จบไปแล้วกับการนำเสนอเกมในงาน E3 ปี 2019 ที่ค่ายเกมต่าง ๆ ก็จัดเต็มในปีนี้ ซึ่งหนึ่งในข้อสังเกตที่น่าสนใจสำหรับงานปีนี้คือ ค่ายเกมทุกค่ายต่างมีเทรนด์ในการพัฒนาเกมที่คล้าย ๆ กันจนเราต้องมาเจาะลึกกับเรื่องราวเหล่านี้
1. ยุคของการใช้ดาราในการโปรโมทเกม
แม้ว่าการใช้ดาราในการโปรโมทเกมจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในยุคปัจจุบัน แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีในการพัฒนาเกมได้รับการพัฒนาอย่างมาก ทำให้การนำดาราเข้าไปใส่ในเกมต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าเดิม
หากเราจำกันได้เดิมทีนั้นการใช้คนจริงในวิดีโอเกมจะไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่ ซึ่งส่วนมากจะเป็นนักร้องหรือนักกีฬามากกว่าเพราะว่าการที่เหล่าวงการกีฬาเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่มากกว่าและให้ภาพลักษณ์ที่ชัดเจน หากจะให้ยกตัวอย่างคงจะเป็นเกมตระกูล FIFA ที่จะมีใครบ้างไม่อยากจะลองเล่น Cristiano Ronaldo หรือเกมตระกูลมวยปล้ำ (WWE) ที่เราซื้อเกมก็เพราะเราอยากเล่นนักมวยปล้ำ
ปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนแปลงไปค่านิยมเดิมยังอยู่ แต่ว่าการใช้ดาราต่าง ๆ เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งด้วยการที่เกมต่าง ๆ ในสมัยนี้มักจะเล่าเรื่องคล้าย ๆ กับภาพยนตร์ ทำให้ตัวละครในเกมจะต้องมีบทบาทที่ชัดเจน มีบุคลิกที่น่าจดจำ ซึ่งการหาดารามา Motion Capture ง่ายกว่าการปั้น Model เอง นอกจากนี้ยังมีผลไปยังการโปรโมทเกมอีกด้วย
ซึ่งในงาน E3 ปีนี้เหล่าค่ายเกมต่าง ๆ พยายามนำเสนอดาราประจำเกมไม่ว่าจะเป็น Cyberpunk 2077 ที่ใช้ดาราอย่าง Keanu Reeves เกม Ghost Recon : Breakpoint ที่ใช้ Jon bernthal เรียกได้ว่าการนำเสนอของเกมในทุกวันนี้แทบจะใกล้เคียงกับภาพยนตร์เลยทีเดียว
2. ยุคแห่งการ Remaster , Remake, Reboot
หากคุณเป็นคนเล่นเกมที่มีอายุประมาณหนึ่งคุณจะรู้ว่าค่ายเกมต่าง ๆ มีเกมอะไรเด่น มีระบบอะไรยอดเยี่ยม ถึงขนาดที่ว่าบางเกมแม้ผ่านไป 10 ปีแล้วก็ยังทรงคุณค่าที่จะกลับไปเล่น อีกทั้งบางเกมตอนเราเด็กอยากเล่นแต่ปัจจุบันไม่มีโอกาสได้เล่นแล้ว
ในยุคปัจจุบันวงการเกมมีการแข่งขันกันอย่างสูง โดยเฉพาะการคิดแนวทางของเกมใหม่ ๆ อีกทั้งตลาดยังมีการผันผวนค่อนข้างจะสูง เนื่องจากอายุของเกมต่าง ๆ ค่อนข้างจะสั้นทำให้เหล่า Publisher มองไปยังการบริหารความเสี่ยงที่น้อยกว่าการสร้างเกมใหม่
ความจริงกระแสนี้เริ่มที่มาจากค่ายเกมในประเทศญี่ปุ่นก่อน โดยในช่วงปี 2000 เป็นต้นมาเกมจากญี่ปุ่นบุกตลาดโลกแล้วประสบความสำเร็จมีน้อยมาก ยกตัวอย่างเมื่อ 5 ปีที่แล้วปี 2013 เกมจากฝั่งญี่ปุ่นแทบจะแพ้ฝั่งเกมจากตะวันตกอย่างราบคาบ แม้แต่เกมจากทีมงานญี่ปุ่นแท้อย่าง Metal Gear Rising: Revengeance ยังสู้กับตลาดเกมทั่วโลกได้ยาก
แต่หนึ่งในเกมที่ทำให้เกมเมอร์ตะลึงในตอนคือเกม Tomb Raider ฉบับ Remake ของทาง Square Enix ที่สร้างปรากฏการณ์ต่าง ๆ มากมายทั้ง ๆ แบบที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน อีกทั้ง Concept ในการพัฒนาเกมก็คิดเพียงง่าย ๆ คือ “ทำใหม่ ภายใต้ธีมเดิม ๆ ” ซึ่งเกมนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก
ทาง Square Enix เห็นว่าการ Remake ค่อนข้างประหยัดทรัพยากรในการพัฒนาเกม ประกอบกับในช่วงนั้นพวกเขากำลังทุ่มทุนอย่างมหาศาลในการทำเกม Final Fantasy XV จึงผลักเกมตระกูล Remake กับ Remaster ออกมาให้เราได้เล่นมากมาย อย่างที่เราเห็น ๆ กัน
ซึ่งเป็นเหตุให้ค่ายเกมต่าง ๆ นิยมการ Remake (สร้างใหม่) , Reboot (สร้างใหม่แบบไม่เหลือโครงสร้างเดิม) , Remaster (เพิ่มรายละเอียดต่าง ๆ มากขึ้น) อย่างที่เราเห็นกันบ่อย ๆ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ทำให้หากเรามองไปยังค่ายเกมญี่ปุ่นในตอนนี้แทบจะอยู่กับการสร้างเกมเก่าให้กลายเป็นเกมใหม่เสมอ ๆ
ในงาน E3 ปี 2019 เป็นที่น่าเสียดายที่มีค่ายเกมสัญชาติญี่ปุ่นเพียง 2 ค่ายเท่านั้นที่ได้มาจัดแสดงเกมในงานนี้ คือ Nintendo และ Square Enix ซึ่งหากเราสังเกตดี ๆ ทางค่ายพยายามที่จะเน้นการนำเสนอเกมที่นำมาทำใหม่มาก เช่น Final Fantasy 7 Remake และ Final Fantasy 8 Remaster ที่ได้รับความสนใจมากกว่าเกมใหม่ ๆ อย่าง Marvel’s Avenger เสียอีก
3. ยุคของการเล่นเกมแบบ 3 Player Co-Op
เดิมทีเหล่าค่ายพัฒนาเกมต่าง ๆ หากสร้างเกมที่เน้นการร่วมมือกัน จะสร้างโหมดการเล่นที่ลงท้ายด้วยเลขคู่มากกว่า (2 -4 คน) หรือหากเกมที่เน้นทีมจริงจังส่วนมากจะเล่นโดยใช้ทีม 5 คน อย่างที่เรามักจะเห็นได้เกมที่เป็น Esports ทั่วไปอย่าง League of Legends , Dota 2 , CS:GO
แต่เทรนด์เกมทุกวันนี้เปลี่ยนไปเพราะการเล่นเกมพร้อมกัน 5 คน โดยเฉพาะการเล่นพร้อมกันกับเพื่อนที่นัดเวลายังว่ายากแล้ว เวลาแต่ละคนยังเล่นไม่เท่ากันอีก นอกจากนี้ในบางเกมการเล่นพร้อมกันหลายคนอาจจะทำให้เกมนั้นดูง่ายเกินไป และยิ่งตัวเกมไม่ได้ออกแบบเกมการเล่นที่มีความท้าทายมากพอยิ่งไปกันใหญ่
เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ทางทีมงานต่าง ๆ จึงได้กลับมาใช้ระบบการเล่นเกมแบบ 3 คน โดยจุดเด่นของการเล่นแบบนี้คือการให้ความรู้สึกที่แปลกใหม่และยากที่จะคาดเดา ซึ่งในบางเกมเปิดเป็นโหมดใหม่หรือบางเกมก็มี Option ในการเลือกเล่นทีม 3 อีกด้วย ทำให้เกมต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะทำโหมดนี้มากขึ้น
ซึ่งเกมอย่าง Rainbow six Quarantine ถึงกับนำเอามาเป็นระบบการเล่นหลักในเกม ทำให้เกมเมอร์ทั้งหลายยากที่จะคาดเดาในเรื่องของโหมดการเล่น
4. ธีม Dystopia และ Cyberpunk กำลังมาแรง
Dystopia และ Cyberpunk กำลังกลายเป็นหนึ่งในธีมหลักของการพัฒนาเกมในยุคปัจจุบัน โดยทั้งสองธีมมีจุดเด่นคือการนำเสนอเรื่องราวของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ลบ
โดย Dystopia จะให้ความรู้สึกถึงสังคมที่สิ้นหวังมนุษย์ต้องเอาตัวรอดจากภัยธรรมชาติอันโหดร้ายในขณะเดียวกันก็ต้องมือกับมนุษย์ด้วยกันเอง ทำให้เรื่องราวต่าง ๆ ยากที่จะคาดเดา ซึ่งเดิมที่สิ่งเหล่านี้อยู่ในนวนิยาย ก่อนที่จะแพร่หลายไปสู่วงการอื่น ๆ ทั้งภาพยนตร์และเกมในเวลาต่อมา
ในวงการเกมนั้น Dystopia ด้วยความที่ธีมนี้มีขอบเขตที่กว้างมากจึงทำให้เกมแนวนี้มีมากมาย แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือเรื่องของโรคระบาดจากเชื้อไวรัสที่ส่งผลให้สังคมของมนุษย์ล่มสลายหรือที่เรานิยมเรียกว่า Zombie นั่งเอง ซึ่งเกมแนวนี่ขายได้มีให้เราเห็นบ่อย ๆ และยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องนี้ทางเราได้เขียนบทความไว้แล้วสามารถอ่านได้ที่นี่
ขณะที่ทางธีม Cyberpunk จะให้ภาพของมนุษย์ที่วิวัฒนาการไปอีกหนึ่งขั้น ในรูปแบบของการมองร่างกายให้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรที่พร้อมจะสับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ทำให้มนุษย์พันธ์ุนี้ต้องเจอกับปัญหาใหม่ ๆ ที่คนในยุคนี้อาจจะเจอในอนาคต นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่ได้รับการนำเสนออย่างชัดเจนคือเรื่องของเทคโนโลยีที่แปลกใหม่
ด้วยความเปิดกว้างของทั้งสองธีมทำให้ทีมพัฒนาเกมสามารถที่จะออกแบบเกมได้อย่างหลากหลาย เต็มไปด้วยจินตนาการในขณะเดียวกันก็ไม่จำเจกับค่ายเกมอื่น ๆ อีกด้วย ยิ่งธีมเหล่านี้ได้ค่ายเกมคุณภาพเยี่ยมในการพัฒนาจะยิ่งเสริมให้เกมน่าเล่นขึ้นเป็นเท่าตัว
5. Subscribe Game Service
ระบบรายเดือนได้เดินทางเข้ามาถึงวงการเกมแล้ว หลังจากเฉิดฉายในวงการอื่น ๆ มานาน โดยชูจุดเด่นในเรื่องของความคุ้มค่าภายใต้ราคาที่เป็นมิตรกับทุก ๆ คน โดยเรื่องนี้เริ่มมาจากการที่หลาย ๆ ค่ายเกมเริ่มมองไปยังการหายรายได้ที่ยั่งยืนมากกว่ารายได้ที่ฉาบฉวย ซึ่งแม้ว่าการขายเกมในรูปแบบเดิมจะสร้างรายได้ดี แต่ก็มีความเสี่ยงในเรื่องของกระแสเกม ถ้าดังก็ได้เงินเยอะ ไม่ดังก็ขาดทุนได้
ค่ายเกมค่ายแรกที่ได้เริ่มบริการนี้อย่างจริงจังคือทาง EA กับ Origin Access ที่ให้เกมเมอร์ได้เล่นเกมอย่างเต็มที่และมีส่วนลดพิเศษ รวมถึงการทดลองเล่นเกมใหม่ ๆ โดยผลตอบรับออกมาดีมาก ทำให้ EA มีรายได้ตลอดทั้งปีมาเสริมในส่วนของการขายเกมและ In App Purchase ต่าง ๆ จนหลาย ๆ ค่ายเกมเริ่มศึกษาลู่ทางในการทำบริการแบบนี้
ซึ่งในตอนนี้ค่ายเกมต่าง ๆ กระโดดเข้ามาเล่นในส่วนนี้กันอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็น EA , Xbox , Ubisoft , Google ก็พยายามสร้างบริการในส่วนนี้ขึ้นมา โดยได้ชูเอาจุดเด่นคือเกมในค่ายออกมาขายให้เหล่าแฟน ๆ ได้ไปสมัครสมาชิก ทำให้งาน E3 ถือเป็นฤกษ์ที่ดีในการนำเสนอระบบนี้
เทรนด์นี้เหมาะกับเกมเมอร์ขาจรที่ไม่ได้ชอบค่ายไหนเป็นพิเศษสามารถเล่นเกมจากค่ายเกมต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ยังเหมาะสำหรับวัยทำงานที่ไม่ได้มีเวลาในการเล่นเกมมาก หรือไม่อยากจะเอาเงินไปกองไว้กับการเล่นเกมมากเกินไป ก็สามารถจ่ายรายเดือนเพื่อลองเล่นเกมได้หากชอบก็สามารถซื้อราคาเต็มเก็บไว้ได้อีกด้วย
แม้ว่างาน E3 จะจบลงไปแล้วแต่วงการเกมยังต้องเดินต่อไป ซึ่งเราต้องดูกันต่อไปว่าเทรนด์ทั้ง 5 อย่างนี้จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นหรือไม่