สำหรับเกมต่อสู้ สิ่งที่สำคัญนอกจากการกดท่าออกคอมโบ หรือใช้ยุทธวิธีในการบุกและตั้งรับที่มีอยู่อย่างมากมายแล้ว การเล่นนอกเกมด้วยจิตวิทยาก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ถูกหยิบมาใช้บ่อยในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการเดาใจ ก่อกวนด้วยเทคนิคการเล่น หรืออีกวิธีหนึ่งที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้ก็คือการ Taunt การยั่วยุและจิตวิทยาในเกมต่อสู้กันครับ
สำหรับคนที่ติดตามชมดูการแข่งขันเกมต่อสู้มาหลายครั้ง สิ่งหนึ่งที่ได้นอกจากการแข่งขันอันแสนดุเดือดเข้มข้นก็คือการยั่วยุคู่ต่อสู้ด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งจากการ Trash Talk ก่อนเล่น (หรือระหว่างเล่น) ใช้ท่า Taunt ยั่วยุคู่ต่อสู้ หรือทำกริยาแบบ BM หรือ Bad Manner เช่นการ Tea Bagging ลุกนั่งรัว ๆ หรืออื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นการยั่วคู่ต่อสู้ในเกม ผู้ชมหลายคนหรือผู้เข้าแข่งขันบางคนเองต่างก็รังเกียจเพราะเหมือนเป็นการดูหมิ่นเกียรติของผู้ร่วมแข่งขัน แต่หลายคนก็เลือกที่จะใช้มันเพื่อสร้างความไขว้เขวให้กับคู่แข่ง ส่งผลให้เสียสมาธิจนเล่นไม่ได้ตามที่เคยซ้อมมา
แล้วเพราะอะไรการยั่วยุจึงให้เราเสียสมาธิและหลายคนไม่ชอบ? ในการแข่งขันกีฬาประเภทต่อสู้เรามักจะเห็นการยั่วยุเกิดขึ้นอยู่เสมอ เช่นชกมวยหรือ MMA (ไม่ขอนับมวยปล้ำจาก WWE เพราะอันนั้นคือ Sports Entertainment ที่ดำเนินตามบทที่กำหนดไว้แล้ว) นักสู้หลายคนใช้การคุยโวหรือ Trash Talk เพื่อยั่วยุคู่ต่อสู้ ในทางจิตวิทยาแล้วนี่เป็นเทคนิคที่ใช้กันแพร่หลายทั่วไปและได้ผลเสียด้วย ตัวอย่างนักกีฬาสาย Taunt ที่ดัง ๆ ก็คือ Conor McGreger จาก UFC ที่นอกจากจะปากเก่งแล้ว ยังใช้การ Taunt และ Trash Talk ปั่นหั่วคู่ต่อสู้จนหัวหมุน จนกลายเป็นนักสู้ MMA ที่เก่งมากคนหนึ่งของโลก แม้ในตอนนี้จะฝีมือตกลงไปตามเวลาแล้วก็ตาม
ซึ่งบางทีการ Taunt นี้ถ้าหากใช้ในตอนที่คู่ต่อสู้เกิดอาการ Stun จะมีผลกับ Mental Damage หรือสภาพจิตใจโดยตรงยิ่งกว่าการใช้คอมโบแรง ๆใส่เสียอีก ทั้งที่จริง ๆ แล้วการออกท่าเพื่อเก็บเกจไม้ตายนั้นดูจะเข้าท่ากว่า แต่นอกจากมันจะมีผลต่อ Mental Damage แล้ว มันยังมีผลในการเกิด Conditioning หรือสถานการณ์ที่คู่ต่อสู้ไม่อยากเจอ การถูกบีบการกระทำที่มีผลต่อจิตใจนั้นทำให้เกิดหลายอย่างขึ้นมาตามลักษณะนิสัยของคนที่ถูกกระทำ จนทำอะไรบางอย่างที่เราสามารถคาดเดาได้ง่ายขึ้น หรือ”กลัว” จนไม่ทำอะไร และจะมีผลอย่างมากโดยเฉพาะกับผู้เล่นสาย ”ใช้หัว” ที่พอเจอเกมทางจิตวิทยาแล้วจะหลุดได้ง่ายมาก เพราะการบีบพวกเขาไปสู่การเกิด Conditioning นั้นเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่อยากเจอที่สุดนั่นเอง
หลายคนอาจจะคิดว่า การ Taunt นั้นมีผลทำให้ผู้เล่นฝั่งตรงข้ามเกิดอารมณ์โกรธ ซึ่งก็ถูกในส่วนหนึ่ง เพราะผลของอารมณ์ที่เกิดขึ้นถ้าจะอธิบายในเชิงจิตวิทยาเกี่ยวกับ Conditioning จะมีอยู่สองแบบดังนี้
Classical Condition: หรือการวางเงื่อนไขแบบดั้งเดิม เป็นการกระตุ้นด้วยอะไรบางอย่างเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองขึ้นต่อกลุ่มเป้าหมาย เช่นการทดลองของ Ivan Pavlov ที่ใช้กระดิ่งในการกระตุ้นสุนัขในการทดลองของเขา หรืออย่างที่เด็กคนหนึ่งร้องไห้เพราะได้ยินเสียงน้ำแข็งหย่อนลงในแก้วเพราะคิดว่าพ่อจะต้องกินเหล้าจนเมาแล้วมาทำร้ายตน เป็นต้น
Operant Conditioning: หรือทฤษฎีการวางเงื่อนไขด้วยการกระทำ เป็นการกำหนดการกระทำด้วยการให้รางวัลและลงโทษ มาจากการทดลองฝึกหนูกดคานของ B. F Skinner หรือที่รู้จักกันในชื่อ Skinner Box ที่ถ้าสัตว์ทดลองทำอะไรสำเร็จสักอย่างก็จะได้รับรางวัล แต่ถ้าทำพลาดก็จะถูกลงโทษด้วยการใช้ไฟฟ้าช๊อต
ซึ่งที่เราเห็นในเกมต่อสู้นั้นมักจะเป็นการวาง Conditioning แบบ Operant Conditioning อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ตามภาษาคนเล่นเกมต่อสู้ก็คือการเรียนรู้ที่จะรับมือกับท่าไม้ตายต่าง ๆ เช่นท่า EX Somersault Kick ของ Guile ใน Street Fighter ที่มีประสิทธิภาพมาก ถ้ายิ่งเราไม่สามารถรับมือกับมันได้ เราก็จะโดนท่านั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก โดนจนกว่าเราจะฉุกคิดแล้วแก้ไขมันได้ ซึ่งการทำให้เกิด Conditioning นั้นมีทางแก้ไขเสมอ แต่ก็อยู่ที่ผูัเล่นแล้วว่าจะแก้ไขมันได้ทันการหรือไม่
แล้วการมาของการ Taunt นั้นจะมาทำให้การเกิด Conditioning ง่ายยิ่งขึ้น ตัวละครสไตล์จับทุ่มอย่าง Zangief ใน Street Fighter คือตัวละครสไตล์ที่เล่นกับความกลัวของคู่ต่อสู้ ถ้าคู่ต่อสู่กลัวถูกจับทุ่มที่ครั้งนึงก็แรงจนหน้าสั่นแล้วหาหนทางอื่นในการหนี แต่ยิ่งหนีก็ยิ่งโดนไล่ต้อน ทำให้เกิดความกลัวขึ้นในใจ จนไม่กล้าทำอะไรเสี่ยง ๆ อีก และนั้นทำให้เรารับมือพวกเขาได้ง่ายขึ้นเพราะคู่ต่อสู้โดนจำกัดตัวเลือกในการเล่นด้วยความกลัวไปแล้ว หรือตัวละครสไตล์ Zoning เน้นตั้งรับที่ผู้เล่นหลายคนเกลียดกลัวก็เป็นอีกอย่างที่ก่อให้เกิดความรำคาญและกลัวขึ้นมาได้เช่นกัน
ซึ่งความกลัวก็จะไปกระตุ้นอารมณ์อีกขั้วหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามให้เกิดขึ้น นั่นก็คือ “ความโกรธ” ซึ่งหลายครั้งผู้เล่นที่ถูกความโกรธเข้าครอบงำนั้นจะตัดสินใจทำอะไรที่เสี่ยงออกมา แต่เราสามารถเดาทางได้ง่ายกว่าผู้เล่นในสภาพปกติมาก เพราะเราจะรู้อยู่แล้วว่าเขาต้องเอาคืนเราแน่นอน แต่บางครั้งความโกรธมันก็ทำให้ชนะได้เหมือนกัน ซึ่งกรณีนี้ก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ตัวอย่างที่ดังที่สุดก็คงเป็น EVO Moment 37 ที่ Daigo ใช้ความโกรธในการโค่น Justin Wong ลงจนกลายเป็นตำนานอย่างที่ทราบกัน
ซึ่งการรับมือกับศึกทางจิตวิทยานี้คือสิ่งที่ผู้เล่นเกมต่อสู้ทุกคนต้องเจอ มีผู้เล่นหลายคนที่เก่งการเล่นงาน Mental Damage ของคู่ต่อสู้ เช่น Nuckledu หรือ PUNK ที่มักจะใช้การ Tea Bagging เพื่อยั่วยุคู่ต่อสู้ ความกลัวที่จะถูกดูหมิ่นหรือดูถูกนั้นมีอยู่จริง(เคยมีผลสำรวจในยุคก่อน ว่าผู้คนส่วนใหญ่กลัวการออกมาพูดในที่สาธารณะมากกว่าความตายเสียอีก) และเพราะแบบนั้น การ Taunt จึงมีผลต่อสภาพจิตใจของคนเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแข่งขันใหญ่ ๆ ที่มีเงินรางวัลและชื่อเสียงเป็นเดิมพัน การถูกกระตุ้นด้วยความกลัวเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้พลาดโอกาสที่จะชนะไปแล้วก็ได้ ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นมาแล้วกับ PUNK ในการแข่งขัน EVO 2017 รอบ Grand Final กับ Tokido ที่เขานั้นฟอร์มดีมาตลอด แต่พอถูก Taunt Combo เข้าไปก็กลายเป็นว่าเป๋จนแพ้ไปเลย
สำหรับคนเล่นทั่วไปอาจจะมองว่าการ Taunt หรือการทำ BM ทั้งหลายนั้นเป็นเรื่องของสีสัน แต่ในการแข่งขันจริง ๆ นั้นมันมีผลมากกว่านั้น ซึ่งสำหรับผู้เขียนเองก็ยอมรับว่าเคยอารมณ์ขึ้นกับการถูกส่งเข้า Conditioning จนเกิดอาการ Salty บ้างตามวาระ และเรื่องเหล่านี้จะยิ่งเข้มขึ้นไปอีกในการแข่งขันใหญ่ ๆ เราอาจะเรียนรู้จากมันเพื่อรับมือกับผู้เล่นที่ใช้สิ่งเหล่านี้เป็นอาวุธได้ในอนาคต หรือใช้มันเพื่อไปสู่ชัยชนะก็ย่อมได้ ตราบใดที่การ Taunting ไม่ได้ถูกห้ามในกฎการแข่งขัน เราก็ต้องเจอมันแน่นอน
แล้ววันนี้คุณหาทางรับมือกับการยั่วยุไว้แล้วหรือยัง?
แหล่งข้อมูลอ้างอิง: Core-A Gaming – Analysis: Taunting and Mind Games