กระแสการแบนเกมในบ้านเรากำลังกลับมาร้อนแรงอีกครั้งหลังจากที่ GTA เคยโดนสอยไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน วันนี้ GamingDose ขอพาทุกท่านไปชมเหล่าเกมที่โดนแบนจากหลายประเทศทั่วทุกมุมโลกไปดูกันสิว่าเหล่าประเทศอื่นๆบนโลกใบนี้มีเหตุผลอะไรกันบ้างในการ “แบน” เกม
รวบรวมกันมาให้ชมสำหรับเกมมากมายหลากหลายรูปแบบที่ถูกแบนโดยรัฐบาลของแต่ล่ะประเทศทั่วโลก ไปดูกันสิว่ามีเหตุผล “แปลกๆ” อะไรบ้างที่ทำให้เกมเหล่านี้ต้องมาโดนแบน
บราซิล
Counter-Strike ภาคแรกฉบับดั้งเดิม ตัวเกมถูกรัฐบาลสั่งแบนด้วยสาเหตุว่ามีแผนที่ (ซึ่งผู้เล่นสร้างเอง) ฉาก Favela สลัมชื่อดังสุดฉาวโฉ่ของบราซิล พร้อมเหตุผลว่าเป็นเกมที่ส่งเสริมความรุนแรงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเหล่าผู้บริโภค ต่อมาภายหลังตัวเกมถูกสั่งยกเลิกการแบน แต่การวางขายตัวเกม Counter Strike ในแบบแผ่นก็ยังถูกจำกัดอย่างมากภายในประเทศ เป็นที่น่าสนใจก็คือเกม Call of Duty: Modern Warfare 2 ที่มีฉาก Favela เหมือนกันกลับไม่เคยถูกแบนในบลาซิล ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นการสะท้อนการ “แบน” ลึกๆว่าจริงๆแล้วมันไม่ได้มีเหตุผลหริือมาตรฐานอะไรเลย
GTA: Episodes from Liberty City เป็นมหากาพย์ตำนานเลยทีเดียวสำหรับการตัดสินใจสั่งแบนชุด DLC ของเกม GTA IV ของบลาซิล โดยสาเหตุทั้งหมดเกิดจากการที่ศิลปินคนหนึ่งของบลาซิลลุกขึ้นมาร้องเรียนว่าเพลงของเขาถูก Rockstar นำไปยัดใส่ไว้ใน DLC The Ballad of Gay Tony โดยที่เขาไม่รับรู้และไม่ได้ยินยอม
เพลง ‘Kid Conga’ ผลงานของ MC Miltinho ด้านบน (ซึ่ง GTA เอาไปใช้) ดันไปหยิบเอาเสียงส่วนหนึ่งมาจากเพลง ‘Bota o Dedinho pro Alto’ ซึ่งแต่งโดย Hamilton Lourenço da Silva นั่งแต่งเพลงชาวบราซิล แต่เรื่องมันดันมาตลกมากไปกว่านั้นตรงที่ Silva นั้นเป็นพ่อแท้ๆของ Miltinho สรุปง่ายๆว่า เพลงของคุณลูกซึ่งมีส่วนหนึ่งมาจากเพลงของคุณพ่อถูกเอาไปใช้ Rockstar ก็บอกว่าเราซื้อมาอย่างถูกกฎหมาย แต่ คุณพ่อบอก “เสี้ยวหนึ่งของตู” ที่ติดไปนั้นไม่ได้รับอนุญาติ และการฟ้องร้องกับศาลของบราซิลจึงเกิดขึ้น สุดท้ายศาลบลาซิลสั่งให้ Rockstar ถอนการจำหน่ายเกม GTA: Episodes from Liberty City “ทั่่วโลก” ย้ำอีกครั้งว่าทั่วโลก…แน่นอนว่า Rockstar ไม่ฟัง และนั่นก็คือเหตุผลที่ทำให้เกมๆนี้ถูกแบนในบราซิล เอวัง
จีน
Battlefield 4 ยอดเกมยิง FPS แห่งปีถูกแบนในประเทศจีนหลังเนื้อเรื่องและตัวร้ายของเรื่องดันมาเกี่ยวพันกับประเทศจีน แม้ในเกมจะมีการนำเสนอให้กองทัพฝ่ายจีนก็มีตัวเอก แต่สุดท้ายตัวเกมก็ถูกแบนหลังทางการออกมาบอกว่าเกม BF4 ถือเป็นการ “รุกรานทางวัฒนธรรม”
Command & Conquer: Generals ถูกแบนโดยข้อหาทำลายภาพลักษณ์ของประเทศและกองทัพจีนและเหมือนกับ BF4 ที่แม้ตัวเกมจะนำเสนอให้ฝ่ายจีนถือเป็นหนึ่งในตัวเอกของเรื่องแต่ก็ไม่อาจรอดพ้นค้อนสังหารโดนสอยไม่ให้วางขายในประเทศจนได้ Football Manager 2005 ถูกแบนด้วยข้อหาดันให้ ทิเบต เป็นประเทศอิสระไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีน ก่อนที่ Version ปรับปรุงจะถูกปล่อยให้ขายในภายหลัง
**Command & Conquer: Generals จีนแบนเพราะฉากแรกสุดก่อนที
เดนมาร์ก
EA Sports MMA ถูกแบนด้วยสาเหตุมีการโฆษณาเครื่องดื่มชูกำลังภายในเกม และเป็นเพราะกฎหมายของ Denmark ห้ามให้เครื่องดื่มชูกำลังมีการโฆษณาดังนั้นเกมนี้จึงถูกสั่งห้ามวางขาย และเพราะ EA ตัดสินใจไม่ยอมตัดส่วนดังกล่าวออกชาว Denmark ก็เลยอดได้สัมผัสเกมนี้
เยอรมัน
เกมที่มีการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับนาซีเรียกได้ว่าถูกแบนโดยสิ้นเชิงภายในประเทศเยอรมัน หลายเกมตัดสินใจดัดแปลงเนื้อหาและสัญลักษณ์เพื่อให้วางขายได้ในประเทศนี้ ตัวอย่างล่าสุดก็คือ Wolfenstein: the new order แต่นอกจากเกมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับนาซีแล้ว เยอรมันยังนิยมแบนเกมที่มีเนื้อหารุนแรงโดยเฉพาะเกมที่มีการหั่นหรือสับอวัยวะให้หลุดกระจุยกระจาย เกมชื่อดังอย่าง Dead Rising 1-2 Sleeping Dogs และ Manhunt 1-2 ต่างล้วนแล้วแต่ถูกแบนในเยอรมัน ที่น่าสนใจคือกฎหมายเยอรมันระบุให้การ “แบน” เกมนั้นมีผลขั้นต่ำอย่างน้อยที่สุด…..10 ปี หลังผ่านไป 10 ปีเกมที่ถูกแบนมีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอพิจารณาวางขายได้ใหม่อีกครั้ง
กรีซ
ประเทศกรีซไม่เคยมีการแบนเกมเกิดขึ้น แต่ในช่วงปี 2002 มีการผ่านร่างกฎหมายแบน “วีดีโอเกม” ทุกชนิดทุกประเทศ แต่สุดท้ายกฎหมายดังกล่าวก็ถูกตีตกไปหลังมีการถกเถียงกันอย่างหนักหน่วงและเป็นข่าวดังอย่างมากในวงการเกมช่วงนั้น
อินโดนีเซีย
DmC: Devil May Cry โดนสอยด้วยข้อหาที่ช่วงเปิดเกมมีฉาก Dante นอนกับสาวสวยสองนาง รวมไปถึงฉาก Dante โชว์สยิวนุ่งลมห่มฟ้าไม่ใส่อะไรเลย ส่งผลให้ตัวเกมบน PC โดนแบนขณะที่ Version Xbox 360 และ PS3 โดนเซนเซอร์ไป
อิหร่าน
Battlefield 3 โดนแบนด้วยสาเหตุมีฉากสู้รบที่กองทัพสหรัฐบุกเข้ากรุงเตหะรานเมืองหลวงของอิหร่าน รวมไปถึงแผนที่ในฉาก Grand Bazaar ที่แฟนเกม BF3 คงหมดกระสุนกันไปหลายล้านนัดในด่านนี้ แม้ตอนแรกตัวเกมจะยังไม่ถูกแบนแต่ร้านค้าในประเทศอิหร่านหลายร้านก็พร้อมใจกันพากันเก็บเกมนี้ลงจากชั้นไม่วางขายก่อนที่สุดท้ายตัวเกมจะถูกแบนจริงๆในที่สุด
ญี่ปุ่น
แน่นอนว่าในฐานะประเทศผู้นำด้านการผลิตและส่งออกเกมญี่ปุ่นของเราแทบจะไม่แบนเกมอะไรแม้แต่น้อย แต่อย่างไรก็ตามสำหรับเกม Fallout 3 ก็มีปัญหาเกิดขึ้นนิดหน่อย เพราะภายในเกมดันมีอาวุธที่ชื่อ Fat Man ซึ่งเป็นปืนยิงหัวรบนิวเคลียร์ขนาดเล็ก และเพราะชื่อ Fat Man ก็เป็นชื่อหัวรบนิวเคลียร์ของจริงที่ถูกทิ้งลงใส่เมืองนางาซากิตอนสงครามโลกครั้งที่สอง ผลก็คือญี่ปุ่นไม่สบายใจกับชื่อดังกล่าวทำให้สุดท้าย Fallout 3 Version ที่วางขายในญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนชื่ออาวุธดังกล่าวจาก Fat Man เป็น Nuka Launcher
อีกเกมที่ถูกเปลี่ยนแปลงเนื้อหาก็คือ Homefront บริษัท Spike ผู้จัดจำหน่ายในญี่ปุ่นตัดสินใจเปลี่ยนแปลงส่วนที่มีการพูดถึงท่านผู้นำคิมจองอิลและเกาหลีเหนือออกจากเกม
นิวซีแลนด์
เป็นประเทศที่น่าสนใจเพราะกฎหมายนิวซีแลนด์ระบุว่าเกมที่ถูกแบนนั้นนอกจากจะถูกห้ามวางจำหน่ายแล้ว การมีเกมดังกล่าวไว้ในครอบครองยังถือว่ามีความผิดอีกด้วย แต่ นิวซีแลนด์ ก็ไม่ได้แบนเกมมากมายหลายเกมนักนอกจาก Manhunt ทั้งสองภาค Postal 2 และเหล่าเกมโป๊ที่มีเนื้อหาหมิ่นเหม่ศีลธรรมอย่างการข่มขืนจากฝั่งญี่ปุ่น
สิงคโปร์
Half-Life หลังออกวางจำหน่ายมาได้ 1 ปี Half-Life กลับมาถูกแบนในประเทศสิงคโปร์ด้วยเหตุผลว่าเป็นเกมที่มีการใช้ความรุนแรง แฟนๆและผู้ขายต่างออกมารวมตัวกันประท้วงเพราะตัวเกมออกวางขายไปแล้วและเป็นที่นิยมอย่างสูงการแบนจะส่งผลเสียต่อตลาดเกมและเหล่าร้านเน็ต สุดท้ายการแบนก็ถูกยกเลิกใน 1 สัปดาห์ต่อมา
Mass Effect โดนแบนด้วยเหตุผลว่ามีฉาก Love Scene แบบ Lesbian (หญิงรักหญิง) ระหว่างมนุษย์และ Alien (หรือก็คือ Shepard และ Liara) แต่สุดท้ายการแบนก็ถูกยกเลิกในภายหลัง
เกาหลีใต้
ในอดีตเกาหลีใต้เคยสั่งทำการแบนเกมทุกเกมที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสงครามความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ต่อมาในปี 2006 การตัดสินใจดังกล่าวถูกยกเลิกเพื่อเปิดช่องให้กับเสรีภาพในการแสดงออก แต่ก็ยังมีบางเกมอย่าง Homefront ที่โดนสั่งเก็บโดยเหตุผลก็เพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีอยู่แล้วกับเกาหลีเหนือนั่นเอง นอกจากเกมสุดโหดอย่าง Manhunt ทั้งสองภาคที่โดนสอยแล้วล่าสุดก็คือ Mortal Kombat (2011) ที่โดนสั่งเก็บไป
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
กฎหมายแบนเกมของอาหรับเอเมเรตส์นั้นมีผลในการห้ามขายเกมดังกล่าวแบบ “กล่อง” เท่านั้นในขณะที่การขายเกมที่ถูกแบนในแบบ Digital ยังคงทำได้ ส่งผลให้เกิดช่องว่างทางกฎหมายร้านขายเกมภายในประเทศเปิดขายเกมที่ถูกแบนในรูปแบบ Digital โดยปกติ (ซึ่งสถานการ์ก็เหมือนกับบ้านเราในตอนนี้) เป็นเพราะกฎหมายไม่ได้ระบุลงโทษผู้มีเกมที่ถูกแบนไว้ในครอบครองแตกต่างกับในบางประเทศ เกมที่ถูกแบนในอาหรับเอมิเรตส์มักเป็นเกมที่มีเนื้อหารุนแรงหรือมีฉากที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ
BlazBlue: Continuum Shift โดนแบนด้วยข้อหาตัวละครแต่งตัวยั่วยวนเกิดเหตุ….
Darksiders ภาคแรกถูกแบนเพราะมีเนื้อหาขัดกับ “วัฒนธรรมและจารีตประเภณี” เนื่องจากตัวเกมนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวันสิ้นโลกและเหล่าคนม้าทั้งสี่รายจากศาสนาคริสต์ เป็นที่น่าสนใจก็คือตัวเกมภาค 2 ดันไม่ยังกะโดนแบนแถมมีวางขายปกติ ตอกย้ำ ความไม่มีมาตรฐานในการแบนเกมของหลายๆประเทศอีกครั้ง
Dragon Ages ทั้งสองภาคและ Mass Effect ถูกแบนเพราะมีการนำเสนอความสัมพันธุ์แบบรักร่วมเพศ
Dead Island ทั้งสองภาคถูกเก็บเพราะฉากใช้ความรุนแรงและซอมบี้แต่งตัวยั่วยวนในชุดว่ายน้ำ…
Injustice gods among us ถูกแบนเพราะมีคำว่า God อยู่ในชื่อเกม ภายหลังผู้จัดจำหน่ายพยายามเปลี่ยนชื่อเกมเป็น Injustice: The Mighty Among Us และได้ออกวางขายในท้ายที่สุด
Spec Ops: The Line เป็นเกมที่ถูกแบนอย่างหนักหน่วงที่สุดเนื่องจากสาเหตุที่ตัวเกมมีฉากเป็นเมืองดูไบที่ถูกทำลายย่อยยับ ตัวเกมถูกแบนทั้งแบบกล่องและแบบ Digital และแม้แต่ Steam ก็ไม่เปิดขายเกมนี้ใน Zone U.A.E.
เวเนซุเอลา
และเราก็มาถึงประเทศสุดท้ายประเทศที่เป็นที่สุดของการแบนเกมเพราะเวเนซุเอลาผ่านกฎหมายในปี 2009 ที่กำหนดให้มีการห้ามวางจำหน่ายวีดีโอเกมที่เกมที่มีเนื้อหาในการ “ยิงคนอื่น” สาเหตุการแบนนั้นเริ่มต้นจากความเชื่อว่าเหตุความรุนแรงและการยิงกันในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นมีที่มาจากวีดีโอเกม
3 เดือนต่อมาหลังผ่านร่างกฎหมาย เดือนมีนาคม 2010 กฎหมายดังกล่าวก็ถูกบังคับใช้ เวเนซุเอลากลายเป็นประเทศแรกบนโลกที่แบนเกมที่มีเนื้อหารุนแรงอย่างสมบูรณ์แบบ แม้กฎหมายดังกล่าวจะไม่ได้มาจากพรรครัฐบาลแต่ประธานาธิบดี อูโก ชาเบซ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็สนับสนุนกฎหมายแบนดังกล่าว และพูดถึงว่ามีเกมหลายเกมบนอินเตอร์เน็ตที่นำเสนอให้ผู้เล่นทำการ “สังหาร” ตัวเขา พร้อมยังกล่าวอีกว่าเครื่องเกมอย่าง 3DS ของ Nintendo หรือ Playstation ของ Sony เป็นยาพิษที่บ่อนทำลายประเทศและสนับสนุนแนวคิดแบบทุนนิยมซึ่งเขาชื่อว่าเป็น “แนวทางสู่นรก”
จากรายงานอย่างเป็นทางการมีวีดีโอเกมมากกว่า 13000 ชิ้นถูกเผาทำลายหลังกฎหมายดังกล่าวถูกบังคับใช้
แน่นอนว่ากฎหมายและการแบนนี้ถูกต่อต้านอย่างหนักจากเหล่าเกมเมอร์และผู้เชี่ยวชาญด้วยเหตุผลนานับประการ เช่นความไม่ชัดเจนของบทลงโทษ (โทษสูงสุดคือจำคุกถึง 5 ปี) การลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือเป็นการมองโลกเพียงด้านเดียวโดยไม่สนใจมุมมองอื่น
Sony ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงกฎหมายดังกล่าวและแสดงความไม่เห็นด้วยพร้อมคาดหวังให้รัฐบาลเวเนซุเอลาเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าวเสียที
*Fun Fact* hugo chavez เป็น Boss ใหญ่ในเกม Postal 3 หากผู้เล่นเลือกเล่นเป็นคนดี
*Fun Fact 2* ผมพึ่งค้นพบและรู้ว่าเวเนซูเอลาแบนการขาย Coke Zero ในประเทศในระหว่างนั่งหาข้อมูลมาเขียนบทความนี้ 🙂
ก็ถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจที่หยิบยกกันมาให้ดูครับ จะได้รู้ว่านอกจากในไทยแล้วประเทศอื่นๆเค้ามีการแบนเกมอะไรเพราะอะไรกันบ้าง จริงๆบ้านเราก็ถือว่าค่อนข้างที่จะมีเสรีภาพในการได้เล่นเกมกันพอสมควรยกเว้นกรณีล่าสุดกับเกมอย่าง Tropico 5