BY Nattapit Arsirawatvanit
8 Oct 18 8:00 pm

รายชื่อสตูดิโอเกมที่ได้รับผลกระทบจากความผิดพลาด จนต้องปิดกิจการ

4 Views

จากข่าวที่ Telltale ต้องเลย์ออฟพนักงานกว่า 75% ออกจากบริษัทเพราะปัญหาภายใน ส่งผลให้เหล่าแฟนเกมและเหล่าผู้เล่นขาจรทั้งหลายเกิดอาการช็อคไปพร้อม ๆ กัน แต่เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เหตุการณ์ที่น่าแปลกใจเท่าไหร่ ไม่ใช่เพราะมันมีเบาะแสอะไรให้เราคิดว่ามันจะต้องปิดบริษัทแน่ ๆ แต่เป็นเพราะเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากในวงการเกม เราต่างเข้าใจว่ามันจะต้องเกิดขึ้นในซักวัน ไม่ตอนนี้ก็ต้องอนาคตข้างหน้า

วันนี้ GamingDose เลยจะรวมมาให้ดูว่า เคยมีบริษัทไหนประสบชะตาเดียวกันกับ Telltale เกมบ้าง โดยในบทความนี้จะรวมมาแค่บางส่วนเท่านั้น ประมาณว่าจะไม่นับสตูดิโอยิบย่อยนั่นแหละ

Visceral Games

สตูดิโอชั้นนำเจ้าของซีรี่ส์ Dead Space และเกมแนวเล่นคนเดียวอื่น ๆ อีกมากมาย พวกเขาถูก EA ซื้อไปแล้วสั่งปิด เนื่องจาก EA ไม่เชื่อถือในเกมผู้เล่นคนเดียวอีกแล้ว สตูดิโอนี้เป็นเหมือน “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้ไฟของความแค้นจากผู้เล่นลามสู่ EA พวกเขาคิดว่าการคงอยู่ของเกมผู้เล่นคนเดียวนั้นจำเป็น และ Visceral Games ไม่ควรประสบชะตากรรมแบบนี้ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง เหตุผลที่ Visceral Games ถูกปิดไม่ใช่เหตุผลไร้สาระดังเช่น “การเบื่อเกมเล่นคนเดียว” เลย มันเป็นเพราะยอดขายของตัวเกมต่างหาก สุดท้ายสตูดิโอที่ได้ชื่อว่าเคยดีที่สุดก็ต้องจากไป ท่ามกลางความขัดแย้งของผู้เล่นกับ EA

Dead Space

Boss Key

ถ้าจะพูดถึงเกมที่สตูดิโอนี้พัฒนา คงไม่มีใครจำ แต่ถ้าจะพูดถึงความปากดีของเจ้าของสตูดิโอ หลายคนคงจะจำได้ เพราะสตูดิโอนี้เป็นของ Cliff Bleszinski ที่เคยไปปากดีใส่ Overwatch ว่าเป็นเกมเด็ก ๆ นั่นแหละ ทั้ง ๆ ที่ Lawbreaker เกมของตัวเองทำยอดขายดิ่งลงเหวแบบกู่ไม่กลับ เหตุผลแรกคือเกมขายในราคาที่แพงมาก ๆ อย่างที่สองคือเกมเต็มไปด้วยปัญหามากมาย อีกทั้งยังไม่มีเอกลักษณ์ประจำตัวอีกด้วย ทำให้ท้ายที่สุดแล้วสตูดิโออนาคตดีที่ก่อตั้งด้วยอดีตผู้พัฒนา Gears of War ก็ต้องถูกปิดไปอย่างช่วยไม่ได้

lawbreakers

Gazillion Entertainment

ค่อนข้างน่าสงสารเอามาก ๆ สำหรับ Gazillion Entertainment สตูดิโอน้ำดีที่ครั้งหนึ่งเคยได้ทีมงานของ Diablo 2 มาช่วยทำเกมให้ พวกเขาซื้อลิขสิทธิ์ของ Marvel เข้ามาทำเป็นเกมแนว Hack’n Slash แบบที่พวกเขาถนัด เพื่อหวังดึงผู้เล่นที่ชื่นชอบทั้ง Diablo และ Marvel มาไว้ในกำมือ ในช่วงแรกพวกเขาทำได้ดีทีเดียว ทั้งในส่วนของระบบเกมที่ทำออกมาได้ยอดเยี่ยมมาก และทั้งคอมมูนิตี้ที่หนาแน่น ทำให้ Marvel Heroes ถือเป็นเกมจากคอมมิคส์ชั้นเอกอุในช่วงนั้น แต่พอ David Brevik ผู้เป็นบิดาของเกมนี้เลือกที่จะถอนตัวออกไป ทำให้ Contents ในช่วงหลังที่ตีโจทย์ออกมาได้ไม่แตก ทำให้ความนิยมของเกมลดลงอย่างมาก ส่งผลให้บริษัทเป็นหนี้มากมาย ในช่วงสุดท้ายพวกเขาไม่มีเงินจ่ายค่าลิขสิิทธิ์ Marvel พวกเขาก็เลยจำเป็นต้องปิดเกมออนไลน์เพียงเกมเดียวของพวกเขาทิ้ง สุดท้ายแล้วพวกเขาก็ไม่เหลืออะไรไว้เลย แม้แต่เงินเดือนที่จะต้องจ่ายให้พนักงาน

สตูดิโออื่น ๆ อีกมากมาย

มีสตูดิโออื่น ๆ อีกมากมายที่ประสบปัญหานี้ อาทิเช่น

  • Telltale (The Walking Dead) ที่ประสบทั้งปัญหาภายในทั้งภายนอกจนแทบจะไม่เหลืออะไรแล้ว
  • Capcom Vancouver (Dead Rising) ที่ทำ Dead Rising จนบริษัทตาย แต่ดันลุกไม่ได้เหมือนชื่อเกม
  • Wargaming Seattle ที่เปิดมาเพื่อจะทำเกมออนไลน์ แต่ยังไม่ทันทำอะไรสตูดิโอก็บินไปเสียแล้ว
  • The Bartlet Jones Supernatural Detective Agency (Drawn to Death) พบกับจุดจบเพราะเกมอินดี้ของตัวเองที่อินดี้เกินจะขายได้
  • Runic (Torchlight) ที่ทำตามความฝันแต่ความฝันแทบไม่จ่ายเงินให้เขา จนสุดท้ายต้องขายวิญญาณให้ซาตานสีแดงมีดาวสีเหลืองแปะหน้าอกเพื่อให้สตูดิโอยังอยู่ต่อไปได้
  • Carbine (Wildstar) ที่ยอมขายตัวเองให้กับนายทุนชาวฮันกุ๊ก จุดจบสุดท้ายคือถูกประหาร
  • Motiga (Gigantic) เจ้าของเกมชื่อยักษ์ใหญ่ แต่กำไรไม่ใหญ่ตามชื่อ ทุกอย่างก็เลยต้องจบลงด้วยความพ่ายแพ้ที่ใหญ่ระดับ “มโหฬาร”

The Walking Dead

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ณ ตอนนี้ วงการเกมคือหนึ่งในวงการที่มีเม็ดเงินไหลเวียนเยอะที่สุด แต่ด้วยความที่มันมีเม็ดเงินไหลเวียนเยอะ ผู้คนจำนวนมากก็พร้อมที่จะเดินทางเข้ามาเก็บเกี่ยว และยิ่งมันคือ Media ในรูปแบบที่ให้ความบันเทิง มันจึงดูจับต้องง่ายกว่าวงการอื่น แต่เชื่อผู้เขียนเถอะ ว่าจริง ๆ แล้วไอ้ภาพสวยหรูที่คุณคิดว่าจับต้องง่าย เงินทั้งหลายที่คิดว่ามีอยู่จริง ความจริงแล้วมันทั้งเลือนลางและจับต้องได้ยาก ไม่ต่างจากไนโตรเจนที่อยู่ตรงหน้าพวกคุณทุกคนหรอก

SHARE

Nattapit Arsirawatvanit

มาร์ค - Senior Content Writer

Back to top