BY SEPTH
15 Apr 18 7:02 pm

แอบส่องสังคมผ่านเขตแดนใน Far Cry 5

10 Views

ร่วมสำรวจปัญหาสังคมร่วมสมัย อาณาเขตของมินิบอสใน Far Cry 5 บอกอะไรกับเราบ้าง

ดูเผินๆ แล้ว Far Cry 5 อาจเป็นเกมที่เดินตามขนบของภาคเดิมๆ อย่างไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากมายนัก แถมในบางรายละเอียดกลับแย่ลงเสียด้วยซ่้ำเช่นในเรื่องของระบบกราฟฟิคที่ถูกตัดกระชับให้เรียบง่ายเมื่อเทียบกับภาค 2 เพื่อใส่รายละเอียดอื่นๆ แทน แต่หากมาดูกันดีๆ ระบบการวางเขตแดน (Zoning) ของภาคนี้ก็ถือได้ว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะในแต่ละโซนย่อมหมายถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขตแดนนั้นๆ แน่นอนว่าไม่ได้มีแค่ลักษณะเฉพาะของบอส หรือพี่น้องตระกูล Seed เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความเป็นไปต่างๆ ในปัจจุบันให้เห็นอีกด้วย

พี่น้องตระกูล Seed นั้นประกอบไปด้วย Joseph Seed หัวหน้าลัทธิ Project at Eden’s Gate, Jacob Seed พี่ชายคนโต, John Seed น้องชาย และ Faith Seed น้องบุญธรรม

ไม่ว่าผู้เล่นจะเลือกบุกไปที่เขตแดนไหนก่อน ท้ายที่สุดเขตแดนก็ต้องเป็นของ Joseph อย่างที่เราสามารถคาดเดาได้จากการวางโครงเรื่องของตัวเกมในช่วงต้น

เมื่อเกมดำเนินช่วงต้นมาได้ระดับหนึ่ง เราจะมีโอกาสได้เลือกว่าจะก้าวสู่เขตไหนก่อน การตัดสินใจเลือกเขตแดนก็ในชั้นต้นสำหรับคนที่ไม่ได้อ่านเรื่องราวของเกมมาก่อนก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะหลายคนมักเลือกจากรูปลักษณ์ภายนอก เช่น เลือกที่สู้กับตัวละครที่ดูไม่น่ามีพิษภัยอย่าง John หรือการที่เลือกที่จะเก็บ Faith น้องบุญธรรมคนสุดท้องไว้ท้ายสุดด้วยเหตุผลที่เป็นผู้หญิงสวย ในขณะเดียวกันความอยากรู้ชะตากรรมก็อาจส่งผลในการเลือกของเราก็เป็นได้ เช่นตัวละครเจ้าหน้าที่สาว Hudsun หรือ Sheriff ที่ทำให้เราอยากรับรู้ชะตากรรมหลังจากที่ต้องจากกันในตอนต้น

 

พลังแห่ง YES ยุคหลัง American Dream

ตลอดชั่วอายุคนที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐอเมริกามักเป็นที่รู้จักในดินแดนแห่งความเป็นไปได้ Land of the Free อีกทั้งยังเป็นต้นกำเนิดค่านิยมแบบ American Dream ที่การทำงานและมุ่งมั่นจะพาเราไปสู่ความสำเร็จ การมีครอบครัว มีบ้าน มีรถ ด้วยโอกาสที่ทัดเทียมและเป็นไปได้ แต่ในปัจจุบันความเชื่อดังกล่าวค่อยๆ สูญสลายและถูกท้าทายด้วยการใช้ชีวิตที่หลากหลาย

ภายในเกมนี้ John Seed จึงเปรียบเสมือนเศษซากที่หลงเหลือของความเชื่อเดิมๆ เขาถูกทารุณกรรมตั้งแต่เด็กอย่างไร้เหตุผลจนคำว่า YES กลายเป็นคำที่เขายึดถือ ในลัทธิเขาทำหน้าทีี่ด้านกฎหมายและทำพิธีศีลล้างบาป แต่อีกด้าน เขาโต้กลับด้วยการใช้กำลังของลูกสมุนเข้าปะทะเพื่อลักพาตัวตัวเองของเรา อีกทั้งยังหลงใหลในการทารุณกรรมร่างกาย ผิดกับรูปลักษณ์ที่ผอมบางเก้งก้างโดยสิ้นเชิง

 

ความสุขปลอมๆ ทางออกของคนบอบช้ำ

หนึ่งในปัญหาของโรงเรียนในประเทศสหรัฐอเมริกาที่แก้ไม่ตกคือปัญหาการถูกกลั่นแกล้งรังแก (Bully) นอกจากนี้ปัญหาทางบ้านจากการกดขี่ข่มเหง (Abuse) และการข่มขืน (Rape) ก็ยังมีให้เห็นอย่างเด่นชัด ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ Faith Seed เผชิญในวัยเยาว์มาทั้งหมดก่อนที่จะละทิ้งตัวตนเดิมมาใช้ชื่อที่สื่อถึงศรัทธาและความหวัง

เพราะโลกความจริงมันโหดร้าย การจะหนีออกไปสู่โลกอื่นย่อมต้องมีตัวช่วย และตัวช่วยอันดับต้นๆ ก็ย่อมหนีไม่พ้นสารเสพติด ในเกมนี้ Faith คือผู้ผลิตและควบคุมยา Bliss ที่ทำให้ผู้คนจมจ่อมอยู่กับความสุขจนอาจคลุ้มคลั่งและมีสถานะไม่ต่างจากซอมบี้ในชื่อว่า Angels  

Faith ผิดจากตัวละครอื่นๆ ในตระกูล Faith ยังคงสถานะผู้ถูกใช้ตั้งแต่ตัวตนในอดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะเธอคนนี้ไม่ใช่ Faith คนแรก แต่เป็นคนที่ทดแทนคนก่อนๆ ที่หายไป และบางคนยังถูกฆาตรกรรมอย่างไม่รู้สาเหตุอีกด้วย คำพูดที่ว่า “เลือดข้นกว่าน้ำ” จึงปรากฎให้เห็นอย่างเด่นชัดในภาคนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

 

บาดแผลจากสงคราม ความรุนแรงขั้นเสพติด

ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐอเมริกาถูกมองว่าเป็นประเทศ “บ้าสงคราม” สืบเนื่องมาจากผลของสงครามเย็น และการเข้าแทรกแซงประเทศต่างๆ จากแถบเอเชียจนถึงตะวันออกกลาง ตัวละคร Jacob พี่ชายคนโตคือผู้ที่ผ่านร้อนหนาวจากสงครามดังกล่าว เริ่มจากสงครามอ่าวเปอร์เซ่ียและพื้นที่อื่นๆ ใกล้เคียง สิ่งที่ต้องเผชิญในสงครามกลายมาเป็นปมที่ตกค้างในใจ ขยายไปสู่ความรุนแรงที่สอดคล้องกับลิทธิ

Jacob เป็นผู้นำกองกำลังฝั่งเทือกเขา เปรียบได้กับฝ่ายกลาโหมของลิทธิ การผ่านสงครามเปลี่ยน Jacob ให้เชื่อในการเอาตัวรอด ซึ่งไม่มีที่ว่างระหว่าง ”ผู้ล่า” และ “ผู้ถูกล่า” ที่พร้อมเปลี่ยนผู้คนให้กระหายเลือดราวกับหมาป่า จากการผสมผสานระหว่างเสียงเพลงและยา Bliss

ในเขตแดนของ Jacob คือภาพสะท้อนความรุนแรงที่เป็นรูปเป็นร่างมากที่สุด จากการต่อสู้ของลัทธิ และกองกำลังต่อต้าน Whitetails ที่ตอบโต้ด้วยแนวคิดแบบตาต่อต่อฟันต่อฟัน จนยากหากจะบอกได้ว่าฝ่ายไหนรุนแรงและโหดเหี้ยมกว่ากัน

นอกจากนี้ เขตนี้ยังช่วยให้เราได้รู้จักกับตัวละคร Hurk ที่เคยโผล่มาในภาค 3 และ 4 มากขึ้น และการปรากฎตัวของ Hurk Sr. ผู้เป็นพ่อของตัวละครนี้ ซึ่งเป็นฝ่ายขวายังบ่งบอกได้ว่าการต่อสู้ในเกมนี้ไม่ได้ทำการตัดสินใจผู้ฝักใฝ่การเมืองฝ่ายขวาเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังช่วยสะท้อนความรุนแรงของประเทศนี้ที่มาจากทุกฝั่งฝ่ายอีกด้วย

 

แม้ในสายตาของแฟนๆ หลายคน Far Cry อาจไม่ได้พาตัวเกมขยับขยายไปไกลเหมือนเกมภาคต่ออื่นๆ อย่าง Call of Duty: Black Ops 3 หรือ God of War แต่การจัดวางและการนำเสนอก็มีรายละเอียดที่น่าสนใจมากพอที่จะสั่นคลอนตัวตนของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่อย่างน้อยก็มากพอที่จะทำให้คนในประเทศนี้ต้องทบทวนตนเองกันใหม่ในยุคหลังการขึ้นตำแหน่งของประธานาธิบดี Trump นี้

 

Kittipong Songkasri

เป้ง - Content Writer

Back to top