ในปัจจุบัน เกมประเภท Singleplayer บางเกม มีการสร้างฟีเจอร์บังคับเชื่อมต่อออนไลน์ตลอดระหว่างการเล่น ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับเกมเมอร์หลายฝ่าย เพราะเป็นการเพิ่มความยากลำบากในการเล่นเกมโดยไม่ใช่เหตุ
แต่เพราะอะไร ทำไมทีมพัฒนาเกมบางทีมจึงใช้ระบบดังกล่าวทั้งที่มันไม่ส่งผลดีต่อผู้เล่นแม้แต่นิดเดียว บทความนี้จะทำให้คุณเคลียร์กระจ่างมากขึ้นเอง
ทำไมผู้เล่นจึงไม่ชอบการบังคับเล่นออนไลน์ใน Singleplayer
ช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา หรือช่วงสมัยที่เกมแนว Multiplayer ยังไม่ได้รับความนิยม ตอนนั้น อินเทอร์เน็ตยังคงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างไกลตัว และยังไม่ใช่อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เกมเมอร์ส่วนใหญ่จึงใช้เวลากับการเล่นเกมประเภท Singleplayer เป็นหลัก ซึ่งเกมประเภทดังกล่าวไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ต เพียงแค่นำแผ่นเกมใส่เข้าไปในเครื่องเกมคอนโซล หรือ PC ก็สามารถเล่นได้ทันที
แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากอินเทอร์เน็ตกลายเป็นอุปกรณ์ในชีวิตประจำวัน และสามารถเข้าถึงได้ทุกคนทุกชนชั้น จนส่งผลทำให้เกมประเภท Multiplayer ได้รับความนิยม และถือกำเนิดแพลตฟอร์มร้านค้าขายเกมแบบดิจิทัลดาวน์โหลดมากมาย เช่น Steam, Epic Games Store กับ Green Man Gaming ทางทีมพัฒนาเกมบางแห่ง จึงได้ตัดสินใจสร้างระบบบางอย่าง เพื่อบังคับต้องต่ออินเทอร์เน็ตในการเล่นเกมทุกครั้ง ไม่ว่าเกมนั้นจะเป็น Singleplayer และ Multiplayer ก็ตาม
ซึ่งแน่นอนว่าเกมเมอร์หลายฝ่ายต่างไม่พอใจกับระบบบังคับต่ออินเทอร์เน็ตในการเล่นเกม Singleplayer เพราะส่งผลทำให้การเล่นเกมเข้าถึงยากกว่าเดิมโดยไม่ใช่เหตุ ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าถ้าหากบ้านของผู้ใช้ถูกตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตชั่วคราว เกมเมอร์จะไม่สามารถเล่นเกม Singleplayer บางเกม เพราะตัวเกมมีการบังคับให้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในการเข้าเกม แม้เกมนั้นจะเป็น Singleplayer ที่ไม่จำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตในการบันทึกไฟล์เซฟ
ทำไม Singleplayer ต้องบังคับออนไลน์
ปัจจุบัน แม้ระบบการบังคับเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในการเล่นเกม Singleplayer ได้รับความนิยมลดลง เนื่องจากมีกระแสต่อต้านจากเกมเมอร์เป็นจำนวนมาก รวมถึงสื่อเกมหลายแห่งได้ยกฟีเจอร์ข้อเสียที่อาจส่งผลต่อคะแนนรีวิวลดลง แต่เกมบางเกมไม่ว่าจะเป็นเกมระดับ AAA และเกมอินดี้บางส่วนยังคงใช้ระบบบังคับต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งจะมีสาเหตุหลัก 2 ข้อดังนี้
ป้องกันลิขสิทธิ์เกม ไม่ให้ตกอยู่ในมือของโจรสลัดได้ง่าย ๆ
บางทีมพัฒนาเกมใช้วิธีการใส่ระบบ DRM (Digital Rights Management) หรือระบบบางอย่างที่เป็นการบังคับให้เกมต้องเชื่อมต่อออนไลน์ เพื่อป้องกันไม่ให้เหล่าแฮ็กเกอร์สามารถเจาะ Crack แล้วนำตัวเกมไปปล่อยดาวน์โหลดฟรีแบบผิดลิขสิทธิ์ อย่างเช่น Pirate Bays ได้ง่าย ๆ หรือป้องกันการเข้าถึงคอนเทนต์สำคัญบางส่วนที่ไม่สามารถเข้าได้ หากไม่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต
ซึ่งหนึ่งในระบบ DRM ที่ทีมพัฒนาเกมนิยมใช้งานมากที่สุด คือ Denuvo Anti-Tamper หรือซอฟต์แวร์ป้องกันการเจาะเถื่อน ที่มีคุณสมบัติเป็นการบังคับให้ผู้เล่นต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตก่อนเล่นเกมทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าวนอกจากจะบังคับต้องต่ออินเทอร์เน็ตแล้ว ยังส่งผลลัพธ์ทำให้ประสิทธิภาพการเล่นเกมลดลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากเกมเมอร์ได้ทดสอบในเกม Final Fantasy XV พบว่าเกมเวอร์ชันที่ไม่มี Denuvo สามารถรันภาพได้ลื่นไหลกว่า เวอร์ชัน Denuvo หลายเท่าตัว
นอกจากนี้ หากอ้างอิงจากการรายงานข่าวเกมหลายแห่ง จะพบว่าระบบ Denuvo ไม่สามารถป้องกันการเจาะเถื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอ โดยเกมบางเกมวางจำหน่ายเพียงแค่ 3 วัน ก็ถูกเจาะเถื่อนได้เป็นที่เรียบร้อย หรือบางเกมได้ถอดระบบ Denuvo ออก หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาจำหน่ายเกมไประยะหนึ่ง ทำให้เกมเมอร์หลายคนต่อต้านระบบดังกล่าว เพราะทำให้การเล่นเกมยากลำบาก และกินทรัพยากร PC เกินความจำเป็น
บางเกมต้องบันทึกข้อมูลแบบเรียลไทม์ และระบบโซเชียลในเกม
เนื่องจากเกมประเภท Multiplayer ได้สร้างจุดเปลี่ยนของวงการเกมไปตลอดเวลา ทำให้เกม Singleplayer บางเกม จึงเริ่มสร้างระบบ Leaderboard เพื่อให้ผู้เล่นได้แข่งขันสร้างสถิติ Singleplayer พร้อมกันทั่วโลก และเพิ่ม Replay Value (คุณค่าในการนำเกมกลับมาเล่นซ้ำอีกครั้ง) เช่น HITMAN และ Need for Speed 2015 เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม ระบบ Leaderboard ก็ส่งผลลัพธ์ทำให้ “บางเกม” จำเป็นต้องเชื่อมต่อออนไลน์ตลอดเวลา เพื่อเกมสามารถบันทึกข้อมูลของผู้เล่นลงเซิร์ฟเวอร์แบบเรียลไทม์ และแน่นอนว่าการใส่ระบบดังกล่าว ก็ถือเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งที่ช่วยป้องกันการเจาะ Crack ให้ยากขึ้น และเป็นการเชิญชวนทางอ้อมให้ผู้เล่นบางคนสนับสนุนเกมแบบถูกลิขสิทธิ์ เพื่อพวกเขาจะได้เข้าถึงคอนเทนต์ในส่วนของออนไลน์ได้
นอกจากนี้ ระบบโซเชียลต่าง ๆ ได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อวิดีโอเกมมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่นระบบ PvP หรือเชิญร่วมเล่นเกม 2 คนในเกมซีรีส์? Dark Souls หรือระบบ Achievement, Diary Challenge กับ Weekly Challenge ที่เห็นได้ตามเกมที่ให้บริการแบบ Games As A Service ซึ่งมีการอัปเดตคอนเทนต์ในระยะยาว ซึ่งทำให้ประสบการณ์การเล่นเกมแบบ Solo ไม่เงียบเหงาจนเกินไป
หลังจากเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด สามารถสรุปได้ว่าสาเหตุหลักที่เกม Singleplayer หลายเกมเริ่มใส่ระบบบางอย่างที่เอื้อต่อการบังคับออนไลน์ ก็เพราะต้องการต่อสู้กับนักปล่อยเกมเถื่อน เพื่อไม่ให้ขโมยเกมของเขาไปปล่อยให้ดาวน์โหลดฟรีผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ รวมถึงอิทธิพลของเกมแนว Multiplayer ก็ส่งผลทำให้เกม Singleplayer บางเกมได้เพิ่มระบบโซเชียลเข้ามา
ซึ่งแน่นอนว่าการกระทำครั้งนี้ ได้เกิดขึ้นเป็นเพราะการสร้างเกม Singleplayer ใช้ต้นทุนที่สูงขึ้นจากอดีตหลายเท่า ทำให้ทีมพัฒนาหลายแห่ง เริ่มใช้มาตรการป้องกันต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกมของเขาต้องขาดทุน เพราะการละเมิดลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาด หรือทำให้เกมมี Replay Value มากขึ้นด้วยการสร้างระบบโซเชียล
แม้ยังไม่มีวี่แววว่าระบบบังคับออนไลน์ในเกม Singleplayer จะหายไปเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากมันยังคงเป็นหนึ่งในวิธีที่สามารถป้องกันการเจาะเถื่อนที่ทำได้ง่าย แต่มีประสิทธิภาพ และทั้งยังเป็นโอกาสสร้างรายได้เสริมจากการขาย Microtransactions แต่หากเทียบกับเกมในช่วงต้นปี 2010 จนถึงปลายปี 2019 จะสังเกตว่าระบบการบังคับออนไลน์ เริ่มรับความนิยมลดลง หลังจากมีฟีตแบคโดยกลุ่มผู้เล่นและสื่อเกมต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ในอนาคต ระบบการบังคับออนไลน์จะกลับมาในรับนิยมมากขึ้น หรือหายจนสาบสิ้นนั้น ก็คงต้องรอดูกันต่อไป