มีเพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียนเคยพูดไว้ว่า “ถ้าอยากเห็นว่าคน ๆ นั้นมีนิสัยหรือกมลสันดานแบบไหน ให้จับคน ๆ นั้นไปเล่น Board Game” ซึ่งคำกล่าวนี้ไม่ถือว่าเกินเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะเกมอย่าง Avalon หรือ Werewolf ที่ Bluff กันมันหยดจนบางทีเกือบจะเกินเลยไปบวกกันนอกเกมก็มีให้เห็นกันบ้าง แต่ในยุคอดีตที่เรายังไม่มี Board Game มากมายและใช้ตรรกะเยอะมากแบบในสมัยนี้ ยังมีอยู่อีกหนึ่งเกมที่เกมเมอร์ชาวไทยสมัยก่อนยุคปี 2000 ชื่นชอบกันมาก ซึ่งคงจะเป็นเกมใดไปไม่ได้นอกจาก Dokapon นั่นเอง
Dokapon เป็นเกมแนว Board Game ที่ผสมความเป็นเกม RPG ลงไปในเกมด้วย วางจำหน่ายครั้งแรกในเครื่อง Super Famicom เมื่อปี 1992 รองรับผู้เล่นมากกว่าสองคนขึ้นไปได้ (สูงสุดที่ 4 คน) โดยเป็นเรื่องราวของเหล่าผู้กล้าที่ออกไปปราบจอมมารจากการร้องขอของพระราชา ซึ่งถึงแม้พลอตของเกมจะเป็นพลอตโหล ๆ ที่หาได้ทั่วไปในเกมภาษาของญี่ปุ่นยุคนั้น แต่ที่ไม่ธรรมดาคือการยัดความเป็นแฟนตาซีของเกมภาษามาอยู่ในรูปแบบเกมกระดานที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ผู้เล่นจะได้ทรัพย์สินเงินทองจากการผจญภัยและทำภารกิจที่เกมสุ่มขึ้นมา ซึ่งเป้าหมายของเกมก็เหมือนกับเกมเศรษฐีที่เราเคยเล่นกัน ก็คือใครที่ครอบครองทรัพย์สินมากที่สุดก็เป็นฝ่ายชนะไป
จุดที่ทำให้เกมมีความโดดเด่นและสนุกสนานมาก (และรวมไปถึงการสร้างความร้าวฉานของหมู่เพื่อนฝูง) ก็คือตัวเกมมีระบบที่อนุญาตให้ผู้เล่นขัดแข้งขัดขากันเองได้ ถ้าหากทอยลูกเต๋าไปตกช่องที่ผู้เล่นอื่นอยู่ก็ต้องสู้กันทันที ซึ่งนั่นถือเป็นก้าวแรกของการทำลายมิตรภาพ เพราะถ้าแพ้ก็หมายถึงเงินหรือเมืองที่ต้องเสียไป ยิ่งใครที่ฟาร์มเลเวลมาจนตัวบวมและจงใจทอยเต๋าไปตกตรงช่องที่เพื่อนเลเวลต่ำกว่าอยู่นี่ยิ่งได้เปรียบกันแบบสุด ๆ เรื่องต่อมาคือเควสจากพระราชาที่เกมจะสุ่มออกมาให้ผู้เล่นได้แก้หรือเข้าร่วม บางเควสก็ได้ผลลัพธ์ที่ดี ช่วยเสริมความสามัคคีให้หมู่เพื่อนฝูง แต่กับบางเควสที่หลังจบแล้วกลายเป็นว่าทำให้เกิดรอยร้าวระหว่างผู้เล่นขึ้นมาแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Event ในตำนานอย่างงานประลองยอดยุทธ์ที่นอกจากต้องสู้กับพี่บรูซลีแล้ว ยังต้องไปอัดกับเพื่อนต่ออีก (แม้จะไม่ส่งผลในเกมมาก แต่นอกเกมน่าจะมีทิ้วกันบ้าง) แถมยังมีเทคนิคและทริคขี้โกงอีกมากมายที่ถ้าใครรู้และใช้รัว ๆ นี่ถือว่าเอาเปรียบเพื่อนกันกลาย ๆ เลยทีเดียว
แน่นอนว่าด้วยการที่ตัวเกม Dokapon เปิดโอกาสให้ผู้เล่นทำอะไรได้หลายอย่างมาก มากจนบางทีก็กลายเป็นการโกงไปเลยในบางรอบ ถ้าในบางรอบคุณหมันไส้ใครมาก ๆ ก็สาปมันตั้งแต่ต้นเกมไม่ให้ได้ผุดได้เกิดเลยก็ทำได้ (แต่ดวงต้องดีหน่อย) หรือถ้าหนักหน่อย ก็เอาแค่ช่วงเลือกตัวละครก็ทำให้ทะเลาะกันได้แล้ว (โดยเฉพาะพี่หุ่นยนต์สุดแกร่ง Buriken หรือพ่อค้าเจ้าเล่ห์ตัวกลม Don ที่บางคนไม่ยอมให้ใครแย่งเล่นเพราะมันโกงนี่แหละ) และนี่ยังมีอีกหลายปัจจัยมากมายที่นอกจากเควสและ Event ต่าง ๆ ที่พระราชาตัวดีส่งมาแล้ว เหล่าบอสทั้งหลายก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จุดชนวนชวนทะเลาะ เพราะคุณและเพื่อนจะถูกสาปแบบต่อเนื่องทั้งลดค่าพลัง จิ๊กเงิน เสกลูกสมุน และที่แสบที่สุดคือจับผู้เล่นวาร์ปมาอยู่ในเมืองเดียวกันเพื่อมาตีพวกมัน ซึ่งถึงแม้จะปราบบอสลงได้ แต่เชื่อว่าผลลัพธ์ที่ตามมาคือศึกระหว่างผู้เล่นที่ติดพันมาในรอบหลังจากนี้นี่แหละคือของจริง ดีไม่ดีไปจัดกันนอกเกมต่ออีก เอาเข้าไป
ที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นเค่เศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้นที่ผู้เล่นจะได้เจอในเกม เพราะยังมีอีกหลายสิ่งอย่างให้ผู้เล่นได้เจออีกมาก และมันก็พร้อมที่สร้างรอยร้าวให้กับมิตรสหายในรอบนั้นจนป่นปี้ไม่เหลือชิ้นดี เพื่อนของผู้เขียนเคยเล่าให้ฟังว่าเขาเคยทะเลาะกับเพื่อนเพราะเล่นเกมนี้จะถึงขั้นไม่คุยกันไปหลายเดือน จนทำให้หลายคนยกให้ Dokapon เป็นเกมควรหลีกเลี่ยงที่ไม่น่านำมาเล่นถ้าหากมีเพื่อนที่คุกรุ่นกันอยู่ แต่ถ้าตัดเรื่องสร้างความร้าวฉานในหมู่เพื่อนออกไป ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Dokapon เป็นเกมที่เล่นกับเพื่อนได้อย่างสนุกมากเกมหนึ่ง
สำหรับในบ้านเรานั้นภาคที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นภาคบนเครื่อง Playstation ในชื่อว่า ドカポン!怒りの鉄剣 ซึ่งถึงตัวเกมจะไม่มีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษให้เล่น แต่ด้วยระบบที่ออกแบบมาลงตัวอยู่แล้วทำให้พอจะดำน้ำเล่นผ่านไปได้ (และโชคดีที่เรายังมีหนังสือบทสรุปเกมอย่าง Game Mag และ Mega มาไว้ใช้อ้างอิงคำสั่งในเกมได้) และก็มีภาคต่อหลังจากนั้นอยู่พอสมควรจนหยุดที่ภาคในเครื่อง Nintendo DS และเราก็ไม่ได้เห็นข่าวคราวของเกมนี้อีก แม้จะน่าเสียดายแต่ Dokapon ก็เป็นเกมหนึ่งที่สร้างความทรงจำดี ๆ และร้าวฉานให้กับเกมเมอร์ชาวไทยมากมายอีกเกมหนึ่ง ส่วนใครที่ยังไม่เคยสัมผัสก็อาจจะยังหาตัวเกมในเวอร์ชั่น Emulator มาลองกันได้ไม่ยากนัก แต่ก็ต้องเตือนไว้อีกครั้งว่าเวอร์ชั่น Playstation นั้นไม่มีภาษาอังกฤษ และต้องมีเพื่อนมาร่วมวงเล่นด้วยให้ครบขาด้วย แล้วจะรู้ว่าทำไมเกมนี้ถึงได้กลายเป็นตำนานที่หลายคนจำได้ไม่รู้ลืมครับ