Toxic ได้รับการโหวตให้เป็นคำศัพท์ประจำปี 2018 จากทาง Oxford โดยสามารถแปลได้ตรง ๆ คือการทำให้เป็นพิษ เป็นอันตรายต่อชีวิต รวมถึงความหมายอื่น ๆ ในเชิงอุปมาที่เปรียบเทียบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งไม่ดี
ในปัจจุบันคำว่า Toxic ได้ถูกเปลี่ยนความหมายใหม่ โดยเฉพาะเมื่อนำไปใช้กับผู้คนหมายถึงคนที่ทำให้สังคมแตกแยก ทำให้สังคมไม่สงบสุขไปอยู่ที่ไหนก็เป็นพิษภัยให้กับสังคม
โดยเฉพาะในหมู่เกมเมอร์ที่ไม่ว่าจะไปเล่นเกมไหน ๆ ต่างก็ต้องเจอกับบรรดาเหล่าผู้เล่นประเภทนี้ จนทำให้ในบางครั้งเกมไม่สนุกหรือเลิกเล่นไปเลยเพราะทนกับสังคมหรือผู้เล่นประเภทนี้ไม่ไหว
แต่มีหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือทำไมแต่ละเกมถึงมีความ Toxic ไม่เท่ากัน บางเกมก็มีเกมเมอร์เหล่านี้เต็มเซิร์ฟจนเป็นเรื่องปกติ บางเกมกลับมีกลุ่มผู้เล่นน้อยมาก ๆ จนสังคมในเกมน่าอยู่กว่าชีวิตจริง ๆ นอกจากนี้เกมเมอร์ทั้งหลายเคยสังเกตตัวเองหรือว่า ทำไมในบางเกมเราสามารถด่าทอเพื่อนร่วมทีมได้แบบไม่แคร์อะไร ในขณะที่บางเกมเราจะพิมพ์หนึ่งทีต้องคิดหลาย ๆ รอบ
อะไรที่ทำให้พฤติกรรม Toxic ของเกมเมอร์ในแต่ละเกมต่างกัน มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เราพิจารณาถึงสิ่งที่ทำให้เกิดอาการ Toxic บทความนี้เรามาหาคำตอบกัน
การแข่งขันในเกมสูง
เกมเน้นในเรื่องของการแข่งขันของผู้เล่นสูง (Online Competitive) เกมเหล่านี้จะเน้นไปในเรื่องของการแข่งขันของผู้เล่นสองฝ่าย โดยอาจจะเป็นลักษณะการต่อสู้แบบเดี่ยว (Solo) หรือเล่นแบบทีม
การปะทะกันของผู้เล่นสองฝ่ายย่อมนำมาซึ่งความเครียดและความกดดัน จึงไม่แปลกที่เหล่าเกมเมอร์หลาย ๆ คนจะต้องหาวิธีการในระบายอาการเหล่านี้ออกมา โดยวิธีการที่ใช้ง่ายที่สุดคือการพิมพ์เพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม
ในขณะเดียวกันไม่มีเกมเมอร์คนไหนอยากที่จะเป็นผู้แพ้ ทำให้ทุก ๆ คนจะพยายามที่จะทำทุกอย่างให้ชนะ ต่อให้ต้องด่าเพื่อนร่วมทีมก็ต้องทำ นอกจากนี้จิตสำนึกลึก ๆ ของเรามักจะไม่ยอมรับว่าตัวเราเป็นฝ่ายผิดทำให้เรามักจะด่าคนอื่น ๆ มากกว่าด่าตัวเองเสมอ สุดท้ายก็นำไปสู่การหาแพะรับบาปประจำทีมแทน
เมื่อความกดดันในเกมสูงผสมเข้ากับความรู้สึกลึก ๆ ของมนุษย์ที่ไม่อยากแพ้ ทำให้เกมประเภทนี้มักจะมีผู้เล่นประเภทนี้สูง นอกจากนี้ยังไม่รวมกับเหล่าจริงจังเกมเมอร์ที่เล่นเพื่อชัยชนะเท่านั้น อาการ Toxic ในเกมที่มีย่อมสูงเป็นธรรมดา ยิ่งการรางวัลของชัยชนะสูงมากขึ้นเท่าไหร่อาการ Toxic ย่อมมีมากขึ้น
เวลาในการสื่อสารที่น้อย
ในบางเกมต้องใช้การสื่อสารระหว่างผู้เล่นสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกมที่ต้องอาศัยการตัดสินใจที่รวดเร็วฉับไวและเที่ยงตรง ดังนั้นเมื่อเหล่าผู้เล่นจากสถานที่ต่าง ๆ มีพื้นเพที่ต่างกัน มีภูมิหลังที่ต่างกันแต่ต้องร่วมมือกันในการเอาชนะทีมตรงข้ามจึงทำให้เกิดความขัดแย้งได้ง่าย
หากนึกภาพไม่ออกลองนึกถึงเวลาที่คุณไปเล่นกีฬาฟุตบอล คุณไม่รู้จักเพื่อนร่วมทีมอีก 10 คนที่เหลือ แต่จุดมุ่งหมายของคุณคือการยิงประตูฝ่ายตรงข้าม ภายใต้เวลา 90 นาที ลองคิดดูว่าคุณจะรู้สึกปวดหัวแค่ไหนและต้องสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีมอย่างไรถึงจะชนะฝ่ายตรงข้าม
ในขณะเดียวกันหากเราลองไปดูเกม MMORPG ที่เล่นชิว ๆ ไม่ได้แข่งขันกันสูงความ Toxic ของผู้เล่นจะลดลงไปอย่างมากเพราะเกมเหล่านี้ไม่สามารถที่จะเก่งคนเดียวได้ ต้องมีการพึ่งพาอาศัยผู้เล่นอื่น ๆ ด้วย การแสดงความเป็น Toxic ออกมามากจนเกินไปย่อมส่งผลลัพธ์ให้แย่กว่าเดิม ยิ่ง Community ของเกมมีความเข้มข้นคุณจะหมดที่ยืนในเกมนี้
Mechanics ของเกมมีผลต่อความ Toxic ของผู้เล่น
Mechanics หรือกลไกของเกมย่อมส่งผลต่อการกระทำรวมถึงพฤติกรรมของผู้เล่นไม่มากก็น้อย โดยในเกมที่เน้นการต่อสู้กับอุปสรรคในเกมเป็นหลัก (PVE) มักจะมีความ Toxic น้อยกว่าเกมที่เน้นการสู้กับผู้เล่นด้วยกัน (PVP)
การเล่นเกมแบบ PVE เหล่าเกมเมอร์มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกมเมอร์ใช้เวลาในการ Grinding เพื่อให้ตัวละครของเราเก่งมากกว่า จึงทำให้เหล่าผู้เล่นไม่อยากที่จะเสียเวลาไปไล่ตบผู้เล่นอื่นเท่าไหร่ เน้นช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากกว่า โดยสิ่งที่สำคัญจะไปอยู่กับการหา Community ดี ๆ แทน หากมีพฤติกรรม Toxic อาจจะเล่นเกมแนวนี้ไม่ได้เลย
ในขณะที่เกมแบบ PVP ออกแบบมาให้ผู้เล่นเรียนรู้ที่จะเอาชนะซึ่งกันและกัน ซึ่งตัวเกมจะมีระบบในการวัดความเก่งของเราในหลาย ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็น Ranking , สถิติ ,K.D.R (Kill/Death Rate) ในขณะเดียวกันเราก็สามารถนำเอาสถิติที่ได้ไปโชว์ให้โลกรู้ได้ว่าเราเก่งแค่ไหน จึงทำให้การเล่นเกม PVP มีเหล่า Toxic มากกว่าเกมแนวอื่น ๆ ซึ่งเหตุผลอื่น ๆ ก็ได้กล่าวมาในข้างต้นของบทความแล้ว
สุดท้ายแล้วอาการ Toxic ในการเล่นเกมแม้ว่าจะไม่หายไปจากวงการเกมอย่างถาวร แต่เราสามารถที่จะลดอาการเหล่านี้ในเกมต่าง ๆ โดยเริ่มต้นที่ตัวเรา ให้เกียรติผู้อื่น ให้เกียรติตัวเอง มีน้ำใจต่อกัน ไม่ว่าจะเล่นเกมไหนก็มีความสุข