ผู้เล่นทุกคนชื่นชอบเกมที่มีกราฟิกสวยงาม, อลังการงานสร้างดั่งภาพยนตร์ Star Wars กันทั้งนั้น แต่อย่าปล่อยให้ความสวยงามของกราฟิกมารั้งฝีมือการเล่นเกม Multiplayer ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ เพียงเพราะเอฟเฟกต์วิดีโอเกมตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น!
บทความนี้จะเป็นการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการ “ปรับกราฟิก” เกมให้ถูกต้อง เพื่อเพิ่มขีดจำกัดฝีมือในโหมด Multiplayer ให้เล่นเกมเก่ง ลื่นไหล และปลดลิมิตตัวเองให้พัฒนาไปไกลยิ่งขึ้น !
หลักฐานพิสูจน์ว่ากราฟิกมีผลต่อการเล่น Multiplayer
อ้างอิงจากเกมเมอร์ PUBG คุณ WackyJacky 101 ออกมาพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของเกม กล่าวว่าหากเพลเยอร์ PUBG ด้วยคอมพิวเตอร์ที่ค่อนข้างล้าสมัย, ไม่ทรงพลังพอ, ปรับ LOW หรือค่า FPS ไม่นิ่งพอ อาจส่งผลต่อระบบเกมเพลย์ให้เล่นลำบากหรือง่ายขึ้น
เช่น แรงดีดของปืน, อัตราความเร็วของการยิง และความเร็วของกระสุนสู่เป้าหมาย ซึ่งอัตราจะเพิ่มขึ้นหรือต่ำลง ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพกราฟิกที่ใช้งานอยู่ และ Optimized ซึ่งแอบส่งผลต่อระบบเกมเพลย์โดยรวมแบบไม่ได้ตั้งใจ
ยกตัวอย่างอีกเกมหนึ่งคือวิดีโอ Battlefield 1 โดยคุณ RIZECEK จะสังเกตเห็นชัดว่าการปรับเซตติ้งแบบ Low แม้ให้คุณภาพกราฟิกแบบต่ำ ก็สามารถเล่นเกมได้อย่างยาวนานกับสบายตา แตกต่างจากการปรับ High ซึ่งแม้จะมีภาพที่อลังการงานสร้าง แต่ด้วยเอฟเฟกต์แสงสีที่เยอะเกินไป ทำให้ชวนรู้สึกปวดตาระหว่างการเล่นเกือบตลอดเวลา
https://www.youtube.com/watch?v=nQOSqRGUjX0
แน่นอนว่าตัวเกมมีตัวเลือกปรับออฟชั่นมากมาย แต่เกมเมอร์บางคนอาจเลือกปรับแต่งไม่ถูกต้องหรือสับสนได้ง่าย แล้วจะมีองค์ประกอบกราฟิกตัวไหนบ้างที่ต้องลดคุณภาพหรือปิดใช้งาน เพื่อให้เกมการเล่นลื่นไหลมากขึ้น โดยเกมยังคงมีความสวยงามแบบพอดี
ปรับ Resolution ให้เหมาะกับหน้าจอ
ถึงแม้ความละเอียดหน้าจอแบบมาตรฐานสำหรับการเล่นเกมจะอยู่ที่ Full HD (1920×1080) แต่หากพบว่าระหว่างการเล่น ขาดความลื่นไหลหรือเฟรมเรทร่วงเป็นบางช่วง เกมเมอร์อาจจำเป็นต้องเสียสละลดระดับความละเอียดหน้าจอเป็น 1280 x 720 หรือต่ำกว่า เพราะคุณภาพหน้าจอมอร์นิเตอร์ที่ใช้อยู่อาจรองรับ Refresh Rate ที่ต่ำกว่ามาตรฐานการเล่นเกมก็เป็นได้
ปรับ FOV พอดีเท่ากับได้เปรียบครึ่งหนึ่ง
ปรับกราฟิก Field Of View ถือเป็นหัวใจสำคัญของเกมประเภท FPS ที่ช่วยให้มุมมองของผู้เล่น มีความกว้างเยอะขึ้น ซึ่งมีผลลัพธ์ทำให้เกมเมอร์สังเกตรู้ทันทุกสถานการณ์รอบแผนที่หรือไหวตัวทันนั้นเอง
แต่หากปรับเปลี่ยนค่า FOV มากจนเกินไป ตัวเกมอาจเกิดบั๊กหรือกินทรัพยากรเครื่องเยอะขึ้นตามมา แต่สำหรับเกมเมอร์ที่เอาจริงเอาจังกับการเล่นเกม FPS Multiplayer การปรับออฟชั่นดังกล่าวจะสามารถช่วยให้คุณเล่นเกมเก่งขึ้นแน่นอน
World Details น้อยลง โฟกัสง่ายขึ้น
โลกอันสวยงามและมีรายละเอียดเยอะ ย่อมมอบประสบการณ์ในการเล่นเกมให้ผู้เล่นร้องว้าวอยู่เสมอ
แต่สำหรับสมรภูมิรบโหมด Multiplayer ความละเอียดกลับเป็นโล่บังตาที่ทำให้ผู้เล่นเกิดการเสียเปรียบระหว่างการเล่น เพราะวัตถุล่อตาล่อใจ “เยอะ” เกินไปแทน
การปรับ World Details ให้ต่ำลง แม้ทำให้ความขลังของวิดีโอเกมหายไป แต่ก็แลกกลับมาด้วยประสิทธิภาพการรันเกมลื่นไหลอย่างเห็นชัด และสร้างความได้เปรียบต่อการเล่นเกม เพราะผู้เล่นสามารถโฟกัสกับเป้าหมาย โดยไม่ค่อยมีอะไรขวางหูขวางตาเกินจำเป็น
Dynamic Reflections ไม่จำเป็น แถมหนักเครื่องด้วย
เอกเฟกต์นี้ มีหน้าที่ช่วยให้พื้นผิวด้านล่างสะท้อนอยู่ด้านบนแบบเรียลไทม์ ซึ่งทำให้ภาพเกมมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด
แต่ Dynamic Reflections ถือเป็นเอฟเฟกต์หนึ่งที่เกมเมอร์หลายท่าน นิยมเลือกที่จะปิดใช้งาน เนื่องจากกัดกินทรัพยากรด้านกราฟิกเกินความจำเป็น และสำหรับโหมด Multiplayer เงาสะท้อนไม่ช่วยเสริมสร้างให้ผู้เล่นได้เปรียบมากขึ้นแต่อย่างใด
หากอ้างอิงจากการวิเคราะห์ของ PC Gamer สังเกตเห็นว่าหากปิด Dynamic Reflections จะช่วยให้เฟรมเรตของเกม Overwatch เพิ่มขึ้น 30-50% และคาดว่าช่วยลดการกินพลังทรัพยากรกราฟิกให้เกมอื่นไม่น้อยอีกด้วย
Motion Blur ยิ่งไม่จำเป็นเข้าไปใหญ่ ปวดหัวด้วย
หนึ่งในศัตรูของเกมเมอร์ตลอดกาล ไม่ว่าจะผู้เล่นสาย Singleplayer หรือ Multiplayer ต่างล้วนต้องรังเกียจ เมื่อได้เห็นเอฟเฟกต์นี้และปิดมันอย่างไม่ใยดี
Motion Blur มีหน้าที่อย่างเดียว คือทำให้การเคลื่อนไหวมุมมองของผู้เล่นสมจริง และฉากคัตซีนมีความเป็นภาพยนตร์ แต่พอเข้าถึงโหมด Multiplayer เอฟเฟกต์นี้กลับสร้างอุปสรรคในการเล่นเกมอย่างเห็นชัด เพราะผู้เล่นไม่สามารถมองเห็นเป้าหมายชัดเจน เมื่อต้องหันซ้าย-ขวาอย่างรวดเร็วหรือเลื่อนเม้าส์ขึ้นลงไปมา
Shadow หากใช้ถูกวิธีก็ช่วยชีวิตผู้เล่นได้
เงาสามารถช่วยให้ผู้เล่นสังเกตการณ์เคลื่อนไหวของเกมเมอร์คนอื่น จากการส่องพื้นผิวหรือตรวจสภาพแวดล้อมจากการใช้สัญชาตญาณของเพลเยอร์
แต่อย่างไรก็ตาม เอฟเฟกต์เงากลับผลาญกินพลังทรัพยากรกราฟิกอย่างร้ายกาจใช่ย่อย สำหรับเกมเมอร์ที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ทรงพลัง การปิดเอฟเฟกต์เงาถือเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ช่วยให้การเล่นเกม Multiplayer ลื่นไหลขึ้น
แต่หากเอฟเฟกต์เงามีความจำเป็นต่อการเล่น Multiplayer จริง ๆ แนะนำให้ปรับคุณภาพระดับต่ำ-ปานกลางก็เพียงพอแล้ว
Depth of Field ปิดไปเถอะ
คล้ายกับกรณีของ Motion Blur ตัวเอฟเฟกต์ Depth of Field ช่วยให้ภาพกราฟิกมีความสวยงามเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น
แต่สำหรับโหมด Multiplayer (โดยประเภท FPS) เอฟเฟกต์ Depth of Field สร้างอุปสรรคในการเล่นเกมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเนื่องจากระยะทางสายตาของผู้เล่นมีจำกัดจนติด Blur ในที่สุด
หากผู้เล่นเป็นสายคลาส Sniper หรือต้องการยิงจากระยะไกล เอฟเฟกต์ Depth of Field เปรียบเสมือนเป็นนรกส่งมาเกิดสำหรับคอเกมยิง วิธีการชำระล้างมันก็คือด้วยการกด “ปิด” ทิ้งซะ แล้วปัญหาเหล่านั้นจะหมดไปทันที
Lens Flare ชวนแสบตา
Lens Flare เป็นหนึ่งในเอฟเฟกต์ที่ผู้เขียนชื่นชอบเป็นการส่วนตัวแบบไม่มีเหตุผล เพราะช่วยให้ภาพยนตร์หรือเกมรู้สึกเก๋ไก๋และอาร์ทมากขึ้น
แต่ไม่สามารถปฏิเสธว่าเอฟเฟกต์ Lens Flare ก็มีส่วนช่วยในการบังวิสัยทัศน์หรือเบี่ยงเบนความสนใจไปยังเส้นของแสง ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการเล่นเกมบางครั้ง เมื่ออยู่สภาพแวดล้อมที่แคบ มีแสงอาทิตย์ และมีแสงไฟเยอะ
Supersampling (SSAA) คมจนบาดเครื่องซะเอง
Supersampling (SSAA) ถือเป็น Anti-aliasing มีหน้าที่ช่วยให้ภาพกราฟิกมีความคมชัดดั่งใบมีดในทุกระยะสายตา ซึ่งยิ่งใช้ความละเอียดหน้าจอเยอะเท่าไหร่ ก็ยิ่งคมตมาสภาพเท่านั้น
ซึ่งก็แน่นอนว่าการเปิด Anti-aliasing ระดับ SSAA ย่อมต้องกินทรัพยากรเครื่องคอมตามมา และสำหรับเกม Multiplayer ที่มีแผนที่สเกลขนาดเล็ก เกมเมอร์จะรู้สึกว่าไม่ค่อยมีความจำเป็นซะเท่าไหร่นัก
แต่สำหรับแผนที่สเกลใหญ่อย่างเกมประเภท Battle Royale – การเปิด SSA ถือเป็นฝันร้ายสำหรับผู้เล่นที่มีคอมสเปกต่ำหรือปานกลาง เพราะเฟรมเรตร่วงลงอย่างเห็นชัดตั้งแต่เปิดเกมครั้งแรก
แนะนำปรับกราฟิก Anti-aliasing ให้อยู่ระดับต่ำ เพราะนอกจากทำร้ายเรื่องคอมพิวเตอร์น้อยลงแล้ว มันเป็นมิตรต่อเฟรมเรตให้ลื่นไหลยิ่งขึ้นอีกด้วย