เกมสยองขวัญ เป็นหนึ่งในแนวเกมที่ได้รับความนิยมโด่งดังตั้งแต่ปี 1990 จนถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าหลายปีที่ผ่านมา เกมสยองขวัญได้มีวิวัฒนาการ จนถูกพัฒนาเป็นเกมประเภทย่อย (Sub-Genre) มากมาย เพื่อตีตลาดเกมเมอร์แต่ละกลุ่มที่มีไลฟ์สไตล์การเล่นที่แตกต่างกัน นี่คือประเภทของเกม Horror แม้สยองเหมือนกัน แต่ความหลอนที่ได้ดันต่างกัน แล้วจะมีอะไรบ้าง ก็สามารถเข้าอ่านในบทความนี้ได้เลย
Survival Horror
มาเริ่มต้นด้วยประเภทเกมสยองขวัญที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ และคาดว่าโดนใจเกมเมอร์ขาฮาร์ดคอร์ไม่ใช่น้อย อย่าง Survival Horror
Survival Horror มีความแตกต่างจากเกมสยองขวัญแท้ ๆ ตรงที่เกมเมอร์สามารถต่อสู้กับสัตว์ประหลาด ซอมบี้ หรือผีปีศาจได้ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเกมประเภทดังกล่าวส่วนใหญ่มาพร้อมกับไอเทม และทรัพยากรที่เก็บตามแผนที่ด้วยจำนวนจำกัด ทำให้หลายสถานการณ์ ผู้เล่นต้องตัดสินใจว่าจะต่อสู้ หรือหนีเพื่อประหยัดทรัพยากรไว้ ซึ่งเป็นการมอบบรรยากาศการเล่นที่กดดันแบบสุดขีด
นอกจากนี้ ในเกม Survival Horror มักมามีฟีเจอร์ “Item Management” ที่บางครั้ง เกมเมอร์ต้องยอมทิ้ง หรือวางไอเทมไว้ที่ห้องเซฟ เพื่อให้กระเป๋า (Inventory) ของเรา มีช่องว่างไว้สำหรับเก็บของที่จำเป็น เช่น กุญแจ ยาสมุนไพร กระสุนปืน และไอเทมอื่น ๆ ที่ล้วนมีความจำเป็นต่อการเอาตัวรอดทั้งสิ้น
Action Horror
หากเกมสยองขวัญเอาตัวรอด มันกดดันเกินไปสำหรับคุณ Action Horror คือเกมหลอนที่เล่นง่ายที่สุดแล้ว
Action Horror น่าจะเป็นเกมสยองที่เข้าถึงทุกคนได้มากที่สุด เพราะแนวเกมดังกล่าว มีการเน้นระบบเกมเพลย์แอ็กชันสนุกสนาน แต่ยังให้ความสำคัญในด้านการนำเสนอเนื้อหาชวนขนหัวลุก (หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Spooky)
เกมแนว Action Horror มีตัวเลือกให้เล่นมากมาย ตั้งแต่ Left 4 Dead, Dead Rising, Lolipop Chainsaw และอื่น ๆ อีกหลายไตเติล ซึ่งเกมแนวดังกล่าวส่วนใหญ่ จะเป็นเกมซอมบี้ที่ได้รับความนิยมในป๊อปคัลเจอร์ และมีการต่อสู้เร้าใจให้เกมเมอร์กำจัดเหล่าปีศาจได้อย่างง่ายดาย
ถึงอย่างนั้น บางเกมก็มีข้อยกเว้น โดยยกอย่างเช่น Dead Space ที่แม้ระบุว่าเป็นเกมแอ็กชัน-สยองขวัญ แต่ด้วยบรรยากาศของเกมที่ออกแบบมาอย่างน่ากลัว รวมถึงมีฉากเลือดสาดเป็นจำนวนมาก นี่จึงอาจเป็นเกมที่ไม่เหมาะสำหรับคนทั่วไป
Stealth Horror หรือ Horror
เป็นเกมแนวสยองขวัญที่หลายคนมักจำสับสนกันระหว่าง Horror และ Survival Horror เพราะทั้งสองแนว มีองค์ประกอบเดียวกันคือต้องเอาตัวรอดจากพวกผีปีศาจให้ได้ แต่หากมองลึกเข้าไปอีก จะสังเกตว่าเกมทั้งสองแนวจะมีวิธีเล่นที่แตกต่างกัน
ขณะที่เกม Survival Horror ผู้เล่นสามารถลองต่อสู้กับผีปีศาจ แต่ในเกม Horror คุณจะไม่สามารถตอบโต้เอาคืนพวกมันได้เลย ซึ่งทางเลือกเดียวที่จะเอาตัวรอดจากสถานการณ์ชี้เป็นชี้ตาย ก็คือต้อง “หนี” และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับพวกมัน ด้วยการเดินอ้อม หรือซ่อนตัวตลอดเวลา
เนื่องจากระบบเกมเพลย์ออกแบบให้เน้นการลอบเร้น การหลบหนี และการไขปริศนาหาทางลับ เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับผีปีศาจ เกมเมอร์บางกลุ่มจึงแสดงความคิดเห็นว่าแนวเกมดังกล่าว สามารถเรียกว่าเป็นแนว Horror หรือ Stealth Horror ก็ได้
Psychological Horror
เกมสยองขวัญที่ไม่มีผี แต่ปีศาจที่แท้จริงมันอยู่ในจิตใต้สำนึกของเราเอง
Psychological Horror Game คือเกมสยองขวัญที่มีจุดมุ่งหมาย เน้นการนำเสนอให้ผู้เล่นรู้สึกหวาดกลัวด้วยสภาวะทางอารมณ์ ความเครียด และจิตใจที่ผิดปกติ มากกว่าการนำเสนอความน่ากลัวผ่านรูปแบบมอนสเตอร์หรือปีศาจ
การนำเสนอเรื่องราวสยองขวัญ-จิตวิทยา ไม่ได้เกิดเฉพาะในเกมสยองขวัญเพียงอย่างเดียว แต่อาจพบเห็นได้ในเกมเน้นเล่าเนื้อเรื่อง ที่ตัวละครเอกมีสภาพจิตใจไม่มั่นคง หรือเผชิญหน้ากับเหตุการณ์บางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ แล้วเกิดเป็นภาพในอดีตที่เข้ามาหลอกหลอนตัวเรา
นอกจากนี้ Psychological Horror Game บางเกม มีการใช้เทคนิค “ทำลายกำแพงที่สี่” ที่ตัวเกมจะมีปฏิสัมพันธ์กับตัวผู้เล่นอย่างเซอร์ไพรส์ ยกตัวอย่างเกมเช่น Eternal Darkness ที่ระหว่างการเล่น จะมีการหลอกหลอนเกมเมอร์ด้วยการปิดเสียงโทรทัศน์เองโดยอัตโนมัติ หรือหลอกว่าตัวเกมทำการลบไฟล์เซฟด้วยตัวเอง ราวกับวิญญาณกำลังเข้าสิงเครื่องเล่นเกมอย่างไม่มีผิด
Jump Scare Horror
“ผีตุ้งแช่” เป็นเทคนิคสุดคลาสสิก ที่สร้างเซอร์ไพรส์กับความสยองให้เหล่าผู้ชมภาพยนตร์มานานหลายปี และเทคนิคดังกล่าวก็ยังคงใช้ได้ผลในโลกวิดีโอเกม
Jump Scare Horror เป็นเกมสยองขวัญที่เน้นการโชว์ฉาก “ผีตุ้งแช่” สร้างความช็อกให้แก่เกมเมอร์ เนื่องจากเกมแนวนี้สามารถสร้างปฏิกิริยา (Reaction) จากผู้เล่น ทำให้เกมประเภทนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่สตรีมเมอร์
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก Jump Scare Horror เน้นการนำเสนอฉาก “ผีตุ้งแช่” หลายครั้ง ทำให้เกมเมอร์วิจารณ์ว่าระบบดังกล่าวได้สร้างความจำเจระหว่างเล่นเกม ที่อาจเปลี่ยนจากอรรถรสความสยองขวัญกลายเป็นความรำคาญแทน
Reverse Horror
เบื่อกับการโดนผีอำแล้วใช่หรือไม่ Reverse Horror คือทางเลือกใหม่สำหรับคนที่อยากรับบทเป็นปีศาจไล่หลอกคนอื่นบ้าง
Reverse Horror เป็นเกมที่ “ตรงกันข้าม” กับแนวสยองขวัญ โดยเปลี่ยนจากผู้เล่นเป็นฝ่ายโดนหลอกหลอน ให้กลายเป็นผู้เอาคืน สร้างความหลอนกับคนอื่นแทน ซึ่งเกมแนวดังกล่าว มักถูกออกแบบให้เป็น Multiplayer PvP เช่น Dead by Daylight และ Friday the 13th: The Game ที่ทั้งสองเกม มีกฎการเล่นว่าผู้เล่นกลุ่มหนึ่งต้องรับบทเป็น Survival แต่อีกคนจะรับบทเป็นฆาตกรโรคจิตที่ต้องไล่เชือดเพลเยอร์ฝ่าย Survival ให้หมด