เมื่อ Microtransactions มีอิทธิพลมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เล่นอย่างเราต้องเข้าใจในระบบ Matchmaking ใหม่จากค่าย Activision
ปัจจุบัน Microtransaction หรือ in-game purchase เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับทางทีมพัฒนาและผู้จัดจำหน่ายเกม แน่นอนเองว่าค่ายเกมยักษ์ใหญ่อย่าง Activision ก็ไม่พลาดที่จะปล่อยสิ่งนี้ให้หลุดรอดเงื้อมมือแห่งผลกำไรไปได้
ล่าสุดสิทธิบัตรที่ทาง Activision ได้ยื่นจดทะเบียนระบบใหม่ที่ทำให้ผู้เล่นอาจต้องเสียเงินให้กับเกมของพวกเขามากยิ่งขึ้นและได้รับการอนุมัติไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“ระบบและวิธีการในการผลักดัน microtransactions ในเกมมัลติเพลเยอร์” คือชื่อของสิทธิบัตรที่ทาง Activision ได้ยื่นจดทะเบียนตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2015 และได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา
ระบบดังกล่าวทำงานอย่างไร ?
“ในการใช้งานจริง Matchmaking อาจพาผู้เล่นไปพบเจอกับผู้เล่นที่มีอิทธิพลในการตัดสินใจสั่งซื้อไอเท็มของเกมผ่าน in-game purchase
ยกตัวอย่างเช่น ระบบอาจนำผู้เล่นหน้าใหม่มาเจอกับผู้เล่นที่มีการใช้ in-game purchase จำนวนมาก เพื่อทำการโน้มน้าวให้ผู้เล่นหน้าใหม่เกิดความรู้สึกอยากได้ไอเท็มดังกล่าวและนำไปสู่การสั่งซื้อในท้ายที่สุด”
จากเดิมที่ระบบในการหาผู้เล่นหรือที่เรียกว่า Matchmaking จะทำการคัดสรรผู้เล่นจำนวนมากให้มาพบเจอกันโดยอ้างอิงปัจจัยพื้นฐาน อาทิเช่น ความสามารถของผู้เล่น ความเร็วอินเทอร์เน็ต จำนวนผู้เล่นในปาร์ตี้
แต่สิทธิบัตรที่เพิ่งได้รับการอนุมัตินั้นจะมีการเพิ่มปัจจัยจำนวนมากเข้ามาเพื่อนำไปสู่การโน้มน้าวให้ผู้เล่นทำการควักเงินเพื่อซื้อไอเท็มในเกมมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลจำนวนมากถูกนำมาวิเคราะห์ต่อเพื่อปิดการขาย
ในระหว่างการเล่น ตัวเกมจะทำการบันทึกข้อมูลของผู้เล่นจำนวนมากและนำมาวิเคราะห์ต่อว่าตัวตนของผู้เล่นเป็นอย่างไร ชอบเล่นปืนอะไร รูปแบบการเล่นมีสไตล์แบบไหน และนำข้อมูลที่ได้มาเชื่อมกับระบบ Matchmaking เพื่อปิดการขายให้ได้มากยิ่งขึ้น
“ตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะอธิบายได้เห็นภาพคือการที่ผู้เล่นหน้าใหม่คนหนึ่งมีความชื่นชอบในการเล่นปืนสไนเปอร์ ระบบจะนำผู้เล่นไปดวลกับผู้เล่นสายสไนเปอร์ที่มีความสามารถที่มากกว่าและไอเท็มที่เยอะกว่า ลักษณะนี้ก็จะเป็นการโน้มน้าวให้ผู้เล่นหน้าใหม่ไปซื้อไอเท็มที่เหมาะกับสไตล์การเล่นได้ง่ายขึ้น”
นอกจากนี้ระบบไม่เพียงแต่ส่งผลต่อการหาห้องของผู้เล่นในเกม แต่ยังคงใช้ในการคำนวนว่าไอเท็มชิ้นใดควรปรากฏบนหน้าจอเมนูให้บ่อยขึ้น อาวุธชิ้นใดควรจัดโปรโมชั่นลดราคาในช่วงฤดูกาล
กระทบต่อเกมการเล่น แต่อาจเพิ่มความท้าทายใหม่ ?
สิทธิบัตรดังกล่าวได้มีการอ้างถึงความสนุกของเกมที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปบ้างเล็กน้อย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความท้าทายใหม่ให้กับผู้เล่น
จินตนาการถึงการที่เราเพิ่งพ่ายแพ้ให้แก่กลุ่มผู้เล่นที่ใช้ปืน Shotgun ได้อย่างน่าประทับใจ ความพ่ายแพ้และหัวร้อนทำให้เราต้องควักเงินเพื่อซื้อไอเท็มชิ้นใหม่ ระบบไม่จบอยู่แค่นั้น มันยังพาเราไปเจอกับผู้เล่นที่ยังไม่ได้ซื้อไอเท็มชิ้นเดียวกันเพื่อสร้างความรู้สึกคุ้มค่าให้กับไอเท็มที่เราเพิ่งซื้อมาด้วย
เกมไหนบ้างที่มีระบบนี้
Activision ได้ประกาศชัดว่าในปัจจุบันยังไม่มีเกมไหนที่ได้ใช้งานระบบนี้โดยเกมที่คาดว่าจะได้พบเจอกับระบบดังกล่าวนี้อาจจะเป็น Call of Duty: World War II หรือเกมอื่นๆ ในอนาคต (ตัวสิทธิบัตรเพิ่งได้รับการอนุมัติ ผมเองแอบคิดว่าเราก็น่าจะยังไม่ได้สัมผัสกันในเกม Call of Duty ภาคที่จะออกนี้ด้วยซ้ำ)
สำหรับในปี 2016 ทีผ่านมา ทาง Activision Blizzard มีรายได้จากการขายสินค้าในเกมผ่าน microtransaction ถึง 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงไม่น่าแปลกใจนักที่บริษัทจะหันมาให้ความสนใจกับ in-game purchase มากยิ่งขึ้น