ถือเป็นเกมที่มีเนื้อหาอัดแน่นแถมมีระบบการเล่นซับซ้อนเป็นอย่างมากกับผลงานสุดยอดเกม RPG ชิ้นใหม่อย่าง Baldur’s Gate III ในขณะที่หลายคนน่าจะกำลังสนุกกับเกม ๆ นี้กันอยู่และหลายคนก็น่าจะกำลังอยากลองเริ่มเล่นตามกระแสสุดฮิต วันนี้เราเลยขอหยิบเทคนิคน่าสนใจรวมไปถึงเรื่องน่ารู้มาฝากกัน
เทคนิคพื้นฐาน
- ปุ่ม Alt ช่วยในการไฮไลท์ของต่าง ๆ ที่อยู่ในฉากให้เราเห็นได้ชัดขึ้น แต่ของหลายอย่างในฉากก็ยังต้องอาศัยการสำรวจด้วยตัวเองอีกอยู่ดี
- เราสามารถย้าย Item ไปมาระหว่างสมาชิกใน Party ได้โดยไม่ต้องยืนอยู่ใกล้กันหรืออยู่ระหว่างการต่อสู้ ถ้าคุณคิดว่า Item ชิ้นไหนกำลังจำเป็นมาก ๆ คุณสามารถกด Tab เปิดหน้าต่างและลาก Item ส่งให้กันไปมาได้ตลอดเวลา เทคนิคนี้ช่วยให้เราสามารถส่งยาหรือส่งระเบิดให้ตัวละครที่ต้องใช้ได้ตลอดเวลา
- เราสามารถกดช่องอุปกรณ์สวมใส่เพื่อเปิดหน้าต่างอุปกรณ์ทั้งหมดที่เราใส่ได้ขึ้นมา ไม่จำเป็นต้องไปควานหาจากในช่องเก็บของรวม
- ถ้าคุณเบื่อที่รู้สึกว่าการ “ทอยเต๋า” แบบสุ่มจริง ๆ ในเกมทำให้คุณโจมตีไม่โดนหรือ Miss อยู่บ่อย ๆ ภายในเกมมีตัวเลือกที่ชื่อว่า Karmic Dice ซึ่งเป็นการเปิดใช้งานเต๋าถ่วงน้ำหนักที่จะทำให้คุณมีโอกาสโจมตีโดนได้ง่ายยิ่งขึ้น Karmic Roll จะทำให้การโจมตี การป้องกัน หรือ การใช้ Skill ระหว่างสนทนาทอยออกมาเข้าเป้าง่ายยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม Karmic Roll ก็ทำให้เต๋าของฝ่ายศัตรูโดนถ่วงน้ำหนักให้ตีโดนได้ง่ายขึ้นเช่นกัน คุณสามารถเปิดตัวเลือก Karmic Dice ได้ใน Options/ Gameplay / User Options และสามารถเปิดปิดตัวเลือกนี้ได้ตลอดเวลา
- แต้ม Ability อย่าง Int, Str หรือ Wis จะบวกโบนัสพิเศษก็ต่อเมื่ออยู่ในเลขคู่เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น 10,12,14 ถ้าคุณไม่ตั้งใจจะเพิ่มแต้มดังกล่าวไปให้ถึงเลขคู่ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องลงแรงไปกับแต้มเหล่านั้น (สรุปง่าย ๆ คืออย่าทิ้งแต้ม Ability ไว้ในเลขคี่)
- การกระโดดมีประโยชน์อย่างมากในการสำรวจเส้นทางลับที่ซ่อนไว้ การดูแผนยังช่วยให้เรามองออกว่าจุดไหนในแผนที่ที่ยังสามารถกระโดดข้ามไปต่อได้อีก (พื้นที่สีสว่าง)
- การ Click ขวาที่ Item และเลือก Add to Wares เป็นการเลือกเอาไว้ว่าของชิ้นนั้นเป็นของที่เราจะ “ขายทิ้ง” เมื่อเราไปคุยกับพ่อค้าและเลือกตัวเลือก Trade ที่ด้านล่างของจอจะมีปุ่ม Sell Wares ให้เราขายของทั้งหมดที่เลือกไว้ทิ้งไป
- การ Click ขวาที่ Item และเลือก Send to Camp จะเป็นการส่ง Item ชิ้นนั้นไปอยู่ในหีบ Traveller’s Chest
- ปุ่ม Shift+Space Bar เป็นตัวช่วยสำคัญในช่วงที่คุณต้องการความแม่นยำในการควบคุมระหว่างที่ไม่ได้อยู่ในการต่อสู้
- คุณสามารถสลับตัวละครก่อนเข้าไปคุยกับ NPC ได้ เพราะตัวละครแต่ละตัวอาจมีความสามารถในการเกลี่ยกล่อม ข่มขู่ หรือมีความถนัดเฉพาะแตกต่างกันไป ดังนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ตัวเอกของคุณคุยกับทุกคนก็ได้
- Save ให้บ่อยเข้าไว้ Quick Save จะเป็นพลังที่ทรงพลังที่สุดในเกมนี้ของคุณทั้งก่อนการต่อสู้และการสนทนา
- ตราบใดที่เสบียงคุณเพียงพอคุณสามารถพักเพื่อเติมพลังได้ตลอดเวลา แม้เนื้อเรื่องของเกมในช่วงต้นจะทำเหมือนว่าคุณมีเวลาจำกัดแต่จริง ๆ แล้วคุณสามาถนอนพักได้เรื่อย ๆ และการพัก “Rest” ก็เป็นสิ่งจำเป็นมาก ๆ ในเกมนี้
- การอ่านค่า Damage จากเวทมนต์และอาวุธในเกมนี้จะบอกพลังเป็นลูกเต๋า 1d6 คือลูกเต๋า 1 ลูกที่มี 6 หน้า หรือ 2d4 คือลูกเต๋า 2 ลูกที่มี 4 หน้า จากตัวอย่างข้างต้นดาบที่มีพลังโจมตี 1d6 ก็มีโอกาสโจมตีได้ 1 – 6 Damage ส่วนดาบ 2d4 มีโอกาสโจมตีได้ 2 – 8 Damage แบบนี้เป็นต้น
- AC หรือ Armour Class คือค่าการป้องกันโดยรวมของตัวละครต่อการโจมตีทางกายภาพ ในการโจมตีทุกครั้งตัวเกมจะทำการทอยเต๋าหน้า 20 และเลขที่ได้จะต้องเยอะกว่าหรือเท่ากับค่า AC ของตัวละครที่ “ถูกโจมตี” การโจมตีดังกล่าวถึงจะนับว่าโจมตีโดน เช่นตัวเอกของคุณใส่เกราะเบาถือโล่จึงมีค่า AC อยู่ที่ 13 ดังนั้นตัวละครศัตรูต้องทอยเต๋า 20 หน้าให้ออกเลข 13 “ขึ้นไป” ถึงจะถือว่าโจมตีโดนตัวเอกของคุณ
- เกราะในเกมนี้มีหลายระดับและตัวละครที่แต่ละตัวมีความสามารถ หรือ Proficiency ในการใส่เกราะที่แตกต่างกันออกไป ในขณะที่คุณสามารถใช้อาวุธที่ตัวละครไม่ได้มีความถนัดหรือ Proficiency ได้อย่างตามใจถ้าบวกลบข้อดีข้อเสียไปแล้ว แต่สำหรับเกราะนั้นคุณ “ไม่ควร” ใส่เกราะที่ตัวละครของคุณไม่มีค่า Proficiency เลย เพราะตัวละครจะติดสถานะ disadvantage ในทุกการทอยเต๋าเพื่อโจมตี ป้องกัน หรือเช็ค Skill ทำกิจกรรมต่าง ๆ และแน่นอนร่ายเวทไม่ได้ด้วย
- ความแตกต่างของเกราะ 3 ระดับนั้นมีดังนี้ เกราะเบา Light Armour ตัวละครได้รับโบนัสการป้องกันจากค่า Dex เต็มรูปแบบ (เหมาะกับตัวละคร Dex เยอะ) เกราะขนาดกลาง Medium Armour ตัวละครได้รับโบนัสจากค่า Dex แค่ +2 AC (เหมาะกับตัวละครที่มี Dex นิดหน่อย) และสุดท้าย Heavy Armour ตัวละครไม่ได้รับโบนัสป้องกันจากค่า Dex เลยก็เหมาะกับตัวละครสายไม่อัพ Dex นั่นเอง
การต่อสู้
- การวางตำแหน่งตัวละครมีความสำคัญมาก ๆ ในเกมนี้ ก่อนเริ่มการต่อสู้ให้วางแผนดูฉากต่าง ๆ ให้ดี ถ้าเป็นไปได้ก็วางตัวละครของคุณในจุดต่าง ๆ ให้เรียบร้อยก่อนเริ่มเปิดฉากโจมตี การใช้ที่สูงและการลอบโจมตีจากด้านหลังเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ
- “กระโดด” เป็นท่าสำคัญมาก ๆ โดยเฉพาะการตัวละครสายระยะประชิดที่มีค่า Str สูง บางครั้งการกระโดดก่อนเดินทำให้คุณสามารถเคลื่อนที่ตัวละครไปได้ไกลกว่าการเดิมธรรมดา
- ในเกมนี้คุณมีตัวเลือกหลายอย่างนอกจากการใช้อาวุธหรือร่ายเวทโจมตี จำไว้ว่าคุณผลักศัตรูให้กระเด็นได้ โยนอาวุธใส่ศัตรูได้ โจมตีสภาพแวดล้อมในฉากได้ หรือจะเอาอาวุธขึ้น “จุ่ม” สภาพแวดล้อมเช่นไฟ เพื่อทำให้อาวุธติดไฟและตีแรงขึ้นก็ยังได้เช่นกัน
- Click ขวาที่ศัตรูเพื่อดูรายละเอียด คุณสามารถดูค่าสถานะและการป้องกันต่าง ๆ ของศัตรูได้โดยตรง
- การโยนขวดยาสามารถทำให้ตัวละครที่อยู่ใกล้กันถูกผลของยาไปพร้อมกันได้ Healing Potion สามารถ Heal เพื่อนได้สองคนหากโยนใส่ เช่นเดียวกันคุณสามารถโยนขวดยาพิษใส่ศัตรูได้เช่นกัน
- ศัตรูในเกมมีแต้มสำหรับออกท่า Reaction ได้แค่ครั้งเดียว ศัตรูที่โจมตีตัวละครที่เดินถอยหนีออกมาแล้ว ไม่สามารถโจมตีตัวละครอีกตัวที่ถอยออกมาซ้ำได้อีกใน Turn นั้น คุณสามารถตรวจดูได้ว่าตัวละครจะถูกโจมตีด้วยท่า Reaction รึเปล่าด้วยสถานะ “Threatened” ถ้าไม่มีสถานะนี้แสดงว่าตัวละครตัวนั้นสามารถเดินไปตำแหน่งใหม่ได้โดยปลอดภัย
- เวทมนต์บางชนิดในเกมมีการร่ายแบบ Concentration การร่ายแบบนี้สามารถถูกยกเลิกได้หากตัวละครถูกโจมตีหรือร่ายเวท Concentration อันใหม่
- สถานะ Advantage คือการที่ตัวละครจะทอยเต๋าสองลูกและใช้เต๋าที่มีค่าสูงกว่าในการคำนวน ส่วนสถาน DisAdvantage ก็สลับกันนั่นก็คือทอยเต๋าสองลูกและใช้อันที่แต้มน้อยกว่า