เมื่อเกมที่มี มาก่อนเกมที่เล่น
ตลอดระยะเวลา 25 นาทีในการบรรยายของ Tom Abernathy จาก Riot Games และ Richard Rouse III แห่ง Microsoft Game Studio มีการพูดถึงหัวข้อ Death to the Three-Act Structure อันมีข้อมูลอ้างอิงจากฐานของ Steam Achievements ที่พบว่ามีผู้เล่นหลายคนเล่นหลายเกมดังไม่จบ โดยเกมอย่าง Bioshock: Infinite มีผู้เล่นจบอยู่ที่ 53% ในขณะที่เกมอย่าง Borderlands 2 นั่นมีผู้ที่เล่นจบเพียง 30% ของทั้งหมด
มองย้อนไปราวๆ 3-4 ปีที่ผ่านมาจะพบว่าแอพพลิเคชั่นที่กลายมาเป็นของสามัญประจำหน้า Desktop อย่าง Steam ได้มีการจัดลดราคาเกมประจำปีอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน และหากมองย้อนไปในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมาก็จะพบว่า Steam ไม่ได้ผูกขาดการเป็นตัวแทนทั้งในเรื่องของความเป็น Digital (ที่ให้ความหมายในเชิงสัญญาณ จากคำว่า Digit ที่ส่งผ่านด้วยตัวเลข อันหยิบจับไม่ได้) และความเป็นตลาดนัด หรือ Mass Marketing นำไปสู่สายพานการผลิตที่ไม่สิ้นสุด เพราะการผลิตสื่อบันทึกข้อมูลหรือที่เรียกว่า Physical Copy นั้นไม่จำเป็นอีกต่อไป การรอคอยพัสดุค่อยๆเปลี่ยนเป็นการรอคอยชุดรหัส พอๆกับชื่อเรียก CD-key ที่กลายมาเป็น Product key หรือ key เฉยๆ
การเกิดของตัวแทนจำหน่ายออนไลน์ในระลอกหลังอย่าง Green Man Gaming, Amazon หรือ Get Games ไม่เพียงแต่เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้เล่น แต่ยังทำการขยายส่วนแบ่งการตลาดก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างยิ่งในช่วงเวลาปลายปีที่ไม่ได้เป็นของ Steam อย่างเดียวแต่ยังเป็นของตัวแทนอื่นๆที่พร้อมเสนอหน้ามาแย่งเงินจากกระเป๋าของลูกค้าที่หนีไม่พ้นต้องมีการตัดราคาให้ขายถูกกว่า Steam เมื่อมีการตัดราคาก็เป็นเรื่องของมือใครยาวสาวได้สาวเอากับเวลาที่จำกัดจำเขี่ย นำไปสู่การจับจ่ายที่ง่ายยิ่งกว่าเดิม เหนือไปกว่านั้น การขายเกมแบบมัดรวมหรือ Bundle ยังทำให้ได้ราคาถูกขึ้นไปอีก อย่างยิ่งหากเป็น Bundle การกุศลอย่าง Humble Bundle ที่ไม่เน้นการแสวงหากำไรมากไปกว่าแจกจ่ายให้ได้รับกันอย่างทั่วถึง
จากการแข่งกันถูกในตลาดทำให้การเข้าถึงเป็นเรื่องที่ง่ายเพราะได้มาในฐาน “ของถูก” ที่ไม่ต้องใช้ความคิดไตร่ตรองเท่ากับ “ของแพง” ทำให้ผู้ซื้อสามารถซื้อได้ในปริมาณที่มากขึ้น เมื่อเป็นเรื่องที่ง่ายก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกละเลย
มีความเชื่อว่าการจับจ่ายใช้สอยหรือ Shopping เป็นการบำบัดอย่างหนึ่ง หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่าการซื้อของช่วยบรรเทาอาการเครียด เป็นการแลกเปลี่ยนที่รับสิ่งใหม่ๆ ที่ทำหน้าที่เหมือนกับ “news feed” ที่ทำหน้าที่ป้อนสิ่งใหม่ๆให้แก่โลกสังคมออนไลน์ อย่างที่ตัวละคร Barney Stinson ในซีรีย์ sit-com เรื่อง How I Met Your Mother (2005-2014) เชื่อว่า “newer is always better” เมื่อเกิดความคุ้นชินในสิ่งใหม่ๆก็ทำให้ความสำคัญถูกเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญกับเกมไปสู่การให้ความสำคัญกับการซื้อเกมแทน
การเล่นเกมไม่จบ หรือการ “ดอง” ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในเรื่องของเกม แต่ยังรวมไปถึงสื่ออื่นๆ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเป็นตัวอย่างที่มีให้เห็นชัดเจนขึ้นทุกๆปีที่มีการซื้อหนังสือลดราคาจำนวนมากจนเกิดเป็นเรื่องขำขันที่ทุกครั้งที่งานจัดขึ้นก็จะพบว่าของที่ได้จากงานครั้งก่อนยังอ่านไม่จบ เป็นต้น
ในขณะเดียวกันการดองก็ยังเป็นเรื่องของ “คนหาไม่ได้ใช้”แต่มีไว้เพื่อครอบครองในช่วงแรกของภาพยนตร์ที่สร้างจากวรรณกรรม post-modern เรื่อง Fight Club (1999) แสดงให้เห็นถึงวิถีแห่งทุนนิยมที่ตัวเอกของเรื่องครอบครองทุกอย่างทีเห็นสมควรตาม catalogue ของ ikea แต่ก็ยังไม่สามารถหาคำตอบให้แก่ชีวิตได้ ดังคำพูด “everything you own ends up owning you” แต่สำหรับคำถามที่ว่าเกมเล่นเราหรือเราเล่นเกม ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องค้นหากันต่อไป เว้นเสียแต่เป็นคนไร้ปัจจัย(เงิน) ก็จะกลายเป็นคนไม่มีอะไรเล่นไปโดยปริยาย