BY SEPTH
18 May 14 1:12 pm

บัณเฑาะก์เยือนเกาะ

2 Views

บทบาทของเพศทางเลือกจากการเปิดตัว Far Cry 4

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาได้มีการเปิดตัวเกมดังที่สร้างชื่อจาก CryTek มาตั้งแต่ปี 2004ก่อนที่จะทิ้งคราบไว้ให้ Ubisoft นำไปต่อยอดเอาเองที่มีมาแล้วถึง 2 ภาคก่อนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ภาคที่ 4 ทิ้งช่วงได้ไม่นานนักนับจากปลายปี 2012

การเปิดตัวของภาคนี้ใช้การเปิดตัวผู้ร้ายก่อนที่จะพูดถึงตัวเอกเหมือนกับภาค 3 แต่สิ่งที่น่าสนใจของภาคนี้คือการปรับโฉมของตัวร้ายหลัก ให้กลายเป็นคนที่แต่งตัวและมีบุคลิกเข้าข่าย เพศที่สาม หรือที่หลายคนให้ความเห็นตรงกันสังคมออนไลน์ว่าตุ๊ด อันผิดจากภาคก่อนๆที่เปี่ยมล้นไปด้วยพลังของความเป็นชาย (Masculinity)

การผลักดันให้ภาพลักษณ์แบบนี้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นก็เป็นอีกก้าวหนึ่งที่แวดวงการพัฒนาเกมไม่ค่อยได้มีการนำเสนอมากนักในสมัยก่อน ที่เป็นเรื่องของหญิงชาย (Heterosexuality) เป็นการสร้างพื้นที่ให้ความ queer ให้มีพลัง เพราะคำว่าตุ๊ด หรือแต๋ว ถูกสร้างให้เป็นภาพแทนของความอ่อนแอ เพราะเพศทางเลือกนี้เป็นความก้ำกึ่งระหว่างสองเพศที่ไม่ได้ไปซักทาง ที่นำไปสู่ความลังเลและไม่แน่นอน ผิดกับเพศใดเป็นหนึ่งที่เหมือนกับว่ามีเป้าหมายอันแน่ชัด

ภาพเปิดตัว FarCry 4

ภาพเปิดตัว FarCry 4

ภาพที่ถูกนำเสนอในการเปิดตัวจึงเป็นการสร้างความสั่นสะเทือนให้กับความเป็นชาย ด้วยท่วงท่าภาพลักษณ์ของตัวร้ายอันมาดมั่นที่ตั้งอยู่เหนือโจรอีกคนที่ให้ลักษณะของการสยบสยอมและกุมระเบิดมือเสมือนกล่องดวงใจ อันมีฉากหลังเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์และป่าเขาในแบบที่ไม่ต่างจากภาคก่อน

ไม่ใช่เพียง FarCry ที่พูดถึงเรื่องแบบนี้ แต่เมื่อไม่นานที่ผ่านมาก็ได้มีข่าวที่ทาง Nintendo ออกมาขอโทษที่ไม่ได้ปล่อยให้มีการแต่งงานเพศเดียวกันในเกม Tomodachi Life (1) ที่ผู้เล่นไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์แบบโรแมนติกแก่ผู้เล่นที่เป็นเพศเดียวกันได้ อันเป็นการสร้างความแปลกแยกให้แก่ชาว LGBT (lesbian, gay, bisexual, and transgender) โดยล่าสุดทางผู้พัฒนาก็ได้ออกมาขอโทษและกล่าวว่าจะพัฒนาให้ดีขึ้นในเวอร์ชันต่อไป

Tomodachi Life (2014)

Tomodachi Life (2014)

นอกจากนี้ ผลงานเกมที่ถูกพัฒนาขึ้นที่ผ่านมาหลายเกมได้ถูกอ่านแบบ Queer หรือไม่ก็ถูก จิ้น (ตามภาษาบ้านเรา) ไม่ว่าจะเป็น Gears of War (คู่ของ Marcus-Don) ซีรีย์ Arkham (คู่ Batman-Joker) หรือกระทั่งตัวเอกและตัวร้ายใน FarCry 3 เอง เหมือนกับที่มีการตั้งข้อสงสัยในแง่นี้ของ The Great Gatsby (2013) ในฉบับภาพยนตร์ของ Baz Luhrmann

Batman: Arkham City (2011)

Batman: Arkham City (2011)

แม้จะมีความเป็นไปได้ว่าไม่ได้เป็น หรือตัวละครนี้อาจเป็นเพียงผู้ชายเจ้าสำอาง แต่กระแสตอบรับที่เกิดขึ้นก็ได้สร้างมุมมองใหม่ๆ และเป็นการเน้นย้ำถึงพื้นที่ในการเล่นเกมของเพศทางเลือกว่าตุ๊ดก็เล่นเกม

Kittipong Songkasri

เป้ง - Content Writer

Back to top