BY Aisoon Srikum
28 Aug 20 6:39 pm

วิธีเลือกซื้อเกมให้โดนใจ ในยุคที่เงินมีค่าและต้องกินต้องใช้

62 Views

เครื่อง PS5 / XBOX Series X ก็กำลังจะมา และไม่ใช่แค่เครื่อง แต่เหล่าเกมใหม่มากมายที่จะมาพร้อมกับเครื่อง และออกให้ครบทุกเครื่องก็จะมีมาให้เราเสียเงินอีกมากมายมหาศาล คำถามคือ เราจะทำยังไงในยุคที่เงินทองมีค่าเหลือเกิน ต้องกินต้องใช้ในชีวิตประจำวัน แต่เกมก็อยากเล่นนี่นา..

งั้นวันนี้เรามาดูวิธีการเลือกซื้อเกมให้โดนใจ คุ้มเงินทุกบาททุกสตางค์กันเลยดีกว่า พอจะมีหนทางอยู่รอดในยุคข้าวยากหมากแพงนี้หรือไม่

Step 1 : ค้นหาตัวเองว่าชอบเล่นเกมแนวอะไร

การรู้จักตัวเองถือเป็นเรื่องดีทั้งในการตามหาเป้าหมายชีวิต ยันตามหาเกมที่คุณอยากเล่น สิ่งที่ต้องรูไว้เสมอก็คือเกมแต่ละเกมนั้น มีรูปแบบการเล่นที่ต่างกันไม่พอ ยังมีเรื่องของเครื่อง แพลตฟอร์ม ร้านค้าอีก แต่อันนั้นไว้ว่ากันทีหลัง เพราะสิ่งสำคัญเลยคือคุณต้องหาก่อนว่าชอบเล่นเกมแนวอะไรกันแน่

ด้วยความที่เกมในปัจจุบัน มีแตกแยกออกมาหลากหลายแนวเกม เราจึงรวมมาไว้เป็นแนวหลัก ๆ ซึ่งจะแบ่งจำแนกออกมาได้ดังนี้

MMORPG หรือ RPG : เกมแนวนี้จำเป็นจะต้องใช้เวลาในการเล่นสูงพอสมควร เพราะคุณจะต้องหาสิ่งของ ไอเทม มาพัฒนาทักษะ ตัวละครของตัวเอง และอาจจะต้องเข้าสังคม รู้จักคนในเกมมากขึ้น เพราะบางระบบของเกม จำเป็นจะต้องมีเพื่อนหรือปาร์ตี้ขนาดใหญ่ในการเล่น เช่นการลงด Raid Boss หรือดันเจี้ยนระดับสูง เป็นเกมที่คุณจะเล่นได้ยาว ๆ ถ้าชอบมัน และอาจเสียเงินเพิ่มกับไอเทม In-App Purchase ทั้งหลาย เกมที่โดดเด่นในยุคนี้ก็เช่น Final Fantasy XIV, Guild Wars 2, Black Desert, World of Warcraft

Real Time Strategy หรือ RTS : แนวเกมที่จางหาย และหาเล่นได้ยากมากในปัจจุบัน เพราะแทบจะเป็นเกมเฉพาะกลุ่ม อาศัยทักษะในการเล่น การวางแผนสูงมาก ถึงแม้ว่าบางเกมจะมีโหมดง่าย แต่เราก็ต้องคิด และตัดสินใจตลอดเวลา เหมาะสำหรับคนที่ชอบท้าทาย ชอบใช้สมองตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่ช่วงเวลาว่าง เกมจำพวกนี้ยกตัวอย่างเช่น Desperados หรือล่าสุดอย่าง Wasteland 3

FPS หรือ First Person Shooter : แนวเกมที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และปัจจุบันก็มีเกมแนวนี้ให้เลือกเล่นหลายเกม โดยมากมักจะมาในรูปแบบของการเล่นแบบ Competitive หรือเน้นการแข่งขันกันตลอด เป็นแนวเกมยอดนิยม ที่ใช้เล่นเพื่อผ่อนคลาย เพราะจุดประสงค์เกมคือการเล่นเอาชนะจบเป็นรอบ ๆ ไป อาจจะมีเก็บเงิน เก็บเลเวล ปลดล็อคของใหม่ ๆ แต่ส่วนมากจะใช้ทักษะของผู้เล่นล้วน ๆ เกมยอดนิยมในแนวนี้ปัจจุบันมีเยอะมากทั้ง Call of Duty: Modern Warfare, Apex Legends, Overwatch เป็นต้น

Indie Game : เกมอินดี้ หากพูดแค่นี้คำนิยามจะกว้างมาก เอาเป็นว่าเกมที่ไม่ได้กราฟิกหวือหวาอะไร แต่ไปเน้นการนำเสนอเนื้อเรื่อง ระบบการเล่นที่ไม่ยาก แต่ต้องละเมียดละไมในการเล่น หรือเกมจำพวกเดินตะลุยด่านแบบแพลตฟอร์เมอร์ก็นับเป็นเกมอินดี้ได้เช่นกัน เกมพวกนี้จะใช้เวลาในการเล่นไม่นานมาก ขึ้นอยู่กับเกม บางเกมเป็นเกมอินดี้ แต่ยาวหลาย 20-30 ชั่วโมงก็มีเช่นกัน

Open World Game : เกมแนวออกสำรวจโลกเปิดกว้างแบบนี้มักจะมาพร้อมกับแนวเกมลูกผสม อาจจะผสมเข้ากับเกม Action RPG หรือเกม FPS ก็ได้ ถือเป็นแนวเกมที่ได้รับความนิยมสูงมากเช่นกัน เพราะให้อิสระกับผู้เล่นสูง อยากจะเล่นลุบ ๆ เสพเนื้อเรื่องก็ทำได้ อยากอิสระ เดินกินลมชมวิวไปด้วยก็ได้เช่นกัน

MOBA : เกมยอดนิยมที่เล่นแบบจบเป็นรอบ ๆ ไป วิธีเล่นก็แค่ร่วมมือกับเพื่อนในทีมคุณ แล้วเอาชนะฝ่ายตรงข้าม โดยตีป้อมในสุดให้แตกให้ได้ เห็นแบบนี้แล้วอย่านึกว่าง่าย เพราะเล่นจริง มีทั้งการชิงไหวชิงพริบ ใช้ทักษะความสามารถกันสุด ๆ จนบางทีหัวร้อนได้เลย เกมนึงมีความยาวต่างกันไป เร็วสุด 20-30 นาที นานสุดอาจเป็นชั่วโมง และเกมแนวนี้ส่วนมากมีให้เล่นบน PC กับ Mobile เท่านั้น ตัวอย่างเกมจำพวกนี้เช่น League of Legends, DOTA 2

Step 2 : เลือกแพลตฟอร์มที่คุณต้องการเล่นเกมนั้น ๆ

ข้อนี้ดูเผิน ๆ อาจจะไม่ยาก แต่จริง ๆ แล้วมันก็มีรายละเอียดซ่อนอยู่ สำหรับคนที่มีทั้งเครื่อง PC และ Console อยู่แล้ว ถ้าเกมที่เราอยากเล่นมันมีวางขายเฉพาะบนเครื่องนั้น ๆ ก็ตัดสินใจได้ไม่ยาก แต่ถ้ามันมันวางขายหรือเปิดให้เล่นทุกแพลตฟอร์มล่ะ ? เราอาจจะต้องมานั่งคิดกันสักนิดว่าจะเล่นบนเครื่องไหนดี

PC : ประสิทธิภาพสูง ถ้าเครื่องดี ประกอบมาด้วยราคาสูง คุณสามารถเสพเกมระดับ High-End ด้วยกราฟิกสวยงามแบบสุด ๆ ข้อเสียคือถ้าเป็นเกมออนไลน์ก็มีโอกาสสูงถึงสูงมากที่จะเจอเหล่าแฮคเกอร์ (ขนาดเกมไร้พิษภัยอย่าง Fall Guys ยังแฮคกันได้) และต้องใช้งบประมาณในการประกอบเครื่องค่อนข้างสูง

Console : เสถียรภาพขั้นสุด ไม่มีเกมไหนที่จะมีปัญหาเล่นไม่ได้ เพราะเขาปรับมาให้มันเล่นได้อยู่แล้ว ทีส่ำคัญคือ โอกาสเจอแฮคแทบจะน้อยมากหรือไม่มีเลย และใคร ๆ หลายคน การเล่นเกมด้วยจอยคอนโทรลเลอร์น่าจะทำให้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับเกมมากกว่า แต่ข้อเสียก็คือ หากเป็นเกมออนไลน์ต้องเติมพลัสรายเดือน รวมไปถึงพวกเกมยิงปืนทั้งหลาย ต้องฝึกกันนาน กว่าจะคุมปืนคล่องด้วยจอย

Nintendo Switch : เหมาะกับผู้เล่นสายชิลล์ พกพาไปเล่นนอกบ้านได้ หรือนอนเล่นอยู่บนเตียงอุ่น ๆ แอร์เย็น ๆ สบายสุด ๆ ที่สำคัญเครื่องนี้จะมีเกมเฉพาะที่เอาไว้เน้นเล่นกันกับเพื่อนฝูงและปาร์ตี้

Mobile : หรือเกมมือถือ ส่วนมากเกมบนมือถือจะเป็นแนวเล่นสนุก ๆ เอาไว้ฆ่าเวลา แต่เกมสำหรับคนจริงจังเลยก็มี ส่วนมากเอาไว้เล่นคนเดียวมากกว่า ยกเว้นเล่นพวกเกมออนไลน์ต่าง ๆ

สำหรับคนที่มีทั้งสองเครื่องนั้น ไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้ามีเครื่องใดเครื่องหนึ่งก็ต้องพิจารณาด้วยความชอบส่วนตัวกันเลยว่า อยากเล่นเกมนั้น ๆ บนเครื่องไหนครับ

Step 3 : แหล่งร้านค้าขายเกมที่สร้างผลประโยชน์สูงสุดให้เรา

ข้อนี้จะไม่ใช่ปัญหา ถ้าไม่มีการมาของ Epic Store ที่มีโปรโมชั่นสุดโหดหลายครั้ง จนหลายคนเริ่มให้ความสนใจ

ณ ปัจจุบัน ร้านค้าออนไลน์ของวิดีโอเกมมีอยู่เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น Steam, Origin, Epic Games Store, GOG ซึ่งแต่ละร้านก็จะมาพร้อมราคาเกมที่ไม่ห่างกันมาก แต่โปรโมชั่นจะแตกต่างกันไปเสียหน่อย ยกตัวอย่างเช่น Epic Games Store ที่เคยแจกคูปองลดราคาเกม 10$ จนทำให้เราได้เกมในราคาที่ถูกมาก

แต่ถึงอย่างนั้นผู้เล่นบางคนก็ชอบที่จะสะสมเกมไว้ใน Steam จึงยอมจ่ายราคาที่สูงกว่าก็แล้วแต่ความชอบของคน แต่ถ้าเรายึดหลักการพิจารณาสภาพคล่องทางการเงิน การได้ของที่ดีที่สุดอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ดังนั้นลองไปหาดูว่า เกมเกมเดียวกัน แต่ขายต่างร้านกันนั้น มีส่วนต่างกี่บาท และเราโอเคหรือไม่ถ้าจะจ่ายแพงกว่า ด้วยเหตุผลส่วนตัวของคุณเอง

นอกจากนั้นผู้เล่นยังอาจต้องดูอีกว่า เกมบางเกมจะมีการเปิดตัวแบบ Timed-Exclusive หรือเปิดขายเฉพาะร้านค้าแบบจำกัดเวลา อย่างเช่น Control ที่ขายบน Epic Games Store เป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะมาลงให้กับ Steam เป็นต้น ซึ่งเราก็ต้องคอยติดตามข่าวสารวงการเกมดูให้ดีครับ ว่ามีค่ายไหน เกมไหนบ้าง ที่วางขายในรูปแบบนี้

Step 4 : พิจารณาเวลาส่วนตัวของคุณให้ดี

บางคนอยากเล่นเกมแนว RPG หรือ Open World ที่อาจจะกินเวลาเป็นร้อยชั่วโมงในการเล่น แต่ลืมไปว่า งานก็ต้องทำ ลูกก็ต้องเลี้ยง แฟนก็ต้องอยู่ด้วย แล้วจะเอาเวลาไหนไปเล่น ?

สิ่งที่น่าจะเจ็บใจที่สุดสำหรับเกมเมอร์ คือการซื้อเกมมาไว้แล้วไม่เล่นจนกระทั่งถึงช่วงที่มันลดราคา ถ้าได้เล่นไปบ้างแล้วก็ยังดี แต่ถ้าไม่ได้จับเลย มันจะเจ็บปวดแบบสุด ๆ ดังนั้นพิจารณาให้ดีกว่า คุณมีเวลาว่างมากพอจะซื้อเกมนั้น ๆ มาเล่นจริง ๆ หรือไม่

Step 5 : ช่างมันทุก Step นั่นแหละ อยากเล่นก็ซื้อ !

ร่ายยาวหลักการมาซะดิบดี แต่เชื่อว่าเกมเมอร์ทุกคนก็คงวนเข้าลูปเดิม นั่นคือ ไม่สนอะไรทั้งสิ้น ฉันก็แค่อยากเล่นเกม ฉันก็ซื้อ แค่นั้น!

ซึ่งเป็นหลักการคิดที่เรียบง่ายมาก แต่การที่คุณจะทำแบบนี้ได้ นั่นหมายความว่าคุณจะไม่เดือดร้อนในการซื้อเกมที่มีราคาตั้งหลักร้อยจนถึงหลายพันมาดองโดยไม่ได้เล่น อย่าลืมว่าเงินค่าเกมก็ไม่ใช่ถูก ๆ ถ้าซื้อมาแล้วไม่ได้เล่นจนลดราคา เงินส่วนต่างนั้นอาจถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้มากมาย ในยุคที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดีและข้าวยากหมากแพงขนาดนี้

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการนำเสนอในรูปแบบของเรา ถ้าคุณซีเรียสกับเงินที่หามาได้ และอยากใช้จ่ายให้เป็นระบบระเบียบ ก็ลองทำตามทุกขั้นตอนที่เราว่ามา แต่ถ้าคุณไม่มีปัญหาเรื่องเงิน มายฟาเธอร์อิสสุลต่านอยู่แล้ว การเสียเงินซื้อเกมเดือนละหลายพัน ก็อาจจะเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยที่คุณไม่ต้องซีเรียสอะไรเลยก็ได้เหมือนกัน

สุดท้ายแล้ว ขอให้ทุกคนเล่นเกมอย่างสนุกสนาน และรอดพ้นจากอุบัติการณ์หลังหักในช่วงเกมลดราคากันทุกท่านครับผม !

Aisoon Srikum

Back to top