หลังจากก่อนหน้านี้เราได้เผยเทคนิคและวิธีการเลือกซื้ออุปกรณ์สำหรับ PC เพื่อการเล่นเกมมาจนจะครบแล้ว แต่ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่หลายคนน่าจะอยากรู้และจำเป็นต้องใส่ใจอย่างที่สุด นั่นก็คือ CPU ที่เปรียบเสมือนสมองและขุมพลังสำคัญในการประมวลผลทุกอย่างในเครื่อง มาดูกันว่าในปี 2019 นี้ มีสิ่งใดบ้างที่เราต้องใส่ใจเลือกเพื่อการเล่นเกมและใช้งานที่ดีที่สุดบ้าง
สิ่งที่ควรรู้ขั้นต้น
- ความเร็ว Clock หรือสัญญาณนาฬิกานั้นสำคัญกว่าจำนวน Core เสมอ เพราะในหลายครั้งโปรแกรมหรือเกมต่าง ๆ ก็ไม่ได้สนับสนุนการทำงานแบบหลาย Core พร้อมกัน การเพิ่มเงินเพื่อซื้อ CPU ที่มีความเร็ว Clock สูงกว่าจึงดูจะคุ้มค่ามากกว่า แต่ถ้าแพงเกินไปก็ควรเบรกลงมาเล่นตัวรองแทนหากเงินไม่มากพอ
- เลือกซื้อ CPU Gen ใหม่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อรองรับการอัพเกรดในอนาคตข้างหน้า ยิ่งออกในปีนั้นยิ่งดี แต่ก็อย่าลืมติดตามข่าวสารว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นใน CPU รุ่นนั้นหรือไม่ด้วย
- อย่าทุ่มเงินให้กับ CPU มากจนละเลยของสิ่งอื่น เพราะแค่ CPU แรงเพียงอย่างเดียวก็ไม่ช่วยทำให้เล่นเกมหรือทำงานได้เร็วขึ้น อย่าลืมเจียดเงินไปซื้อ RAM หรือการ์ดจอที่ทำงานได้ดีพอ ๆ กันควบคู่ไปด้วย
- การ Overclock ไม่ใช่หนทางของทุกคน ถ้าไม่ได้ยึดติดว่าต้องเร็วและแรงที่สุดก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมันก็ได้
AMD หรือ Intel เลือกอะไรดี?
ในปี 2019 นี้มี CPU รุ่นใหม่ออกวางจำหน่ายออกมามากมายไม่ว่าจะทั้งของ AMD และ Intel ซึ่งก็สร้างความสับสนในการเลือกซื้อว่า งบเท่าไหร่ถึงจะพอ หรือตัวไหนเหมาะกับการใช้งานมากกว่ากัน ซึ่งคำพูดที่เรามักจะเห็นกันบ่อย ๆ ก็คือ AMD เด่นในเรื่องการทำงาน Render ตัดต่อวิดีโอเพราะมี Core และ Thread ช่วยกันทำงานมากกว่า ส่วน Intel ยังคงทำความเร็วในด้านการเล่นเกมได้โดดเด่นมากกว่า
และความเข้าใจผิดที่ว่า CPU ของ AMD นั้นจำเป็นต้องใช้การ์ดจอของ AMD เท่านั้นก็ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะผู้ใช้งาน CPU Intel ก็สามารถเลือกใช้การ์ดจอของ AMD ได้ปกติไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ซึ่งหลายครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นจากการ์ดจอนั้นก็แทบไม่ได้มาจาก CPU เลย ดังนั้นพอใจใช้ของเจ้าไหนก็จัดไปได้เลย
งบเท่าไหร่ งานอะไร จัดตัวไหนดี
เชื่อว่านี่เป็นหนึ่งในปัญหาโลกแตกที่หลายคนต่างปวดหัวกับมันแบบสุด ๆ เพราะนอกจากจะต้องมาจัดการกับงบประมาณแล้ว ยังต้องมาดูว่าประสิทธิภาพที่ได้นั้นคุ้มกับค่าตัวหรือเปล่า ซึ่งเรื่องนี้ทางเว็บไซต์ Tom’s Hardware ได้จัดอันดับ CPU น่าสอยในแต่ละงบประมาณมาให้พิจารณากันสั้น ๆ แล้ว
- กลุ่มทำงานทั่วไป( ประมาณ 3,000 -3,500 บาท): กลุ่มนี้มักจะใช้คอมพิวเตอร์เพื่อทำงานพื้นฐานที่ไม่หนักหน่วงมากนัก เช่นเล่นเว็บ พิมพ์งาน หรือดูวิดีโอและเล่นเกมเบา ๆ ในกลุ่มนี้ CPU ที่คุ้มค่าที่สุดก็คงหนีไม่พ้นตัวจี๊ดรุ่นเล็กอย่าง Ryzen 3 2200G ที่ราคาไม่แพงเพียง 2,800 บาท หรือ AMD Ryzen 3 1300X ก็ทำงานได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน ส่วนสาวก Intel อาจจะพิจารณารุ่น Celeron หรือ Core-i3 แทน แต่ถ้าเอาความคุ้มค่าในระดับพื้นฐาน AMD น่าจะตอบโจทย์ได้มากกว่าครับ
- เล่นเกม(ประมาณ 5,000 -7,000 บาท): สำหรับผู้ใช้ในจุดนี้ที่เน้นการเล่นเกมเป็นหลัก ไม่เน้นตัดต่อหรือทำงานด้านอื่น ๆ CPU Core-i5 หรือ Ryzen 5 ก็เพียงพอต่อความต้องการแล้ว และเอาเงินส่วนต่างที่เหลือไปลงกับการ์ดจอแทน ซึ่งในตอนนี้ Intel เองก็มีรุ่นแรงราคาประหยัดอย่าง 9400F ออกมาตีตลาดด้วยราคาเพียง 4,750 บาท ส่วน AMD ก็มี Ryzen 5 3600 ที่แรงไม่น้อยถึง 3.6 GHz ในราคา 7,190 บาท รักใครชอบใครก็จัดกันได้ตามอัธยาศัยได้เลย
- งานตัดต่อหรือเพื่อการ Overclock(8,000 – 10,000 บาทขึ้นไป): สำหรับสายตัดต่อ หรือทำงานแบบ Multi Tasking ก็ต้องมามองดู CPU ที่มีจำนวน Core มากขึ้น รวมไปถึงขา Overclock ที่ต้องการความเร็วขั้นสุด ก็ต้องไปจัดตัวใหญ่อย่าง Core i7, i9 หรือ Ryzen 7 กันแล้ว ซึ่ง CPU ในรุ่นเหล่านี้จะมีสัญญาณนาฬิกาที่เร็วขึ้นพร้อมรองรับการเพิ่มแรงดันไฟที่มากกว่าเดิมให้ Overclock ได้ง่ายขึ้น ตรงนี้ถ้าใครไม่หวั่นเกรงก็จัดตัว i9-9900K หรือ Ryzen 7 3700X กันไปได้เลยตามต้องการ
คำศัพท์ที่ควรใส่ใจในการเลือก CPU
Clock Speed: ความเร็วสัญญาณนาฬิกา ยิ่งมากยิ่งประมวลผลได้เร็ว CPU ในปัจจุบันนี้สามารถปรับความเร็วของค่านี้ได้เพื่อการทำงานที่เหมาะสมมากขึ้น
Core: เป็นหน่วยประมวลผลที่อยู่บนหน่วยประมวลผลของโปรเซสเซอร์อีกที เป็นเหมือนสมองคอยช่วยกันคิดให้การประมวลผลเร็วมากขึ้นไปอีก มีตั้งแต่ 2 Core จนถึง 32 Core แน่นอนว่ายิ่งเยอะยิ่งดี แต่โปรแกรมที่ใช้งานต้องสนับสนุนการทำงานร่วมกันด้วย
Thread: เป็นเสมือนกับสมองจำลองที่ช่วยการทำงานของ Core ให้สูงขึ้น เรียกว่ามีหัวเดียวแต่ทำงานได้เหมือนมีสองหัวนั่นเอง ทำให้เรามักจะเห็น CPU ทั่วไปโฆษณาว่ามีกี่ Core ทำงานได้กี่ Thread ก็ว่ากันไป ซึ่งช่วยให้ CPU รับมือกับงานที่หนักหน่วงกว่าเดิมได้มากขึ้น
TDP: ย่อมาจาก Thermal Design Power/Profile เป็นค่าความร้อนที่ CPU สามารถผลิตออกมาในระหว่างการใช้งาน โดยวัดเป็น Watt ซึ่งค่านี้จะทำให้เรารู้ว่าจะต้องหาระบบระบายความร้อนที่สามารถรับมือกับค่านี้ได้ รวมไปถึงเป็นค่าที่ทำให้รู้ว่ามันกินพลังงานจากภาคจ่ายไฟอย่าง Power Supply ไปเท่าไหร่ ซึ่ง CPU ที่มีประสิทธิภาพสูงส่วนใหญ่จะมีค่านี้มากตามไปด้วย
Cache: ค่าความจุที่เอาไว้เก็บข้อมูลระหว่าง CPU และ RAM ยิ่งมีมากยิ่งดีเพราะหมายถึงการทำงานที่เร็วขึ้นตามไปด้วย ใน L1 นั้นจะเร็วที่สุดแต่มีความจุแคบมาก L2 จะใหญ่ขึ้นแต่ก็ทำงานช้าลง ส่วน L3 จะมีขนาดใหญ่ที่สุดแต่ก็ทำงานช้าที่สุดเช่นกัน เป็นค่าที่ควรใส่ใจในลำดับท้าย ๆ เพราะความเร็วในการทำงานของ CPU ไม่ได้วัดกันที่ค่า Cache เป็นหลักอยู่แล้ว
สุดท้ายแล้วอย่าลืมดูว่า Mainboard ที่ใช้อยู่นั้นมีชิปเซ็ตที่รองรับการทำงานของ CPU รุ่นที่จะซื้อด้วยหรือไม่ เพราะถ้าซื้อมาผิด ใส่ไม่เข้าก็คงเสียเวลาน่าดู ดังนั้นอย่าลืมดูกันให้ดีด้วยครับ