ้นมาอีกเพราะผู้แพ้จะต้องดึงศักยภาพของตัวเองออกมาเพื่อคว้าตำแหน่งแชมป์ และผู้ชนะก็ต้องรีบจบให้ไวที่สุดเพื่อรับรางวัลและเกียรติยศในงานนั้นไป ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้กันว่าบรรยากาศในตอนนั้นมันจะปลุกเร้าทั้งคนดูคนแข่งขนาดไหน เป็นเสน่ห์ที่น่าหลงใหลของการแข่งขันอย่างหนึ่งที่ลืมไม่ลงทีเดียวครับ

Putinart Wongprajan

เค้ก - Content Writer

Back to top