BY KKMTC
18 Feb 19 6:31 pm

ไขปริศนา ทำไมต้อง Downgrade หลังปล่อยจำหน่ายเกม

16 Views

หนึ่งในกระแสต่อต้านของเหล่าเกมเมอร์ที่รุนแรงมากที่สุด นอกเหนือจากระบบ Microtransactions แล้ว หนึ่งในนั้นคือการ Downgrade ภาพกราฟิก ซึ่งแม้ว่าช่วงหลังกระแสจะเริ่มเงียบหายไป แต่ประวัติศาสตร์ได้กลับมาซ้ำรอยอีกครั้ง เมื่อเกมเมอร์มีการตั้งคำถามว่า Anthem โดนลดคุณภาพกราฟิกหรือไม่ ? 

ทั้ง ๆ ที่มีตัวอย่างบทเรียนให้เห็นมากมาย แต่ดูเหมือนการ Downgrade กราฟิกเกมจะคงดำเนินต่อไป และนี่คือบทความ ไขปริศนา ทำไมต้อง Downgrade หลังปล่อยจำหน่ายเกม ?

จุดเริ่มต้นของกระแส Downgrade และผลเสียตามมา

การ Downgrade วิดีโอเกมเกิดขึ้นเป็นประจำและมีมานานแล้ว (ตั้งแต่สมัยเปิดตัวเครื่องคอนโซล PlayStation 3 ที่โปรโมทเกม Killzone 2) แต่ตัวจุดฉนวนการต่อต้าน Downgrade วิดีโอเกมเริ่มมีขึ้นหลังจากการเปิดตัวของเกม Watch_Dogs ที่มีสภาพกราฟิกเละไม่มีชิ้นดี

ย้อนกลับไปช่วงที่ทีมงาน Ubisoft เริ่มให้ความสนใจกับภาพกราฟิกเกมในรูปแบบแบบ Next-Generation ซึ่งเพิ่งเปิดตัว PlayStation 4 และ Xbox One แบบหมาด ๆ โดยผลงานชิ้นแรกของทีมงาน Ubisoft ที่มีภาพกราฟิกแบบ Next-Generation คือ Watch_Dogs เกมแอคชั่น-ผจญภัยเปิดโลกกว้าง ประกาศเปิดตัวครั้งแรก ณ งาน E3 2012 ในรูปแบบเทรลเลอร์ Gameplay Demo ซึ่งได้สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมด้วยภาพกราฟิกที่สวยงามสมจริงแบบที่ไม่มีเกมไหนสามารถทำได้มาก่อน สมกับชื่อว่าเป็นเกม เน็กซ์-เจน อย่างแท้จริง

YouTube video

แต่ทว่าความจริงอันโหดร้ายได้ปรากฏตัว เมื่อถึงวันออกจำหน่ายเกม Watch_Dogs ภาคหนึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2014

เกมเมอร์ต่างรู้สึกเดือดดาลกับคุณภาพกราฟิกและเอฟเฟกต์ของเกมดังกล่าว ไม่มีความสวยงามตรงกับวิดีโอเทรลเลอร์ที่แสดงในงาน E3 และมาพร้อมกับปัญหาด้านประสิทธิภาพของเกมที่ผู้เล่นพบบัคต่าง ๆ  เยอะเกินไปจนน่าหงุดหงิด

แล้วสืบเนื่องมาจากทีมงาน Ubisoft ออกตัวแรงว่าเกมนี้จะเป็นตัวปราบเซียนเกมตระกูล Grand Theft Auto V ทำให้เกม Watch_Dogs ได้รับบทวิจารณ์ในรูปแบบผสมจากเหล่าผู้เล่น โดยมีข้อดีคือเกมเพลย์กับการนำเสนอค่อนข้างแปลกใหม่ แต่ตรงกันข้าม ข้อเสียอย่างร้ายแรงคือภาพกราฟิกไม่สวยงามตามโฆษณา และมีประสิทธิภาพที่แย่เกินทน

และนี่คือเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดจากการ Downgrade วิดีโอเกม บริษัท Ubisoft สูญเสียความน่าเชื่อถืออย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตัวแทนจำหน่ายหรือผู้พัฒนาเกมด้วยสาเหตุมาจากการโฆษณาเกินจริง ซึ่งทำให้เกมเมอร์หลายคนเดือดดาลกันมาแล้วหลายรายทั้งในอดีตจนปัจจุบัน

ไม่ใช่เกม Watch_Dogs อย่างเดียวที่มีการ Downgrade เกิดขึ้น แต่ผลงานเกมชิ้นต่อ ๆ มาของ Ubisoft มีการลดคุณภาพกราฟิกอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น Rainbow Six: Siege, Tom Clancy’s: The Division (รวมไปถึงเกม Assassin’s Creed Unity ที่ล้ำหน้าเกินไปจนเครื่อง PC กับคอนโซลรันไม่ไหว) ทำให้เกมเมอร์หลายคนต่างเอือมระอากับการโฆษณาเกินจริงของ Ubisoft ทำให้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เกมเมอร์จึงกำเนิดวลีเด็ดว่า “Ubisoft Downgrade” เพื่อใช้โจมตีหรือแขวะเกมของ Ubisoft ทั้งหมด

YouTube video

นอกจากนี้ ส่งผลกระทบต่อยอดขายเกมซีรีส์อื่นอีกด้วย อย่างเช่น Watch_Dogs 2 ที่ตัวเกมได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นหลายส่วน และได้รับกระแสตอบรับในเชิงบวกมากมายจากหลายเจ้าสำนัก แต่ทว่ายอดขายแผ่นเกมแบบ pre-orders อยู่ในเกณฑ์ที่น่าผิดหวัง

ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ปัญหาการ Downgrade เพื่อลดคุณภาพกราฟิกจะเริ่มหายไปจากสารบบของ Ubisoft เพราะตัวเกมมีภาพกราฟิกสวยงามเกือบใกล้เคียงกับเทรลเลอร์แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม วลีคำว่า Ubisoft Downgrade ยังคงหลอกหลอนทีมงานจนถึงทุกวันนี้

หากยกตัวอย่างเฉพาะเกม Ubisoft อาจจะไม่แฟร์เท่าไหร่นัก เพราะยังมีเกมอื่น ๆ ที่ได้รับการ Downgrade เมื่อถึงวันปล่อยจำหน่ายเกม ไม่ว่าจะเป็น The Witcher 3: Wild Hunt กับ Marvel’s Spider-Man แต่กระแสต่อต้านไม่รุนแรงหรือมีระยะเวลาสั้นกว่า ในขณะที่กรณีของทีมงาน Ubisoft Downgrade ซึ่งต้องใช้เวลา 3 ถึง 5 ปี กว่าจะสามารถล้างชื่อเสียและกอบกู้ชื่อเสียงกลับมาอีกครั้ง (แถมล้างไม่สนิทด้วยนะ)

rainbow six siege

ที่นี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมทีมงานต้อง Downgrade คุณภาพกราฟิก ? คุณ Simon Roth ผู้พัฒนาเกมอิสระ เผยว่าภาพกราฟิกในวิดีโอเทรลเลอร์ ถือเป็นการทดลองคุณภาพกราฟิกและเอฟเฟกต์เพื่อไปให้ถึงขีดจำกัดของฮาร์ดแวร์ โดยขั้นตอนการพัฒนาเกมโดยรวมยังคงเป็นเรื่องรองเท่านั้น ทำให้ตัวเกมมีภาพผลลัพธ์ที่สวยงามมากเพราะแผนที่หรือสถานที่ในเกมยังคงเป็นสเกลขนาดเล็ก จึงสามารถใช้พลังฮาร์ดแวร์ได้อย่างเต็มที่

แต่เมื่อการพัฒนาเกมที่มีสเกลขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้พลังฮาร์ดแวร์เริ่มเกินขีดจำกัด ทำให้ตัวเกมจำเป็นต้องทำการขัดเกลา Optimization ซึ่งคุณ Roth กล่าวว่าเป็นขั้นตอนที่ยากและใช้งบมากที่สุดในการสร้างเกมทั้งหมด

ทำให้ทีมงานผู้สร้างเกมเริ่มให้ความสำคัญในส่วนของการรันเกมมากกว่าภาพกราฟิก จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทีมงานตัดสินใจทำการ Downgrade กราฟิกในภายหลัง เพราะขาดความรู้เรื่องฮาร์ดแวร์เบื้องต้น และเกมภาคต่อมา ทีมงานสามารถ Optimization ได้ดีกว่าเกมภาคแรก

การเพิ่มประสิทธิภาพ (Optimization) เป็นสิ่งที่ยาก น่าเบื่อ และมันมีราคาแพง ขั้นตอนนี้เป็นเกือบส่วนสุดท้ายของการพัฒนาเกม เพราะรู้ว่าผู้สร้างเกมคงไม่อยากปวดหัวกับการแก้ไขอยู่ที่จุดเดิม

ตั้งแต่การหาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์, สอดส่องตรวจจับเกม, แล้วก็วิเคราะห์ว่ามีส่วนประกอบตัวไหนบ้างที่ใช้ทรัพยากรเยอะเกินไป แต่จนถึงช่วงเวลานั้น พวกเราจำเป็นต้องทำงานด้วยงบประมาณที่จำกัด และต้องทำให้เกมสามารถรันได้อย่างลื่นไหลตามที่เราต้องการ

– Simon Roth

คุณ Richard Whitelock ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำแสงกับวิชวลเอฟเฟกต์ กล่าวส่วนหนึ่งที่มีการ Downgrade คุณภาพกราฟิก เพราะเป็นเรื่องของข้อจำกัดในการพัฒนาเกมที่มีเรื่องธุรกิจเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง

เกมไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยทำตามเส้นทางที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรกแล้ว มันจะมีการปรับปรุงเกมและมีเป้าหมายชัดเจนยิ่งขึ้นในภายหลัง

ถ้าหากพูดตามหลักความเป็นจริงแล้ว การสร้างเกมมันจะง่ายกว่านี้มาก แต่เพราะด้วยข้อจำกัดที่มากมาย ทำให้ผลลัพธ์เกมเริ่มมีความแตกต่างจากเดิมตามกาลเวลา แล้วผลักโปรเจ็กต์ที่เคยมีเป้าหมายชัดเจนได้หลีกหนีหายจากไปจากความจริงที่ตั้งไว้

ในระหว่างทางไปยังจุดหมายปลายทางสุดท้าย ผลลัพธ์ออกมาจะต้องเน้น ‘ความบันเทิง’ เป็นหลัก – ภาพตัวอย่างในเกม Demo จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญที่นำไปใช้แสดงในงานอีเว้นท์เปิดตัวเกมต่าง ๆ ซึ่งไอเดียนี้อาจจะไม่ได้ถูกวางแผนตั้งแต่แรก แต่มันถูกสร้างขึ้นมาได้ตรงความต้องการของผู้ชมพอดี

แม้ว่าพื้นที่ Demo ค่อนข้างมีจำกัด ส่วนที่เหลือของเกมอาจไม่สามารถเปิดใช้งานจริง เราจึงอาจมีการวางแผนเพิ่มองค์ประกอบพิเศษเข้าไปภายหลัง แต่เนื่องจากการจัดแสง, การตั้งกล้อง, และกราฟิกได้ถูกวางแผนล่วงหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงทำให้ช็อตนั้นโด่งดังและมีความสวยงามเป็นพิเศษครับ

– Richard Whitelock

ซึ่งมันก็เหมือนกับผู้อ่านเข้าร้านขายอาหารประเภท Junk Food ร้านหนึ่ง แล้วสั่งแฮมเบอร์เกอร์มาหนึ่งชิ้นที่มีภาพสีสันสวยงาม น่าทาน แต่เมื่อเปิดห่ออาหารออกมา ปรากฏว่ารูปร่างของแฮมเบอร์เกอร์ไม่มีความสวยงามเท่ากับภาพที่โปรโมทไว้ แต่ก่อนที่ผู้อ่านจะสั่งฟ้องร้านดังกล่าวในข้อหาหลอกลวงผู้บริโภค คุณดันเหลือบไปเห็นในป้ายโฆษณาที่บอกกล่าวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ตัวนี้ โดยเขียนใต้ภาพไว้ว่า “ภาพสินค้าดังกล่าวเป็นเพียงแค่การตกแต่งโฆษณาเท่านั้น”

ซึ่งแฮมเบอร์เกอร์ก็ไม่ต่างอะไรจากการปล่อยภาพหรือวิดีโอเทรลเลอร์ที่มีความสวยงาม แต่เมื่อผลิตภัณฑ์ออกมากลับไม่ตรงตามที่โฆษณา เพราะมันทำขึ้นเพื่อการโฆษณาล่อตาล่อใจเท่านั้น ถ้าหากสังเกตดี ๆ ตัวเทรลเลอร์ของ Watch_Dogs ไม่มีการระบุว่า “วิดีโอตัวนี้ได้อัดมาจากภาพของ PlayStation 4 Pro” หรือ “นี่เป็นเพียง Alpha Version – กำลังอยู่ขั้นตอนการสร้างเกม” 

ฉะนั้นถ้าหากผู้เล่นติดกับดักของทีมงานก็เท่ากับว่า ยินดีด้วย! คุณเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ทีมงานเจาะตลาดได้สำเร็จ ซึ่งมันอาจจะฟังดูแย่ แต่นั่นแหละครับ วิถีธุรกิจของระบบทุนนิยม ที่พวกเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในโลกปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยเงินครับ

watch_dogs

สุดท้ายแล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ผู้เขียนไม่ได้สนับสนุนการ Downgrade คุณภาพกราฟิกเช่นกัน เพราะเคสตัวอย่างก็มีให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว อย่างเช่นทีมงาน Ubisoft ที่ได้รับบทเรียนจากการ Downgrade จนต้องเข็ดไปอีกนาน และก็ต้องบอกเลยว่า โดนหลอกให้ซื้อเกมมันเจ็บกว่าซื้อแฮมเบอร์เกอร์หนึ่งชิ้น

วิธีการตลาดแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ผู้เขียนเชื่อว่ามันใช้ไม่ได้ผลสำหรับวงการวิดีโอเกม เพราะให้ผลเสียมากกว่าผลดี ฉะนั้นทีมงานผู้สร้างเกมก็ควรซื่อสัตย์กับเกมของตนมากกว่านี้ สามารถปรุงแต่งเพื่อโปรโมทโฆษณาได้ แต่ให้พอดีพองามจะดีที่สุดครับ

SHARE

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top