ผู้เล่นอาจเข้าใจว่าเกม Exclusive หมายถึงเกมวางจำหน่ายแบบเบ็ดเสร็จเฉพาะแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว คำว่าเกม Exclusive มันมีแยกเป็นอีกหลายประเภทมากกว่าที่คาดคิดไว้
แล้วเกม Exclusive มีชื่อเรียกอะไรบ้าง บทความนี้จะให้คำตอบแก่ผู้อ่านแบบใสกระจ่าง ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ บางส่วนอ้างอิงมาจากเว็บไซต์ Gematsu
Full Exclusive
Full Exclusive เป็นเกมวางจำหน่ายเฉพาะเครื่องคอนโซลเครื่องใดเครื่องหนึ่งเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นเกมที่ทางบริษัทให้งบต้นทุนเพื่อนำไปสร้างผลงานเกม แต่ต้องแลกเปลี่ยนด้วยข้อตกลงการค้าขายแบบเบ็ดเสร็จลงเฉพาะแพลตฟอร์มเดียว โดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ทั้งสิ้น
ยกตัวอย่างเช่น เกม God of War (2018)ที่พัฒนาโดย Santa Monica Studio โดยทีมงานดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลและออกงบทุนบริษัท Sony จึงทำให้เกมดังกล่าวต้องบังคับลงแพลตฟอร์ม PlayStation 4 เท่านั้น
ซึ่งความจริงแล้วเกม Detroit Become Human เคยเป็นหนึ่งในเกม Full Exclusive ของ PlayStation 4 มาก่อน แต่ทว่าหลังจากทีมงาน Quantic Dream ประกาศจับมือกับ NetEase เพื่อพอร์ตเกมลงระบบ PC จึงทำให้เกมดังกล่าวไม่ใช่เป็นเกมฐานะ Full Exclusive อีกต่อไป
Platform Exclusive
Platform Exclusive เป็นเกมวางจำหน่ายเฉพาะแพลตฟอร์มของตัวเอง โดยตัวเกมอาจจะมีการพอร์ตลงเครื่องคอนโซลรุ่นอื่น ๆ ในครอบครัวเดียวกันตามมา แต่ตัวเกมยังคงเป็นการค้าขายแบบเบ็ดเสร็จที่สามารถหาเล่นได่เฉพาะบางแพลตฟอร์มเท่านั้น
ยกตัวอย่างเห็นได้ชัดคือเกมของ Nintendo Wii U จำนวนมากได้รับการพอร์ตลง Nintendo Switch เช่น The Legend of Zelda: Breath of the Wild ซึ่งเป็นเกมเปิดตัวเดบิวต์พร้อมกับเครื่อง Switch แต่ก็เปิดโอกาสให้ผู้ครอบครอง Wii U ลองสัมผัสเกมนี้เช่นกัน หรือตรงกันข้ามที่ Bayonetta 2 เป็นเคยเกม Exclusive เฉพาะ Nintendo Wii U ได้รับการพอร์ตลง Switch ในปี 2018
หรืออีกเคสหนึ่งคือเกม The Last of Us เคยออกวางจำหน่ายบนเครื่อง PlayStation 3 เท่านั้น แต่เวลาต่อมาตัวเกมได้รับการ Remastered ลงเครื่อง PlayStation 4 เพื่อให้ภาพมีความคมชัดและวิ่งได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
Brand Exclusive
Brand Exclusive เป็นเกมวางจำหน่ายเฉพาะเครื่องคอนโซลทุกชนิดที่อยู่ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง ซึ่งไม่จำกัดเพียงแค่เครื่องเล่นเกมอย่างเดียว แต่รวมไปถึงโทรศัพท์มือถือ หรือระบบ PC ที่จัดว่าเป็นคอนโซลโดยรวมชนิดหนึ่งอีกด้วย
ยกตัวอย่างในตอนนี้ ส่วนใหญ่เกมประเภท Brand Exclusive เป็นเกมของค่าย Microsoft Studios เริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างเกมที่สามารถเล่นผ่านระบบ PC กับ Xbox One ซึ่งมีคุณสมบัติในการเล่นข้ามแพลตฟอร์ม
ไม่ว่าจะเป็นเกม Forza Horizon 4 กับ Gears of War 4 ซึ่งเป็นภาคแรกประกาศเปิดตัวลงระบบ Microsoft Windows กับ Xbox One พร้อมกัน หรือเกม Sunset Overdrive เคยเป็น Fully Exclusive ของ Xbox One ได้รับการพอร์ตลงระบบ PC แต่ไม่มีเวอร์ชันสำหรับ PlayStation 4 เพราะถือเป็นแบรนด์คู่แข่ง
Timed Exclusive
Timed Exclusive เป็นเกมวางจำหน่ายเฉพาะบางแพลตฟอร์มในช่วงระยะเวลาจำกัด ซึ่งจะจัดระยะเวลานานมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่ข้อตกลงระหว่างตัวแทนจัดจำหน่ายกับทางร้านค้า แต่ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณหนึ่งปีขึ้นไปในการค้าขายแบบเบ็ดเสร็จ
ยกตัวอย่างย้อนกลับอดีตช่วงปี 2014 ที่เกม Rise of the Tomb Raider จะวางจำหน่ายเฉพาะแพลตฟอร์ม Xbox One ในระยะจำนวนหนึ่งปี หรือเหตุการณ์ล่าสุด ตัวแทนจำหน่าย Deep Silver ประกาศจับมือกับ Epic Games Store พร้อมถอดถอนออกจาก Steam ชั่วคราวในเวลาหนึ่งปี ซึ่งหากพ้นช่วงเวลาตามกำหนดแล้ว ตัวเกมก็สามารถค้าขายลงแพลตฟอร์มอื่นตามปกติ
การค้าเกมแบบ Timed Exclusive จัดว่าเป็นมีประเด็นร้อนกันหลายครั้งระหว่างตัวแทนจำหน่ายกับเกมเมอร์ เพราะผู้เล่นมองว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้เล่นอีกฝั่งหนึ่งด้วยการรอ ทั้ง ๆ ที่ตัวเกมดังกล่าวไม่ได้เป็น Full Exclusive ตั้งแต่แรก
Peripheral Exclusive
Peripheral Exclusive เป็นเกมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคต้องซื้ออุปกรณ์เสริมของแบรนด์เพื่อประกอบการเล่นเกม
PlayStation 4 มีแว่นตาเล่นเกม PlayStation VR, Xbox One กับ 360 มีกล้องจับการเคลื่อนไหวของร่างกาย Kinect และ Nintendo Switch มีกล่องกระดาษสำหรับเล่นเกม เพื่อมอบประสบการณ์ไม่ซ้ำใครอย่าง Nintendo Labo ซึ่งทุกอุปกรณ์และเกมล้วนมีเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองทั้งสิ้น ถ้าหากผู้เล่นต้องการดำดึงไปกับโลกของ VR หรืออยากลองสัมผัสเล่น Astro Bot: Rescue Mission เกมเมอร์จะต้องซื้อเครื่อง PS VR กับ PlayStation 4 เพื่อเกมดังกล่าวโดยเฉพาะ
Region Exclusive
Region Exclusive เป็นเกมวางจำหน่ายเฉพาะในบางภูมิภาคเท่านั้น โดยเกมเหล่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นเกมสายเลือดญี่ปุ่นหรือเอเชีย ซึ่งมีลักษณะเกมเพลย์หรือการนำเสนอที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่มและเข้าถึงยากสำหรับหลายคน
ฉะนั้นการวางจำหน่ายเกมประเภทดังกล่าวนอกเหนือจากโซนญี่ปุ่นหรือเอเชีย อาจจะไม่คุ้มค่ากับผลตอบแทนต่อผู้พัฒนาเกมและตัวแทนจำหน่าย จึงจำเป็นต้องจำกัดการวางจำหน่ายเกมภายในประเทศหรือภูมิภาคหนึ่งเพื่อรักษางบประมาณไว้
ยกตัวอย่างเช่น Dead or Alive Xtreme 3 วางจำหน่ายเฉพาะโซนเอเชียเท่านั้น หรือ Yakuza Kenzan ที่มีเพียงภาษาญี่ปุ่นเพียงภาษาเดียว และ The Idolmaster: Stella Stage ที่จัดจำหน่ายบนโซนญี่ปุ่น, จีน, ฮ่องกง, ไต้หวัน, กับเกาหลีใต้
แต่ไม่ใช่ว่าผู้เล่นต่างแดนจะไม่สามารถสัมผัสเกมเหล่านั้น เกมเมอร์จำเป็นต้องสั่งซื้อแผ่นเกมแบบ Import เพราะแม้เกมจะไม่เปิดวางจำหน่าย Digital Download ในภูมิภาค แต่กล่องเกม Retail ยังคงสามารถเล่นได้ตามปกติ