เกมเน้นเนื้อเรื่องกำลังตกที่นั่งลำบากและจะกำลังตาย ? ปัญหาที่เกมเมอร์และทีมงานผู้พัฒนาเกมจะต้องร่วมทำความเข้าใจกัน
ปัจจุบันเกม Multiplayer มีทบบาทมากขึ้น แต่ความ Singleplayer เกมเน้นเนื้อเรื่องกับเสื่อมถอยลงไป ปีก่อนคุณ Blake Jorgensen – CFO ของ EA เชื่อว่าเกม Singleplayer เนื้อหาเส้นตรงไม่ได้รับความนิยมเหมือน 10 ปีก่อน แต่แล้วจนกระทั่งเกมล่าสุด God of War ได้ออกมาพิสูจน์มาแล้วว่าเกมเล่นคนเดียวจะไม่มีวันตายเสมือนนกฟินิกซ์ และมันยังคงอยู่ในใจเกมเมอร์ตลอดไป (สำหรับคนที่อยากอ่านความคิดเห็นอีกด้านว่าทำไมเกม Singleplayer ถึงยังไม่ตายก็ตามไปชมกันได้ ตรงนี้ ครับ)
แต่ต่อมา พูดไม่ทันได้ขาดคำ Call of Duty: Black Ops 4 ประกาศเปิดตัว World Premier ให้ทุกคนได้รับชมทั่วโลก ได้โชว์ระบบเกมเพลย์ และออกตัวกล่าวทันทีว่าภาคนี้จะเป็นเกมเน้น Multiplayer เต็มรูปแบบ และได้ตัดระบบ Singeplayer ออกทั้งที่เป็นเอกลักษณ์ของเกมนี้มาอย่างยาวนาน ซึ่งเหตุการณ์นี้สร้างความสับสนและความไม่พอใจแก่แฟน ๆ CoD เป็นอย่างมาก
“มันเกิดอะไรขึ้นกับวงการเกม !?” คำถามที่ผู้พัฒนาที่ไม่ว่าจะตอบแบบไหนก็ไม่เข้าหู แทนที่จะด่าทอผู้พัฒนาเกม ทำไมไม่ลองวิเคราะห์ว่า “ทำไมเกมเน้นเนื้อเรื่องถึงตกที่นั่งลำบาก” ล่ะ ? เพราะบางเกมก็ขายดี๊ดีทุกอย่าง บางเกมก็ดีแต่เจ๊งในยอดขายไปิย่างน่าเสียดาย บทความนี้อาจจะพอให้คุณเข้าใจอะไรได้บ้าง
ทำไม Black Ops 4 ทิ้งโหมดเนื้อเรื่อง ?
การสัมภาษณ์ทีมงาน Treyarch ผู้รับผิดชอบเกม Call of Duty: Black Ops 4 ได้ให้เหตุผลว่า ทำไมต้องตัดระบบ Singleplayer ทิ้งไว้เป็นเบื้องหลัง
เราสังเกตเห็นว่าผู้เล่นใช้เวลามากไปกับโหมด Multiplayer และโหมด Zombie เป็นส่วนใหญ่ในช่วงปัจจุบัน และเกมเมอร์เดี๋ยวนี้ใช้ระบบสตรีมมิ่ง เพื่อเล่นโชว์หรือพูดคุยเกี่ยวกับโหมด Multiplayer กันซะมากกว่า ซึ่งกระแสตอบรับของผู้คนก็สามารถเข้าถึงได้ก็เยอะกว่าครับ
Dan Bunting หนึ่งในหัวหน้าทีมงาน Treyarch สัมภาษณ์กับ Eurogame ว่าเกมเมอร์เริ่มให้ความสำคัญกับในส่วนของ Multiplayer และโหมด Zombie มากกว่าโหมดเล่นคนเดียว ซึ่งทางทีมงานก็พูดถูกเพราะสถิติการเล่นโหมด Singleplayer จบเนื้อเรื่องมีเพียงแค่ 9% เท่านั้น สำหรับภาค Black Ops 3 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดของทุก ๆ ภาค ซึ่งสถิติกราฟอ้างอิงจากเว็บไซต์ arstechnica.com
ทีมงานเห็นตัวเลขก็คงรู้สึกน้อยใจก็เป็นไม่แปลกนัก เพราะว่าถึงแม้ว่า Call of Duty: Black Ops 3 จะไม่ได้มีเนื้อแข็งแกร่งเท่ากับภาคอื่น ๆ แต่ก็ยังมีโมเม้นต์ที่น่าสนใจ และมีความสนุกในรูปแบบของมัน และตัวเกมเองก็ใส่ใจในเรื่องของคุณภาพ ทีมงานทำแทบตายแต่ไม่มีใครสนใจ จึงไม่แปลกใจเลยที่ Treyarch จะไม่ยอมรับความเสี่ยงครั้งต่อไป และยอมตายเอาดาบหน้าโดยการทุ่มพลังไปกับ Multiplayer เต็มรูปแบบในภาคหน้าแทน
ไม่ใช่แค่ Call of Duty เกมเดียวที่ประสบปัญหาผู้เล่นโหมดแคมเปญไม่จบ แต่รวมไปถึงเกมชื่อดังคุณภาพระดับ AAA อีกหลายเกมที่ผู้เล่นปล่อยทิ้งเนื้อเรื่องไว้กลางทางอีกมากมายให้ตัวละครเอกให้ยืนโดดเดี่ยวอยู่ที่จุดเดิม ไม่มีการควบคุม โดยมีรายชื่อเกมที่น่าสนใจดังนี้
- Tomb Raider (reboot): 44.5%
- Rise of the Tomb Raider: 45.1%
- Wolfenstein – The New Order: 44%
- Wolfenstein II: The New Colossus: 44.6%
- Bioshock Infinite: 46.5%
สังเกตว่าไม่มีเกมไหนเลยที่ผู้เล่นจะเล่นเนื้อเรื่องจบเกิน 50% ในรายชื่อเป็นเกมที้เน้นโหมด Singleplayer เป็นหลักทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่เกมได้รับบทวิจารณ์จากหลายเจ้าสำนักอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ทั้งในด้านเกมเพลย์ และเนื้อเรื่อง ซึ่งเป็นการสื่อถึงอะไรบางอย่าง เกมเล่นคนเดียวไม่ได้รับความนิยม จริง ๆ หรือ ?
ระหว่างบทสัมภาษณ์ทีมงาน Treyarch และสถิติความสำเร็จ Achievement ใน Steam ทั้งหมด ผู้เขียนจึงสามารถคาดเดา คิดวิเคราะห์ได้ดังนี้
Singleplayer เนื้อเรื่องใช้งบประมาณต้นทุนเยอะ ถ้าผลลัพธ์เกมไม่ดี เกมเจ๊งทันที
ถ้าคุณจะทำเกมที่มีเนื้อเรื่องที่ดีมาก ๆ มีเนื้อหาเยอะ มันจะไม่ได้จบอยู่ที่พัฒนาเกมเพลย์อย่างเดียว
คุณจะต้องจ้างพนักงานที่มีฝีมือเฉพาะทางเพิ่ม ไม่ว่าจะนักเขียนบท ศิลปินนักออกแบบ นักแสดง ใช้อุปกรณ์ที่ล้ำสมัยและปริมาณที่เยอะ และใช้ระยะเวลาในการพัฒนาที่ยาวนาน ส่งผลให้มีการใช้ต้นทุนที่เยอะมหาศาล ไม่ต่างจากวงการหนังฮอลลีวูดเลย ซึ่งในทุก ๆ เจเนอเรชั่นก็ยิ่งจะต้องใช้เงินงบประมาณที่เยอะขึ้นทุกที มันขึ้นอยู่กับนายทุนจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ ? และจะต้องทำอย่างไรให้คืนกำไรแก่บริษัทอีกด้วย
เพราะด้วยโหมดแคมเปญ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้กระบวนการทำเกมจะต้องความพิถีพิถันในทุก ๆ ด้าน ทั้งการเล่าเรื่อง สภาพแวดล้อม กราฟิก การออกแบบสีหน้าตัวละคร การแสดง ระบบเสียง และต้องทำให้ระบบการเล่นจะต้องสนุกด้วย ไหนจะต้องทำให้ทันเวลา Deadline ปัญหาขาดแคลนผู้จ้าง และอื่น ๆ อีกสารพัด
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้เกมในช่วงหลังในปี 2012 เป็นต้นไป ที่โปรโมทเกมซะดิบดี น่าสนใจ สร้างความตื่นเต้นในงาน E3 แต่สุดท้ายในวันปล่อยเกมก็ตกม้าตายในทุก ๆ ด้านทั้งคุณภาพ เกมเพลย์ เนื้อหา ที่ไม่ตรงกับที่ประกาศสัญญาโดยทีมงาน และได้สร้างความผิดหวังแก่แฟน ๆ อย่าง No Man’s Sky หรือ MAFIA III เป็นต้น
แต่ไม่ใช่ว่าถ้าเนื้อเรื่องไม่เทพ มันจะเป็นเกมที่แย่เสียทีเดียว อย่างซีรี่ส์ Fallout, The Elder Scrolls และ Farcry ที่นำเสนอออกมาได้สนใจ มีเนื้อหาเยอะ และเกมเพลย์ก็สนุกด้วย ก็สามารถดึงผู้เล่นให้เล่นจนจบโหมดแคมเปญได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะโดนวิจารณ์ว่าเนื้อเรื่องธรรมดา ไม่สมเหตุสมผล จบแย่ แต่อย่างน้อยก็ยังจะสนุกสนานอยู่ในรูปแบบของ “เกม” และสามารถให้ดึงผู้เล่นให้ไปทำอย่างอื่นในเกม อย่าง เก็บความสำเร็จ 100% เก็บถ้วยรางวัล เล่นมินิเกม อีกด้วย
ด้วยต้นทุนที่สูงและเสี่ยงต่อการทำกำไรไม่ถึงเป้า จึงอาจจะเป็นเหตุผลที่ทีมงานได้พยายามใส่เนื้อหา Microtransactions ในเกมเล่นคนเดียว หรือทุ่มเทไปกับโหมด Multiplayer ในที่สุด และทิ้งโหมด Singleplayer มีเนื้อเรื่องทั้งหมด
บทบาทอินเตอร์เน็ตมากขึ้น
ยุคอินเตอร์เน็ตเข้ามาตั้งแต่ปี 2000 นับแต่นั้นมา “ออนไลน์” จึงกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
ในช่วงนั้นหลายเกม Multiplayer ยังคงเป็นแค่ส่วนเสริม มีรูปแบบในการเล่นที่เรียบง่าย อย่างเช่น Deathmatch, Team Deathmatch, Capture The Flag และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งมันสนุกใช้ได้เลย เหมาะสำหรับการเกมเมอร์เครียดจากการเล่นโหมดเนื้อเรื่องใน Singleplayer
โดยเกมที่เริ่มสร้างความนิยมให้กับโหมด Multiplayer อย่างล้นหลามในตอนนั้น ก็คือเกม Battlefield 1942 และ Counter-Strike 1.6 เกม FPS ประเภท Tactical Team-Based และเกม World of Warcraft เกม MMORPG Multiplayer ที่มีผู้เล่นมากที่สุดถึง 100 ล้านผู้เล่น ตั้งแต่เกมเปิดบริการมาตั้งแต่ปี 2004 อ้างอิงจากทีมงาน Blizzard
ด้วยเกมมีวิวัฒนาการที่มากขึ้น ระบบ Multiplayer ที่ได้มีการยกระดับตลอดเวลา อินเตอร์เน็ตและเกมคอมพิวเตอร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เกมเมอร์เริ่มให้ความสำคัญกับการเล่นหลายคนมากกว่าที่เป็น เพราะโหมด Multiplayer เป็นของเล่นชิ้นใหม่ที่ทุกคนต่างได้ลิ้มลองได้รู้สึกแปลกใหม่ มีสีสัน ได้เข้าสังคมที่ไม่มีการปิดกั้น ไม่ว่าจะเป็นเกม Action, FPS, MMORPG, Racing และเกมประเภทอื่นที่ยังนับไม่ถ้วน จะต้องมีระบบ Multiplayer ติดตัวอยู่ทุกภาค
นอกจากนี้ด้วยอิทธิพลของอินเตอร์เน็ตที่เปิดกว้างมากขึ้น โซเซียลมีเดียมากมายได้ก่อตัวขึ้นทั้ง Facebook, Twitter, Instagram และ Youtube ยิ่งทำให้เกมเน้น Multiplayer เติบโตขึ้นอย่างไม่มีหยุด แต่กลายเป็นว่า เกมเมอร์อาจจะทำร้ายเกมประเภท Singleplayer มีเนื้อเรื่องโดยไม่รู้ตัว
เลือกที่จะเป็นผู้ชม มากกว่าซื้อเกมเล่นด้วยตัวเอง
หัวข้อที่เป็นปัญหาที่เป็นที่ถกเถียงกันมากในวงการเกมปัจจุบัน
เพราะเกมมีเนื้อเรื่องน่าติดตามก็มักจะผู้คนให้ความสนใจอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเกมเมอร์หรือคนทั่วไปเหมือนกับภาพยนตร์ เพียงแต่เป็นหนังที่อยู่ในรูปแบบวีดีโอเกม
ถ้าให้เปรียบเทียบกับภาพยนตร์สามารถเข้าถึงผู้คนได้ง่ายกว่า แต่เกมเข้าถึงสำหรับสนใจในเกมและเกมเมอร์ตัวยงเท่านั้น แถมราคาเกมก็มีราคาแพงเอาเรื่อง โดยเฉพาะเกมคุณภาพ AAA ที่มีราคาราว 2,000 บาท และบางเกมเป็น Exclusive เฉพาะในเครื่องเล่นเกมคอนโซลเท่านั้น ซึ่งมันก็ไม่คุ้มค่าที่จะซื้อเครื่องราคาเป็นหมื่นเพื่อเล่นเกมเดียวแน่นอน
ยกตัวอย่างสมมุติว่าคุณเป็นวัยนักเรียนอายุ 15 ปี ซื้อตั๋วดูหนังราคา 200 บาท นั่งชมเพลิดเพลินกับเพื่อน ๆ หรือครอบครัว เป็นเวลา 2 ชม. จบมารู้สึกประทับใจ
ตรงกันข้ามกับเกม คุณต้องซื้อเกม ในราคาถึง 1,599 บาท ซึ่งเนื้อเรื่องดีก็จริง แต่คุณต้องสลับกับการเล่นกับการชมคัตซีน ทำให้เนื้อเรื่องไม่มีความต่อเนื่องรวมไปคุณจะต้องเล่นเกมเพื่อให้เนื้อเรื่องดำเนินต่อไปด้วย ซึ่งถ้าคุณทำงานเหนื่อย ๆ ทุกวันประมาณ 2-3 ทุ่ม รวมถึงต้องทำงาน ทำการบ้าน นั้นก็หมายความคุณแทบจะไม่มีเวลาให้กับการเล่นเลย แถมการเล่นเกมจะต้องใช้พลังงานอีกด้วย (เหนื่อยกว่าเดิมเข้าไปอีก) ไม่เหมือนภาพยนตร์ที่เพียงแค่นั่งชมบนโซฟา กินป๊อปคอร์นอย่างสนุกสนานแถมไม่ต้องใช้พลังงานร่างกายให้เปลือง เพราะฉะนั้นการนั่งชมจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการที่เสพเนื้อเรื่อง และมองข้ามการเล่นออกไป
Amy Hennig มือเขียนบทระดับตำนาน ของวงการเกม ออกมาระบุว่าปัญหาเหตุผลที่ Singleplayer กำลังจะตายเพราะ เกมเมอร์อยากได้เกมเนื้อเรื่อง แต่ไม่อยากเสียเงินไปดูคนอื่นเล่นแทน จนได้กลายเป็นวาทะที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงในวงการเกมทุกระดับจนถึงทุกวันนี้
แต่ไม่ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสียเลย ข้อดีก็มี เพราะโลกของอินเตอร์เน็ตที่มีโซเซียลมีเดียที่มากขึ้น นั้นก็หมายความว่าคนทั่วไปสามารถเข้าถึงเกมได้มากขึ้นเช่นกัน
เกมบางเกม สามารถสร้างชื่อเสียง สร้างไวรัล การโปรโมทที่มีประสิทธิภาพ เป็นการบอกต่อปากต่อปากในโลกออนไลน์ในช่วงระยะเวลานั้นว่า เกมมีดีอย่างไรเพราะอะไร จนทำให้คนมีความสนใจสามารถตัดสินซื้อเกมนี้ดีหรือไม่ บางคนอาจจะตัดสินซื้อหลังจากที่ดู Walktrough โดยสตรีมเมอร์ หรือการบอกต่อจากบุคคลมีชื่อเสียง เช่น ดารา นักร้อง นักกีฬา ศิลปิน เป็นต้น
ฉะนั้นทางทีมงานยังคงต้องพึ่งแรงโซเซียลมีเดียเพื่อผลักดันให้เกมเป็นที่รู้จักให้หลากหลายรูปแบบให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะ Twitch หรือ Youtube โดยการโปรโมทโชว์ Footage โชว์เนื้อหาบางส่วน, อัพโหลด Trailer ต่าง ๆ หรือส่งเกมก็อปปี้ให้กับเหล่า Youtuber เพื่อให้นำมารีวิวโปรโมทเกมทางอ้อม โดยการเล่นสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ชม
โดยรวมแล้ว เป็นเรื่องที่มีข้อดีและข้อเสียปน ๆ กันไป ไม่มีใครถูกหรือผิด เพราะขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของการใช้ชีวิตแต่ละคนที่ไม่สามารถห้ามกันได้ ฉะนั้นสิ่งที่ทำให้เกมประสบความสำเร็จได้ส่วนหนึ่ง เพราะการโฆษณาโปรโมทเกมอย่างมีประสิทธิภาพ ภาพลักษณ์เกมออกมาทำดูดี และการดูแลพูดคุยกับผู้บริโภค
กลายเป็นว่าทั้งหมดเชื่อมต่อไปทางโลกออนไลน์ เพราะถ้าการทำเกมโหมด Singleplayer มีเนื้อเรื่องจะมีความเสี่ยงมาก ทางเลือกสุดท้าย ก็คือการพัฒนาโหมดผู้เล่นเล่นหลายคนอย่างเต็มกำลัง ถึงแม้อาจจะสร้างความไม่พอใจกับเกมเมอร์บางส่วน แต่มันสามารถทำกำไรได้ในระยะยาว และไม่ต้องใช้งบไปกับทำเนื้อเรื่อง
แต่บางเกมมีเนื้อหา Singleplayer เป็นเพียงแค่โหมดตัวประกอบ ในขณะที่ Multiplayer กลับโด่ดเด่นและน่าดึงดูดกว่า บางเกมก็ไม่รู้จะมี Multiplayer ไปทำไม เพราะใส่มาก็เหมือนใส่เพื่อเล่นกับเพื่อนขำ ๆ 10 นาทีจบ ไม่ซีเรียสก็เยอะเเยะไป
แล้วทำไมเกมเน้นหรือพยายามให้มีโหมด Multiplayer มากขึ้น ? (แบบสั้น ๆ)
- ลดต้นทุนงบประมาณ ประหยัด คืนกำไรได้ระยะยาว – ไม่จำเป็นจะต้องจ้างมืออาชีพเฉพาะทาง และสามารถทุ่มไปกับระบบเกมทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งสตูดิโอเกมเป็นงานถนัดอยู่แล้ว อาจจะต้องจ้างพวกศิลปินอยู่บ้าง แต่โดยรวมก็ยังไม่จ่ายเยอะเท่ากับจ่ายนักแสดง นักเขียนบท นักเขียน Storyboard อยู่ดี ถ้าเป็นเกมประเภท F2P ระบบ Microtransections เป็นเรื่องปกติ ตราบใดที่ระบบนี้ไม่ทำให้เกมสูญเสียสมดุลมากเกินไป การจ่ายเงินเพื่อให้ตัวเองดูเท่สวย จึงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และสามารถทำกำไรได้ตลอดเวลา
- การแข่งขัน ประลองความท้าทายระหว่างผู้เล่นด้วยกันเอง – เป็นการรักษาผู้เล่นได้ในระยะยาว เพราะระบบ Multiplayer เป็นระบบสังคมที่จะพบปะกับคนหลากหลายประเภท ผู้เล่นหน้าใหม่ ผู้เล่นเก่ง ซึ่งทำให้เกมมีความท้าท้าย และมีสีสันอยู่ตลอดเวลา
- ใช้อินเตอร์เน็ตป้องกันเกมเถื่อน – โดยเฉพาะเกมที่ให้ความสำคัญทั้ง Singleplayer และ Multiplayer ซึ่งถ้าคุณเล่นเกมเถื่อนก็เท่ากับว่าพลาดเนื้อหาในเกมมากกว่า 50% เพราะไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาได้บางส่วน ฉะนั้นการที่เกมพยายามให้มี Multiplayer อาจจะเพื่อที่จะให้ผลักดันให้มีระบบการป้องกันการเจาะเกมเถื่อนอย่าง Denuvo หรือบางเกมจะมีการบังคับออนไลน์เพื่อที่สามารถดำเนินการเล่นเกมต่อได้ อย่าง Need for Speed 2016 เป็นต้น
- สามารถใช้เป็นกระแสโซเซียล สร้างไวรัลได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเนื้อหาของเกม – เพราะเดิมทีเกมเล่นหลายคน จะเน้นไปในทางระบบการเล่นเป็นหลักซะมากกว่า ฉะนั้นการสตรีมมิ่งเกม Multiplayer ส่งผลดีต่อโซเซียลเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากไม่ต้องกลัวสปอยส์เนื้อเรื่องให้กับผู้เล่นคนอื่น (เพราะมันไม่มี หรือไม่เน้น) แถมทำให้เกมเป็นที่รู้จักมากขึ้นในเชิงเอนเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งเป็นชนะทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้พัฒนาและผู้เล่นเกม
โดยรวมสุดท้ายแล้ว วงการเกมก็คือเรื่องของธุรกิจไปแล้วในยุคปัจจุบัน การหวังผลกำไรต้องมาก่อนผู้เล่นอยู่เสมอ ส่วนไหนของเกมที่คิดว่าไม่ผ่านหรือไม่น่าจะได้ผล คือ ต้องยกเลิกพับโปรเจคไม่ว่าไอเดียของเกมจะดีแค่ไหนก็ตามโดยไม่มีข้อแม้ จนทำให้พวกเราต้องพลาดเกมดี ๆ หลายเกมไม่ว่าจะเป็น SILENT HILLS (โดย Hideo Kojima), Star Wars (Visceral Games) หรืออื่น ๆ อีกมากมาย
เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้เกม Singleplayer เนื้อเรื่องอยู่รอดต่อไป ? คำตอบก็คือ ทั้งผู้เล่นและผู้พัฒนาจะต้องช่วยเหลือจับมือกัน ไม่ว่าจะการพัฒนาเกมให้มีคุณภาพด้วยใจรัก การสนับสนุนอุดหนุนเกมแท้ และพร้อมที่จะพูดคุยปรึกษาสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทีมงานและผู้เล่นอยู่เสมอ เพียงเท่าทีเกม Singleplayer เน้นเนื้อเรื่องก็ไม่มีทางลืมเลือนหายไปจากตลาดเกมอย่างแน่นอน