PUBG กับ Fortnite ได้สร้างปรากฏการณ์แห่งวีดีโอเกมทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าเพราะความนิยมของเกม Battle Royale ทำให้ทีมผู้พัฒนาอินดี้มากมายพยายามที่จะสร้างเกมประเภทนี้แล้วคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จตาม แต่ผลลัพธ์กลับไปไม่ถึงฝัน เพราะไม่ว่าจะวิธีไหนตัวเกมไม่สามารถดันให้ชื่อเกมเป็นที่รู้จักมากขึ้น ในขณะที่ PUBG กับ Fortnite ยังคงซัดกันอย่างสูสีและไม่มีท่าทีว่ากระแสของเกมดับลง
นี่คือบทความ ทำไมเกม Battle Royale ถึงไม่เป็นที่นิยมนอกเหนือจาก PUBG กับ Fortnite
การโฆษณาโปรโมททั้งสองเกมเหนือชั้นกว่ามาก
มาตรฐานที่ทีมงานในวงการเกมควรรู้เป็นพื้นฐานว่า การโฆษณาและดูแลเอาใจใส่ตัวเกมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับเกมทุกเกม ต่อให้เกมจะเปิดเล่นฟรีให้ทุกคนเล่น แต่ถ้าไม่มีการโปรโมท มันก็ไร้ประโยชน์
PUBG โด่งดังสุด ๆ เพราะกระแสจากม็อด Arma 3 และเป็นหนึ่งในเกมที่ขึ้นแท่นเป็นผู้เข้าชิง GOTY 2017 ส่วน Fortnite มีชื่อเสียงรับประกันคุณภาพเกมด้วยบริษัท Epic Games ที่มีผลงาน Unreal Tournament ซึ่งทั้งสองเกมยังคง Active และมีอัปเดทตัวเกมพร้อมกับการโฆษณาที่มีความน่าสนใจด้วยงานโปรดักชั่นดีเด่นมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างเช่น The Culling 2 ซึ่งเกม Battle Royale ที่ล้มเหลวตลอดกาล เพราะไม่มีการโฆษณาใด ๆ นอกจากข้อความกับภาพ ทำให้เกมนี้มีผู้เล่นเพียงแค่ 2 คนเท่านั้นในช่วงวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แล้วจากนั้นเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ เกม The Culling 2 ได้ปิดบริการโดยไม่มีใครเหลียวแล
สตรีมเมอร์ชื่อดังมีเกมของตัวเอง นอกเหนือจากนั้นคือนอกสายตา
ทั้ง PUBG และ Fortnite มีจุดเริ่มต้นความโด่งดังเหมือนกับเกม Multiplayer ทุกเกม ก็คือมาจากการถ่ายทอดสดสตรีมมิ่ง แต่สองเกมนี้มีความพิเศษตรงที่มีการแยกฝั่งเฉพาะกลุ่มอย่างชัดเจน สำหรับฝั่ง PUBG มีสตรีมเมอร์ Shroud กับ Dr.Disrespect ในขณะที่ Fortnite มี Ninja กับ Dakotaz
ซึ่งเกมทั้งสองฝั่งมียอดวิวถ่ายทอดสดผ่าน Twitch อย่างร้อนระอุ เนื่องจากสตรีมเมอร์ระดับท็อปทั้งสองฝั่ง เคยมีชื่อเสียงในวงการเกมมิ่งมาก่อน (Shroud เป็นอดีตผู้เล่น eSports ให้กับเกม CS:GO ส่วน Ninja เป็นอดีตโปรเพลเยอร์ให้กับเกม Halo และชนะการแข่งขันเกมมามากมาย รวมไปถึงตอนนี้เป็นสตรีมเมอร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดอีกด้วย) ทำให้เกมเมอร์หลายคนได้ให้ความไว้ใจในความสนุกของโปรเพลเยอร์ จึงทำให้ยอดผู้เล่นค่อย ๆ ทยอยสูงขึ้นทุกเดือน (และก็ลดลงด้วยเช่นกัน)
H1Z1 ก็เคยเป็นหนึ่งในเกม Battle Royale ที่เกือบจะรุ่ง เพราะว่าสตรีมเมอร์ Ninja เคยเล่นถ่ายทอดสดเกมนี้เป็นประจำ แต่เมื่อเขาได้ย้ายไปเล่นเกม Fortnite จนสร้างชื่อเสียงเกมดังกล่าวจนพลุแตก ส่งผลกระทบทำให้เกม H1Z1 มียอดผู้เล่นตกต่ำอย่างต่อเนื่องจนถึงขีดสุด จนล่าสุดเกมก็เริ่มเข้าสู่วิกฤตจน อีเว้นท์ H1Z1’s Esports League ล่มหลังจากแข่งไปได้เพียงครึ่งฤดูกาล ซึ่งก็เป็นตัวอย่างที่แสดงได้เห็นชัดว่า เกม Battle Royale ที่ไม่มีสตรีมเมอร์ให้ความสนใจ ก็ไม่ต่างอะไรจากเกมผี
ความเป็นออริจินัล (สำหรับ PUBG)
PUBG เป็นเกมแรกที่ระบุว่าเป็นเกม Battle Royale ในรูปแบบเกมเต็ม โดย Brendan Greene ผู้พัฒนาที่เคยมีประสบการณ์จากการสร้างม็อดอย่าง DayZ จากเกม Arma 2 และ PlayerUnknown Battle Royale ในเกม Arma 3 ซึ่งทั้งสองเป็นม็อดที่สร้างปรากฏการณ์ในวงการเกมทั่วโลก โดยความจริงแล้ว The Culling เป็นเกมแรกที่เป็นประเภท Battle Royale ตั้งแต่ปี 2016 แต่ไม่กลับบูมเท่า PUBG
หลังจากเกม PUBG ได้ประกาศเปิดตัวเกมอย่างเป็นทางการในปี 2017 ในฐานะ Steam Early Access เพราะกระแสม็อด PlayerUnknown Battle Royale ยังคงแรง และเป็นเกมแรกที่ใช้ชื่อประเภทว่า “Battle Royale” ทำให้เกมเมอร์ทั่วโลกรับความสนใจเกม PUBG เป็นจำนวนมาก โดยเพียงแค่หนึ่งปี ตัวเกมสามารถขายได้ 30 ล้านก็อปปี้ และสามารถสร้างสถิติผู้เล่นเยอะสุดถึง 3.2 ล้านคนใน Steam ตลอดปี 2017
เพราะความนิยมของเกม PUBG ทำให้ทีมผู้พัฒนาอินดี้หลายคนต่างพยายามจะทำเกมตามกระแส แต่ไม่ได้ศึกษาเลยว่าสร้างเกม Battle Royale อย่างไรให้คนคงอยู่ได้เล่นนาน เพราะว่าเกมประเภทนี้มีกฎเกมการเล่นที่ตายตัวก็คือ “การเอาชีวิตรอดในเกาะใหญ่” ทำให้เกม Battle Royale ทุกเกมรู้สึกเหมือนกันไปหมด แตกต่างเพียงแค่ขนาดแผนที่กับการนำเสนอเท่านั้น
ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้เล่นจึงเลือกเล่นเกม PUBG ต่อไป เพราะเป็นเกมออริจินัล ทำให้ Battle Royale น้องใหม่ที่มีระบบดีกว่าไม่สามารถดันความนิยมให้เป็นที่รู้จักขึ้น เพราะผู้เล่นยังคงมองว่าเป็นเกมอื่นเป็น “เกมตามกระแส” หรือ “PUBG โคลน”
เหล่าดาราให้ความสนใจ ก็เท่ากับชัยชนะ (สำหรับ Fortnite)
กรณีของเกม Fortnite ก็ต้องบอกเลยว่ามีกระแสโด่งดังเกือบเทียบเท่ากับ PUBG ด้วยสตรีมเมอร์ Twitch ชื่อดังมากมายไม่ว่าจะเป็น Ninja, Dakotaz, SypherPK หรือสตรีมเมอร์คนอื่น ๆ มากมาย
แต่จุดพลิกผันของเกม Fortnite ที่แท้จริง เริ่มต้นที่นักร้องแร็ปเปอร์ชื่อดังอย่าง Drake ได้เปิดเผยถึงงานอดิเรกของตนว่าเล่นเกม Fortnite เป็นเวลาว่าง และรวมไปถึงได้รับเกียรติเป็นแขกรับเชิญเล่นเกมร่วมกันระหว่าง Ninja กับ Drake จนสร้างกระแสเกมโด่งดังไปทั่วโลก และพร้อมกับทำลายสถิติยอดคนดูถ่ายทอดสดถึง 667,000 คน ในงานอีเว้นท์ Ninja Vegas 2018
นอกจากนี้แล้ว เกม Fortnite ยังเป็นสิ่งที่หลายคนพูดถึงทั้งในวงการเกมและสื่อบันเทิงอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่น PUBG ฟ้องเกม Fortnite ในข้อหาลอกไอเดีย (ตอนนี้ยกเลิกไปแล้ว) , ท่า Emote ต่าง ๆ ในเกมที่มักจะเห็นนักกีฬาในชีวิตจริงชอบนำไปใช้เป็น Victory Pose หรือแม้กระทั่ง ประธานาธิบดีนอร์เวย์ยังเล่นเกม Fortnite เลย
จึงทำให้ Fortnite กลายเป็นเกมแมสในพริบตา เนื่องจากไม่ใช่เพียงแค่เป็นสื่อที่พูดถึงเฉพาะในวงการเกมเท่านั้น แต่เป็นสื่อที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ด้วยอิทธิพลของเซเลบชื่อดังเป็นที่รู้จักทั่วโลก และเกม Fortnite เป็นเกมเล่นฟรี จึงทำให้เกมนี้สามารถเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เล่นกันอย่างง่ายดาย
สรุป: สังคมจะเป็นตัวตัดสินชะตากรรมของเกม Battle Royale
ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้ทั้งสองเกมที่ Player Base ที่เยอะมหาศาล เกมประเภท Battle Royale จะอยู่รอดได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเกมจะสามารถสร้างกระแสได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเท่าที่สังเกตมาตลอด จะมีเพียงแต่เกม PUBG และ Fortnite เท่านั้นที่ยังนิยม และรวมไปถึงเหล่าดาราหรือสตรีมเมอร์ชื่อดังที่เปรียบเสมือนเป็นการโปรโมทตัวเกมได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ๆ ที่จะช่วยดันรักษาฐานผู้เล่นไว้ได้
ซึ่งนอกเหนือจากสองเกมดังแล้ว ไม่มีเกม Battle Royale ตัวไหนจะสามารถไปถึงจุดนั้นหรือเกือบเทียบเท่าได้ซักเกม เพราะ Player Base ที่น้อย และไม่มีท่าทีจะเพิ่มขึ้น (มีแต่ลดลง) จึงเป็นเหตุให้เกม Battle Royale หลายเกมเริ่มทยอยตายจากไปเพราะเกม “แมส” ไม่พอครับ