BY TheStarrySky
25 Nov 20 9:37 am

ใครรวย ? ที่สุดในวงการ Esports ในมุมมองของเกม, ทีม, และผู้เล่น

627 Views

Esports อย่างที่เรารู้กันว่าตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องแค่การเล่นเกมแข่งกันอีกต่อไป มันคืออุตสาหกรรมมูลค่าหลายพันล้านที่เกี่ยวข้องกับผู้คนมากมาย มีเกม, การแข่งขัน และผู้เล่นหน้าใหม่ปรากฏตัวในวงการเพิ่มขึ้นทุกวัน

แม้ขนาดของมันในตอนนี้อาจจะยังไม่ใหญ่เท่าการแข่งขันกีฬาจริง ๆ ที่พัฒนามาแล้วหลายสิบปี แต่ด้วยแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องนี้ก็เชื่อว่าวันหนึ่ง Esports จะกลายเป็นเรื่องปรกติในชีวิตประจำวัน ไม่ต่างกับการเปิดทีวีขึ้นมาดูบอล, เทนนิส, กอล์ฟ, หรือกีฬาอื่น ๆ ที่เราชื่นชอบอย่างแน่นอน

เพราะฉะนั้นแล้ว หากเรามองว่า Esports ก็คืออาชีพชนิดหนึ่ง สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ใครกันแน่ที่ “ประสบความสำเร็จ” ที่สุดในอาชีพนี้ โดยอาจจะมองที่ความสำเร็จที่คว้าได้ หรือมองที่รายได้ตลอดชีพของพวกเขา วันนี้เราจะพาไปดูกันว่า ในโลก Esports ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีใครบ้างที่ทั้งโลกยอมรับว่าเป็นผู้ที่ยืนหนึ่งในเหล่าผู้เล่นนับพันทั่วโลก แล้วอนาคตของการแข่งเกมจะเป็นอย่างไรต่อไปเมื่อมองในเรื่อง “เงิน” ที่ผู้เข้าแข่งขันจะได้รับกันแล้ว เชิญชมไปพร้อม ๆ กัน

Dota 2 และ N0tail

เกมและผู้เล่นที่ทำรายได้สูงที่สุดของโลกจากการแข่งขัน 

Johan “N0tail” Sundstein ผู้เล่นที่ทำรายได้สูงที่สุดตามการบันทึกอย่างเป็นทางการ

เริ่มแรก เราก็ควรเริ่มมองหาจากสิ่งที่มีการบันทึกอย่างเป็นทางการกันก่อน โดยในจุดนี้ หลาย ๆ คนน่าจะพอทราบกันอยู่แล้วว่า “พ่อใหญ่” Johan “N0tail” Sundstein ผู้เล่น Dota 2 จากทีม OG คือนักกีฬา Espodrts ที่ทำเงินรางวัลจากการแข่งขันตลอดชีพได้สูงที่สุดในโลก สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ เขาสามารถกระโจนเข้าสู่สถิตินี้ได้จากการแข่งรายการใหญ่เพียง 2 ราย ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น

ด้วยสถิติชนะการแข่งระดับ Major ของ Valve 4 รายการ ซึ่งจ่ายให้เขาราว 200,000 ดอลลาร์ ต่อครั้ง และรายการใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง TI 2 ปีติด คือ TI 2018 ที่ได้ไป 2.2 ล้านดอลลาร์ และ TI 2019 อีกราว 3 ล้านดอลลาร์ เมื่อรวมกับการแข่งเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกจำนวนมากที่ชนะมาได้ ปัจจุบันพ่อใหญ่ N0tial มีรายได้ตลอดชีพราว 6,9 ล้านดอลลาร์ (200 ล้านบาท) จากการแข่งขัน 123 รายการ ซึ่งเป็นรายได้จากเกม Dota 2 ถึง 99.83% โดยที่เหลืออีกเล็กน้อยเป็นรายได้จากเกม Heroes of Newerth อันเป็นช่วงเริ่มต้นอาชีพ Esports ของเขา

นอกจาก N0tail แล้ว สมาชิกทีม OG ทุกคนก็ล้วนเป็น Top 5 ของผู้เล่นที่ทำเงินได้มากที่สุดของโลกทั้งสิ้น ได้แก่

  1. Johan “N0tail” Sundstein ($6.9 ล้านดอลลาร์)
  2. Jesse “JerAx” Vainikka ($6.5 ล้านดอลลาร์)
  3. Anathan “ana” Pham ($6.0 ล้านดอลลาร์)
  4. Sebastian “Ceb” Debs ($5.5 ล้านดอลลาร์)
  5. Topias Miikka “Topson” Taavitsainen ($5.5 ล้านดอลลาร์)

N0tail (กลาง) และสมาชิกทีม OG ชุดแชมป์ TI สองสมัย ทั้ง 5 คนคือ 5 อันดับของผู้เล่นที่ทำเงินจากการแข่งได้มากที่สุดในโลก

สำหรับ Dota 2 ถือว่าเป็นเกมที่มีการแข่งขันที่มี Prize pool สูงที่สุดชนิดที่ไม่อาจมีเกมไหนเทียบได้ โดยการแข่งขันใหญ่ที่สุดอย่าง The International (TI) ถือเป็นรายการที่มีเงินรางวัลสูงที่สุดในโลก และสามารถรักษาสถิตินี้มาได้แล้วกว่า 5 ปีติด โดยเป็นผลจากกลยุทธ์การขาย Battle pass ที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นมีส่วนร่วมกับเงินรางวัลในแต่ละปีได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ Valve ผู้พัฒนา Dota2 ใช้มาตั้งแต่ปี 2012 และก็สามารถรวบรวมเงินรางวัลเป็นสถิติโลกได้หลายครั้งตลอดมา

โปร Dota 2 ทั้งหลายคือนักแข่งที่รวยที่สุดในโลกจริงหรือไม่ ?

คำถามสำคัญที่หลาย ๆ คนน่าจะคาใจอยู่ นั่นคือเหล่าผู้เล่น Dota 2 อย่างทีม OG นั้นเป็นกลุ่มคนที่ทำรายได้สูงที่สุดในวงการ Esports จริงหรือไม่ ? เพราะหากเปิดดูสถิติผู้เล่นที่ทำเงินรางวัลสูงที่สุดในโลก 100 อันดับแรกแล้ว มากกว่า 70% ล้วนเป็นผู้เล่นจาก Dota 2 ทั้งสิ้น

เนื่องจากเงินรายได้ต่าง ๆ ในความเป็นจริงแล้วถือว่ามีการเปิดเผยต่อสาธารณะน้อยมาก เช่นเงินที่ได้รับจากการเปลี่ยนมือระหว่างทีมและผู้เล่น, เงินเดือนจากสปอนเซอร์ เป็นต้น แต่ละทีมยังมีความแตกต่างกันอีกหลายจุดที่จะส่งผลกับเงินที่แต่ละคนจะได้รับ ทั้งจำนวนผู้เล่นชื่อดังฝีมือดีที่ได้รับเงินเดือนมากเป็นพิเศษ, โบนัสการเซ็นสัญญาสิ่งจูงใจ หรือแม้กระทั่งปัจจัยที่ส่งผลต่อมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

25 ผู้เล่นที่ทำรายได้สูงที่สุดในโลกจากการแข่งขัน จะเห็นได้ว่ามีถึง 24 คนที่เป็นผู้เล่น Dota 2 (esportsearnings.com)

win.gg ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่กล่าวมานั้นทำให้ยากที่จะบอกว่าใครมีความมั่งคั่งมากกว่ากันในวงการ Esports ยกตัวอย่างกรณีของ Dota 2 รายได้ของนักแข่งส่วนใหญ่จะมาจากการแข่งขัน ส่วนเงินเดือนในทีมของพวกเขาจะไม่แน่นอนเท่าไหร่อันเป็นผลมาจากการทีมเกมไม่มีระบบลีกขนาดใหญ่เหมือนเกมอื่น ๆ (เช่น League of Legends) ลักษณะของ Dota 2 จึงเป็นเกมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับการแข่งได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นทีมหน้าใหม่ที่ไม่มีแม้กระทั่งสปอนเซอร์ก็ตาม แลกกับความมั่นคงของพวกเขาก็จะขึ้นอยู่กับผลงานที่ทำได้เป็นอย่างมาก

และในส่วนของเกมอื่น ๆ ผู้เล่นมักมีรายได้หลักในฐานะนักเล่นเกมมืออาชีพ แม้บางครั้งอาจจะดูไม่สูงมากเท่าไหร่ก็ตามแต่ก็ถือว่ามีรายได้เป็นหลักแหล่งที่แน่นอน แต่สำหรับเกมที่มีการแข่งขันสูงมากอย่าง LoL มีรายงานว่าผู้เล่นบางคนได้รับเงินระดับ “เจ็ดหลัก” ในแต่ละปี จึงมีความเป็นไปได้ว่าหากคิดคำนวณอย่างถี่ถ้วนแล้ว ก็เป็นไปได้ที่ผู้เล่น LoL หลายคนอาจมีรายได้รวมมากกว่าผู้เล่น Dota 2

LoL และ Faker

นักกีฬา Esports ที่อาจจะ ? รวยที่สุดในโลก ที่ยังอยู่ในอาชีพ

Lee “Faker” Sang-hyeok สุดยอดนักกีฬาของ LoL ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในอาชีพ

Lee “Faker” Sang-hyeok คือยอดมิดเลนตัวเก่งของ T1 เจ้าของฉายา “พระเจ้า” แห่งวงการ League of Legends แม้เงินรางวัลรวมตลอดชีพของเขาที่ราว 1.4 ล้านดอลลาร์ฯ นั้นจะดูน้อยเมื่อเทียบกับผู้เล่น Dota 2 อันดับต้น ๆ ที่ได้กล่าวไป โดยเป็นเงินที่ได้จากแชมป์โลก 3 สมัยและ LCK  9 รายการ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า Faker จะไม่มีโอกาสได้เป็นผู้มีรายได้สูงสุดตลอดกาลของบรรดาเหล่าผู้เล่น Esports แต่อย่างใด

รายได้ต่อเดือนของ Faker เป็นหัวข้อถกเถียงกันมานานแล้วของเหล่านักวิเคราะห์ว่าเขาได้รับไปเท่าไหร่กันแน่น ขณะที่ Faker และทีม T1 เองก็ไม่ได้ให้ตัวเลขที่แน่นอนออกมาเช่นกัน แต่ตัวเขาเองกลับบอกว่า เคย “ปฏิเสธข้อเสนอเงินเดือน 10 ล้านเหรียญต่อปี” จากทีมจีนที่ยื่นมาให้ รวมถึงข้อเสนอพิเศษอื่น ๆ จากทีมแถบอเมริกาเหนือที่มีมาให้เลือกอยู่ตลอดอีกด้วย

ซึ่งก็ไม่แน่ว่า Faker นั้นพูดจริงหรือไม่ แต่โดยรวมแล้วเชื่อว่าเขาน่าจะทำรายได้มากกว่าล้านดอลลาร์ในแต่ละปีอย่างแน่นอน และล่าสุดเขายังได้เซ็นต์สัญญาเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหารของทีม T1 เมื่อเขาสิ้นสุดอาชีพนักแข่งแล้ว

https://www.gamingdose.com/news/faker-%e0%b9%80%e0%b8%8b%e0%b9%87%e0%b8%99%e0%b8%aa%e0%b8%b1%e0%b8%8d%e0%b8%8d%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a-t1-%e0%b8%95%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%ad%e0%b8%b5%e0%b8%81-3-%e0%b8%9b%e0%b8%b5/?swcfpc=1

ยิ่งไปกว่านั้น Faker ยังมีแหล่งรายได้อื่น ๆ รวมถึงข้อตกลงของแบรนด์และการสนับสนุนที่ไม่ได้เกี่ยวกับ T1 ตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดของเรื่องนี้ก็คือความร่วมมือของเขากับ Lotte เพื่อให้เขาไปอยู่บนกรวยไอศกรีมชื่อดังของประเทศ รวมถึงโฆษณาใหม่ล่าสุดของ LoL: Wild Rift อีกด้วย

จากเหตุผลต่าง ๆ หลายฝ่ายจึงชื่อว่า Faker คนคงจะไม่พ้นเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดจากอาชีพ Esports เป็นแน่แท้ น่าเสียดายที่จนถึงปัจจุบันก็ไม่มีตัวเลขที่แน่นอนเกี่ยวกับความมั่งคั่งของเขา กลายเป็นปริศนาที่ทุกคนยังคงต้อง “คาดเดา” กันต่อไป

https://youtu.be/PdM-WW9PHRQ

ทำไมผู้เล่น LoL ถึงมีรายได้ไม่มากเท่า Dota 2 ? (ตามการบันทึก)

หากใครที่ติดตามวงการ Esports อยู่บ่อย ๆ ก็น่าจะพอทราบว่า ขนาด Esports ของ LoL นั้นถือว่ายิ่งใหญ่มาก ทั้งในแง่ของคนเล่นและคนดู การแข่งขัน League of Legends World Championship (Worlds) อันเป็นการแข่งที่ใหญ่ที่สุดของเกม (เทียบเท่า TI ของ Dota 2) เป็นการแข่งเกมที่มีตัวเลขเป็นสถิติยืนยันชัดเจนว่าเป็นการแข่งขันที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก แต่ในแง่ของเงินรางวัลนั้นกลับถือว่าเป็นคนละเรื่องกันเลยทีเดียว

โดยหากนับปริมาณเงินรางวัลที่ esportsearnings.com ได้รวบรวมเอาไว้ ก็จะพบว่า LoL มีตัวเลขเงินรางวัลรวมทุกทัวร์นาเมนต์อย่างเป็นทางการเพียง 81 ล้านดอลลาร์ฯ เท่านั้น เมื่อเทียบกับ 228 ล้านดอลลาร์ฯ ของ Dota 2 ในอันดับหนึ่ง, 103 ล้านฯ ของ CS:GO และ 99 ล้านดอลลาร์ฯ ของ Fortnite ในอันดับสองและสามตามลำดับ จะเห็นได้ว่าหากต้องการรวมเงินรางวัลให้มากกว่า Dota 2 ก็ต้องใช้ตัวเลขของอันดับที่ 2-4 รวมกันถึงจะมากกว่าได้ ดังนั้นหากเทียบด้วยจำนวนเงินรางวัลแล้ว Dota 2 ถือว่ายืนหนึ่งชนิดที่หาตัวจับได้ยากมาก และก็คาดว่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกนานเลยทีเดียว

จำนวนเงินรางวัลรวม, จำนวนนักแข่ง, และจำนวนการแข่งขันทั้งหมดของ 4 เกม Esports ชื่อดังของโลก

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็มีเหตุผลใหญ่ ๆ ด้วยกัน 2 ประการ คือระบบการจัดการแข่งขันของทั้งสองเกม และสองคือวิธีที่แต่ละเกมกำหนดเงินรางวัลของตน

  • อย่างแรก ระบบจัดการแข่ง Dota 2 นั้นเป็นเกมที้ไม่มีระบบลีกอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ต้น (พึ่งจะเริ่มมีในปี 2020 นี้) หรือก็คือผู้จัดการแข่งจะเป็นคนกำหนดวิธีและเงินรางวัลด้วยตนเอง (ส่วนมากจะเป็นระบบทัวร์นาเมนต์) โดยอาจมีบางส่วนที่ Valve สนับสนุนโดยตรงด้วย ซึ่งในการแข่งใหญ่ ๆ ก็จะมีเงินรางวัลไม่ต่ำกว่า 100,000 ดอลลาร์ฯ ส่วนการแข่งย่อย ๆ ขนาดเล็กก็จะมีเงินรางวัลลดหลั่นต่างกันไป
  • ส่วนการแข่งของ LoL ทาง quora.com ได้ให้ข้อมูลว่า การแข่งระดับลีกอย่างเช่น LCS ผู้เล่นจะได้รับเงินราว 12,500 ดอลลาร์ฯ ต่อการแข่ง 1 ทัวร์อย่างแน่นอน และจะได้รับมากสุดราว 50,000 ดอลลาร์ฯ หากได้อันดับ 1 ในการแข่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า Riot games นั้นจะค่อนข้างให้ความสำคัญกับนักแข่งอาชีพเป็นพิเศษ การได้รับเงินเดือนที่แน่นอนนั้นช่วยลดความกดดันและความกังวลของเหล่าผู้เล่นได้พอสมควร ไม่เหมือนกับการแข่ง TI ของ Dota 2 ที่การชนะอันดับ 1 นั้นไม่ต่างอะไรกับการหวังให้ถูกลอตเตอรี่ แม้จะได้เงินรางวัลมากแต่ความเสี่ยงก็มากเช่นกัน
  • สิ่งนี้ทำให้รายได้ของผู้เล่นทั้งสองต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทีมของ Dota 2 สามารถเป็นได้แม้กระทั่งทีมโนเนมที่พึ่งจัดกลุ่มกันมาเป็นครั้งแรก และสามารถผ่านทะลุเข้าไปใน TI ได้โดยไม่ต้องแบ่งเงินให้กับใคร ตัวเลขเงินรางวัลเหล่านี้สามารถติดตามและบันทึกได้อย่างชัดเจน ในส่วนของระบบลีกของ LoL นั้น เงินรางวัลที่ได้จากการแข่งขันยังต้องแบ่งให้หลาย ๆ ผ่ายที่เกี่ยวข้อง ทำให้เงินรางวัลที่ผู้เล่นจะได้จริง ๆ นั้นขาดความชัดเจนเป็นธรรมดา และในส่วนรายได้จากทีม/ลีก นั้นก็ไม่ได้มีการเปิดเผยละบันทึกอย่างชัดเจนอีกด้วย

ลีกต่าง ๆ ของ LoL (2020)

  • และอีกเหตุผลที่รายได้ของผู้เล่นทั้งสองเกมต่างกันเป็นอย่างมากคือ วิธีที่เกมกำหนดเงินรางวัลของตน ในส่วน Dota 2 นั้น มีระบบหนึ่งที่เรียกได้ว่าพลิกโฉมวิธีการสนับสนุนเงินรางวัลของวงการ Esports เลยก็ว่าได้ นั่นคือ “Battle Pass” ที่เป็นการขายชุดเควสที่จะมอบของรางวัลให้ผู้เล่น หลังจากนั้น Valve ผู้ให้บริการก็จะนำ 25% ของรายได้จากการขายเพื่อสมทบเป็นเงินรางวัลให้งาน TI ปีนั้น ๆ สามารถชมรายละเอียดของ Dota 2 Battle pass ได้ที่ Link ด้านล่าง

https://www.gamingdose.com/news/the-international-battle-pass-2020-%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7

  • โดยที่ Battle pass เริ่มการขายและสมทบเงินรางวัลในปี 2013 เป็นปีแรก ทำยอดไว้ที่ 2.8 ล้านดอลลาร์ฯ แต่ในปี 2014 สามารถทำยอดได้ถึง 10 ล้านดอลลาร์ฯ สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการในทันที และใน TI 2019 ปีล่าสุดที่มีการจัด ก็สามารถทำยอดเงินรางวัลได้ถึง 34 ล้านเหรียญฯ สูงที่สุดในโลกชนิดที่แทบไม่มีทางที่เกมอื่นจะเทียบได้ในตอนนั้น

ด้วยสองเหตุผลหลักนี้เอง ทำให้รายได้ของผู้เล่น Dota 2 ตามการบันทึกนั้นจึงสูงมาก ส่วนรายได้ของผู้เล่น LoL ที่มีหลายส่วนไม่มีการเปิดเผยทำให้จำนวนที่ถูกบันทึกไว้จึงมีน้อยไปด้วย อย่างที่บันทึกไว้ใน esportsearnings.com เป็นต้น

Dota 2 TI 10 ที่จะจัดขึ้นในปี 2021 กำลังจะกลายเป็นการแข่งขัน Esports ที่มีเงินรางวัลสูงที่สุดในประวัติศาสตร์

Bugha, Ninja และ Fortnite

แม้ว่า N0tail และ Faker จะเป็นผู้เล่นที่ทำรายได้สูงที่สุดจากทั้งสองเกมดัง แต่ผู้เล่นที่ได้รับเงินรางวัลจากการแข่ง “ครั้งเดียว” มากที่สุดในโลกนั้นกลับไม่ใช่พวกเขา แต่เป็น Kyle “Bugha” Giersdorf ผู้เล่นจากเกม Fortnite อายุเพียง 16 ปี (ในขณะนั้น) ที่ทำรายได้ไป 3 ล้านดอลลาร์ฯ จากการชนะ Fortnite World Cup Finals 2019 เพียงรายการเดียว ทำให้เขาขึ้นสู่อันดับที่ 12 ของผู้เล่นที่ทำเงินจากการแข่งขันมากที่สุดทันที โดยที่ N0tail สร้างรายได้ 6 ล้านดอลลาร์ฯ จากการแข่งใหญ่ 2 รายการ ส่วน Faker ทำรายได้ 1.4 ล้านฯ จากการแข่งรายการใหญ่น้อยมากกว่า 10 ครั้งด้วยกัน

Kyle “Bugha” Giersdorf ได้แชมป์ Fortnite World Cup Finals 2019 ในขณะที่มีอายุ 16 ปี

อย่างไรก็ตาม ต่างจาก Notail และ Faker ตรงที่เขาอาจไม่ใช่ผู้ที่ทำเงินได้มากที่สุดจากเกมที่เขาเล่น แต่สตรีมเมอร์ชื่อดังระดับโลกอย่าง Tyler “Ninja” Blevins อดีตผู้เล่น Esports ที่เริ่มอาชีพของเขาตั้งแต่ยุคของเกม Halo 3 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นยุคเริ่มแรกของวงการเลยก็ว่าได้

โดยเขาเป็นที่รู้จักในเกม Fortnite ครั้งแรกด้วยการคว้าชัยชนะในรายการเล็ก ๆ ที่ทำเงินให้เขาราว 1.4 แสนดอลลาร์ฯ ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับรายได้จากการเป็นสตรีมเมอร์ของเขาหลังจากนั้น หรือก็คือ ช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดของเขาไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงที่อยู่ในวงการ Esports นั่นเอง

ช่วงกลางปีที่ผ่านมา มีรายงานว่า Ninja ได้รับเงินกว่า 30 ล้านดอลลาร์จาก Microsoft ในการยกเลิกสัญญาเมื่อ Mixer ปิดตัวไป (เป็นค่าชดเชยที่ช่องของเขาถูกปิด) ซึ่งแค่นั้นมากกว่ารายได้ในการบันทึกของผู้เล่น Esports ทุกคนแล้ว แน่นอนว่าเขายังมีรายได้ที่ไม่ถูกเปิดเผยจากบรรดาสปอนเซอร์ต่าง ๆ ซึ่งแค่เฉพะ 2020 เพียงปีเดียว sportskeeda.com คาดการณ์ว่าเขาน่าจะมีรายได้สุทธิไม่ต่ำกว่า 15 ล้านดอลลาร์ฯ

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ หลายฝ่ายให้ความเห็นที่ตรงกันว่า อนาคตแล้วผู้เล่น Esports ชื่อดังส่วนใหญ่ก็น่าจะมีอนาคตไปในทางเดียวกับ Ninja นั่นคือการผันตัวมาเป็นสตรีมเมอร์หลังจากจบอาชีพนักแข่ง ด้วยชื่อเสียงและประสบการณ์ที่มากกว่าผู้เล่นทั่วไปย่อยจะทำให้พวกเขาได้เปรียบผู้เล่นหน้าใหม่ไร้ประสบการณ์ที่อยู่ในจุดเดียวกันอย่างแน่นอน นี่ยังไม่รวมถึงอาชีพโค้ช, ผู้บรรยาย, และหน้าที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวงการ Esports ที่เหนือกว่าการเป็นนักแข่ง ซึ่งในตอนนี้เราก็จะเห็นว่ามีผู้เล่นหลายคนก็เริ่มก้าวแรกในเส้นทางนี้แล้วเช่นกัน

เพราะฉะนั้นแล้วจุดที่นักกีฬา Esports จะมีความมั่งคั่งสูงสุดนั้นอาจจะยังไม่มาถึงก็เป็นได้  และ Ninja ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้

Tyler “Ninja” Blevins อดีตนักกีฬา Esports ที่ “อาจ” ร่ำรวยที่สุดในโลก

ความยิ่งใหญ่ของแบรนด์

เมื่อความสำเร็จไม่ได้วัดกันที่ทีมเดียว เกมเดียว หรือคนเดียว

ที่สุดแล้ว หากเรามองในภาพรวม เมื่อทีม Esports ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อร่วมศึกนี้ด้วยกัน แล้วในบรรดาทีมต่าง ๆ ทีมไหนคือทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดหากนับกันที่เงินรางวัลที่ได้รับ ? เช่นเดิม ข้อมูลจาก esportsearnings.com ได้ทำการรวบรวมไว้ดังนี้

  1. Team Liquid – 35,732,474.03 (1,844 ทัวร์นาเมนต์)
  2. OG – 33,943,233.59 (99 ทัวร์นาเมนต์)
  3. Evil Geniuses – 24,263,698.79 (854 ทัวร์นาเมนต์)
  4. Fnatic – 15,729,227.88 (929 ทัวร์นาเมนต์)
  5. Virtus.pro – 14,415,574.39 (510 ทัวร์นาเมนต์)
  6. Newbee – 14,225,385.59 (231 ทัวร์นาเมนต์)
  7. Vici Gaming – 13,084,345.79 (302 ทัวร์นาเมนต์)
  8. Team Secret – 12,076,278.72 (278 ทัวร์นาเมนต์)
  9. Invictus Gaming – 11,669,190.10 (503 ทัวร์นาเมนต์)
  10. Natus Vincere – 11,282,585.40 (490 ทัวร์นาเมนต์)

จะเห็นได้ว่า หากไม่นับ OG ที่ชนะรายการใหญ่ไปถึง 2 ปีติด แต่ละทีมที่ติดอันดับต่างก็มีประสบการณ์มากมายในวงการ ลงแข่งไม่ต่ำกว่า 200 ทัวร์นาเมนต์กันมาแล้วทั้งสิ้น ซึ่งความเป็นทีมนั้นไม่ได้หมายถึงผู้เล่นคนใดคนหนึ่งหรือเกมใดเกมหนึ่ง หลายทีมก็ส่งผู้เล่นหลายรายลงหลายเกมในเวลาเดียวกันทำให้พวกเขาสร้างทั้งรายได้และชื่อเสียงที่จำเป็นอย่างมากสำหรับการเติบโตในอนาคต และเช่นเดียวกัน ชัยชนะในเกมหนึ่ง ๆ ที่สมาชิกในทีมทำได้ มันก็ไม่แค่ส่งผลต่อพวกเขาในเกมนั้น แต่เป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของทีมในภาพรวมพร้อมกันอีกด้วย

Team Liquid คือทีมที่ทำเงินรางวัลจากการแข่งขันรวมกันได้มากที่สุดในโลก

อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับกรณีของ N0tail และ Faker ตัวเลขเหล่านี้ก็เป็นเพียงสถิติที่มีการเปิดเผยไว้อย่างชัดเจนเท่านั้น หากเรามองในด้านของ “มูลค่า” ของแต่ละทีม หลายสโมสรก็ได้รับเงินสนับสนุนจากแหล่งต่าง ๆ มากมาย เช่นจากทางเกมโดยตรง, แฟน ๆ ที่ซื้อสินค้าของทีม, การขายลิขสิทธิ์, และสปอนเซอร์อีกจำนวนมาก โดยที่ Forbes ได้ทำการรวบรวมสถิติและประมาณการทีมที่มีมูลค่าสูงสุดเอาไว้ดังนี้

  1. Team SoloMid และ Cloud9 (400 ล้านดอลลาร์ฯ)
  2. Team Liquid (320 ล้านดอลลาร์ฯ)
  3. FaZe Clan (240 ล้านดอลลาร์ฯ)
  4. Immortals Gaming Club (210 ล้านดอลลาร์ฯ)
  5. Gen.G Esports (185 ล้านดอลลาร์ฯ)
  6. Fnatic (175 ล้านดอลลาร์ฯ)
  7. Team Envy (170 ล้านดอลลาร์ฯ)
  8. G2 Esports (165 ล้านดอลลาร์ฯ)
  9. 100 Thieves (160 ล้านดอลลาร์ฯ)
  10. NRG Esports (150 ล้านดอลลาร์ฯ)

จะเห็นได้ว่าตัวเลขอันดับต่างกับความสำเร็จเมื่อนับจากการแข่งขันพอสมควร เนื่องจากแต่ละทีมนั้นมีพื้นฐาน, แนวคิด, สภาพแวดล้อม, โอกาส, และอื่น ๆ ที่ไม่เหมือนกัน ทีมขนาดใหญ่ก็อาจไม่ใช่ทีมที่ชนะทัวร์นาเมนต์มากที่สุด แต่อาจเป็นทีมที่ครองใจแฟน ๆ มากที่สุด ก็เป็นได้

สรุปแล้วใครรวยสุด ?

จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมด ทุกคนก็น่าจะได้คำตอบกันแล้วว่าในเรื่องที่ว่าใครรวย ? ที่สุดในวงการแล้วมันประมาณได้ยากมาก อันเนื่องมาจากเหตุต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไป แต่เราก็พอสรุปคร่าว ๆ ได้ จากมุมมองที่ได้นำเสนอไปดังนี้

  • Johan “N0tail” Sundstein คือผู้ที่ “รวย” ที่สุดจากการแข่งตลอดชีพ
  • Lee “Faker” Sang-hyeok คือผู้ที่ “รวย” ที่สุดจากการอยู่ในอาชีพ Esports
  • Kyle “Bugha” Giersdorf คือผู้ที่ “รวย” ที่สุดจากการแข่งเพียงครั้งเดียว
  • Tyler “Ninja” Blevins คือผู้ที่ “รวย” ที่สุดหลังจากที่ออกจากวงการแล้ว
  • Sasha “Scarlett” Hostyn คือผู้หญิงที่ “รวย” ที่สุดจากการแข่งตลอดชีพ
  • Dota 2 คือเกมที่ทำให้ผู้เล่น “รวย” ได้มากที่สุดจากการแข่งขัน
  • LoL คือเกมที่ทำให้ผู้เล่น “รวย” ได้มากที่สุดจากการอยู่ในอาชีพ Esports
  • Team Liquid คือทีมที่ “รวย” ที่สุดจากการแข่งขันในวงการ Esports
  • Team SoloMid และ Cloud9 ทีมที่ “รวย” ที่สุดในวงการ Esports

เพราะฉะนั้นแล้ว “ใครรวย” ก็อาจไม่สำคัญเท่าผลงานที่ทำให้พวกเขา “รวย” ผู้เล่นและทีมเหล่านี้ได้พิสูจน์แล้วว่า Esports คือประตูสู่ความมั่งคั่งที่เป็นไปได้ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีอยู่จริงและสามารถทำเงินได้อย่างมหาศาล  ภาพลักษณ์ที่พวกเขาทำเอาไว้จะช่วยดึงดูดโอกาสในการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้วงการเติบโตได้ในอนาคตข้างหน้าอย่างยั่งยืนและยิ่งใหญ่ต่อไป

Source win.gg, sportskeeda.com dota2.prizetrac.kr esportsearnings.com

Pathiphan Tepinta

Back to top