“เกม AAA” เป็นคำที่เกมเมอร์ทุกคนต้องได้ยินหรือเห็นทุกครั้งตามกระทู้เว็บบอร์ด, โซเซียลเน็ตเวิร์ก, หรือแม้กระทั่งสื่อต่างประเทศที่มักใช้คำดังกล่าวบ่อยครั้งจนกลายคำศัพท์ประจำวงการเกมไปแล้ว แต่ความหมายของ เกม AAA คืออะไร ? มีต้นกำเนิดมาจากไหน ? ทำไมจึงถูกนิยมใช้บ่อยในเกมยุคนี้ ? ถ้าหากสงสัย บทความนี้จะทำให้คุณเข้าใจคำศัพท์ของเกม AAA มากขึ้น
ต้นกำเนิดของ “เกม AAA”
ถ้าหากภาพยนตร์ต้นทุนสูงเรียกว่า “หนัง Blockbuster” ฝั่งของวิดีโอเกมก็จะเรียกว่า “เกม AAA” น่าจะเปรียบเทียบได้ง่ายสุด
ก็ต้องบอกก่อนว่าคำศัพท์ “เกมระดับ AAA” นั้น ไม่มีบรรจุในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ และไม่มีต้นกำเนิดชัดเจน แต่หากอ้างอิงจากหนังสือ High Score!: The Illustrated History of Electronic Games คำดังกล่าวเริ่มมีการใช้งานในช่วงปลายปี 1990 จากสื่อเกมหลายแห่ง เพื่อใช้สำหรับการแสดงความรู้สึกที่มีต่อวิดีโอเกมในประเทศสหรัฐฯ
โดยเกมแรกที่คาดว่าสื่อต่างประเทศได้ยกย่องว่าเป็นเกมระดับ AAA ในยุค 90’s มากที่สุดคือ Final Fantasy VII โดย Squaresoft (ปัจจุบันคือ Square Enix) ซึ่งเกมดังกล่าวได้สร้างปรากฏการณ์ให้วงการเกมทั่วโลกด้วยการนำเสนอฉากคัตซีนคล้ายภาพยนตร์โดยใช้ CGI คุณภาพสูง, เพลงประกอบแนวออร์เคสตราสุดยิ่งใหญ่อลังการ และมีการจัดตั้งแคมเปญพิเศษกับการโฆษณาที่ใช้ต้นทุนสูงถึงราว 40-100 เหรียญฯ จนทำให้เกมดังกล่าวขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในเกมที่มีราคาแพงสุดตลอดกาลที่ 80-145 ล้านเหรียญฯ (หากใช้ค่าเงินในปัจจุบัน) ทำให้เกม AAA ถูกใช้เรียกเป็นเกมที่มีโปรดักชันเทพ และมีต้นทุนสูงนับตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเกมสมัยก่อนไม่ได้ใช้ต้นทุนการสร้างที่สูงเหมือนเกมยุคปัจจุบัน รวมถึงช่วงนั้น แฟรนไชส์เกมดังหลายเกมยังคงทยอยออกวางจำหน่ายเกมเป็นรายปี ทำให้คำศัพท์เกม AAA ยังไม่ค่อยนิยมใช้ทั่วถึงเท่าไหร่นัก โดยมีเพียงเกมไม่กี่เกมที่ถูกยกย่องว่าเป็นเกมระดับ AAA เช่น Halo 2 ที่ใช้ต้นทุน 120 ล้านเหรียญฯ และ Shenmue ซึ่งใช้ต้นทุนราว 47–70 ล้านเหรียญฯ
เกม AAA เริ่มผงาดในยุค PlayStation 3 กับ Xbox One
จนกระทั่งเครื่องเกมคอนโซลได้เข้าสู่รุ่นเจเนอเรชันที่ 7 อย่าง PlayStation 3, Xbox 360 ซึ่งมีการยกมาตรฐานใหม่ในการสร้างเกมด้วยภาพกราฟิก ฟิสิกส์ กับสภาพแวดล้อมที่สวยงามสมจริงยิ่งขึ้น แต่แน่นอนว่างบประมาณในการสร้างเกมต้องสูงและใช้เวลาผลิตนานขึ้นตามมา จนทำให้ต้นทุนการผลิตเกมเริ่มใช้เยอะเทียบเท่าการสร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูดหนึ่งเรื่อง
ช่วงปี 2007-2013 จึงนับว่าเป็นช่วงที่เกมระดับ AAA หลายเกมเริ่มผงาดให้เห็นมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Grand Theft Auto V ที่ใช้ต้นทุนการสร้างถึง 265 ล้านเหรียญฯ , Call of Duty: Modern Warfare 2 (ราว 250 ล้านเหรียญฯ), L.A. Noire (ราว 50 ล้านเหรียญฯ) และเกมอื่น ๆ ที่ใช้ต้นทุนสร้างเกม 40 ล้านเหรียญฯ ขึ้นไป ซึ่งเกมที่กล่าวมาทั้งหมด ล้วนมีการลงทุนในด้านการโปรโมตโฆษณาตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในกับนอกประเทศ, จำนวนการผลิตแผ่นเกม, การจ้างพนักงาน กับใช้เวลาพัฒนาเกมระยะนาน จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเกมระดับ AAA ในที่สุด
เกมระดับ AAA+ และเกมระดับ III
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ต้นทุนการผลิตเกมก็จะมีแต่สูงเกือบทุกปี ก็ทำให้เกิดโมเดลการตลาดแบบใหม่เรียกว่า Games As A Service หรือเกมที่มุ่งหวังเปิดให้บริการต่อผู้เล่นในระยะยาว โดยส่วนใหญ่เป็นเกมประเภท Multiplayer เช่น Rainbow Six Siege, Destiny, Fortnite, Overwatch, Call of Duty: Warzone หรือเกม MMORPG หลายเกม ซึ่งมาพร้อมกับระบบ Microtransactions, DLC, Lootbox, Battle Pass และการอัปเดตคอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอ
การกำเนิดของ Games As A Service ทำให้เกิดนิยามของเกม AAA ได้มีการขยายกว้างจากเดิมที่ไว้ใช้เฉพาะเรียกเกมที่ใช้ต้นทุนสูงเท่านั้น สามารถใช้เรียกเกมที่กอบโกยรายได้เป็นจำนวนมหาศาลอีกด้วย ซึ่งเกมเหล่านั้นจะเรียกว่า “เกมระดับ AAA+”
นอกจากนี้ ตัวแทนจำหน่ายเกมรายใหญ่หลายแห่ง เริ่มมีการติดต่อซื้อทีมพัฒนาเกมอินดี้ เพื่อยื่นข้อเสนอให้พัฒนาเกม Exclusive เฉพาะแพลตฟอร์มของตนเอง ด้วยการแลกกับเงินต้นทุนในการผลิตเกม และความเป็นอยู่ของทีมงานทั้งหมดมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็ทำให้เกมอินดี้บางเกมสามารถพัฒนาเกมโดยมีงานโปรดักชันดีเทียบเท่าเกม AAA ซึ่งก่อให้เกิดคำศัพท์ใหม่ (อย่างไม่เป็นทางการ) เรียกว่า “เกมระดับ III” ที่เป็นการนำตัวอักษร I จากคำศัพท์ “Indie” มาเรียงคำให้คล้ายคำว่า AAA โดยเกมที่รับการยกย่องว่าเป็นเกมระดับ III เช่น Ori and the Will of the Wisps เป็นต้น
เกม AAA สามารถชี้ชะตาของบริษัทและวงการเกมได้
เนื่องจากวิดีโอเกมที่ใช้ต้นทุนการผลิตสูง ก็ย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงในการขาดทุนย่อยยับ ซึ่งถ้าหากยอดขายเกมระดับ AAA ไม่ตรงตามยอดตรงตามเป้าหมาย ก็อาจส่งผลให้บริษัทเกมอาจจำเป็นต้องปิดตัวลงเพียงเพราะความล้มเหลวของเกม AAA เกมเดียว หรือหากเลวร้ายสุด ๆ อาจส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมเกมเป็นวงกว้างได้
ซึ่งเคสดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วสำหรับเกม E.T. ของปี 1982 ซึ่งใช้ต้นทุนสร้างเกมทั้งหมด 22 ล้านเหรียญ (ปัจจุบันคือ 58 ล้านเหรียญฯ) ได้ประสบความล้มเหลวทั้งด้านยอดขายกับเสียงวิจารณ์จนเกมขาดทุนย่อยยับ ทำให้ทีมงาน Atari ต้องปลดพนักงานเป็นจำนวนมาก, แผ่นเกมล้นตลาดจนต้องนำเกมไปฝังทิ้ง รวมถึงเป็นเกมที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ Video Games Crash ของปี 1983 ซึ่งทำให้บริษัทเกมหลายแห่งต้องปิดตัวลง
สรุป
เกมระดับ AAA เป็นคำศัพท์ไว้ใช้สำหรับเรียกเกมที่มีต้นทุนการผลิตสูง มีโปรดักชันดี มีตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่คอยช่วยหนุนหลัง และมีต้นทุนการโฆษณาสูง จนมีผลลัพธ์ออกมาเป็นเกมที่ดู “ยิ่งใหญ่” คล้ายกับภาพยนตร์ Blockbuster หรือภาพยนตร์ฮอลลีวูด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตอนนี้ ยังไม่มีองค์กรไหนเสนอตั้งเงื่อนไขว่าเกมไหนถึงสามารถเรียกว่า “เกม AAA” เพราะฉะนั้น เกม AAA ในปัจจุบัน ยังคงไว้ใช้เรียกเกมที่ใช้ต้นทุนการผลิตสูงกว่ามาตรฐานเกมทั่วไป ด้วยการสังเกตจากโปรดักชันโดยรวม เช่นภาพกราฟิก, การนำเสนอโปรโมต, สร้างอิมแพคต่อธุรกิจเกม และระยะเวลาการผลิต รวมถึงเกมที่สามารถกอบโกยรายได้เป็นจำนวนมหาศาลหลังเปิดให้เล่นตั้งแต่วันแรก
ซึ่งแน่นอนว่านิยามคำศัพท์เกม AAA อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามการเติบโตของอุตสาหกรรมเกมในอนาคต จนถึงตอนนั้น คำศัพท์เกม AAA ก็อาจมีตั้งข้อกำหนดเงื่อนไขอย่างเป็นทางการแล้วก็เป็นไปได้