เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ หลายคนและอุตสาหกรรมวงการเกมเชื่อว่าระบบ Subscription หรือการสมัครสมาชิกรายเดือนนั้น จะเป็นแหล่งทำรายได้มหาศาลให้กับค่ายเกม แต่จนถึงตอนนี้หลายคนเริ่มมองว่า มันไม่ใช่อย่างที่คิด แล้วทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เราลองมาหาคำตอบกันในวันนี้
ความจริง ความฝันต่างกันแค่ไหน ?
ยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีหลายราย กำลังเดิมพันว่ารูปแบบการสมัครสมาชิก หรือระบบ Subscription จะกลายเป็นสิ่งที่โดดเด่นมากในการเล่นเกม และถ้าหากว่ามันโดดเด่นขึ้นจริง ๆ บริการสมัครสมาชิกรายเดือนสไตล์ Netflix อาจกลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในวงการเกมมากขึ้น แต่ ณ ตอนนี้ ดูเหมือนมันจะไม่ใช่แบบนั้น
เพราะรูปแบบธุรกิจของเกมและภาพยนตร์นั้นไม่ค่อยเหมือนกันอยู่แล้ว ในขณะที่หนังหรือซีรีส์จำพวก Netflix นั้น มีคอนเทนต์ที่ใช้เวลาในการดูหนังแต่ละเรื่อง หรือซีรีส์แต่ละตอนที่จบในเวลาที่ค่อนข้างแน่นอน ผิดกับเกมที่มีคอนเทนต์จำนวนมาก และบางเกมอาจเล่นได้เป็นปี ๆ ทำให้แฟน ๆ ยินยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อเกมราคาเต็มไปเลยมากกว่าที่จะยอมจ่ายแบบรายเดือน
วิดีโอเกมไม่ใช่การเล่นเป็นเส้นตรงอีกต่อไป
การเล่นเกมเป็นเส้นตรงนั้น ในยุคก่อนเป็นเรื่องปกติ แต่นับตั้งแต่ปี 2000 ขึ้นมา ผู้สร้างวิดีโอเกมต่างใส่ระบบต่าง ๆ เข้าไปมากมาย ทำให้ผู้เล่นต้องเสียเวลาหรือติดพันกับมันมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Easter Egg, Secret Level หรือบางเกมที่มาแบบ Live Services อัปเดตกันอย่างต่อเนื่องจนกว่าเกมจะสิ้นอายุขัย
มีรายงานว่าผู้เล่นหลายคนที่ใช้เวลาเล่นเกมแนวเดิม ๆ อย่างเช่น FPS Competitive, MOBA อย่าง CS:GO, DOTA 2 เป็นเวลา 2 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน แค่นั้นก็มากเพียงพอแล้ว สำหรับการแบ่งเวลาใน 1 วันมานั่งเล่นวิดีโอเกม เทียบกับ Netflix แล้ว มีคนเข้ามาชมซีรีส์หรือหนังเพียงวันละ 18-27 นาทีเท่านั้น
กลับกันพวกเกม Single Player หรือเนื้อเรื่อง ก็ไม่อาจเล่นจบได้ในระยะเวลาสั้น ๆ อีกต่อไป ถ้าหากจะเล่นแบบเก็บครบทุกรายละเอียด บางเกมอาจทำให้มันมีคุณค่าในการเล่นได้มากกว่า 100 ชั่วโมง และด้วยสาเหตุนี้ คนจึงมองว่าการจ่ายเงินเพื่อซื้อเกมเต็มไปเลยจึงคุ้มกว่าการมานั่งเสียเงินรายเดือนอย่างต่อเนื่อง
ยกตัวอย่างเช่นระบบ EA Access ในบ้านเรา คนจะยอมจ่ายเงินก็เพื่อทดลองเล่นเกมนั้น ๆ ก่อน และถ้าถูกใจ ก็จะซื้อเกมเต็มมาครอบครองไว้แทน ไม่ใช่จ่ายต่อเนื่องเป็นรายปี และสิทธิอย่างการได้ส่วนลดเกมตอนซื้อก็ไม่ได้น่าดึงดูดใจมากขนาดนั้น
ตลาดเกมในตอนนี้ “เปิดฟรี” ดีกว่า “จ่ายรายเดือน”
สังเกตว่าเกมที่ยังใช้ระบบ Subscription แล้วยังอยู่ต่อได้ในตอนนี้ หลัก ๆ มีเพียงไม่กี่เกมเท่านั้น เช่น World of Warcraft , Final Fantasy XIV Online เพราะในยุคนี้ การคิดคอนเทนต์ที่ดึงดูดใจลูกค้าให้ยินยอมกดเสียเงินแบบรายเดือนได้นั้น ทำได้ยากมากในยุคที่มีเกมใหม่เปิดตัวแทบจะรายเดือน
และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการเป็นแบบฟรีนั้น เป็นแนวทางที่ตลาดสนใจมากกว่า ขึ้นชื่อว่าเกมฟรี ใครกันจะไม่อยากลองโหลดมาเล่น เพราะมันมีโอกาสที่ผู้เล่นจะถูกใจ และเสียเงินให้มันเพื่อเล่นต่อ ทางผู้พัฒนาจึงยินดีที่จะสละรายได้ของตัวเองล่วงหน้า (รวมถึงรายได้จากระบบ Subscription) เพื่อโอกาสระยะยาวในการสร้างรายได้จากการใช้งานระบบอื่นในเกมฟรีแทน เช่น Microtransaction และ Loot Box
จะเห็นว่าตอนนี้เกมที่เปิดมาใหม่ ๆ มักจะใช้วิธีการเปิดให้เล่นฟรี หรือแจกฟรีไปเลย และถ้ามันทำออกมาดี มีคุณภาพแล้วล่ะก็ มีโอกาสมากที่เกมจะติดตลาดยาว ๆ และทำเงินได้มหาศาลเสียยิ่งกว่าลองทำระบบ Subscription
จะเห็นได้ว่าเหตุผลเพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่เราจะเห็นได้ว่าทำไมระบบ Subscription หรือระบบรายเดือนมันถึงไม่เวิร์คกับธุรกิจวงการเกมจริง ๆ แต่ก็ไม่แน่ ในเมื่ออะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ ในอนาคตอันใกล้นี้ ระบบ Subscription อาจมาพร้อมโมเดลธุรกิจแบบใหม่ที่มัดใจแฟน ๆ ได้อยู่หมัด แต่กว่าจะถึงตอนนั้น เราอาจจะได้เห็นโฉมใหม่ของวงการเกมขึ้นไปอีกระดับหนึ่งก็ได้