นับเป็นช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายในโลกของเศรษฐกิจและการเงิน ภายหลังการอัดฉีดเม็ดเงินของธนาคารกลางทั่วโลกนำมาซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่สูงลิบลิ่วในหลายประเทศ จนต้องใช้นโยบายปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ ส่งผลไปยังความผันผวนของค่าเงินทั่วโลก US Dollar Index ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 20% ในรอบระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เพราะกลไกการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ฯ เป็นไปอย่างรวดเร็ว
ในขณะที่เงินบาทไทย THB เมื่อเทียบกับค่าเงินหลักของโลกอย่างดอลลาร์สหรัฐ ณ ปัจจุบัน (วันที่ 28 กันยายน 2565) อ่อนค่าทะลุไปไกลกว่า 38 บาทต่อดอลลาร์เรียบร้อยแล้ว และยังดูไม่มีทีท่าว่าจะจบลงแต่เพียงเท่านี้ คิดเป็นการอ่อนตัวลง 14% นับตั้งแต่ต้นปี และถือเป็นการอ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 ปี
แม้ล่าสุดทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25% แต่ดูแล้วก็คงไม่ช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นสักเท่าไหร่ในระยะสั้น แน่นอนครับว่าการอ่อนตัวของเงินบาทไทยส่งผลอย่างมากต่อการนำเข้า หรือการจ่ายเงินซื้อสินค้าบริการในสกุลเงินต่างประเทศ แล้วเกมเมอร์อย่างเราที่ยังต้องใช้เงินซื้อเกมหรือสินค้าในเกมซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศควรปรับตัวอย่างไรดี?
ซื้อเกมแพงขึ้นตามกลไกของค่าเงิน
หลักการคูณของวิชาคณิตศาสตร์เอามาปรับใช้กับชีวิตจริงได้ก็ตอนนี้แหละครับ ผมเชื่อว่าปกติแล้วเวลาที่เราเล่นเกมแล้วเจอราคาที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศที่อยู่ใน Platform ซื้อขายเกมอย่าง Play Station Store, Steam, Apple Store หรือ Play Store เป็นธรรมดาที่เราจะต้องจับมันมาคูณกับอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงเวลานั้น ๆ ขณะที่บางคนคุ้นเคยกับการชำระค่าเกมหรือบริการด้วยสกุลเงินบาทอยู่แล้ว อาจจะรู้สึกว่าไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากความผันผวนของค่าเงิน แต่อยากจะบอกว่า “ไม่จริงครับ” เดี๋ยวราคาเกมในสกุลเงินบาทจะปรับตัวขึ้นไม่ช้า
เพราะโดยปกติการเลือกจ่ายด้วยสกุลเงินบาทมีข้อดีอย่างหนึ่ง คือ ความสะดวกในการซื้อของเป็นเงินบาท มันทำให้เรารู้ว่าการใช้จ่ายครั้งนี้คิดเป็นเงินบาทจำนวนเท่าไหร่ เช่น ซื้อเกม Final Fantasy IX ใน App Store ประเทศไทยที่ราคา 749 ฿ ถ้าซื้อเกมนี้ด้วยเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่ App Store ของสหรัฐจะอยู่ที่ $20.99 ถ้าเราซื้อในช่วงอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็จะได้ราคาที่ถูกกว่า App Store ไทยอยู่นิด ๆ
แต่ถ้านำอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันที่ 38 บาทต่อดอลลาร์มาคำนวณ ราคาเกมใน App Store ควรอยู่ที่ 797.62 บาท ถ้ายังคงราคาขายไว้ที่ 749 ฿ ตัวแพลตฟอร์มจะแบกรับการขาดทุนเอาไว้ที่ -48.62 บาทต่อการซื้อหนึ่งครั้ง ซึ่งในแต่ละวันการซื้อขายเกมผ่านแพลตฟอร์มมีมูลค่ามหาศาล ทาง Apple ไม่ยอมแบกรับขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนส่วนนี้เอาไว้เองแน่ ๆ เวลาผ่านไปราคาเกมในสกุลเงินบาทที่อยู่ใน App store ของไทยจะปรับตัวขึ้นตามการอ่อนค่าของเงินบาท เช่นเกมที่ยกตัวอย่างไว้ก็อาจจะปรับราคาขึ้นเป็น 799 หรือ 819 บาท ในอนาคต (ตัวอย่างการประกาศขึ้นค่าสินค้าใน App Store)
หรือราคาเกม Sekiro: Shadows Die Twice ที่อยู่ใน Play Station Store วางจำหน่ายช่วงต้นปี 2562 ดิจิทัลดาวน์โหลราคาเท่ากับ 1,690 บาท ในเวลานั้นอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่กลับกลายเป็นว่าปัจจุบันนี้ปี 2565 ถ้าต้องซื้อเกมเดียวกัน ราคาเกมบน Play Station Store อยู่ที่ 1,808 บาท แพงขึ้นมาเกือบ 7% ทั้งที่ราคาป้ายตามสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐไม่ได้เพิ่มขึ้นจาก $59.99 แต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้กระทบกับการตัดสินใจซื้อเกมเป็นอย่างมาก นอกจากเกมแล้วการซื้อของภายในเกม หรือ In-app-purchase ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ใครที่เป็นสายเติมเกมกระเป๋าหนักก็ต้องเจอเรื่องเหล่านี้อยู่เหมือนกัน
เช่นเดียวกันกับแพลตฟอร์มจำหน่ายเกมในตลาด รวมถึงคนที่เริ่มเล่นเกมผ่าน Cloud Gaming แบบที่จ่ายเงินค่าสมาชิกรายเดือน หรือ Subscription Model ก็กำลังจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน อีกไม่ช้าไม่นาน
ปรับตัวเพื่อรับมือกับความผันผวน
รู้อย่างนี้แล้วเกมเมอร์อย่างเราจะยอมให้ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมาทำให้เราขาดทุนทำไม เมื่อเรามีทางเลือกในการใช้เงินของเรา ในฐานะที่เป็นนักลงทุนและเป็นเกมเมอร์คนหนึ่ง ผมมีคำแนะนำส่วนตัวมาฝาก สำหรับการเลือกซื้อเกม รวมถึงสินค้าภายในเกมในยามที่เงินบาทมีความผันผวนสูงเช่นตอนนี้
กรณีที่ 1 : หากคาดว่าเงินบาทไทยจะอ่อนค่าลงไปมากกว่านี้ “อย่างรุนแรง” แล้วกำลังตัดสินใจซื้อสินค้าอยู่ หรือจะต้องซื้อแน่ ๆ แต่ยังลีลาไม่เคาะซื้อสักที แนะนำให้รีบเข้าไปซื้อเลยครับ เพราะถ้าลังเลหรือตัดสินใจนานกว่านี้อาจจะถูกปรับราคาขึ้น หรือเงินบาทอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว ราคาของอาจเพิ่มขึ้นแบบที่ไม่ทันตั้งตัวก็ได้
ซึ่งแนวโน้มการอ่อนตัวอย่างรุนแรงของค่าเงินบาท มีความเป็นไปได้ในระดับหนึ่ง เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หลังแบงก์ชาติประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% จาก 0.75% เป็น 1.00% ยังไม่ช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ เพราะปัจจุบันมีปัจจัยการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่มากกว่า จึงมีแนวโน้มที่เงินบาทจะอ่อนตัวลง แต่จะรวดเร็วแค่ไหนก็ต้องขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ด้วย
กรณีที่ 2 : หากคาดว่าเงินบาทไทยจะค่อย ๆ อ่อนค่าลง ในกรณีนี้จะส่งผลไม่มากในระยะสั้น ยังพอมีเวลาให้เราตัดสินใจครับ ไม่ต้องรีบซื้อหากยังไม่จำเป็น แต่ก็ควรรีบซื้อหากมีความจำเป็นในระยะยาว เพราะโอกาสการปรับราคาของเกมหรือสินค้าภายในเกมจะมีสูงในวันข้างหน้า ระยะสั้นซื้อได้ก็ซื้อ ไม่ซื้อก็ค่อย ๆ คิดไปก่อน แต่ก็อย่ารอจนเขาปรับราคาขึ้นจะดีกว่า หรือรอให้เงินบาทอ่อนลงจนท้อแท้ไม่อยากซื้อแล้ว หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องรอให้มีโปรโมชั่นหรือ Sales เยอะ ๆ ถึงค่อยซื้ออีกที
สำหรับโอกาสเกิดกรณีนี้ผมคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงครับ เงินบาทไทยน่าจะอ่อนตัวลงได้อีกแต่ไม่น่าจะอ่อนตัวลงอย่างรุนแรง เพราะการปรับตัวจาก 33 บาทต่อดอลลาร์มาอยู่ที่ 38 บาทต่อดอลลาร์ ภายใต้ความกดดันจากนโยบายการเงินฝั่งสหรัฐในช่วงที่ผ่านมาก็ถือว่าสาหัสพอสมควรแล้ว และปัจจัยรุนแรงที่จะมาจากนโยบายของทาง FED ก็น่าจะลดลงแล้วด้วย แต่เอาเข้าจริงการคาดเดา FED ชุดปัจจุบันนี้ไม่ต่างอะไรกับการคาดเดาหน้าไพ่ทั้งสำรับเลยครับ
กรณีที่ 3 : หากคาดว่าเงินบาทอ่อนค่าสูงสุดเท่านี้ และกำลังจะแข็งค่าขึ้นในไม่ช้า ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่ต้องรีบซื้อครับ รอเวลาได้ แต่ราคาเกมในรูปแบบเงินบาทก็ใช่ว่าจะปรับลงมาทันทีนะครับ ทางแพลตฟอร์มต้องรอค่าเงินแข็งค่านิ่ง ๆ สักระยะหนึ่งก่อน รอให้อัตราแลกเปลี่ยนลดลงไป จนมั่นใจแล้วว่าปรับลงได้เขาถึงจะปรับลด ซึ่งก็อาจจะใช้เวลานานพอสมควร แต่ถ้าเราจะซื้อเป็นสกุลเงินต่างประเทศอยู่แล้ว รอไปก่อนก็ได้ครับ
ความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะแข็งค่าก็มีอยู่บ้างครับ แต่มีน้อย ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะมาจากนโยบายของทางแบงก์ชาติเองว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ เพราะดอกเบี้ยก็ปรับขึ้นไม่เท่ากับประเทศเพื่อนบ้าน (ประเทศเวียดนามประกาศขึ้นดอกเบี้ยล่าสุด 1.00% ในครั้งเดียว) ขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นไปที่การรักษาเสถียรภาพเป็นหลัก แนวคิดการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนของรักษาการนายกฯ ไม่ใช่นโยบายที่แบงก์ชาติจะทำอย่างแน่นอน เพราะต้องใช้ทุนสำรองของประเทศมากพอสมควรในการป้องกันค่าเงิน ถ้าบ้าจี้ทำตามจริง ๆ หายนะอาจจะมาเยือน…
ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นการคาดการณ์บนข้อมูลและความเข้าใจเบื้องต้นของผมเอง การตัดสินใจซื้อขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความพร้อมทางการเงินของเกมเมอร์มากกว่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าความผันผวนของค่าเงินบาทมีผลต่อการตัดสินใจซื้อเกมของผู้เล่นจริง ๆ
แต่สำคัญที่สุด อย่าพยายามเอาชนะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากเกินไป จนลืมวางแผนการใช้เงิน ออมเงิน และลงทุนเพื่ออนาคตสำหรับเกมชีวิตจริงด้วยนะครับ
ติดตามบทความดี ๆ เกี่ยวกับการเงินได้เพิ่มเติมที่เพจ ปั้นเงิน