ผู้เล่นที่เล่นเกม Multiplayer เป็นประจำ ไม่ว่าจะ Team Fortress 2, Halo และอื่น ๆ อีกมากมาย อาจจะสังเกตพบเห็นหลายครั้งที่เกมส่วนใหญ่มักชอบแบ่งทีมสองฝั่ง ด้วยการใช้ชุดเสื้อหรือ HUD เป็นสีแดงกับสีน้ำเงินเป็นประจำ แต่ถ้าหากเกมเมอร์สงสัยว่าเพราะอะไร ทำไมเกม Multiplayer มักใช้สีแดงกับสีน้ำเงินเป็นการแบ่งฝ่าย บทความนี้มีคำตอบมากมาย
อิทธิพลจากเกมจำลองสงคราม
ย้อนกลับไปในปี 1824 นายพลทหารปรัสเซีย Georg von Reisswitz ร่วมกับพ่อของเขา ได้มีการคิดค้นสร้างเกม wargame หรือเกมจำลองการรบขึ้นมา
แม้ว่าเกมดังกล่าว มีลักษณะคล้ายบอร์ดเกมทั่วไป เพราะใช้วิธีทอยเต๋าเพื่อสุ่มสถานการณ์ต่าง ๆ แต่เนื่องจากการออกแบบเกมมีรายละเอียดสมจริง ตั้งแต่แผนที่ขนาด 1:8000 ซึ่งอ้างอิงจากสถานที่จริง, มีการจำลองภูมิประเทศ, หน่วยรบต่าง ๆ ของทหารปรัสเซีย มีบทบาทหรือสัญลักษณ์ชัดเจน ทำให้เกมดังกล่าวจึงระบุว่าเป็น “เกมสำหรับการฝึกฝนโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงเท่านั้น”
เนื่องจากผลงาน wargame ของ Reisswitz ได้สร้างความประทับใจแก่นายพล Karl von Mueffling และกษัตริย์ฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 3 ทำให้เกมดังกล่าวเริ่มได้รับความนิยมอย่างมากในวงการทหาร ณ ช่วงปี 1850 ในฐานะเครื่องมือช่วยฝึกฝนวางแผนการรบ คิดค้นวิธีการรบแบบใหม่ ใช้วิจัยองค์กรทางทหาร รวมถึงกลายเป็นมาตรฐานเกมจำลองการรบที่ถูกต่อยอดนำไปพัฒนาต่อเรื่อย ๆ จนนำไปใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง, สงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามเย็น เกมดังกล่าวจึงถูกกล่าวขานว่าเรียกว่า Reisswit wargame (เกมจำลองการรบของ Reisswit) รวมถึงถูกนิยามเกมแนวใหม่ “Kriegsspiel”
นอกจากนี้ Reisswitz ได้มีการออกแบบชิ้นส่วนให้สีน้ำเงิน แสดงสัญลักษณ์เป็นหน่วยทหารของตนเอง (ปรัสเซีย) และชิ้นส่วนสีแดงแสดงเป็นฝ่ายข้าศึกเป็นหลัก (อาจใช้สีอื่นตามบทบาทที่เหมาะสม) จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สีน้ำเงินและสีแดง กลายเป็นมาตรฐานสีใช้แสดงการแบ่งฝักฝ่ายในเกมจนถึงตอนนี้
อิทธิพลจากสีทางการเมือง และภาพยนตร์
แม้ Reisswit wargame ได้สร้างมาตรฐานเกมวางแผนจำลองการรบเสมือนก็จริง แต่เหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบทำให้เริ่มมีการแบ่งฝ่ายเป็นสีแดงกับสีน้ำเงินชัดเจนมากที่สุด ก็ไม่มีทางหนีพ้นยุคสงครามเย็น หรือความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสัมพันธมิตรกับกลุ่มคอมมิวนิสต์
ช่วงระหว่างสงครามเย็น สหรัฐฯ ได้สร้างเกมวางแผนการรบจำลองการรบใช้ชื่อว่า Navy Electronic Warfare Simulator หรือ wargame ที่ทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้ใช้สีน้ำเงินเป็นตัวแทนฝ่ายสัมพันธมิตร และสีแดงคือฝ่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งตรงกับสัญลักษณ์สีประจำชาติคอมมิวนิสต์พอดี
และเนื่องจากช่วงเวลานั้นเอง อิทธิพลหนังฮอลลีวูดในสหรัฐ ฯ ก็กำลังเติบโตเป็นอย่างมาก หนังหลายเรื่องไม่ว่าจะประเภทแอ็กชัน สายลับ หรือดราม่าล้วนได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์สงครามเย็นมาทำเป็นภาพยนตร์สมมุติขึ้นมา โดยมักให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์มีบทบาทตัวร้าย แล้วฝ่ายพระเอกมักจะสังกัดในฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่เสมอ จึงทำให้หนังได้ตอกย้ำว่าสีแดงคอมมิวนิสต์คือสีประจำของผู้ร้าย ในขณะที่น้ำเงินฝ่ายสัมพันธมิตรคือสีของผู้รักษาสันติภาพ
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ได้มีการแบ่งสีรัฐต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งในประเทศ โดยรัฐที่มีสีแดงคือประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรครีพับลิกัน ส่วนรัฐที่มีสีน้ำเงินคือประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคเดโมแครต
สีแสดงอารมณ์สุดตรงกันข้าม
นี่อาจจะเป็นเหตุผลอาจจะดูเบสิกไปหน่อย แต่ก็ถือว่าน่าเชื่อถือเป็นอย่างมากเช่นกัน หากอ้างอิงจากเว็บไซต์ Color Wheel Pro ได้มีการนิยามว่าสีน้ำเงินเข้ม หมายถึง ความรู้, อำนาจ, ความจริงจัง และความสมบูรณ์แบบ ในขณะที่สีแดงเข้ม หมายถึง ความแข็งแกร่ง, ความโกรธ, กล้าหาญ กับความอาฆาตพยาบาท
โดยทั้งสองสีนั้น จัดว่ามีความหมายตรงกันข้ามอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่สีฟ้าให้อารมณ์เชิงสนับสนุนการใช้เหตุผล ในขณะที่แดงให้อารมณ์เชิงสนับสนุนความรุนแรง ซึ่งสองสีเปรียบเสมือนเป็นเหรียญฯ สองด้านที่ไม่มีสีเทา จึงเป็นบ่อเกิดทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสองฝั่งในที่สุด
ปัจจุบัน สีน้ำเงินและสีแดงไม่ได้ถูกใช้แบ่งทีมในวิดีโอเกมอย่างเดียว แต่รวมถึงใช้ในการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ จนถึงรายการวาไรตี้อีกด้วย ซึ่งก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เกมเมอร์เข้าใจเหตุผลการใช้สีแบ่งทีมมากขึ้นไม่มากก็น้อยครับ