เมื่อเอ่ยถึงเกมที่เล่นได้ทุกเพศทุกวัยจริง ๆ สำหรับตัวผู้เขียนแล้ว เกมที่เล่นได้ทุกเพศทุกวัยคือเกมที่ไม่ว่าจะชายหญิง เด็กผู้ใหญ่หรือคนแก่ ก็สามารถหยิบมาเล่นได้อย่างไม่เคอะเขินหรือแคร์สายตาคนรอบข้าง ซึ่งหนึ่งในเกมเก่าที่ตรงกับคุณสมบัติข้อนี้ และเป็นเกมโปรดของผู้เขียนเองก็คงเป็นเกมไหนไปไม่ได้นอกจาก The Sims นั่นเอง
ย้อนกลับไปสักเกือบ 20 ปีที่แล้ว Will Wright นักพัฒนาเกมมือทองในยุคนั้นสร้างชื่อจากผลงานเกมสร้างเมืองยอดนิยมอย่าง SimCity ที่เรียกได้ว่าดังเป็นพลุแตกในปี 1989 และตอกย้ำความแรงในภาคต่ออย่าง SimCity 2000 ที่เขากลับมาร่วมพัฒนา รวมไปถึงเป็นต้นแบบที่ทำให้เกิดเกมแนว Sim ทั้งหลายมากมายผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทั้งสร้างเมือง สร้างสวนสนุก สร้างโน้นสร้างนี้มากมายไปหมด เรียกว่าแค่เขากินบุญเก่าจากเกมสร้างเมืองเหล่านี้ก็น่าจะรวยไปทั้งชาติแล้ว
แต่แล้วเขาก็มีไอเดียบรรเจิดเกิดขึ้นมาอย่างหนึ่ง ซึ่งเขาได้ความคิดนี้มาจากหนังสือแนวสถาปัตยกรรมของปี 1977 ที่แต่งโดย Christopher Alexander ซึ่ง Wright หลงใหลในงานของเขามาก เพราะงานเหล่านี้นอกจากจะดูสวยงามแล้ว ยังดูใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย ซึ่งมันก็ทำให้เขาคิดได้ว่า ถ้าสร้างเกมที่จำลองพฤติกรรมของมนุษย์ขึ้นมาแล้วให้ผู้เล่นสนุกไปกับมันได้ก็คงจะดี
และนั่นก็เป็นการนำความคิดและความหลงใหลต่าง ๆ มาต่อยอดเป็นเกมของตัวเอง โดยเขาเริ่มพัฒนาเกมที่มีคอนเซปต์นี้หลังเสร็จสิ้นการพัฒนาเกม SimAnt แต่มันออกมาแย่มากจากหลาย ๆ เสียงที่ได้ทดลองเล่นดู Wright จึงต้องรื้อโครงสร้างและทำใหม่หมดตั้งแต่ต้น โดยได้ Jamie Doombos หัวหน้าฝ่ายโปรแกรมเมอร์ที่เตยพัฒนา SimCity มาก่อนเข้ามาช่วยด้วย
โดยในช่วงแรกนั้นทั้ง Wright และ Doombos เน้นไปที่การพัฒนาระบบของการสร้างพฤติกรรมมนุษย์ และเมื่อเวลาผ่านไป Wright ก็พบว่าระบบการสร้างสังคมของตัวละครในเกมนั้นมีผลต่อการมีปฏิสัมพันธ์ในเกมอย่างมาก เขาจึงเพิ่มระบบที่เอาไว้เพิ่มความสัมพันธ์ต่อตัวละครเข้าไปมากมาย เช่นการไปเยี่ยมบ้านของเพื่อนบ้าน และการสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาวขึ้นมา
และหลังจากการพัฒนาที่ยาวนาน มีการเปลี่ยนแปลงกราฟฟิกของเกมจากสองมิติเป็นสามมิติ ในที่สุดทาง EA ก็เปิดตัวเกม The Sims ภาคแรกออกมาในปี 1999 ซึ่งในตัวอย่างที่พวกเขานำมาแสดงนั้นโชว์ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่หลากหลายไม่จำกัดทั้งเพศชายหญิงหรือเพศทางเลือก โดยมีภาพการจูบกันระหว่างผู้หญิงสองคนในงานแต่งงาน รวมไปถึงความสัมพันธ์ทางเพศออกมาด้วย และมันก็ได้รับความสนใจและถูกพูดถึงอย่างมาก กลายเป็นเกมที่หลายคนรอคอยไปในทันที
และในที่สุดตัวเกม The Sims ภาคหลักก็วางจำหน่ายในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ปี 2000 ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจที่ตัวเกมจะได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะนี่คือเกมที่ทำให้เราได้เล่นอะไรที่ไม่เคยเล่นมาก่อน การเปลี่ยนจากความซับซ้อนในการบริหารเมืองแบบมหาภาค กลายมาเป็นการสั่งการและควบคุมชาวซิมส์เพียงคนเดียวในแบบจุลภาคนั่นคือความสนุกที่น่าแปลกประหลาด มันก็ไม่น่าเชื่อว่าการที่แค่เราสั่งให้ชาวซิมส์ไปทานข้าว ทำงาน เสริมสร้างทักษะต่าง ๆ สร้างและต่อเติมบ้านหลังงาม ไปจนถึงการสามสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านมันจะสนุกบ้าบอได้ขนาดนี้ และไม่น่าแปลกใจที่หลายคนยอมทุ่มเทเวลาเพื่อเล่นมันแบบลืมวันลืมคืน
ในความเห็นของผู้เขียน The Sims มีความโดดเด่นในเรื่องของการเปิดกว้างอิสระให้ผู้เล่นได้ทำอะไรก็ได้อย่างที่ต้องการ เติมเต็มความต้องการที่ไม่สามารถทำได้ในโลกแห่งความเป็นจริงให้เกิดขึ้นในเกม อย่างเช่นอยากเป็นคนประสบความสำเร็จ ก็ขยันเพิ่มทักษะให้กับตัวเองและไต่เต้าขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุดของสายอาชีพ หรืออยากรวยแต่ขี้เกียจก็กดสูตรปั๊มเงินสร้างบ้านหลังใหญ่ ๆ ให้สมกับเงินที่ได้มา หรืออยากเป็นที่รักของเพื่อนฝูงก็ออกไปผูกมิตรกับเพื่อนบ้านสานสัมพันธ์กันไป ซึ่งแน่นอนว่ารวมไปถึงเรื่องของการผิดลูกเมียชาวบ้านที่เราทำได้อย่างสบาย และยังรู้สึกผิดน้อยกว่าในชีวิตจริงอีกด้วย
และที่น่าสนใจคือเหล่าผู้เล่นเจ้าเล่ห์ทั้งหลายที่พยายามหาทางเล่นกันระบบของเกม ที่แอบฆาตกรรมชาวซิมส์ที่เหม็นขี้หน้าได้อย่างแนบเนียน วิธีที่นิยมที่สุดคือการเอาบันไดในสระว่ายน้ำออกไป แล้วชาวซิมส์จะไม่สามารถขึ้นมาจากสระน้ำได้ และทำให้พวกเขาจมน้ำตาย หรือแกล้งเอาคนที่มีทักษะทำอาหารต่ำ ๆ ไปทำกับข้าวให้ไฟไหม้ตายก็มีเช่นกัน ซึ่งความหลุดโลกนี้ก็สร้างฐานแฟนเกมที่ชอบทำเรื่องเพี้ยน ๆ เหล่านี้ขึ้นมามากมาย
อีกสิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้สำหรับชาวไทยก็คือเรื่องของการแปลภาษาไทยในเกมที่ทำออกมาได้ยอดเยี่ยมมาก ซึ่งถือเป็นผลกำไรที่ผู้เล่นชาวไทยได้รับกันไปแบบเต็ม ๆ ด้วยภาษาในการแปลที่ลื่นไหลอ่านแล้วไม่ขัดตา รวมไปถึงชื่อและคุณสมบัติของสินค้าต่าง ๆ ในเกมที่เน้นเอาฮาแบบไม่มีกั๊ก ช่วยเสริมรสชาติในการเล่นขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
ด้วยความสนุกที่เรียบง่ายนี่เอง ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่ยอดขายของเกมจะมหาศาลมากแม้จะวางจำหน่ายแค่บนระบบ PC ก็ตาม แถมยังเป็นเกมที่สามารถดึงดูดผู้เล่นสาว ๆ ให้มาสนใจในโลกของวิดีโอเกมได้อย่างง่ายดาย และยังเป็นเกมที่ดูไม่มีพิษภัยใด ๆ เหมาะกับทุกเพศทุกวัยอย่างแท้จริง ขนาดผู้เขียนเองที่ชื่นชอบเกมยิงหรือเกมต่อสู้ยังรู้สึกชื่นชอบ The Sims อย่างมาก รวมไปถึงตัวน้องสาวของผู้เขียนเองก็เช่นกัน จนทำให้ช่วงหนึ่งมีการแย่งคอมที่บ้านกันเล่นเพื่อเกมนี้กันเลยทีเดียว
แน่นอนว่าทาง Maxis ก็ไม่ได้หยุดแค่ภาคหลักเพียงภาคเดียว พวกเขายังปล่อยชุดเสริมหรือ Expansion Pack ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายภาคก็เพิ่มของใหม่ ระบบใหม่ต่าง ๆ มากมาย และที่น่าทึ่งที่สุดก็คือภาคเสริม Makin’ Magic ที่เปลี่ยนโลกของชาวซิมส์ให้กลายเป็นโลกเวทย์มนต์แบบนิยายชื่อดังอย่าง Harry Potter ที่สนุกมากแบบลืมเกมอื่น ๆ ไปได้เลย
ปัจจุบันนี้เรายังคงได้เห็นภาคต่อและภาคเสริมของ The Sims ออกมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย และมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เช่นภาคสองที่เพิ่มระบบปณิธานที่เป็นการกำหนดว่าความมุ่งหวังของชาวซิมส์จะเป็นไปในทางไหน(อยากรวย, มีชื่อเสียง, เก่งทุกด้าน หรือสบาย ๆ ) และนั้นก็เพิ่มเป้าหมายให้เกมมีความน่าสนใจมากขึ้น ไม่ใช่แค่เล่นใช้ชีวิตไปวัน ๆ และภาคที่สามที่สร้างระบบ Open World ได้อย่างน่าสนใจ แม้จะมีปัญหาเยอะ แต่ก็เป็นภาคที่ผู้เขียนชื่นชอบอีกเช่นกัน
ส่วนในภาคที่สี่ เราก็ยังคงเห็นการอัพเดตเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง แม้ราคาค่าตัวจะแพงไปเสียหน่อย แต่ตัวเกมก็ได้รับการขัดเกลาดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าหากเลือกได้และมีเวลามากพอ ผู้เขียนเองก็อยากกลับไปสัมผัสกับโลกของ The Sims ในภาคที่สามพร้อมชุดเสริมครบถ้วนอีกครั้งหนึ่งเหมือนกัน
The Sims นับเป็นตัวอย่างที่ดีของโลกวิดีโอเกมที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและเหมาะกับคนทุกวัย ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเป็นจุดขาย แต่ใช้ความเรียบง่ายเปิดกว้างให้ผู้เล่นได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำอย่างอิสระ โดยกำหนดกรอบเงื่อนไขที่น่าสนุกให้ได้แก้ไข แม้ชีวิตจะโหดร้ายแค่ไหน แต่การที่ได้สัมผัสกับโลกที่เราสร้างขึ้นมากับมือและสนุกไปกับมันก็เหมือนกับเป็นการบันดาลฝันให้กลายเป็นจริง แม้จะเป็นแค่โลกในหน้าจอ แต่ก็เป็นโลกที่เป็นเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจให้ชุ่มชื้นขึ้นมา กลายเป็นกำลังใจให้สู้กับความโหดร้ายในโลกความจริงต่อไปได้ครับ