BY KKMTC
20 Jan 23 6:06 pm

ทำความเข้าใจกับเครื่องเล่นเพลงดิจิทัล ดีกว่ายังไง ทำไมหลายคนยอมลงทุนซื้อ

156 Views

เมื่อไม่นานมานี้ ในโลกโซเชียล มีการเปิดประเด็นเกี่ยวกับเครื่องเล่นเพลงในปัจจุบัน มีราคาวางจำหน่ายสูงเท่ากับมือถือ จึงมีการตั้งข้อสงสัยกันว่าทำไมเครื่องเล่นเพลงสมัยนี้จึงมีราคาแพง ทั้งที่คุณสมบัติของมันไม่ได้ครบครั้นเท่ามือถือ และมือถือก็สามารถใช้ฟังเพลงได้ปกติเหมือนเครื่องเล่นเพลงในตัว

บทความนี้จะเป็นการทำความเข้าใจ ไขกระจ่างกับเครื่องเล่นเพลงดิจิทัล ว่ามันดีกว่าการฟังเพลงบนมือถือยังไง ทำไมหลายคนได้ยอมลงทุนซื้อเครื่องเล่นเพลง ทั้งที่มือถือก็ใช้ฟังเพลงได้ แล้วคำตอบคืออะไร มารู้กันในบทความนี้ได้เลย

เครื่องเล่นเพลง และมือถือ ทรงเหมือนกัน แต่จุดประสงค์ของมันต่างกัน

Dap

Digital Audio Player (DAP) หรือเครื่องเล่นเพลงดิจิทัล แค่บอกชื่ออุปกรณ์ก็รู้ทันทีว่ามันทำหน้าที่เป็นเครื่องสำหรับ “การเล่นไฟล์เพลงดิจิทัล” ซึ่ง DAP หลายรุ่นหลายแบรนด์มักมีขนาดใหญ่เท่ามือถือ และดูทุกซอกทุกมุม ก็มีความคล้ายกับมือถือเหมือนกับแกะ

แต่เดี๋ยวก่อนนะ.. มือถือ ก็สามารถใช้ฟังเพลงได้เหมือนเครื่องเล่นเพลงไม่ใช่เหรอ ? ฉะนั้นหลายคนอาจจะสงสัยว่าเครื่องเล่นเพลง มันฟังเพลงดีกว่าในมือถืออย่างไร ทำไมราคาจึงแพงเท่ามือถือ ทั้งที่มือถือก็มีฟีเจอร์ครบครั้น แถมใช้งานสะดวกอีกด้วย

Lg

คำตอบที่ชัดเจน และถูกต้องที่สุด ก็คือ เครื่องเล่นเพลง เป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมา เพื่อรีดเสียงเพลงจากไฟล์ดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพดีที่สุดเท่าที่ทำได้

ในขณะที่มือถือเป็นอุปกรณ์ที่มีฟีเจอร์ทุกอย่างในตัว แต่ก็ไม่ได้มีฟีเจอร์ไหนที่ไปได้แบบสุดทาง ยกตัวอย่างเช่น กล้องถ่ายรูปในมือถือ ที่แม้มีประสิทธิภาพมากพอที่จะใช้ถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ เพื่อทำเป็นภาพโฆษณา หรือถ่ายหนังสั้นได้ แต่แน่นอน ความละเอียดของภาพถ่าย หรือวิดีโอ ก็ยังสู้เทียบเท่ากับกล้องถ่ายรูปสำหรับมืออาชีพ หรือกล้องถ่ายภาพยนตร์ไม่ได้

Movie Camera

แม้ภายในเครื่องเล่นเพลง และมือถือมีชิปเซตตัวแปรสัญญาณจาก Digital เป็น Analog (DAC) ที่สามารถถ่ายทอดเป็นเสียงเพลงได้เหมือนกัน แต่เนื่องจากชิปเซต DAC ส่วนใหญ่ในเครื่องเล่นเพลงจะมีประสิทธิภาพดีกว่า มีความเฉพาะทาง (คล้ายกับชิปเซต CPU ที่ดูเหมือนกัน แต่มีประสิทธิภาพความทรงพลังต่างกัน) มีการใส่ส่วนประกอบต่าง ๆ เช่น Amplified, ช่องเสียบหูฟัง ฯลฯ มีการออกแบบที่ประณีต และการวิจัยที่ไม่แพ้กับการสร้างมือถือ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการใช้ DAP มอบประสบการณ์การฟังเพลงที่ดีกว่ามือถือ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบเพื่อเน้นคุณภาพเสียงเป็นอันดับ 1

นอกจากนี้ DAC ในเครื่องเล่นเพลงส่วนใหญ่ จะสามารถอ่านไฟล์เพลงได้หลายสนามสกุล เช่น MP3, WAV, AAC, FLAC, DSF โดยในมุมมองของกลุ่มคนรักการฟังเพลง หรือเรียกว่า Audiophile พวกเขาจะหลีกเลี่ยงการฟังเพลงนามสกุล MP3 เพราะไฟล์มีการบีบอัด (Compress) ให้กินเนื้อที่น้อยลง ก็ส่งผลทำให้คุณภาพเสียงลดลงตามมาด้วย

Flac

ภาพจาก Off the Beat

แล้วเนื่องจากไฟล์เพลงที่มีความละเอียดอย่าง FLAC, WAV หรือ DSF นั้นได้กินเนื้อที่ Storage เยอะกว่าไฟล์ MP3 หลายเท่า จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ Audiophile เลือกที่จะเก็บเพลงส่วนตัว ผ่านอุปกรณ์เครื่องเล่นเพลงมากกว่ามือถือ เพราะสามารถเก็บไฟล์เพลงคุณภาพสูงได้จำนวนมาก แตกต่างจากมือถือที่ต้องเก็บข้อมูลหลายอย่างในเครื่องเดียวกัน ส่งผลทำให้มือถือเก็บไฟล์เพลง FLAC ได้เพียงไม่กี่เพลงเท่านั้น

แม้เครื่องเล่นเพลงราคาระดับกลาง (10,000 บาท) ขึ้นไป จะเริ่มรันด้วยระบบปฏิบัติการที่ใช้ Linux หรือ Android เป็นพื้นฐาน เพื่อผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันบริการเพลงแบบสตรีมมิ่ง เช่น Tidal, Spotify หรือ Mora ได้ แต่หัวใจหลักของเครื่องเล่นเพลง ก็ยังออกแบบมาเพื่อเน้นการฟังเพลงเป็นหลัก ถึงจะดาวน์โหลดแอปฯ Web Browser มาเล่นอินเทอร์เน็ตได้ ดาวน์โหลดแอปฯ YouTube มาดูวิดีโอคลิปได้ แต่ประสบการณ์การใช้งานจะไม่ลื่นไหลเท่ากับมือถืออยู่ดี

Hiby

HIBY R6

และแม้จะดาวน์โหลด Tidal ซึ่งเป็นแหล่งรวมสตรีมมิ่งเพลงไฟล์คุณภาพสูงมาฟังในมือถือ เพลงใน Tidal ก็ไม่สามารถถ่ายทอดเสียงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากมีข้อจำกัดของชิปเซต DAC ในมือถือ รวมถึงหูฟังที่ใช้งานด้วย

ถึงแม้เครื่องเล่นเพลง จะออกแบบมาเพื่อถ่ายทอดเสียงเพลงให้ดีที่สุด แต่สุดท้าย ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่อุปกรณ์ที่ทุกคนจำเป็นต้องมี แน่นอน การฟังเพลงด้วยเครื่องเล่นเพลงดิจิทัล จะต้องได้รับประสบการณ์การฟังเพลงที่ดีกว่ามือถืออยู่แล้ว และเครื่องเล่นเพลงยุคนี้ก็มีราคาหลายระดับ ตั้งแต่เครื่องจิ๋วราคาถูกไม่ถึง 5,000 บาท ราคาระดับกลางที่ขายระหว่าง 10,000-30,000 บาท จนถึงราคาระดับ High-End ที่ขายถึง 75,000-100,000 บาท ทำให้คนทุกชนชั้นเข้าถึงอุปกรณ์ DAP ได้

Shanling M0

Shanling M0 เครื่องเล่นเพลงระดับ Budget จิ๋วแต่แจ๋ว

แต่สำหรับมุมมองของคนทั่วไป แม้พวกเขาจะรักการฟังเพลงก็จริง แต่มันมีความจริงที่ว่าไม่ใช่ทุกคนจะซีเรียสจริงจังเรื่องคุณภาพเสียง และหลายคน แยกความแตกต่างไม่ได้ระหว่างการฟังเพลงด้วยไฟล์ MP3, ผ่าน YouTube กับไฟล์ FLAC เพราะหูแต่ละคนมีการได้ยินไม่เหมือนกัน จึงเป็นเรื่องยอมรับได้ที่บางคนจะมองว่าเครื่องเล่นเพลง เป็นอุปกรณ์ที่ไม่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน

จากอดีตที่เครื่องเล่นเพลงเป็น “ของที่ต้องมี” ปัจจุบัน เครื่องเล่นเพลงกลายเป็น Niche Market เน้นวางจำหน่ายในแก่กลุ่มคนรักการฟังเพลง หรือนักสะสมอุปกรณ์เครื่องเล่นเพลงโดยเฉพาะ แม้มันไม่ใช่สิ่งของที่จำเป็น แต่มันทำหน้าที่ตามจุดประสงค์ของมันแล้ว ก็คือการถ่ายทอดเสียงเพลงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มความต้องการของเหล่า Audiophile ได้เป็นอย่างดี และจากใจคนที่มีเครื่องเล่นเพลงราคา 6,000 บาทที่ใช้งานมาแล้ว 5 ปี ก็ต้องบอกเลยว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ไม่รู้สึกเสียดายเงินเลยแม้แต่บาทเดียว

SHARE

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top