หลังจากพวกเราแนะนำเรื่องราวที่ต้องคิดถึงหากเกิดในยุค 90’s ไปแล้ว ครั้งนี้เราจะพาย้อนอดีตกลับไปอีกครั้งเป็นปี 80’s ซึ่งเป็นยุคปฏิวัติวิดีโอเกมอย่างแท้จริง เพราะทศวรรษนั้นได้มีเหตุการณ์สำคัญมากมายที่สั่นสะเทือนเขย่าวงการเกมไม่ใช่น้อย และแน่นอนว่าไลฟ์สไตล์ วัฒนธรรม กระแสนิยม และเทคโนโลยีวิดีโอเกมสำหรับยุค 80’s มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร ทำให้วิถีการเล่นเกมจึงแตกต่างจากยุคอื่น ๆ อีกด้วย
นี่คือบทความ “รวมสิ่งที่ผู้เล่นจะต้องคิดถึง หากเกิดในยุค 80’s” แล้วเกมเมอร์ยุคดังกล่าว จะมีลักษณะการเล่นเกมแตกต่างจากยุคปัจจุบัน และช่วง 90’s อย่างไร ก็สามารถรับชมได้เลยครับ
เทคโนโลยีเกมคอนโซลจะไม่มีทางเป็นจริงเลย หากไม่มีเกมตู้อาร์เคดมาก่อน สำหรับสมัยยุค ’80s เกมเซนเตอร์กลายเป็นแหล่งส่วนรวมของสังคมทั้งช่วงเด็กโต วัยรุ่น จนถึงผู้ใหญ่ ด้วยวัฒนธรรมกับคอมมูนิตี้วิดีโอเกมได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้เกมเซนเตอร์กลายเป็นจุดรวมตัวสำหรับการพบปะเพื่อนฝูง หลังช่วงเลิกเรียก หรือช่วงหลังการทำงาน เพื่อวัดฝีมือการเล่นเกมซึ่งกันและกัน
เครื่องเกมพกพา
ไอเดียการสร้างเครื่องเกม “ที่สามารถพกไปไหนก็ได้” ถือเป็นแนวคิดที่ล้ำสมัย และสามารถตอบโจทย์ให้กลุ่มตลาดเด็ก ๆ ได้ไม่ยาก ทางบริษัท Nintendo จึงสร้างเครื่องเกมแห่งนวัตกรรมอย่าง Game & Watch ที่ได้ยืมใช้เทคโนโลยีจากเครื่องคิดเลขมาสร้างเป็นเครื่องเกมพกพา และช่วงปี 1989 บริษัท Nintendo ก็สร้างเครื่องเกมพกพาระดับตำนานอย่าง Game Boy ที่เขย่าวงการเกมจนบริษัทเกมหลายแห่ง เริ่มผลิตเครื่องเกมพกพาตามเทรนด์กระแสตลาดเกม และ Game Boy ก็กลายเป็นหนึ่งในเครื่องเกมที่มีอายุขัยนานถึง 14 ปี (Game Boy ยุติการผลิตเมื่อปี 2003)
วิดีโอเกม Retro ส่วนใหญ่ยังคงใช้ตลับเกมแบบ ROM สำเร็จรูป ทำให้ตัวเกมไม่สามารถสร้างไฟล์เซฟแยกออกต่างหากได้ รวมถึงเมมโมรี่การ์ดช่วงนั้นมีราคาแพง และไม่สามารถหาซื้อตามร้านเกมได้ง่าย ๆ ทางทีมพัฒนาเกมจึงใช้ระบบเซฟเกมด้วยการสร้าง “รหัส” ขึ้นมา แล้วให้ผู้เล่นจดบันทึกรหัสลงกระดาษ และถ้าหากเกมเมอร์อยากกลับมาเล่นเกมอีกครั้ง ก็เพียงแค่เข้าหน้า Password จากนั้นก็กรอกรหัสให้ถูกต้อง เพียงเท่านี้ คุณก็สามารถเล่นเกมต่อจากที่ค้างไว้ได้แล้ว
เกมยุค 80’s ถือเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ทั้งด้านการนำเสนอเนื้อเรื่อง, ประเภทเกมที่หลากหลายขึ้น, และภาพกราฟิกที่ขยับจาก Vector กับ 2-Bit กลายเป็นภาพ 8-Bit ที่มีภาพสีสันสวยงามยิ่งกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ตาม พลังฮาร์ดแวร์เครื่องเกมยุคนั้น ก็ยังคงมีขีดกำจัดอีกมากมาย ทำให้นักพัฒนาส่วนใหญ่จึงนิยมสร้างเกม Side Scrolling ไม่ว่าจะเป็นแนวนอนหรือ Bird Eye View เพราะความทรงพลังในการประมวลผลภาพกราฟิกยังทำได้เพียงเท่านั้น
Deluxe Edition และ Special Edition สำหรับเกมยุคนี้ มักจะมีของแถมเป็นเคสเกมทำจากวัสดุวิเศษ ตุ๊กตาฟิกเกอร์ เสื้อผ้าลายพิเศษ และอื่น ๆ อีกมากมายที่น่าล่อตาล่อใจหลายคน แต่สำหรับยุค ’80s การวางจำหน่ายเกมแบบชุดพิเศษ ยังจัดว่ามีความเรียบง่ายกว่าปัจจุบัน เพราะสมัยก่อนจะเป็นการขายเกมแบบตลับสีทอง สีเงิน หรือรูปแบบอื่น ๆ ที่ทำให้สินค้าภายนอกดูน่าโดดเด่น โดนใจคนเล่นเกมสำหรับช่วงวัยเด็ก เพื่อนำไปอวดคลังเกมต่อกลุ่มเพื่อน หรือกลายเป็นของสะสมหายากในอนาคต
ไม่ว่าจะเป็น Atari, SEGA, Nintendo, Panasonic, Philips และบริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำอีกหลายเจ้า พยายามมุ่งหน้าพัฒนาเครื่องเล่นเกมคอนโซลในแบรนด์ของตัวเอง เพื่อเข้าแข่งขันตลาดคอนโซลที่ร้อนระอุอย่างมากในยุค 80’s แม้จะเคยเกิดเหตุการณ์ “1983 Video Games Crash” ที่ทำให้บริษัทเกมหลายแห่งต้องปิดกิจการ แต่ตลาดวิดีโอเกม กับเครื่องคอนโซลก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง