BY KKMTC
Less than a minute ago

รีวิว Sword Art Online Fractured Daydream

0 Views

เป็นอีกครั้งที่แฟรนไชส์ Sword Art Online ได้สร้างเป็นเกมใหม่ พร้อมเล่นใหญ่กว่าเดิมด้วยโหมดการเล่น CO-OP ที่รองรับผู้เล่นสูงสุดถึง 20 คน และตัวละครหลักหลายคนได้รวมตัวกันในภาคนี้ แล้วเกมนี้จะถูกใจแฟน SAO หรือไม่ มาอ่านบทความรีวิว Sword Art Online Fractured Daydream ได้เลย

เนื้อเรื่อง

“กาแล็กเซีย” ระบบเสมือนจริงของเกม Alfheim Online (ALO) ได้จู่ ๆ เกิดอาการรวน ทำให้กาลเวลาในเกมถูกบิดเบือน แล้วผู้เล่นทั้งหลายได้หลงเข้าไปในเกมหลายจักรวาลโดยไม่ทราบสาเหตุ คิริโตะกับเพื่อนร่วมปาร์ตี้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ด้วย จึงต้องร่วมมือกับพันธมิตรที่ล่วงลับรวมถึงศัตรูในอดีต เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

สิ่งที่ชอบอย่างหนึ่ง คือเกมนี้ได้ดำเนินเนื้อเรื่องแบบเปลี่ยนกลุ่มไปเรื่อย ๆ เราจะเห็นตัวละครในแต่ละกลุ่มติดอยู่ในโลกเกมที่ไม่คุ้นเคย และเห็นตัวละครมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นที่ไม่เคยเจอมาก่อน นอกจากนี้ ตัวละครหลักทุกคนมีบทบาทในเนื้อเรื่องหลักเท่ากัน ไม่มีใครคนไหนโดดเด่นเป็นพิเศษ แม้ตัวเอกของเกมนี้ยังคงเป็นคิริโตะ แต่ทุกคาแรคเตอร์จะมีโมเมนต์เด็ด ๆ ของตัวเอง

แต่น่าเสียดายที่องค์ประกอบดังกล่าวเป็นจุดเด่นอย่างเดียวสำหรับเกมนี้ เพราะโดยรวมแล้ว เนื้อเรื่องจัดว่าอยู่ในเกณฑ์สอบผ่าน เพราะเป็นพล็อตแนวผจญภัยแฟนตาซีค่อนข้างสูตรสำเร็จ ที่เหล่าตัวละครต้องออกเดินทางไปจักรวาลเกมต่าง ๆ เพื่อหาทางแก้สถานการณ์ จากนั้นก็รวมตัวกันปราบผู้ร้ายที่เชื่อว่าอาจจะเป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมด

ก็ต้องบอกก่อนว่าแม้เนื้อเรื่องจะเป็นสูตรสำเร็จ แต่ถ้าเล่าเรื่องสนุก มันก็ชวนให้อยากติดตามสตอรีต่อไปเรื่อย ๆ จนเล่นจบได้ แต่ปัญหาหลักคือการเล่าเรื่องในเกมธรรมดาเกินไป แม้การตบมุขของตัวละครบางช่วงจะชวนให้ขำบ้าง และมีบางฉากคัตซีนที่เชื่อว่าแฟน ๆ SAO เห็นแล้วอยากร้องกรี๊ดดังได้ แต่โดยรวมแล้ว บทสนทนาในเนื้อเรื่องหลักไม่ค่อยมีเนื้อหาน่าสนใจ หรือน่าจดจำเท่าไหร่

ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะเกมนี้มีการใช้คำศัพท์ของจักรวาล SAO โดยไม่มีการอธิบายเพิ่มเติมระหว่างเล่นบทสนทนา จึงรู้เลยว่าเกมนี้ออกแบบมาเพื่อแฟน ๆ โดยเฉพาะ ใครเพิ่งเข้าถึงจักรวาล SAO เป็นครั้งแรกจากการเล่นเกมนี้ ผู้เล่นอาจจะมึนงง ไม่เข้าใจในสิ่งที่เกมพยายามอธิบายอย่างแน่นอน แต่โชคดีที่ในเกมมี Archive ให้อ่านเนื้อเรื่อง SAO แบบย้อนหลังฉบับย่อ ซึ่งก็พอช่วยให้เข้าใจบริบทต่าง ๆ ของเนื้อเรื่องหลักได้อยู่บ้าง

แต่แม้เนื้อเรื่องธรรมดา แต่ต้องยอมรับว่าไอเดียนำตัวละคร SAO หลายตัวหลงเข้าไปอยู่ในโลกเกมที่ไม่คุ้นเคย แล้วจับมือต่อสู้ไปด้วยกัน มันคือคอนเซปต์ที่แฟน SAO ต้องการอยากให้เป็นจริงมาโดยตลอด ฉะนั้นแฟน ๆ บางคนอาจอยากติดตามเนื้อเรื่องต่อไปเรื่อย ๆ เพราะอยากเห็นโมเมนต์คาแรคเตอร์หลายตัวมาอยู่พร้อมหน้ากันจนกลายเป็นกลุ่ม The Avengers ในจักรวาล SAO

การนำเสนอ

“เกิดอะไรขึ้น เมื่อตัวละครจาก SAO ทั้งหมดมาอยู่ในที่เดียว แล้วร่วมมือกันกำจัดภัย เพื่อให้โลกเกมกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง” นี่คอนเซปต์หลักของเกม SAO Fractured Daydream ที่ทีมงานต้องการนำเสนอ

ซึ่งแนวคิดนี้ก็ใช้ได้ผลจริง และมั่นใจว่าแฟน SAO จะต้องชื่นชอบต้องส่วนนี้มาก ๆ แน่นอน เพราะเราได้เห็นตัวละครมีปฏิสัมพันธ์ หรือกล่าวถึงตัวละครคนอื่นที่ไม่เคยนำเสนอในซีรีส์มาก่อน และเฉิดฉายตัวละครในด้านที่ไม่ค่อยได้เห็น

อะไรที่คิดว่า “เป็นไปไม่ได้” ในซีรีส์หลัก ได้กลายเป็นเรื่องที่ “เป็นไปได้” ในเกมภาคนี้ ยกตัวอย่างเช่น Administrator (Quinella) ซึ่งมีบทบาทเป็นตัวร้ายของซีซัน 3 กลายเป็นพันธมิตรของฝ่ายคิริโตะ หรือ Oberon ตัวร้ายจอมขี้ขลาดจาก Fairy Dance Arc ต้องกลายเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม Alice Zuburg (แบบไม่ค่อยเต็มใจ)

ไม่ปฏิเสธว่าไอเดียดังกล่าวเป็นสิ่งที่แฟน SAO ระดับเดนตายอยากเห็น และเกมนี้สามารถมอบสิ่งที่แฟน ๆ ใฝ่ฝันให้เป็นจริงได้ รวมถึงในเกมมีตัวละครให้เล่นทั้งหมด 21 ตัว (ไม่รวมตัวใหม่ที่อัปเดตเข้าเกมในภายหลัง) เช่น Kirito, Asuna, Yui, LLEN, Sinon, Leafa ฯลฯ พร้อมมีการแบ่งคลาสชัดเจน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างเยอะใน Day 1 แต่นั่นอาจจะเป็นข้อดีโดดเด่นข้อเดียวสำหรับเกมนี้ เพราะคอนเทนต์ที่เหลือจัดว่ามีคุณภาพค่อนข้างทั่วไป

แม้ท่าต่อสู้ ท่าไม้ตายจะตรงตามต้นฉบับในทุกประการ แต่ก็ไม่ได้สวยงามอลังการจนถึงขั้นร้องว้าว และมอนสเตอร์มีหลากหลายประเภทก็จริง แต่ส่วนใหญ่ยังใช้ดีไซน์เดิมแต่เปลี่ยนสีเฉย ๆ 

การนำเสนอฉากพูดคุยในเกมมีความเรียบง่ายเกินไปจนขาดความน่าดึงดูด โดยตัวละครมักจะยืนคุยนิ่ง ๆ พร้อมแสดงสีหน้าและขยับร่างกายนิดหน่อย รวมถึงขาดการถ่ายทำภาพเคลื่อนไหว (หรืออธิบายแบบง่ายที่สุด คือมักจะแช่มุมกล้องนิ่งระหว่างพูดคุย) ก็มีผลทำให้การเล่าเรื่องขาดความน่าสนใจด้วย ถึงแม้มีฉากคัตซีนแบบภาพยนตร์ในช่วงสำคัญ แต่ส่วนใหญ่จะฉายในความยาวไม่ถึง 1 นาทีและมีไม่ค่อยเยอะ 

นอกจากนี้ คอนเทนต์ในส่วนของโหมดออนไลน์ ณ ตอนนี้ยังมีค่อนข้างน้อย และรูปแบบภารกิจขาดความหลากหลาย เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการวิ่งอยู่แต่ในพื้นที่เดิม ๆ  แล้วทำ Objective ต่าง ๆ ที่วนอยู่แค่กำจัดมอนสเตอร์ ปกป้องเพื่อนระหว่างทำการปลดล็อกประตู และปราบบอสเล็กบอสใหญ่เท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเกมนี้เป็น Live Service จึงจะมีอัปเดตเพิ่มคอนเทนต์ฟรีเป็นช่วง ๆ ซึ่งล่าสุดเอง ตัวเกมเพิ่งเพิ่มด่านใหม่มาสด ๆ ร้อน ๆ เอง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามองจากสถานะของเกม ณ ตอนนี้ คอนเทนต์ยังถือว่ามีน้อย ซึ่งก็คาดหวังว่าในอัปเดตถัดไปจะเพิ่มรสชาติของเนื้อหาเกมให้แปลกใหม่จากเดิม

เกมเพลย์

หัวใจสำคัญของ SAO Fractured Daydream คือเป็นเกมแนวแอ็กชัน RPG ที่ผู้เล่นต้องปราบสัตว์ประหลาด เพื่อผ่านด่านต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงด่านสุดท้ายจะเป็นการปราบบอสใหญ่ แล้วเมื่อกำจัดสำเร็จ ผู้เล่นจะได้รับของรางวัลมากมายเป็นอาวุธ ไอเทม และเงินต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งของรางวัลที่ได้จากการปราบครั้งแรก และของรางวัลจากการเล่นจบที่เป็นการสุ่มทั้งหมด

โหมด Multiplayer ที่สำคัญมีให้เล่น 2 โหมดอย่าง CO-OP เป็นการร่วมมือกับเพื่อนรวม 20 คน เพื่อทำภารกิจด้วยกัน และโหมด Boss Raid เป็นการร่วมมือต่อสู้กับบอสใหญ่ที่มีเลือดหลายหลอด โดยทั้งโหมดเล่นคนเดียวกับ Multiplayer มีรูปแบบการเล่นคล้ายกันคือต้องทำ Objective ต่าง ๆ ให้สำเร็จ อย่างเช่น การป้องกัน จำกัดศัตรู หรือปราบบอส เพื่อผ่านด่านต่อไป

สิ่งที่แตกต่างระหว่าง 2 โหมด คือโหมดเล่นคนเดียวจะมีการเล่าเรื่อง, เพื่อนร่วมปาร์ตี้ทั้งหมดควบคุมโดย AI และระหว่างเดินทางจะสามารถทำภารกิจความท้าทายพิเศษ เช่น ปราบศัตรู เก็บเหรียญ ทำลายวัตถุทั้งหมดในเวลาที่กำหนด ซึ่งหากทำสำเร็จจะได้รับรางวัลโบนัสติดตัวไปด้วย ส่วน CO-OP มีเกมการเล่นที่ตายตัว คือ เราต้องร่วมมือกับผู้เล่น 19 คน เพื่อช่วยกันทำ Objective อย่างกำจัดบอส/มอนสเตอร์ให้สำเร็จ ซึ่งด่านแรกเราต้องร่วมมือกับเพื่อน 3 คนก่อน แล้วด่านต่อไปจะรวมตัวกับกลุ่มอื่น ๆ จนสุดท้ายก็ครบ 20 คนพอดี

และสุดท้าย โหมด Boss Raid คือการปราบบอสยักษ์ที่มีเลือดหลายหลอด และหลาย Phase ซึ่งการเล่นเหมือนกับโหมด CO-OP 20 คนที่ต้องช่วยกันปราบมันให้สำเร็จ แต่จะมี Leaderboard บอกชัดเจนว่ากลุ่มไหนทำคะแนนได้มากที่สุด 

เนื่องจากโหมด CO-OP กับ Boss Raid รองรับผู้เล่นถึง 20 คน แล้วทุกคนจะโจมตีศัตรูรัว ๆ อัดสกิลไม่ยั้งจนเอฟเฟกต์เต็มหน้าจอ ทำให้บรรยากาศการเล่นเกมเต็มไปด้วยความวุ่นวายโกลาหล ซึ่งเป็นความสนุกได้ที่จากการเล่นโหมดนี้

นอกจากนั้น ของรางวัลที่ได้จากการเล่น CO-OP กับ Boss Raid จบ ก็ถือว่าเยอะมากอีกด้วย โดยเล่นจบ 1 ครั้งจะได้อาวุธประมาณ 6-8 ชิ้น เงินจำนวนหนึ่ง เครื่องประดับบัฟค่าสถานะตัวละครประมาณ 4-5 ชิ้น และหากโชคดี ก็อาจจะได้ชุดแต่งกายพิเศษซึ่งเป็นแรร์ไอเทม

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ใช่เป็นคนรักการฟาร์มไอเทมจริง ๆ ผู้เล่นบางคนอาจจะรู้สึกเบื่อกับการเล่นซ้ำ ๆ เนื่องจากขาด Objective, มอนสเตอร์ กับการดีไซน์แผนที่ที่หลากหลาย ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้มีเฉพาะแค่โหมด Multiplayer แต่รวมถึงโหมดเล่นคนเดียวที่มีรูปแบบการเล่นคล้ายกันกับ CO-OP เพียงแต่จะจบเร็วกว่า และมีการเล่าเรื่องด้วย

ส่วนระบบการต่อสู้ก็ถือว่าเบสิคจริง ๆ คาแรคเตอร์ที่โจมตีระยะประชิดจะมีโจมตีเบา โจมตีหนัก กดป้องกัน และหลบ ส่วนสายปืนจะมีเล็ง ยิง กับหลบ ซึ่งแต่ละคนมีสกิลกับท่าไม้ตายเป็นของตัวเอง ด้วยระบบการต่อสู้ที่เรียบง่าย จึงเป็นเกมที่เข้าถึงได้ง่าย คนที่ผ่านเกมแอ็กชันมานาน เมื่อจับเกมนี้แล้วจะเล่นเป็นอย่างรวดเร็ว

ถึงอย่างนั้น ในเกมนี้ไม่มี Skill Tree ให้อัปเกรดความสามารถกับปลดล็อกท่าต่อสู้ใหม่ รวมถึงความแกร่งของตัวละครจะมาจากการสวมเครื่องประดับกับถืออาวุธ Stats ดี ๆ จึงทำให้ระบบการต่อสู้ขาดความลึก กลายเป็นเกมสแปมปุ่มโจมตี ปุ่มใช้สกิล และปุ่มท่าไม้ตาย ซึ่งเล่นในช่วงแรกอาจจะรู้สึกสนุกมันสะใจ แต่เมื่อเล่นไปเรื่อย ๆ จะเริ่มรู้สึกจำเจ เพราะไม่จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์เยอะ ไม่ต้องคิดมาก ก็สามารถเอาชนะเกมได้ง่าย ๆ

นอกจากนี้ การควบคุมการต่อสู้ระยะประชิดยังไม่ค่อยลื่นไหล เพราะทุกการออกท่าโจมตี ลำตัวจะไม่พุ่งไปข้างหน้า ทำให้บางครั้งก็โจมตีพลาดและขาดความต่อเนื่อง รวมถึงระบบล็อกเป้าหมายก็ทำงานได้แย่มากจนกลายเป็นฟีเจอร์ไร้ประโยชน์ไปเลย

ตรงกันข้ามกับการต่อสู้ด้วยอาวุธปืนนั้น กลับลื่นไหลเป็นปกติเหมือนกำลังเล่นเกม TPS เพราะตัวส่วนใหญ่ที่ใช้ปืนจะสามารถวิ่งยิงกับเล็งยิงได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ส่วนตัวชื่นชอบใช้ตัว LLEN มากที่สุด เพราะทั้งหลบได้เร็ว มีเกมเพลย์ Fast-Paced และคิดว่าเป็นคาแรคเตอร์ที่เล่นลื่นไหลที่สุดแล้ว

แม้เกมเพลย์มีข้อเสีย และเกมการเล่นโดยรวมไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ แต่จากประสบการณ์ส่วนตัว ยอมรับว่าถ้าเล่นแบบไม่คิดอะไรมาก มันก็เป็นเกมที่เล่นเพลินระดับหนึ่ง ถ้าชอบ Grind ชอบความวุ่นวายใน Multiplayer คุณอาจจะติดพันเกมนี้จนเล่นติดต่อกันได้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม ในเกมนี้มีเควสต์รายวัน เควสต์รายสัปดาห์ ที่ทำสำเร็จแล้วจะได้แต้มสะสมไว้ใช้ปลดล็อกของต่าง ๆ ใน Battle Pass ซึ่งมีเฉพาะแบบฟรีเท่านั้น ไม่มีระดับ Premium ที่ต้องจ่ายเงินซื้อเพิ่ม ฉะนั้นก็เป็นข้อดีอย่างหนึ่งของเกมนี้คือผู้เล่นจะสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้เกือบทั้งหมด และสามารถปลดล็อกมาใช้ได้แน่นอน ตราบใดที่เข้าเกมทำเควสต์รายวัน/รายสัปดาห์เป็นประจำ

แต่ไม่ได้หมายความว่าของทั้งหมดจะได้มาจากการเล่นอย่างเดียว เพราะในเกมมี Store สำหรับซื้อบันเดิลชุดตัวละครกับอาวุธที่สามารถซื้อด้วยเงินจริง หรือตั๋ว SAO ที่ได้มาจากการเก็บ Battle Pass ซึ่งตอนนี้ แต่ละบันเดิลสามารถซื้อได้ด้วยเหรียญตรา SAO 1,800 หรือตั๋ว SAO จำนวน 3 ใบ โดยตกมูลค่าประมาณ 350 บาท ซึ่งจัดว่าไม่ได้แพงมากนัก ฉะนั้นใครสนใจอยากซื้อก็ต้องขยันเล่นเพื่อเก็บ Battle Pass หรือใช้ทางลัดก็คือเติมเงิน

กราฟิก/ประสิทธิภาพ

SAO Fractured Daydream พัฒนาโดยใช้ Unreal Engine เหมือนเกมไตเติลอื่น ๆ ของ Bandai Namco จากการเล่นต่อเนื่องหลายชั่วโมงโดยใช้คอมพิวเตอร์ที่มีสเปคการ์ดจอ RTX 2070 Super พบว่าตัวเกมไม่มีปัญหาด้านประสิทธิภาพ ไม่มีปัญหาบั๊กกวนใจ รันได้ลื่นไหลมาก ๆ หรือจะบอกได้ว่าเกมนี้ไม่ค่อยกินสเปคหนักเท่าไหร่นัก

แม้เฟรมเรตมีอาการตกเล็กน้อย เมื่อเจอฉากที่ผู้เล่น 20 คนกำลังรุมโทรมบอสในโหมด CO-OP และ Boss Raid แต่ก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ที่เกมต้องมีอาการเฟรมเรตตกกันบ้าง เพราะทุกคนจะใช้สกิลโจมตีมอนสเตอร์ ทำให้เอฟเฟกต์แสง ระเบิด ควัน เต็มหน้าจอไปหมด แต่ต้องย้ำว่านี่เป็นประสบการณ์ที่เจอจากการเล่นเกมบนคอมพิวเตอร์ของตัวเอง ฉะนั้น PC แต่ละเครื่องจะเจออาการเฟรมเรตกระตุกระหว่างที่เอฟเฟกต์เต็มหน้าจอไม่เหมือนกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าตัวเครื่องมีความทรงพลังมากน้อยแค่ไหน

จุดตำหนิหลักสำหรับเกมนี้มีอย่างเดียว คือภาพกราฟิกโดยรวมดูตกยุค ทั้งคุณภาพ Texture, วัตถุ, เอฟเฟกต์, โมเดลตัวละคร ฯลฯ เหมือนหลุดมาจากเกมสมัย PlayStation 4 และ Xbox One 

ถึงแม้ภาพโดยรวมจะไม่ได้ดูแย่จนถึงขั้นรับไม่ได้ และแน่นอน กราฟิกก็ไม่ได้ส่งผลต่อเกมการเล่นด้วย แต่เนื่องจากเกมนี้ลงเฉพาะในเครื่องเกมคอนโซลรุ่นล่าสุดอย่าง PlayStation 5 กับ Xbox Series (รวมถึง Switch) ฉะนั้นจึงรู้สึกแอบผิดหวังนิดหน่อยที่กราฟิกไม่ได้ก้าวกระโดดจากเกมภาคก่อน และดูไม่ทันสมัยสมกับเกมยุคปัจจุบัน ทั้งที่ SAOเป็นแฟรนไชส์ชื่อดังที่นำเสนอเกี่ยวกับธีมอิเซไคเข้าไปในโลกวิดีโอเกม

สรุป

Sword Art Online Fractured Daydream เป็นโปรเจกต์ที่สร้างขึ้นเพื่อแฟนเดนตายที่อยากเห็นตัวละครหลักในจักรวาล SAO ได้อยู่พร้อมหน้ากัน แม้คุณภาพเกมจัดว่าสอบผ่าน ไม่ค่อยมีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ และมีปัญหารูปแบบภารกิจที่ขาดความหลากหลาย แต่ถ้าเล่นแบบเอามันอย่างเดียว และชื่นชอบการฟาร์มของ ก็เป็นเกมที่เล่นเพลิน ๆ และใช้ฆ่าเวลาได้เป็นอย่างดี 

คะแนน: 6.5/10

Sword Art Online Fractured Daydream

6.5 / 10 คะแนน

6.5

ข้อดี

  • ตัวละครหลักจาก SAO รวมทีมต่อสู้ไปด้วยกัน เป็นแนวคิดที่แฟนเดนตายอาจหลงรัก
  • โหมด CO-OP กับ Boss Raid 20 คน มีบรรยากาศสนุกสนานวุ่นวาย
  • ระบบรางวัลดี ชวนให้อยากเล่นต่อไปเรื่อย ๆ
  • มีตัวละครให้เล่นเยอะตั้งแต่วันแรก

ข้อเสีย

  • รูปแบบ Objective ขาดความหลากหลาย ทำให้เล่นแล้วรู้สึกเบื่อเร็ว
  • ระบบการต่อสู้ขาดความลื่นไหล ระบบล็อกเป้าไม่มีประโยชน์
  • เนื้อเรื่องธรรมดา ไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ
  • กราฟิกดูตกยุค

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top