หลังเรื่องราวผ่านมานานหลายเดือน จนหลายคนคิดว่า Pocketpair ผู้พัฒนาเกมอินดี้สุดฮิตในปี 2024 อย่าง Palworld น่าจะรอดเงื้อมมือการถูกฟ้องร้องจากค่าย Nintendo เจ้าของลิขสิทธิ์เกมตระกูล Pokemon หลังการออกแบบ แรงบันดาลใจ และห น้าตาของตัวละครในเกม Palworld นั้นทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งสองค่ายอาจมีปัญหาด้านคดีความกันได้
และล่าสุดในวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา Nintendo และ Pokémon Company ได้ยื่นฟ้อง Pocketpair ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรต่อศาลแขวงโตเกียว โดยทาง Nintendo ออกแถลงการณ์ระบุว่า Pocketpair ละเมิดสิทธิบัตรหลายรายการของทางบริษัท
แม้ในช่วงต้นที่เกมเป็นกระแส ทาง Pocketpair จะออกมายืนยันว่าผลงานเกม Palworld ผ่านการศึกษาข้อกฎหมายมาอย่างแน่นหนา และมั่นใจว่าตัวผลงานเกม ไม่มีแง่มุมที่ละเมิดสิทธิของค่ายอื่น ๆ และภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังถูกยื่นฟ้อง ทาง Pocketpair ก็ออกมาแถลงการณ์ขอต่อสู้คดีและมีการตั้งทีมกฎหมายขึ้นมาแล้วเรียบร้อย
แต่ในการยื่นฟ้องครั้งนี้ของ Nintendo เรารู้อะไรบ้าง ? เราขอรวมแง่มุมต่าง ๆ และข้อมูลจริง ๆ ที่น่าสนใจมาฝากมานำเสนอกัน
นี่เป็นการยื่นฟ้องในมุมการละเมิดสิทธิบัตรไม่ใช่ลิขสิทธิ์
แม้จะเป็นทรัพย์สินทางปัญญาเหมือนกันแต่ทั้ง “ลิขสิทธิ์” กับ “สิทธิบัตร” มีการใช้งานและคำจำกัดความที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน อธิบายแบบง่าย ๆ ให้เห็นภาพชัด ลิขสิทธิ์ หรือ copyright ให้การคุ้มครองงานสร้างสรรค์และการออกแบบ ส่วน สิทธิบัตร หรือ patent คุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ แนวคิดการทำงานของระบบต่าง ๆ หรือสูตรการสร้างสิ่งใด ๆ ที่มีการวิจัยขึ้นมา
ดังนั้น Nintendo ไม่ได้ฟ้อง Pockerpair ในแง่มุมว่าตัวละครใน Palworld “ลอก” หรือมีความคล้ายกันกับตัวละครในเกม Pokemon แต่เป็นการยื่นฟ้องว่าระบบการเล่นบางอย่างของเกม Palworld ละเมิดสิทธิบัตรของทาง Nintendo
ในแง่ความขัดแย้งระหว่างค่ายเกมในญี่ปุ่นที่ฟ้องกันในมุมของสิทธิบัตรในช่วงปี 2020 ค่าย Capcom กับ Koei Tecmo ก็เคยต้องสู้กันในศาลมาแล้ว หลัง Capcom ฟ้องว่า Koei Tecmo ละเมิดสิทธิบัตรของค่ายตนเอง
ตอนนั้น Capcom ฟ้องว่า เกมตระกูล Dynasty Warriors และ Samurai Warriors ละเมิดสิทธิบัตร “การได้เนื้อหาใหม่ผ่านการใช้เกมเดิมและโปรแกรมใหม่” (เป็นฟีเจอร์การได้เนื้อหาโบนัสผ่านการอ่านแผ่นเกมเก่า ซึ่งเป็นลูกเล่นที่ตัวเสริมของทั้งสองตระกูลเกมข้างต้นมี) และเกมตระกูล Fatal Frame ละเมิดสิทธิบัต “การสั่นของ Controller เมื่อมีศัตรูเข้ามาใกล้”
สุดท้ายศาลสูงยกฟ้องข้อกล่าวหาแรกแต่ตัดสินให้ Capcom ชนะการฟ้องเกม Fatal Frame ส่งผลให้สุดท้าย Koei Tecmo ต้องจ่ายค่าเสียหายไป 143 ล้านเยน (หลังตอนแรกศาลโอซาก้าตัดสินให้ Capcom ชนะคดีแต่ได้ค่าเสียหายแค่ 5 ล้านเยน) ตัวคดีนั้นต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2014 และมาจบลงในปี 2020
เราไม่รู้ว่า Nintendo ยื่นฟ้องการละเมิดสิทธิบัตรตัวไหน
แม้ในการแถลงการณ์ของ Nintendo จะมีการระบุว่า Pocketpair ละเมิดสิทธิบัตร “หลายรายการ” ของบริษัทและก็มีการคาดเดาจากหลายฝ่าย แต่ ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดออกมาว่าสุดท้ายแล้ว สิทธิบัตร ตัวไหนที่กลายเป็นปัญหาเป็นประเด็นขึ้นมา
ซึ่งตัวค่าย Pocketpair เองก็ระบุว่าทางบริษัทยังไม่มีข้อมูลและก็ไม่รู้มาก่อนเลยว่าส่วนไหนของผลงานเกม Palworld จะไปละเมิดสิทธิบัตรของ Nintendo
จุดที่หลายคนคาดเดาและเพ่งเล็งกันในตอนนี้ก็คือในส่วนของระบบการจับมอนสเตอร์ของเกมตระกูล Pokemon แต่ก็อย่างที่เน้นย้ำกันไป เรายังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด ณ ตอนนี้
กฎหมายญี่ปุ่นเอื้อประโยชน์ให้ผู้ถือสิทธิบัตรและบริษัทที่ยื่นฟ้องมักจะชนะ
อาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่ผู้เชี่ยวชาญในวงการส่วนใหญ่ลงความเห็นตรงกันว่า ณ ปัจจุบัน กฎหมายสิทธิบัตรของประเทศญี่ปุ่นนั้นมักเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ถือสิทธิบัตรมากกว่า
ถ้าย้อนกลับไปดูคดีความเก่า ๆ ที่ผ่านมาโดยเฉพาะในวงการ Software เมื่อเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องขึ้นศาลกันมาแล้ว ฝั่งผู้ถือสิทธิบัตร “มักจะ” เป็นฝ่ายที่ได้รับชัยชนะ
มีแง่มุมหลายด้านที่ทำให้ตัวบทกฎหมายและการตัดสินมักจะเป็นแบบนั้น เช่นการบริษัทส่วนใหญ่มักจะไม่ตัดสินใจ “ยื่นฟ้อง” คดีละเมิดสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์ หากไม่มั่นใจมาก ๆ ว่าตนเองจะเป็นฝ่ายชนะ ในแง่มุมหนึ่งการยื่นฟ้องและพ่ายแพ้ในศาลขึ้นมานั่นก็หมายความว่าเป็นการ “ปูทาง” ช่องว่างให้บริษัทอื่นภายนอกสามารถเข้ามาใช้ผลงานของตนได้ตามคำตัดสินเดิมของศาล พูดง่าย ๆ ก็คือหากฟ้องแล้วแพ้ทางผู้ถือสิทธิมีโอกาสอย่างมากที่จะถูกคำตัดสินที่เคยมีนำมาใช้เป็นแนวทางในการโจมตีจากคู่แข่งหากเกิดมีคดีความขึ้นอีกในอนาคต
ยังไม่รวมถึงความแข็งแกร่งของทีมกฎหมายและขนาดที่ใหญ่กว่ามาก ๆ ของบริษัทที่มักจะเป็นผู้ถือสิทธิบัตรเอาไว้
และหากพูดกันตรง ๆ ถึงความเห็นของผู้คนในวงการกฎหมาย หลายคนก็ลงความเห็นว่า Nintendo “น่าจะ” เป็นฝ่ายที่ได้รับชัยชนะในการฟ้องร้องครั้งนี้
ความเคลื่อนไหวหลังจากนี้จะเป็นยังไง Pocketpair จะยอมดีลตกลงกันนอกศาล หรือคดีความจะเดินหน้าต่อ ค่าเสียหายทั้งหมดจะเท่าไหร่ และอนาคตของเกม Palworld จะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องในอนาคตที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด