เกม Fortnite เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในฐานะสุดยอดวิดีโอเกมแห่งปี 2018 ที่ได้ก้าวข้ามจากเกมดังกลายเป็นเกมป๊อปคัลเจอร์ แต่อีกส่วนทีมงาน Epic Games ยังคงประสบปัญหาด้านการโดนฟ้องร้องลิขสิทธิ์ท่าเต้นจากเหล่าศิลปินอย่างต่อเนื่องถึง 4 คดีล้วน เพราะนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เกมเมอร์หลายคนอาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่า ท่าเต้นมีลิขสิทธิ์จริงหรือ ? เพราะเนื่องจากท่าเต้นทั้งหมดล้วนเป็นไวรัลที่ทุกคนสามารถเต้นแล้วนำไปเผยแพร่ผ่านโซเชี่ยลมีเดียตามปกติโดยไม่มีเคสการฟ้องร้องลิขสิทธิ์ท่าเต้นเกิดขึ้น จนกระทั่งเกม Fortnite เป็นตัวจุดฉนวนดังกล่าว
นี่คือบทความ ไขปริศนา Fortnite ขโมยท่าเต้น สามารถสั่งฟ้องลิขสิทธิ์ได้หรือไม่ จะเป็นการเจาะลึกว่าศิลปินสามารถเรียกร้องลิขสิทธิ์ท่าเต้นได้หรือไม่ โดยข้อมูลอ้างอิงมาจาก The Guardian
สำหรับใครที่พลาดเรื่องราวระหว่าง Fortnite กับการโดนฟ้องร้องขโมยท่าเต้นโดยเหล่าศิลปิน ทีมงานได้รวบรวมอ่านไว้แล้ว
- Chance The Rapper ไม่ปลื้ม ! Fortnite ควรจ่ายเงินให้เจ้าของท่าเต้นในเกม
- 2 Milly แรปเปอร์ชื่อดังจ่อฟ้องเกม Fortnite เหตุขโมยท่าเต้นของเจ้าตัว
- Alfonso Ribeiro ฟ้องเกม Fortnite เหตุขโมยท่าเต้น Carlton dance ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
- มารดา Orange Shirt Kid ตัดสินใจฟ้อง Fortnite ข้อหาขโมยท่าเต้นไปใส่ไว้ในเกมโดยไม่ได้รับอนุญาต
- Russell Horning หรือ Backpack Kid ฟ้อง Epic Games ฐานขโมยท่าเต้นไปใส่เกม Fortnite
- Epic Games กล่าว ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของท่าเต้นในเกมทั้งนั้น’
Choreographer กับ Dancer ต่างกันอย่างไร
ก่อนที่จะเข้าถึงเนื้อหาหลัก ผู้อ่านต้องเข้าใจก่อนว่า Choreographer กับ Dancer มีความแตกต่างกันอย่างไร เพราะทั้งสองคำมีเส้นกั้นบาง ๆ ซึ่งอาจทำให้หลายคนสับสน
หากความหมายภาษาอังกฤษแบบตรงตัว Choreographer = นักออกแบบท่าเต้น ที่มีหน้าที่เป็นผู้คิดค้นและแต่งตั้งทฤษฎีการเต้นต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการแสดง ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเคลื่อนไหว, เนื้อหา, ขั้นตอน, หรือแนวคิด และแน่นอนการเลือก Dancer ตามความเหมาะสม แต่ถ้าหากท่าเต้นที่ผ่านการจดลิขสิทธิ์จะเรียกว่า Choreographer work
ส่วน Dancer = นักเต้น เป็นผู้แสดงที่มีความสามารถในการเต้นรำ ซึ่งสามารถทำงานร่วมมือกับเหล่า Choreographer เพื่อให้มีผลงานเป็นรูปเป็นอันที่เรียกว่า “การเต้น” เกิดขึ้น
หรือท่าหากเปรียบเทียบง่าย ๆ คือ Choreographer เป็นเปรียบเสมือนผู้กำกับ และ Dancer เป็นดารานักแสดงนั้นเอง
ท่าเต้นมีลิขสิทธิ์ แต่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน
Alex Tutty ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายด้านสื่อบันเทิง อ้างอิงจากมาตราที่ 3 ใน 2 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์การออกแบบและสิทธิบัตรในกฎหมายประเทศอังกฤษ โดยเขียนว่า
ท่าเต้นสามารถคุ้มครองลิขสิทธิ์จากกฎหมายของประเทศอังกฤษ ภายใต้การคุ้มครองของผลงานรูปแบบวรรณกรรม, การแสดง และละครเพลงดนตรี แต่ลิขสิทธิ์สามารถคงอยู่ได้เมื่อมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรหรืออย่างอื่น Choreographer work ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะเต้นอย่างเดียว แต่ต้องมีหลักฐานในรูปแบบการเขียนหรือการถ่ายทำอีกด้วย
ซึ่งแน่นอนว่า Fortnite จะต้องโดนฟ้องร้องในข้อหานี้หลายกระทง เพราะท่าเต้นในเกม Fortnite อย่าง The Floss มาจาก MV เพลง Switch Switch ของ Katy Perry, Alfonso Ribeiro ก็มีวิดีโอการแสดงท่าเต้น Carlton dance ในรายการละครโทรทัศน์ประเภท Sitcom เรื่อง The Fresh Prince of Bel-Air
ก็ต้องบอกเลยว่าคู่กรณีทั้งหมดมีหลักฐานมัดตัวเกม Fortnite และสามารถฟ้องร้องจน Epic Game ล้มละลายได้ แต่ไม่เป็นเช่นนั้น
นักกฎหมายด้านสื่อเอนเตอร์เทนและอิเล็กทรอนิกส์ คุณ Jas Purewal จากบริษัท Purewal & Partners กล่าวว่ากฎมายคุ้มครองท่าเต้นในประเทศสหรัฐฯ มีอายุค่อนข้างเก่า ล้าสมัย และไม่ได้รับการแก้ไขปรับปรุงตั้งแต่ปี 1976 ทำให้กฎหมายดังกล่าวค่อนข้างกำกวมและไม่ครอบคลุมเท่าทันปัจจุบัน
ใครเป็นผู้ครอบครองท่าเต้น ใครเป็นคนคิดท่าเต้น เหล่า Dancer หรือ Choreographer ? แล้วจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าเต้นดังกล่าวสร้างขึ้นมาใหม่จริง ? แล้วพวกเขาจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าคนอื่นจงใจละเมิดท่าเต้นของพวกเขาจริง ตัวกฎหมายเองก็เก่าแล้ว ไม่ค่อยมีใครใส่ใจกับมันเท่าไหร่นัก
– Jas Purewal
หมายความว่าคู่กรณีอย่างคุณ Alfonso จะพิสูจน์อย่างไรว่าท่าเต้น Carlton dance เป็นไอเดียดั้งเดิมของเขาจริง ๆ ? เพราะคุณ Alfonso ยอมรับว่าท่าเต้น Carlton dance ได้รับแรงบันดาลใจจาก MV เพลง Dancing In the Dark ที่คุณ Courtney Cox และ Eddie Murphy เต้นร่วมกัน ซึ่งไม่ใช่ไอเดียของคุณ Alfonso แท้ 100% (ชมคลิป ที่นี่)
ส่วน Alex Tutty ชี้ว่าก่อนที่ท่าเต้น The Floss ของ Russell Horning ใน MV เพลง Switch Switch จะโด่งดังกลายเป็นไวรัลในปี 2013 ก็มีวิดีโอหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ท่าเต้นดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2012 ซึ่งเป็น MV ล้อเลียนวง One Direction โดยเหล่านักศึกษา (ชมคลิป ที่นี่ นาทีที่ 3:07)
และกรณี Rachel McCumbers ของมารดา Orange Shirt Kid ต้องบอกเลยว่าไม่มีทางฟ้องร้อง Epic Games สำเร็จ เพราะท่าเต้น The Random ถือลิขสิทธิ์ออกแบบโดยเจ้าตัว Orange Shirt Kid เอง และเขายอมรับเงื่อนไขให้ “Epic Games สามารถนำไปดัดแปลง เผยแพร่ รวมถึงนำไปใส่ไว้ในเกม หรือทำอะไรก็ได้ตามจุดประสงค์ที่เหล่าสปอนเซอร์ต้องการโดยไม่มีการผูกมัดใด ๆ ทั้งสิ้น” ฉะนั้นการนำท่าเต้น The Random ไปใส่ในเกม Fortnite ถือว่าถูกต้องตามหลักกฎหมาย เพราะได้รับการอนุญาตจาก Orange Shirt Kid และไม่ได้มีการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ในฐานะ Choreographer work
เพราะเหตุนี้ การฟ้องร้องหรือยืนยันเจ้าของลิขสิทธิ์ท่าเต้นจึงเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยาก เพราะท่าเต้นของแต่ละคนล้วนได้รับแรงบันดาลใจมาจากท่าใดท่าหนึ่ง แล้วนำมาผสมกันกลายเป็นท่าเต้นใหม่เกือบทั้งสิ้น ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าท่าเต้นดังกล่าวมีต้นแบบมาจากไหนกันแน่
ระยะเวลาการเต้นก็มีส่วนเกี่ยวข้อง
บริษัทกฎหมาย Foley Hoag โพสต์ผ่าน Blog เว็บไซต์เองว่า ท่าเต้นไม่สามารถจดลิขสิทธิ์ได้ ถ้าหากไม่มีความซับซ้อนหรือมีขั้นตอนที่เยอะมากพอ และสาเหตุที่ Choreographer work มีเงื่อนไขจดลิขสิทธิ์เยอะ เพราะหากอนุมัติลิขสิทธิ์ท่าเต้นได้อย่างง่ายดาย จะส่งผลเสียต่อวัฒนธรรม ความคิด และนวัตกรรมในระยะยาว รวมไปถึงอิสระด้านการแสดงออก
เหมือนกับประโยคคำพูดและวลีสั้น (ซึ่งทั้งคู่ไม่สามารถทำเรื่องคุ้มครองลิขสิทธิ์อยู่แล้ว) ท่าเต้นที่มีสเต็ปน้อยนิดไม่สามารถลงทะเบียนลิขสิทธิ์ได้ ตัวอย่างเช่น Moonwalk (Micheal Jackson) หรือท่าเต้นบัลเล่ต์ ซึ่งมีความซับซ้อน ก็ไม่สามารถลงทะเบียนลิขสิทธิ์ได้เช่นกัน เพราะอะไร ? เพราะหากอนุมัติลิขสิทธิ์ท่าเต้นดังกล่าว อาจส่งผลกระทบให้ด้านพัฒนาความคิด และนวัตกรรมถูกแช่แข็งในระยะยาว
ในทำนองเดียวกัน ท่าเต้นง่าย ๆ ก็ไม่ถือว่าเป็นผลงานต้นฉบับด้านความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าท่าเต้นที่เรียบง่าย, มีระยะเวลาสั้น, มีแนวคิด, และธีม ซึ่งมีองค์ประกอบด้านลิขสิทธิ์บางส่วน แต่หากท่าเต้นไม่มีซับซ้อนมากพอก็ไม่สามารถจดทะเบียนลิขสิทธิ์ได้เช่นกัน
– Foley Hoag
และนี่ก็เป็นหนึ่งเหตุผลหลักว่า ทำไมศาลถึงไม่รับฟ้องเคสของคุณ Alfonso ที่กล่าวหาว่า Epic Games และ Take-Two ขโมยท่าเต้น Carlton dance เพราะนอกจากท่าเต้นไม่ได้เป็นไอเดียดั้งเดิมของเขาแล้ว ท่าเต้นไม่มีความซับซ้อนมากพออีกด้วย
ภาพเทียบระหว่างท่าเต้น Carlton dance ในเกม กับท่าเต้นโดยคุณ Alfonso Ribeiro โดยหนึ่งในคำแถลงการณ์ของ U.S. Copyright Office (สำนักงานลิขสิทธิ์แห่งสหรัฐอเมริกา) กล่าวว่า…
การผสมผสานรวมกันของท่าเต้น (Carlton dance) สามสเต็ป ถือเป็นท่าเต้นปกติ ไม่สามารถลงทะเบียนลิขสิทธิ์ในฐานะงานออกแบบท่าเต้นได้
ซึ่งก็เป็นเหตุว่าทำไม Fortnite ถึงมีโอกาสรอดพ้นข้อหาลิขสิทธิ์ทั้งหมดโดยเหล่านักแสดง และทีมงาน Epic Game มั่นใจพร้อมโต้กลับคู่กรณีทุกฝ่ายว่า
“ท่าเต้นส่วนตัวและท่าเต้นเรียบง่ายไม่ได้รับการรับรองจากกฏหมายลิขสิทธิ์ ถือเป็นการแสดงออกทางสาธารณะ (Social Dance) เพื่อความสนุกสนานและทุกคนสามารถกระทำได้” และ “กฏหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้คุ้มครองไอเดียของท่าเต้น ซึ่งทุกคนสามารถนำไปใช้ได้”
เนื่องจากเพราะคู่กรณีไม่มีหลักฐานยืนยันว่าท่าเต้นเป็นออริจินัลไอเดียที่ชัดเจน และสเต็ปการเต้นไม่มีคุณสมบัติมากพอที่จะเป็นงานลิขสิทธิ์ในฐานะ Choreographer work อย่างเต็มตัวครับ
สรุป
การสั่งฟ้องลิขสิทธิ์ท่าเต้น สามารถทำได้ แต่เนื่องจากกฎหมายด้านลิขสิทธิ์ท่าเต้นในสหรัฐฯ ค่อนข้างล้าสมัย ไม่ครอบคลุม ตรวจสอบยาก ทำให้การฟ้องร้องลิขสิทธิ์ท่าเต้นให้สำเร็จเป็นเรื่องที่ยากมาก
ยกเว้นแต่ผู้ออกแบบท่าเต้นที่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรหรือสื่อที่บ่งบอกว่า คุณเป็นผู้ออกแบบท่าเต้นใหม่แท้ 100%, มีความซับซ้อนหลายสเต็ป อาจจะสั่งฟ้องลิขสิทธิ์ได้ครับ
และผู้อ่านไม่ต้องกลัวว่าถ้าหากเต้นท่าดังกล่าว แล้วนำไปเผยแพร่ผ่านโซเชี่ยลมีเดียแล้วเกรงว่าจะถูกฟ้องร้อง เพราะการกระทำดังกล่าวถือเป็น Social Dance ที่ทุกคนสามารถเต้นได้อย่างอิสระครับ