เกมเมอร์ในช่วงสมัยเด็กหลายคน มีความคิดไร้เดียงสา และชื่นชอบการเล่นวิดีโอเกมอย่างมาก ทำให้ผู้เล่นช่วงนั้นอาจได้รับข้อมูลหรือเข้าใจผิดเกี่ยวกับทฤษฎีคอมพิวเตอร์หรือวิดีโอเกมมากมาย แต่พอคิดนึกย้อนกลับไปแล้ว มันเป็นเรื่องเข้าใจผิดที่ยากเกินกว่าตัวเองจะให้อภัยจนอยากมุดหัวหนีซะจริง ๆ แล้วพวกเราเคยเข้าใจผิดเรื่องไหนบ้าง ? นี่คือบทความ เรื่องเข้าใจผิดของเหล่าเกมเมอร์ในสมัยยังเด็ก ที่จะทำให้เกมเมอร์ตั้งคำถามว่าคิดเข้าไปได้อย่างไร
ซีดีคีย์หาตามอินเทอร์เน็ต
ซีดีคีย์กำเนิดขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าตัวเกมไม่ได้ผ่านการดาวน์โหลดแบบผิดลิขสิทธิ์ แต่เนื่องจากอดีต วงการเกมไทยยังไม่รุ่งเรืองเท่ากับยุคปัจจุบัน ทำให้ผู้เล่นเด็กชาวไทยส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการโหลดเกมเถื่อนมาเล่นโดยใช้คีย์ปลอมที่ผ่านการ Crack มาแล้ว
แต่ไฟล์เกมเถื่อนบางเกมไม่ได้ผ่านการ Crack หรือมีขั้นตอนเป็นสเต็ปที่ผู้ใช้ต้องทำตามคำแนะนำ โดยผู้เล่นสมัยเด็กไม่ค่อยใส่ใจกับเรื่องนี้ซะเท่าไหร่ เพราะพวกเขามุ่งหน้าอยากเล่นเกมจนหลงลืมการอ่านหรือไม่เข้าใจ Notepad ซึ่งมีเนื้อหาวิธีการลงเล่นเกมเถื่อนได้อย่างสมบูรณ์
เนื่องจากผู้เล่นไม่เข้าใจวิธีการ Crack เกม หลังจากตัวเกมเริ่มถามหาซีดีคีย์ ทำให้เกมเมอร์เริ่มค้นหาคีย์เถื่อนตามอินเทอร์เน็ต หรือใช้โปรแกรม Key Generate เพื่อให้สามารถกรอกโค้ดและปลดกุญแจเข้าถึงตัวเกมได้ และแน่นอนว่ามันไม่ได้ผลตามที่หลายคนคาดไว้
แผ่นภาคเสริมนึกว่าได้เกมเต็ม
เนื่องจากสมัยก่อน อินเทอร์เน็ตยังไม่สามารถเข้าได้ถึงทุกคน ทำให้การขายเนื้อหาเสริมจะมาในชื่อว่า Expansion Pack ซึ่งลักษณะของผลิตภัณฑ์จะบรรจุแบบกล่อง Retail คล้ายกับเกมเต็ม ทำให้เกมเมอร์ในวัยเด็กหลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่า เป็นผลิตภัณฑ์เกมเต็มที่มาแถมกับตัวเสริม หรือเกมเต็มที่มีราคาถูกลง
แล้วผลลัพธ์ออกมา เมื่อผู้เล่นกลับถึงบ้านแล้วใส่แผ่น CD เพื่อ Install เกม แต่ปรากฏว่าตัวติดตั้งขึ้นหน้าจอเตือนว่า “ไม่พบไฟล์เกมหลัก” แล้วทำให้เกมเมอร์หลายคนต้องเดือดดาลพร้อมกล่าวหาร้านขายเกมว่า หลอกขายแผ่นเกมเสีย ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว ตัวเกมดังกล่าวต้องมีตัวเกมเต็มเพื่อใช้ในการติดตั้งด้วย
ซื้อแผ่นเกมผิดแพลตฟอร์ม
“เกมเหมือนกัน เล่นได้เหมือนกัน แผ่นเหมือนกัน แล้วทำไมจะเล่นข้ามเครื่อง PC กับ PlayStation ไม่ได้ฟะ ?”
ผู้เขียนเชื่อเกมเมอร์หลายคนจะต้องเคยทดลองเอาแผ่นเกมที่ตนเองครอบครอง นำไปใส่ในเครื่องแพลตฟอร์มอื่น อย่างเช่น เอาแผ่นเกม PlayStation ไปใส่กับ PC, เอาแผ่นเกม Xbox มาใส่ PlayStation 2 หรืออื่น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าตัวเกมไม่สามารถทำงานได้ เพราะทุกแพลตฟอร์มจะมีระบบการอ่านแผ่นเกมที่แตกต่างกัน
แต่เคสนี้ไม่ค่อยพบเห็นสักเท่าไหร่นัก เนื่องจากเกมเมอร์ในช่วงวัยเด็ก ไม่มีงบในการซื้อแผ่นเกมตามที่ต้องการ นอกจากผู้ปกครองซื้อเกมใหม่มาให้เป็นของขวัญวันเกิด แต่ผิดแพลตฟอร์มแทน และของขวัญชิ้นดังกล่าวกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นหนึ่งที่ไม่สามารถใช้งานได้ (แต่ก็ขอบคุณสำหรับของขวัญวันเกิดนะฮะ)
ซ่อมแผ่นเกมด้วยการล้างน้ำ
เกมเมอร์ในสมัยเด็กยังไม่มีความรับผิดชอบ หรือใส่ใจกับการเก็บรักษาแผ่นเกมให้เป็นระเบียบ ทำให้คอลเลคชั่นแผ่นเกมส่วนใหญ่ของผู้เล่นมักจะมีรอยขีดข่วนอยู่เสมอ
จนกระทั่งวันหนึ่ง เกมโปรดที่คุณเล่นประจำเกิดอาการ Error จนไม่สามารถเล่นต่อได้ ซึ่งเกมเมอร์เข้าใจดีว่าสาเหตุเป็นเพราะแผ่นเกม มีรอยขีดมากเกินไป แล้วเพราะความเข้าใจผิดบางอย่าง ผู้เล่นเชื่อว่าการล้างแผ่นเกมด้วยน้ำสะอาดจะช่วยให้คุณภาพแผ่นกลับคืนสู่สภาพเดิมเหมือนของใหม่อีกครั้ง
และพวกเราก็มโนไปเองว่า ได้ผลดีเยี่ยมจริง อีกด้วย ทำให้วัฒนธรรมการล้างแผ่นเกมด้วยน้ำสะอาด ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ยังคงสืบทอดต่อไปในหมู่เกมเมอร์เด็กจนถึงทุกวันนี้
แค่มีไฟล์ .EXE หรือ Shortcut ก็เล่นเกมได้
เกมเมอร์ในสมัยเด็กมักเข้าใจผิดคิดว่าไฟล์ .EXE หรือ Shortcut คือไฟล์เกมเต็มในหนึ่งไอคอน เพราะผู้เล่นสามารถเข้าวิดีโอเกมด้วยการกดคลิ๊กไอคอนครั้งเดียว ทำให้ผู้เล่นทำการก็อปปี้ไฟล์ .EXE และวางใส่ PC อีกเครื่องหนึ่ง เพื่อสามารถเล่นเกมเต็มได้ทุกที่ที่ต้องการ
แต่ความจริงแล้ว ไฟล์ .EXE เป็นตัว Launcher ไว้สำหรับอ่านข้อมูลและเริ่มต้นการทำงานเพื่อเปิดเกมทั้งหมด ถ้าหาก ไม่มีไฟล์เกมหลัก หรือขาดไฟล์ใดไฟล์หนึ่ง ตัวเกมจะไม่สามารถรันหรืออาจทำงานไม่ครบฟังก์ชั่น เพราะขาดองค์ประกอบไฟล์หลักนั้นเอง
มี RAM เยอะ เล่นลื่นทุกเกมแน่นอน
‘ถ้าหากคอมมี RAM เยอะ เล่นเกมลื่นทุกเกมแน่นอน’ เกมเมอร์รุ่นเด็กมักเข้าใจผิดว่า Ram เป็นสเปกที่สำคัญที่สุดเพื่อใช้เล่นเกม เพราะหากอ้างอิงจากความรู้คอมพิวเตอร์เบื้องต้น 101 – Ram คือหน่วยความจำที่มีหน้าที่ในการประมวลผลให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานรวดเร็วขึ้นโดยใช้กระแสไฟฟ้าเป็นตัวช่วย ทำให้ผู้เล่นหลายคนคิดว่า RAM จะช่วยให้ตัวเกมประมวลผลรวดเร็วขึ้นในทุกส่วน โดยมองข้างส่วนประกอบอื่น ๆ
แต่ปรากฏว่าเมื่อผู้เล่นติดตั้ง RAM มากขึ้น มันก็ไม่ช่วยทำให้เกมลื่นไหลขึ้นเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะการทำงานในส่วนของ RAM สำหรับวิดีโอเกม เป็นเพียงตัวช่วยให้เกมสามารถอ่านหรือโหลดข้อมูลโดยรวมให้รวดเร็วขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ช่วยประมวลกราฟิกให้มีความสวยงามอย่าง การ์ดจอ หรือ มีความรวดเร็วเทียบเท่ากับหน่วยประมวลผลหลักอย่าง Processor ซึ่งอุปกรณ์ทั้งสองชิ้นเป็นแก่นแท้ที่ช่วยให้ตัวเกมลื่นและสวยงามขึ้น ไม่ใช่ RAM ตามที่เกมเมอร์เด็กหลายคนเข้าใจ
RAM หาง่าย เพียงแค่ดาวน์โหลด
สืบเนื่องมาจากหัวข้อที่แล้ว ก็ต้องบอกเลยว่านี่เป็น เรื่องเข้าใจผิดของเหล่าเกมเมอร์ในสมัยยังเด็ก ที่ผิดมหันต์สุด ๆ และขัดกับทุกโลจิกเท่าที่เคยมีมา แต่เนื่องจากผู้เล่นอยู่ช่วงวัยเด็ก ทำให้เกมเมอร์หลายคนหลงผิดหาวิธีการโหลด RAM กันอย่างเพลิดเพลินผ่านโลกอินเทอร์เน็ต เพราะเชื่อว่าสามารถเพิ่ม RAM ได้จริงโดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินสักบาท
แต่สิ่งที่เกมเมอร์ดาวน์โหลดเป็นเพียงแค่โปรแกรมช่วยให้การทำงานของ RAM ไปให้ถึงขีดจำกัดเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ช่วยให้เพิ่ม RAM จากดั้งเดิมมี 2 GB ไปสูงสุดถึง 32 GB แต่อย่างใด (หากทำได้จริง มันคือพลังเวทมนตร์ชัด ๆ) หรือเลวร้ายสุด เกมเมอร์อาจเผลอดาวน์โหลดไฟล์ที่แฝงเต็มไปด้วยไวรัสคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้คอมพิวเตอร์จากไปไวกว่าเดิม แต่กว่าที่เกมเมอร์จะรู้สึกตัว ตอนนั้นคงสายไปเสียแล้ว