ปี 2020 ผลงานเกม Black Myth: Wukong จากสตูดิโอ Game Science ได้ปล่อยตัวอย่างแรกบน Bilibili และ YouTube และได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม (พร้อมดราม่าอีกมากมายที่ตามมา) ด้วยกราฟิกระดับ AAA และการนำเสนอที่เทียบเคียงได้กับเกมตะวันตกและญี่ปุ่น ทำให้ Black Myth: Wukong ถูกยกว่านี่คือผลงานเกมที่กำลังจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการเกมจีน
แน่นอนว่าปัจจุบันนี้หลายคนคงได้สัมผัสกับความยอดเยี่ยมของ Black Myth: Wukong กันไปแล้ว นี่คือผลงานเกมที่กลายเป็นกระแสระดับโลกและถูกพูดถึงมาอย่างต่อเนื่องพร้อมขึ้นไปยืนเป็นเกมแห่งปีในใจใครหลาย ๆ คนไม่ว่าจะเป็นเกมเมอร์จากชาติใดมุมไหนของโลก
ล่าสุดผลงานเกมจากจีนมากมายกำลังทะยอยเปิดตัวและเตรียมวางจำหน่ายกันแบบต่อเนื่อง หลายผลงานเกม “มีทีท่า” ว่าจะเป็นผลงานชั้นเยี่ยมที่อาจเทียบเคียงหรือเหนือกว่า Black Myth: Wukong ไม่ว่าจะเป็น Where Winds Meet, Phantom Blade Zero หรือล่าสุด Tides of Annihilation ที่เปิดตัวในงาน State of Play ก็ถูกพัฒนาโดยทีม Eclipse Glow Games จากประเทศจีน
นี่คือสัญญาณว่า วิดีโอเกมกำลังกลายเป็นหนึ่งในอาวุธสำคัญของ Soft Power จีนอย่างไม่ต้องสงสัย
Soft Power ผ่านวิดีโอเกม: เครื่องมือใหม่ของจีนในเวทีโลก
Soft Power เป็นแนวคิดที่จีนใช้มานาน ผ่านโครงการเศรษฐกิจ เช่น Belt and Road Initiative รวมถึงการผลักดันศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬา อย่างไรก็ตาม จีนยังขาด Soft Power ในวงการบันเทิงระดับโลก เช่นที่สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จผ่านภาพยนตร์ฮอลลีวูดหรือวิดีโอเกมอย่าง Call of Duty และ Grand Theft Auto หรือแบบที่ญี่ปุ่นและเกาหลีส่งออกวัฒนธรรมของประเทศตัวเองสู่ทั่วโลกได้สำเร็จ
วิดีโอเกมเป็นช่องทางใหม่ที่สามารถช่วยจีน “บอกเล่าเรื่องราวแบบจีน” ได้อย่างทรงพลัง โดยไม่ต้องอาศัยภาษาหรือวัฒนธรรมท้องถิ่นเหมือนภาพยนตร์หรือซีรีส์ แค่มีเกม “ที่ดี” มีเกมเพลย์ที่แข็งแกร่งก็สามารถเข้าถึงผู้เล่นทั่วโลกได้สำเร็จ
Black Myth: Wukong ไม่เพียงแค่เป็นเกมแอ็กชันที่โดดเด่น แต่ยังใช้วรรณกรรมจีนอย่าง Journey to the West หรือไซอิ๋วเป็นแกนหลัก แน่นอนว่าสำหรับชาวไทยเรื่องราวดังกล่าวถือว่ามีชื่อเสียง คุ้นหูคุ้นตากันมานาน นับเป็นเนื้อหาที่มีอิทธิพลอย่างมหาศาลทั้งในจีนและวัฒนธรรมร่วมสมัยทั่วโลก ตัวละคร Sun Wukong หรือ หงอคง ก็เป็นแรงบันดาลใจให้ Goku จาก Dragon Ball และอีกหลายตัวเอกจากทั้งนิยาย เกม และ การ์ตูน ในประเทศอื่น ๆ มาแล้ว
นี่จึงไม่ใช่เพียงแค่การทำเกมเพื่อขายให้ได้กำไร แต่เป็นการใช้เกมเป็นเครื่องมือเผยแพร่วัฒนธรรมจีน และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับประเทศในระดับสากล ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองมาก ๆ โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยอย่างเรา ๆ ที่หมายมั่นปั้นมือจะชู Soft Power เป็นอีกหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต
จากมือถือสู่ AAA: จีนปรับทิศทางสู่ตลาดพรีเมียม
เดิมที อุตสาหกรรมเกมจีนเน้นไปที่เกมมือถือและเกมที่ใช้โมเดลธุรกิจ free-to-play หรือเกมเล่นฟรี เช่น Genshin Impact ของ miHoYo ที่สามารถทำรายได้กว่า 3.5 พันล้านดอลลาร์ในปีแรก โดยที่ 70% ของรายได้มาจากนอกประเทศจีน
ที่ผ่านมาค่ายเกมแนว “กาชา” หรือเกมเล่นฟรีของจีนประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลในตลาดโลก เรียกได้ว่าได้รับการยอมรับว่าเป็น “เบอร์หนึ่ง” ของแนวเกมกาชา และสามารถสร้างผลงานที่เข้าถึงเกมเมอร์ทั่วโลก โดนใจผู้คนจากทุกวัฒนธรรมได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้เริ่มเปลี่ยนนโยบายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการควบคุมเกมมือถือและกาชา เช่น จำกัดเวลาเล่นของเยาวชน และควบคุม loot box หรือระบบกาชาที่เคยทำให้เกมมือถือจีนทำเงินมหาศาล
นโยบายเหล่านี้สะท้อนถึงทิศทางใหม่ของจีนที่ ต้องการให้ตลาดเกมจีนเปลี่ยนจากเกมมือถือเป็นเกมพรีเมียม ที่มีคุณภาพสูงและสามารถแข่งขันกับเกมตะวันตกได้จริง
ซึ่งปัจจุบันค่ายเกมกาชาจำนวนมากก็มีการขยับเพิ่ม “ขา” ใหม่ในการพัฒนาเกมแบบพรีเมียม หรือเกมแนว AAAA วางขายในราคาเต็มแบบที่เกมเมอร์ทั้งหลายคุ้นเคยกันดี
การสนับสนุนเกมอย่าง Black Myth: Wukong จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะรัฐบาลจีนเห็นว่า การพัฒนาเกมพรีเมียมสามารถช่วยสร้างภาพลักษณ์ของจีนในเวทีโลก ในขณะที่เกมมือถือยังถูกมองว่าเป็นเครื่องมือดูดเงินมากกว่าการเสริมสร้างวัฒนธรรม เกมแนวพรีเมียมกลับได้รับการยอมรับว่ามี คุณค่า ระดับเดียวกับสื่ออื่น ๆ ที่ได้รับการยอมรับเช่นภาพยนตร์หรือละครซีรีส์
การเปลี่ยนผ่านของเกมจีน: วัฒนธรรมจีนในรูปแบบดิจิทัล
วิดีโอเกมจีนในยุคใหม่ไม่ได้มีเพียงกราฟิกสวยงามหรือเกมเพลย์ที่ล้ำหน้า แต่ยังเต็มไปด้วยองค์ประกอบของ ศิลปะ สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์จีน ตัวอย่างเช่น
- Black Myth: Wukong ใช้สถานที่จริงในจีน
- The Wind Rises in Luoyang เกมแอ็กชันที่อิงเนื้อหาในยุค ราชวงศ์ถัง
- Three Kingdoms Zhao Yun นำเสนอเรื่องราวของแม่ทัพจ้าวหยุน (เตียวจูล่ง) ในยุคสามก๊ก
สิ่งเหล่านี้ทำให้เกมจีน กลายเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมจีนแบบสากล ผู้เล่นจากทั่วโลกสามารถสัมผัสประวัติศาสตร์จีนผ่านเกมได้โดยไม่ต้องอ่านตำราเรียน มีค่านิยมและเกิดความ “ผูกพันธ์” กับจีนผ่านสื่อบันเทิง และแน่นอน “ทำเงินให้กับประเทศแบบมหาศาลไปพร้อมกันด้วย”
อนาคตของ Soft Power จีนในอุตสาหกรรมเกม
รัฐบาลจีนเริ่มตระหนักว่า เกมสามารถเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่อัตลักษณ์ของชาติ เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จผ่าน Final Fantasy, Zelda และ Persona
ปัจจุบัน จีนได้ก่อตั้งแพลตฟอร์มความร่วมมืออุตสาหกรรมแอนิเมชันและเกมใน 10 จังหวัด เพื่อส่งเสริมให้เกมจีนก้าวไปสู่ตลาดโลก และดึงดูดนักพัฒนาให้สร้างเนื้อหาที่สะท้อนวัฒนธรรมจีน
เรียกได้จีนมีกฎหมายควบคุมการ “เล่น” เกมที่เข้มงวด แต่กลับกันก็มีนโยบายการ “สนับสนุน” ธุรกิจของคนสร้างเกมแบบชัดเจนอย่างแท้จริง
ด้วยการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและการสนับสนุนจากรัฐบาล อุตสาหกรรมเกมจีนกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ที่ไม่ใช่แค่การขายเกม แต่เป็นการสร้างอิทธิพลทางวัฒนธรรมในระดับโลก เรียกได้ว่าเป็นการ “ชิงพื้นที่เศรษฐกิจและวัฒนธรรมจากตลาดทั่วโลก” อย่างแท้จริง
หลังความสำเร็จของ Black Myth: Wukong เราคงได้เห็นกันไปชัดแล้วว่าจีนสามารถใช้ Soft Power ผ่านวิดีโอเกมได้มากน้อยแค่ไหน
หลังการเปิดตัวของ Tides of Annihilation ทำให้หลายคนต้องอ้าปากค้าง และก็มีหลายคนเฝ้ารอผลงานเกม “จีน” อีกหลายชิ้นที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้ บอกได้เลยว่าเรากำลังมาถึงจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมเกมจีนที่กำลังจะเปลี่ยนโลกในเร็ว ๆ นี้แล้ว