BY ซ้ง
28 Apr 19 5:30 pm

เข้าใจด้วยจิตวิทยา ทำไมเราเล่น Sekiro (และเกมอื่น ๆ) จนลืมเวลาไปเลย

16 Views

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เกม Sekiro: Shadows Die Twice สร้างข้อถกเถียงมากมายว่าเกมยากเกินไปหรือเปล่า แต่ขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มคนที่ชื่นชอบเกมนี้และติดกันงอมแงม

คำถามคือ ถ้าเกมยากขนาดนี้ อะไรล่ะที่ทำให้พวกเขาติดเกมเซกิโระกัน ?

มีผู้เขียนจาก Medium ท่านหนึ่งใช้ชื่อว่า Orange&Juicy ได้เชื่อมโยงเกมเซกิโระรวมถึง Dark Souls และเกมอื่น ๆ ของ From Software กับ ‘ภาวะลื่นไหล’ (Flow)

ภาวะลื่นไหล (Flow) เป็นทฤษฏีทางจิตวิทยาที่คิดค้นโดยนักจิตวิทยาเชิงบวกชาวฮังกาเรียน ชื่อ Mihály Csikszentmihalyi เขาได้อธิบายอาการของภาวะลื่นไหลไว้ว่า

ตัวตนหล่นหายไป เวลาเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว ทุกการกระทำ การเคลื่อนไหว และความคิด ต่างคล้อยตามต่อกันอย่างไม่ขาดตอน เหมือนเวลาเล่นดนตรีแจ๊ส ทุกการรับรู้ของเราเชื่อมต่อเข้ากัน และเราจะใช้ความสามารถได้ถึงขีดสุด

พูดง่ายๆ ภาวะลื่นไหลคือเวลาเรารู้สึก “อิน” กับการทำกิจกรรมสักอย่าง เป็นภาวะที่เรามีสมาธิเพลิดเพลินกับสิ่งนั้นๆ จนลืมเวลาไปเลย เหมือนอย่างเวลาอ่านหนังสือ ทำงาน หรือแม้แต่เล่นเกม และ Mihály Csikszentmihalyi ยังเสนอต่ออีกว่าภาวะลื่นไหลจะเกิดขึ้นเมื่อ

    1. คนผู้นั้นมีสมาธิเต็มเปี่ยมกับงานที่ทำ
    2. คนผู้นั้นทราบดีว่าเป้าหมายคืออะไร และยังรู้ด้วยว่าผลตอบรับและรางวัลที่จะได้คืออะไร
    3. เวลาบิดเบือนไปจากความจริง (รู้สึกว่าเวลาเร็วขึ้น/ช้าลง)
    4. รู้สึกว่าประสบการณ์ที่ได้รับเป็นรางวัล
    5. สามารถเล่นต่อเนื่องได้ง่ายและไม่ต้องพยายาม
    6. เกิดสมดุลระหว่างทักษะการเล่นและความท้าทาย หากทักษะของเราสูงกว่าความท้าทาย เราจะเบื่อ แต่หากความท้าทายสูงเกินทักษะของเรา เราจะท้อและเลิกล้ม
    7. การกระทำและการรู้ตัวรวมเข้าด้วยกัน ทำให้ไม่ต้องเพ่งสมาธิเพื่อสร้างสติ
    8. เกิดความรู้สึกว่าสามารถควบคุม (เกม) ได้

Sekiro Shadows Die Twice

ทีนี้ Orange&Juicy ก็เสนอว่า เกมจากค่าย From Software สร้างระบบการเล่นที่เราต้องจดจ่อทุกการต่อสู้ ปัดป้องคมดาบศัตรูและโจมตีสวนกลับเพื่อเอาตัวรอด ซึ่งทำให้เกิดสมาธิที่สมบูรณ์ หรือแม้เกมจะยาก แต่ก็ไม่ได้ยากเว่อร์จนไม่มีทางชนะ ความท้าทายภายในเกมจะกดดันให้เราต้องพัฒนาทักษะจนผ่านไปได้ และเมื่อทุกอย่างเข้าที่ ผู้เล่นจะเข้าสู่ภาวะที่การกระทำและการรู้ตัวหลอมรวมกัน จนในที่สุด ผู้เล่นจะไม่ต้องเพ่งสมาธิเพื่อตั้งสติ เราจะควบคุมตัวละครราวกับว่าเรานี่แหละคือตัวละครตัวนั้น

การเชื่อมโยงภาวะลื่นไหลกับเกมของค่าย From Software เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะในชีวิตจริง เราก็ทำบางอย่างจนลืมตัวไปเลยเหมือนกัน และเกมอื่น ๆ ก็ทำให้เกิดภาวะลื่นไหลขึ้นได้โดยไม่ต้องเดินตามทางที่ From Software เลือก

ตัวอย่างเช่นเวลาผู้เขียนเล่นเกม MOBA ผมจะรู้สึกว่าเวลา 40 นาทีผ่านไปเร็วมาก เพราะเราต้องจดจ่อกับเกม คอยวิเคราะห์สถานการณ์และคิดตามตลอดเวลา ต้องสื่อสารกับทีมและเดินเกมอย่างมีสติ รู้ตัวว่าเกมจะจบตรงไหน ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้เราก็ได้ประสบการณ์บางอย่างกลับมาแน่ ๆ และนั่นทำให้เกิดภาวะลื่นไหล แต่หลังจากนั้น ผู้เขียนจะรู้สึกเหนื่อยมาก เพราะเหมือนเพ่งสมาธิไปเยอะโดยไม่รู้ตัว ไม่รู้มีใครเป็นแบบนี้บ้างหรือเปล่า

อย่างไรก็ดี ภาวะลื่นไหลยังคงขึ้นอยู่กับรสนิยมของคนนั้น ๆ จากที่ Orange&Juicy กล่าวมา ผู้เขียนเข้าใจว่าถ้าผู้เล่นสักคนรู้สึกว่าเซกิโระยากเกินไป นั่นคงแสดงว่าทักษะของเขายังไม่สมดุลกับความท้าทาย ก็ต้องใช้เวลาและสมาธิเพื่อพัฒนาทักษะ และถ้าเขาไม่อยากใช้เวลากับสิ่งนี้ จึงไม่แปลกที่เขาต้องการให้ความท้าทายลดลงจนสมดุลกับทักษะของเขา

เพราะฉะนั้น ภาวะลื่นไหลจึงไม่เพียงนำมาอธิบายเหตุผลที่เราติดเกม แต่ยังอาจใช้บอกเหตุผลที่คน ๆ หนึ่งไม่อยากเล่นเกมนั้น ๆ ต่อก็ได้ รวมไปถึงการทำงานและกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน ลองพิจารณาดูว่าเราไม่ชอบทำอะไรเพราะทักษะของเราไม่สมดุลกับความท้าทายของสิ่งนั้น ๆ หรือเปล่า

แล้วคุณล่ะ เคยรู้สึก “ลื่นไหล” กับเกมหรือกิจกรรมอะไรบ้างในชีวิต ?

oat oat

Back to top