BY BOM
26 Nov 18 7:31 pm

เมื่อวงการเกมหมุนรอบแดนมังกร เกมเมอร์ทั้งผองจะต่อกรอย่างไร ตอนที่ 1

0 Views

ทุกวันนี้เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ชาวจีนคือผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก ทุกอย่างในโลกใบนี้ล้วนแต่หมุนรอบประเทศจีนเพราะด้วยพลังของพลเมือง 1 ใน 7 ของโลกประกอบกับกำลังซื้อสูงเสียดฟ้า ทำให้หลายธุรกิจหันมาเจาะตลาดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการเกม ที่จีนกำลังสร้างมาตรฐานใหม่ จนเหล่าเกมเมอร์ทั้งโลกกำลังจะถูกกลืนกินไปอย่างไม่รู้ตัว

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา วงการ Dota 2 ได้เกิดประเด็นการเหยียดเชื้อชาติ ทั้งการจากแข่งขันระดับทัวร์นาเมนต์และการเล่นแบบปกติ ซึ่งผู้ที่ตกเป็นจำเลยในการเหยียดเชื่อชาติคือชาวจีน ทำให้ Community เกม Dota 2 ของชาวจีนลุกเป็นไฟ ทำให้ Valve ถึงกับต้องออกมาให้คำสัญญากับพี่น้องชาวจีนว่าเรื่องอย่างนี้จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ที่สำคัญทางการจีนได้แบนโปรเพลเยอร์ที่เหยียดชาวจีนไม่ให้เข้าแข่งขันทุกทัวร์นาเมนต์ที่จัดในแผ่นดินจีน ที่ต่อให้เล่นขำ ๆ กับเพื่อน หากเกิดพลาดไปเหยียดชาวจีนก็ไม่รอด ซึ่งการแข่งขันที่แบนนั้น คือทุกรายการที่จัดบนแผ่นดินประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นการจัดโดย Valve ที่เป็นเจ้าของเกม Dota 2 หรือจากใครก็ตาม

หลังจากที่ 2 ผู้เล่นฟิลิปปินส์ฉาวถูกเเบนจาก Dota2 Chongqing Major ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์โดยเฉพาะ Community ของเกม Dota 2 ใน Reddit มองว่า Valve เหมือนดูแลเหล่าเกเมอร์ด้วยมาตรฐานที่ต่างกัน เพราะ โปรเพลเยอร์ทั้งสองคนที่เหยียดเชื้อชาติจีนนั้นแทบจะถูกถอดออกจากการแข่งขันทันที ในขณะที่ผู้เล่นอื่นที่เคยมีกรณี Trash Talk ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ MinD_ContRoL เหยียดคนรัสเซีย ,  iceiceice เหยียดสีผิวหรือแม้กระทั่งทีมอย่าง VP (Virtus Pro) ที่ Trash Talk ผ่านการสแปมปุ่ม Tips กับ Emote ใส่ทุกทีมที่แข่งขัน จนบางครั้งเหมือนจะเยาะเย้ยซ้ำเติมมากกว่าเฮฮา ก็ยังไม่มีปัญหาอะไร ทำให้หลาย ๆ คนตั้งคำถามกับ Valve ว่าเอาใจคนจีนมากเกินไปหรือเปล่า เพราะว่าเทียบกันแล้ว ความผิดของ “skem” พอเข้าใจเพราะเจ้าตัวพิมพ์เหยียดเชื้อชาติกลางงานแข่ง แต่สำหรับ “Kuku” เขาเล่นใน Public และได้ออกมาขอโทษแล้ว พร้อมทั้งทางต้นสังกัดได้ บริจาคเงินให้กับชุมชนชาวจีนเพื่อชดเชยความผิด  ทำให้ไม่น่าจะเป็นเหตุผลอะไรต้องแบนห้ามเข้าแข่งขัน แต่ทางการจีนยังคงกดดันทั้งสองคนถูกตัดออกจากทีม เพราะถ้าไม่ไล่ออก ทางการจีนจะแบนทั้งสองทีมไม่ให้เข้าแข่งขันทุกงานที่จัดขึ้นในประเทศจีน อีกทั้งการที่ TI 9 งานแข่งขันสุดยิ่งใหญ่ของชาว Dota 2 ยังจัดขึ้นที่ ณ เมืองเซียงไฮ้ ประเทศจีน ทำให้คนที่ถูกทางการจีนแบนแทบจะไร้อนาคตในวงการ Dota 2 ไปเลย

หากกรณีของ Kuku ทำให้เขาโดนแบนในจีน ควรมีผลย้อนหลังถึงคนอื่นหรือไม่

 

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นตรงที่ว่า Valve ค่อนข้างที่จะให้ความสำคัญกับผู้เล่นชาวจีนมากเป็นพิเศษ หากเรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับผู้เล่น Dota 2 ชาวจีน Valve จะเข้าข้างเสมอ  ในขณะที่หากเป็นผู้เล่นในโซนอื่น ๆ Community จะเป็นคนจัดการเองทุกอย่าง ต่อให้จะดราม่ากันเละแค่ไหน Valve ก็แทบจะไม่มายุ่งเกี่ยว ทำให้เหล่าเกมเมอร์ต่างรู้สึกน้อยใจกับเรื่องเหล่านี้เพราะพวกเขาต่างก็รัก Valve และเกม Dota 2 เหมือนกัน เรื่องนี้ทำให้นึกถึงเรื่องราวต้นเดือนมานี้ ที่การประกาศเปิดตัวเกม Diablo Immortal บนแพลตฟอร์มมือถือของทางค่าย Blizzard ได้ประกาศเปิดตัวออกมาทำให้เกมเมอร์เดือดเป็นไฟ เนื่องจากพวกเขามองว่า Diablo ควรจะเป็นเกมที่มากกว่าเกมมือถือ อีกทั้งพวกเขาอุตส่าห์ศรัทธาในเกมที่อุดหนุนมาเนิ่นนานกว่า 20 ปี มางาน BlizzCon ก่ะว่าจะได้เจออะไรที่ยิ่งใหญ่สุดท้ายก็พังลง ยิ่งประกาศว่าได้ร่วมมือกับ Net ease ในการทำเกมนี้อีก ก็เป็นการเติมเชื้อไฟอย่างดีให้กับ Community ของเกม ซึ่งดูตัวอย่างเกม 20 วินาที ก็ดูออกว่าเกมนี้ได้ถูกออกแบบมาเพื่อตลาดจีนโดยเฉพาะ มิหนำซ้ำยังมีข่าวลือว่าพวกเขาทำอย่างนั้นจริง ๆ

ทำให้ตลาดเกมจีน ที่เดิมเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มกลายเป็นแหล่งขุมทองแหล่งใหม่ ค่ายเกมต่าง ๆ ก็พยายามที่จะขุด ไม่ว่าจะเป็น EA , Blizzard , Ubisoft , Valve ต่างก็พยายามที่จะเข้าตลาดแห่งนี้ให้ได้ ส่งผลให้เกมเมอร์ชาวจีนกลายเป็นกลุ่มผู้เล่นที่มีความสำคัญขึ้นมาทันที อิทธิพลของเกมเมอร์ชาวจีนที่มีต่อวงการเกมนั้นเรียกได้ว่าเกินกว่าจะพรรณนา โดยพวกเขาสามารถที่จะโหวตให้เกมใน Steam ติดลบได้เพียงไม่เพิ่มภาษาจีน ทำให้ทุกเกม Steam วันนี้ต่างก็ต้องมีภาษาจีนแทบทุกเกม นอกจากนี้บางเกม ยังเอาใจผู้เล่นชาวจีนอย่างสุดฤทธิ์เช่นเกม PUBG ที่ต่อให้เกมเมอร์ชาวจีนมีอัตราส่วนของ Hacker มากที่สุด แต่พวกเขาก็ไม่ยอมที่จะแยกเซิร์ฟจีนออก เนื่องจากเหตุผลบางประการ ทำให้เหล่าเกมเมอร์โซนอื่น ๆ ต้องรับผลกรรมจากเรื่องนี้ไปไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ถึงกระนั้น การที่ค่ายเกมต่าง ๆ หันเข็มเข้าหาคนจีนนั้น ไม่ใช่จะมีข้อเสียอย่างเดียวข้อดีก็มีเช่นกัน โดยชาวจีนถือเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักกับเกมนั้น ๆ ทำให้ทีมผู้พัฒนาเกมสามารถที่จะพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งชาวจีนเป็นคนที่ยอมทุ่มเทเต็มที่ให้กับเกมที่เล่น ทำให้การแข่งขัน esports ของเกมต่าง ๆ ตราบใดที่คนจีนยังเข้าแข่งขัน เกมนั้นไม่มีวันตายและกลายเป็นแหล่งรวมของเหล่าเทพไปโดยปริยาย นอกจากนี้เกมจีนทุกวันนี้ก็พัฒนาได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นเกม MMO , FPS หรือ Moba โดยเฉพาะเกมมือถือที่ต้องยอมรับว่าการดึง Performance จากเครื่องโทรศัพท์ ไม่มีผู้ใดทำยอดเยี่ยมได้เท่านักพัฒนาชาวจีนอีกแล้ว ทำให้ค่ายเกมต่าง ๆ ที่อยากจะทำเกมลงมือถือ ต่างต้องยืมมือของนักพัฒนาชาวจีนเรื่อยไป ทำให้เรามีเกมเล่นกันอย่างไม่ขาดสายบนมือถือ

Tencent ครอบครองลิขสิทธิ์เกมดังมากมาย อีกทั้งถือหุ้นในบริษัทเกมยักษ์ใหญ่ทั่วโลก

 

จะเห็นได้ว่าในตอนนี้เกมเมอร์ชาวจีนเปรียบเสมือนกับมังกร ที่ไม่ว่าไปที่ไหนก็ต้องถูกจับตามอง อีกทั้งทุกคนอยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งของมังกรตัวนี้ ทำให้ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไร ย่อมมีผลต่อวงการเกมเสมอ หรือแม้กระทั่งเรื่องของคนภายนอกที่ไม้ได้ทำในแผ่นดินจีน แต่เกี่ยวข้องกับประเทศจีนอย่างกรณีของ Kuku ที่ได้กล่าวมาข้างต้น ก็ส่งผลต่อเหล่าเกมเมอร์ได้เช่นกัน แล้วเกมเมอร์อย่างเราล่ะจะทำเช่นไรกับเรื่องนี้ ยอมที่จะกลืนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของมังกร หรือจะยอมขัดขืนไม่ยอมให้มังกรมากลืนกิน ติดตามในตอนต่อไปครับผม

เรื่องที่คุณอาจไม่รู้

  • Tencent บริษัทเกมยักษ์ใหญ่ของประเทศจีน (และของโลก) มีมูลค่ามากถึง 237.8 พันล้านหยวนหรือประมาณ 1.1 ล้าน ๆ บาทไทย
  • คนจีนเล่นเกมมือถือมากกว่า 257 ล้านคนจากการเก็บสถิติในปี 2017
  • คาดว่าในปี 2022 เกมเมอร์ชาวจีนจะมีจำนวนมากถึง 768 ล้านคนและพร้อมเปย์เงินมากกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับบริษัทเกมต่าง ๆ

Nuttawat Lokkumlue

บ๋อม - Content Writer

Back to top